คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

สัญชาติประชาธิปัตย์ : ยังคงเป็นสถานการณ์การเมืองที่กดดันการทำงานของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติรัฐมนตรี

การันตีว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะการถูกจำคุกคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ไม่มีผลผูกพันกับประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญไทย

ชวนให้คิดว่า หากเปลี่ยนชื่อคนถูกร้องเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผลจะเป็นเช่นไร

แม้ไม่ขาดคุณสมบัติ แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในเรื่องจริยธรรม

เพราะรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับการยกย่องกันเองว่า เป็นฉบับปราบโกง ป้องกันสกัดกั้นคนไม่ดี ไม่ให้มามีอำนาจ

แต่สุดท้ายก็ได้ผู้มีมลทินเช่นนี้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

แม้กระทั่งพรรคพปชร.เอง ที่เอาเป็นเอาตายกับผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ส่งลูกน้องไปเข้าสอบแทน ถึงขั้นให้ริบคืนทุกตำแหน่ง

พอมาเจอกรณี ร.อ.ธรรมนัส ก็นิ่งเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ถึงจะจบไปแล้วในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในเรื่องการร้องสอบจริยธรรมต่อป.ป.ช. ก็คงต้องเดินหน้าต่อ

ส่วนจะพ้นมลทิน ไม่ขาดจริยธรรม เพราะเป็นเรื่องที่เกิดก่อนการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ อย่างที่รองเลขาธิการป.ป.ช.รีบออกมาบอกไว้ก่อน ก็จะได้รู้กันต่อไป

อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าสนใจสำหรับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์

ที่สมาชิกพรรคด้วยกันเองจี้ให้ถอนตัวจากพรรคร่วม

ซึ่งหากเป็นประชาธิปัตย์ยุคก่อน ก็คงมีท่าทีอะไรออกมาให้ได้เห็น

เพราะถึงแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการบริหารงาน แต่อย่างน้อยก็ยังมีหลักการของสถาบันทางการเมืองที่มีหิริโอตตัปปะ

น่าเสียดายที่ประชาธิปัตย์ยุคนี้ กลับขาดแคลนในเรื่องดังกล่าว

ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นยุคที่ยึดการเมืองที่เกี่ยวกับประโยชน์ของพวกพ้องเป็นที่ตั้ง

อย่างก่อนหน้านี้แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีจะกิน ก็ยังไปโฟกัสเรื่องตั้งรัฐมนตรีกำกับดูแลพื้นที่ภาคใต้

หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมือง และไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกประชาชน

ก็ระวังว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะใช้การเมืองสั่งสอน

จะเป็นพรรคต่ำสิบ หรือสูญพันธุ์จากการเมืองไทยไปเลย

ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย!!?

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน