พยายามดับไฟหรือสุมไฟกันแน่? : ทิ้งหมัดเข้ามุม
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
พยายามดับไฟหรือสุมไฟกันแน่? – ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแถลงเปิดโมเดลกรรมการสมานฉันท์ มีองค์ประกอบกรรมการ 21 คน จาก 7 ฝ่าย
ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องวันสองวันจากนั้นก็เงียบหายเพราะถูกข่าวอื่นกลบ อีกทั้งยังขาดเสียงขานรับจากสังคมโดยรวม มาเป็นข่าวอีกทีสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
พรรคเพื่อไทยประกาศ ฝ่ายค้านจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้
ด้วยเหตุผลองค์ประกอบคณะกรรมการไม่เป็นกลาง และคู่ขัดแย้งบางส่วนซึ่งน่าจะหมายถึงฝ่ายกลุ่มราษฎรที่เห็นต่างกับรัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม
ฝ่ายค้านจึงมองว่ากรรมการสมานฉันท์นี้ ไม่สามารถเป็นทางออกจากวิกฤตขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่าไม่ขอวิจารณ์เรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งแง่ แต่เชื่อโดยหลักไม่มีใครอยากให้เกิดความขัดแย้ง
โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้บ้านเมืองเกิดความสงบ สามัคคีปรองดอง ดังนั้นถ้าใครไม่เห็นด้วยแสดงว่าบุคคลนั้นทำความเดือดร้อนให้บ้านเมือง
วิธีพูดเช่นนี้ของนายอนุทิน คือการพูดแบบเอาดีเข้ารัฐบาล เอาชั่วให้ฝ่ายค้านกับกลุ่มเห็นต่างรัฐบาล
ถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบ จริงหรือ?
ถ้าจริง แล้วการที่ส.ส.รัฐบาลจับมือกับส.ว.ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ คืออะไร? การโหวตปัดตกร่างแก้ไขฉบับประชาชนของไอลอว์ คืออะไร?
การตั้งส.ส.รัฐบาลกับส.ว.ที่มีจุดยืนแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไข ก็ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง
ส่วนเรื่องกรรมการสมานฉันท์ ก็จริงอย่างที่ฝ่ายค้านว่า คือมีสัดส่วนองค์ประกอบไม่สมดุลกันระหว่างฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐบาล
ล่าสุด กรณีคำวินิจฉัยคดีบ้านหลวง ที่จบแบบสังคมยังค้างคาใจในนายกฯอยู่มาก หลายแง่มุม
อย่างนี้หรือที่รัฐบาลบอกว่าพยายามทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบ
มองมุมไหนก็ไม่ใกล้เคียง
ภาพที่สังคมมองเห็นคือภาพรัฐบาลคือฝ่ายสุมไฟขัดแย้งเองมากกว่า