ทิ้งหมัดเข้ามุม – ต่อพ.ร.ก.2 เดือน การเมืองฉุกเฉิน

ทิ้งหมัดเข้ามุม – นับแต่เกิดโควิดในไทยต้นปี 2563 รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค เริ่มต้น 26 มี.ค.2563

จากนั้นขยายระยะเวลาใช้ต่อเนื่องครั้งละ 1 เดือน ครั้งที่ 10 กำลังจะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.นี้

 

ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ล่าสุดจึงมีมติขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 11

โดยมีข้อแตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือขยายรวดเดียว 2 เดือน วันที่ 1 เม.ย. ถึง 31 พ.ค.2564

ที่ผ่านมาระยะหลังการต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉิน มักก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเจตนารัฐบาล

ว่าต้องการใช้เป็นเครื่องมือควบคุมสถานการณ์โควิด หรือควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

หากอ้างเหตุผลข้อแรก ก็จะสวนทางสิ่งที่รัฐบาลพยายามบอกต่อประชาชน ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดในไทยดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะหลังจากได้รับวัคซีนนำเข้าเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และทยอยตามมาอีกเรื่อยๆ

 

ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ เช่น ตลาดบางแค รัฐบาลและศบค.ต่างยืนยันสามารถจำกัดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายวงกว้าง ไม่ลุกลามระบาดระลอก 3 แน่นอน

ทั้งยังลดเวลากักตัวคนเดินทางจากต่างประเทศ 14 วันลงเหลือ 10 วัน เปิดทางคลายล็อกเปิดประเทศ 1 เม.ย.

ทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันโดยรัฐบาลเองว่า โควิดไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินของไทยอีกต่อไป

ฉุกเฉินจริงๆ คือสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลและองคาพยพมากกว่า

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ การชุมนุมกลุ่ม ‘รีเดม’ เสาร์ที่ผ่านมา

 

ถูกตำรวจกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมโดยอ้างขั้นตอนตามหลักสากลประกาศเตือน ฉีดน้ำ ระดมยิงกระสุนยาง ถล่มด้วยระเบิดควันและแก๊สน้ำตา ไล่ทุบตีผู้ชุมนุม

จับกุมข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่แทนที่จะนำตัวไปไว้โรงพักท้องที่เกิดเหตุ กลับนำไปไว้ บก.ตชด.ภาค 1

ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.นอกจากเทศกาล สงกรานต์ ยังมีวันสำคัญอื่นอีกหลายวัน ซึ่งอาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์จัดการชุมนุม รวมถึงวันครบรอบ 7 ปีรัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาฯ

และนั่นคือเหตุผล ทำไมต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน