นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กับนาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์

ล้มป่วยพร้อมๆ กัน ติดเชื้อโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากประชุมที่ต่างประเทศ

นายอนุทินกลับจากสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ส่วนนายจุรินทร์กลับจากไอซ์แลนด์

ทั้งสองคนมีอาการไม่หนักมาก พักกักตัว รักษาอยู่ที่บ้าน

ในรายของนายอนุทินนั้น ฉีดวัคซีนแล้ว 6 เข็ม ประกอบด้วย ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และไฟเซอร์อีก 2 เข็ม

ขณะนี้ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโควิดที่ได้ผลดีมากที่สุด

กระทรวงสาธารณสุขอ้างนายอนุทินไม่ได้มีสิทธิพิเศษ แต่เนื่องจากสภาวะอ้วนจึงได้รับยานี้

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่ายาตัวนี้จะให้กับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ไม่เคยฉีดวัคซีน และป่วยอาการหนักเท่านั้น

ขณะที่ประชาชนทั่วไป ได้ยาแก้ไข้ ละลายเสมหะ ฟ้าทะลายโจร ดีขึ้นมาหน่อย ก็ฟาวิพิราเวียร์

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นไป กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ประเทศไทย พ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 (Post-Pandemic)

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากนี้ไป การรักษาพยาบาลของประชาชนจะกลับสู่ภาวะปกติ คือ เมื่อมีการเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาเดิมที่มีอยู่ ไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน

เนื่องจากถือว่าการป่วยโควิด ต่อไปจะเหมือนกับการเจ็บป่วยแบบไข้หวัดธรรมดา

รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เดิมการระบาดของโควิด ช่วงแรกมีประชาชนป่วยมาก ทำให้หน่วยงานรัฐต้องระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ทำให้เมื่อป่วยโควิดสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ หรือการเกิดฮอสพิเทล

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็ต้องปรับระบบ เพราะโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนเดิมอีกแล้ว

พร้อมกันนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่าค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน

ใช้งบประมาณมากกว่า 150,000 ล้านบาท

ซึ่งจะต้องประเมินต่อไปว่าใช้อย่างคุ้มค่า ได้ผลกับเม็ดเงินที่ใช้ไปหรือไม่?

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน