พรบ.งบฯ-พรก.กู้ กับกระแสยุบสภา : ทิ้งหมัดเข้ามุม

นอกจากคิกออฟฉีดวัคซีน 7 มิ.ย.เป็นต้นไป

ที่ต้องติดตามคือกรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม 5 แสนล้านของรัฐบาล ที่เข้าสู่วาระพิจารณาสภาผู้แทนฯ วันที่ 9 มิ.ย.

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงคลังเสนอ ออกพ.ร.ก.กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ต่อมาปรับลดเป็นไม่เกิน 5 แสนล้านตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 พ.ค.

รัฐบาลอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากพ.ร.ก.เงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเหลือแค่ 1.6 หมื่นกว่าล้าน ขณะที่สถานการณ์โควิดไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววัน จึงต้องกู้เพิ่ม

ประกอบกับวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบฯปี 65 ที่ตั้งไว้ 7 แสนล้าน ใกล้เต็มกรอบวงเงิน ทั้งมีแนวโน้มจะไม่พอ

แม้การกู้เพิ่มจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะขยับเข้าใกล้เพดาน 60% ของจีดีพีเร็วขึ้น

แต่รัฐบาลมีทางออกคือ ปรับแก้นโยบายการเงินการคลังขยายเพดานหนี้ให้มากกว่า 60% ซึ่งในทางการเมืองอาจโดนโจมตีหนัก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้

ภายใต้พ.ร.ก.กู้เพิ่ม 5 แสนล้าน แบ่งเป็น 3 แผนงานเน้นสู้กับผลพวงโควิดระลอกใหม่ ได้แก่

แผนแก้ไขปัญหาระบาดระลอกใหม่ 3 หมื่นล้าน, ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ 4 แสนล้าน และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 2.7 แสนล้าน

ซึ่งทั้ง 3 แผนงานถูกวิจารณ์ว่าไม่แตกต่างจากพ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้าน

แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร แก้ปัญหาได้หรือไม่?

นั่นทำให้หลายคนสงสัยในเมื่อรัฐบาลคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม กู้แบบเดิมแต่น้อยลงครึ่งหนึ่ง สวนทางโควิดที่รุนแรงกว่าปีที่แล้วหลายเท่า

คำตอบสุดท้ายจะเหมือนเดิมด้วยหรือไม่

ในสถานการณ์วิกฤตชี้เป็นชี้ตาย ทุกฝ่ายเล็งเห็นความจำเป็นต้องกู้เงิน

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นคือ ความโปร่งใสในการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบวกของเดิม 1 ล้านล้านที่จะมีการยกมาอภิปรายครั้งนี้ด้วย

เพราะไม่ทันไรหลังร่างพ.ร.บ.งบฯปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านเพิ่งผ่านสภาไปสดๆ ร้อนๆ ตามด้วยพ.ร.ก.กู้เพิ่ม 5 แสนล้าน

กระแสยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ ก็ถูกจุดขึ้นมาทันที

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน