สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ว่าการจ้างงานลดลงเล็กน้อย ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2566 เล็กน้อย

เฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 9.4% และสาขาการขนส่ง เก็บสินค้าที่ขยายตัวตามการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ส่วนสาขาการผลิตขยายตัวเล็กน้อยจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ไฟฟ้า

ส่วนอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.88% หรือมีผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 3.6 แสนคน

สำหรับอัตราการมีงานทำปี 2567 อยู่ที่ 98.6% ทรงตัวจากปี 2566 โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 39.8 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ยังไม่มีตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตจบใหม่ในปีการศึกษา 2567 ซึ่งขณะนี้ว่างงานทับถมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทบรวมกับผู้ที่จบในปีการศึกษา 2566 ด้วย

เฉพาะปีที่แล้ว พบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงว่างงานสูงสุดถึง 9.1 หมื่นคน รองลงมาคือผู้จบระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 8.5 หมื่นคน และระดับ ปวช./ปวส. 5.4 หมื่นคน

ขณะที่รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยจากข้อมูลปี 2567 พบว่ามีบัณฑิตจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 4.1 แสนคน ส่วนคนที่ว่างงานเกิน 1 ปี มีจำนวน 8.1 หมื่นคน โดยให้เหตุผลว่าหางานไม่ได้

ในจำนวนนี้เกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง

สถานการณ์การว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ในประเทศไทย กำลังเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยพบว่าอัตราการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบหาทางแก้ไข ตั้งแต่การวางแผนจัดทำนโยบายการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขา โดยจะต้องสอดคล้องกับตำแหน่งงานและตลาดงาน

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการว่างงานสะสม ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ ตามมา!!

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน