คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

วัคซีนทางเลือก…ของใคร – ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง สำหรับแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิดของรัฐบาล ที่ใกล้ดีเดย์การปูพรมฉีดวัคซีนตามที่สัญญากับประชาชนเอาไว้ในวันที่ 7 มิ.ย.

แต่กลับยังไม่มีวัคซีนในมือให้บริหาร!??

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันทุกวัน คนเสียชีวิตมากเพิ่มไม่หยุดหย่อน

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะเป็นวัคซีนหลัก ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ก็ยังไม่มีทีท่าจะส่งถึงมือรัฐบาล

ที่มีอยู่ และเตรียมสั่งเข้ามาเพิ่มอย่างซิโนแวค ก็ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ รวมทั้งกรณีที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ยอมรับ

ในจังหวะที่วุ่นวายเรื่องการจัดหาวัคซีน รัฐบาลก็เพิ่มความโกลาหลด้วยการปรับแผนเรื่องระบบจอง ชะลอ ‘หมอพร้อม’ แล้วให้แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่บริหารจัดการกันเอง

สะท้อนให้เห็นปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่มีเอกภาพ ต่างคนต่างดำเนินการ ซึ่งแทนที่จะประสบผลสำเร็จ ทุกคนช่วยกันทำงาน กลับกลายเป็นสะเปะสะปะ ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง

คิดอะไรไม่ออก ก็ใช้เรื่องมิติความมั่นคง ไปตรวจตามชายแดน ไล่จับแรงงานลักลอบเข้าเมือง

แน่นอนว่าก็ได้เห็นเป็นผลงาน แต่ก็ไม่ได้ต่างกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนสักเท่าใด

ไม่เพียงแค่นั้นท่ามกลางความวิตกกังวลว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ กลับมีเหตุการณ์ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แถลงนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม

ระบุชัดเจนว่าทำในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับคำสั่งจากพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นตัวแทนรัฐบาล เจรจาสั่งซื้อวัคซีนจากจีน

ตามแนวทางการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ!??

ขณะที่การขึ้นทะเบียนของอย.ก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว

แต่แทนที่จะเป็นทางออกของปัญหาว่าสามารถนำวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน กลับกลายเป็นวัคซีนทางเลือก ที่ใครอยากฉีดต้องเสียเงินเอง!??

กลายเป็นคำถามว่าทำไมในภาวะที่วัคซีนหลัก หรือวัคซีนที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชนยังมีไม่เพียงพอ ทำไมถึงต้องมีวัคซีนทางเลือก

เมื่อดำเนินการในฐานะตัวแทนรัฐ รัฐบาลก็ควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งก็เป็นงบประมาณจากภาษีประชาชน จัดหาให้ประชาชนได้ฉีดอย่างรวดเร็ว

ให้พ้นจากปัญหาโรคระบาดที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ให้ได้มีทางเลือกในการดำรงชีวิตอยู่

ไม่ใช่อับจนหนทางอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน