วันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รักษาการ นัดประชุมครม.รักษาการตามปกติ
มีเรื่องแต่งตั้งและงานต่างๆ ตามวาระประจำเท่าที่รัฐบาลรักษาการจะพึงทำได้
ขณะเดียวกันการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำก็คืบหน้า มี 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู
หมั้นหมายกันแล้ว รอเพียงกำหนดแต่ง หลังกกต.รับรองส.ส.แล้ว
ประเดิมแรกก็คือเปิดประชุมสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย
จากนั้นเป็นขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ตามผลการเลือกตั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย
การประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดนั้น ที่ประชุมรับทราบตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงไทม์ไลน์การเมืองหลังการเลือกตั้งและเส้นทางการมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยชี้ว่าจะเริ่มหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผล
ตามกรอบเวลาแล้วต้องประกาศภายใน 60 วัน วันสุดท้ายตามกำหนดคือวันที่ 13 ก.ค.
จากนั้น เป็นขั้นตอนรายงานตัวของส.ส.ใหม่ วันสุดท้ายคือวันที่ 20 ก.ค. ต่อไปก็จะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าอยู่ในช่วงวันที่ 25 ก.ค.
ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนส.ค. จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนส.ค. จะเป็นช่วงตั้งคณะรัฐมนตรี และขั้นตอนการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ
รัฐบาลชุดปัจจุบันก็จะสิ้นสุดการทำงานประมาณกลางเดือนส.ค.
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าขั้นตอนของกกต.ที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตและส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ไม่น่าจะต้องยาวนานถึง 60 วันก็ได้
เขตใด จังหวัดใดที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนและสันนิษฐานได้ว่าผลการเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็น่าจะทยอยประกาศไปก่อนได้
ยกเว้นและเขตจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนหรือยื่นคำร้องให้ตรวจนับคะแนนใหม่
ที่ทำได้รวดเร็วก็คือประกาศรับรองส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเกณฑ์คำนวณทำได้ง่ายและเร็วกว่าปี 2562
ยิ่งเปิดสภาเลือกตั้งประธานได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ รัฐบาลใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น
ไม่ต้องถ่วงรั้งประวิงเวลาไปจนถึง 60 วันก็ได้ มิใช่หรือ?
เภรี กุลาธรรม