นักวิทย์ถึงบางอ้อ! สู้โลกร้อนไม่ยากช่วยกันทำได้ทันที ปลูกต้นไม้แค่หนึ่งล้านล้านต้น

นักวิทย์ถึงบางอ้อ! สู้โลกร้อนง่ายนิดเดียว – วันที่ 18 ก.พ. อินดิเพนเดนท์รายงานความฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาวิธีการแก้ไขสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ที่กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่าการปลูกต้นไม้ทั่วโลกจำนวน 1.2 ล้านล้านต้น จะช่วยดูดซับก๊าซก่อโลกร้อนที่มนุษย์สร้างไว้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้

ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นผลงานจากมันสมองของ ดร.โธมัส ครอว์เธอร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาโครงการรณรงค์ปลูกต้นไม้ล้านล้านต้นของสหประชาชาติ UN’s Trillion Tree Campaign พบว่า หากการปลูกต้นไม้ 1.2 ล้านล้านต้นทั่วโลกสามารถทำได้จริง จะถือเป็นวิธีการลดก๊าซก่อโลกร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดมากกว่าวิธีการใดๆ ที่มนุษย์มีอยู่และใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ ระบบพลังงานทางเลือก และการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ช่วงที่ผ่านมา การศึกษาเรื่องการปลูกต้นไม้เพื่อแก้ไขโลกร้อนนั้นได้รับการวิจัยอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้อง และฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่มาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประสบกับอุปสรรคอย่างมากในการประเมินตัวเลขที่แน่นอน นำไปสู่การลดความสำคัญของวิธีการดังกล่าวลง

การวิจัยของดร.ครอว์เธอร์ อาศัยการนำฐานข้อมูลจากทั้งการสำรวจทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมของป่าไม้ทั่วโลก พบว่าต้นไม้บนโลกนั้นเหลืออยู่ประมาณ 3 ล้านล้านต้นเท่านั้น มากกว่าที่องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า เคยประเมินไว้ถึง 7 เท่า

จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาประมวลผลบิ๊กดาต้า เพื่อหาว่ามีพื้นที่ว่างหลงเหลือเพียงพอเท่าใดหากมนุษย์ต้องการปลูกต้นไม้ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อลดโลกร้อน พบว่าได้คำตอบที่น่าทึ่งอย่างมาก

กลุ่มโปรเจ็กต์ ดรอว์ดาวน์ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรกลางนานาชาติที่คอยประเมินกระบวนการแก้ไขโลกร้อนต่างๆ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ระบุว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเป็นการหันมาใช้พลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรีไซเคิลในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น จะสามารถลดก๊าซก่อโลกร้อนลงได้ 80 กิกะตันต่อปี (8 หมื่นล้านตันต่อปี) ขณะที่การปลูกป่านั้นอยู่ที่ลำดับ 15 ลดได้เพียง 18 กิกะตันต่อปี ( 1.8 หมื่นล้านตันต่อปี)

ทว่า การศึกษาล่าสุดของดร.ครอว์เธอร์ ซึ่งใช้พลังของเอไอเข้ามาช่วยนั้นทำให้พลังที่แท้จริงของผืนป่าถูกเปิดเผยออกมา พบว่าป่าไม้บนโลกปัจจุบันที่มีต้นไม้อยู่ราว 3 ล้านล้านต้น มีความสามารถในการดูดซับก๊าซโลกร้อนได้มากถึง 400 กิกะตันต่อปี

ดร.ครอว์เธอร์ ระบุว่า หากเทียบบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ โดยเพิ่มต้นไม้บนโลกขึ้นมาอีก 1.2 ล้านล้านต้น พบว่าจะสามารถลดก๊าซก่อโลกร้อนในปริมาณเท่ากับที่มนุษย์สร้างมาทั้งหมดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ดร.ครอว์เธอร์ กล่าวในการประชุมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสมาคมนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ที่กรุงวอชิงตัน ว่า “กลายเป็นว่าต้นไม้คืออาวุธที่ดีที่สุดของเราในการต่อสู้กับโลกร้อน” แม้การปลูกป่าให้หวนกลับมาดังเดิมทั่วโลกจะเป็นไปไม่ได้ แต่แนวโน้มโครงการปลูกป่าที่มีขึ้นในโลกนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานระบุว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น มีโครงกาารปลูกป่า ชื่อว่า บิลเลียน ทรี แคมเปญ (Billion Tree Campaign) แปลว่า ต้นไม้พันล้านต้น (ศึกษาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์)

แต่จากผลการศึกษาล่าสุดนั้นทำให้ยูเอ็นเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น ทริลเลียน ทรี แคมเปญ (Trillion Tree Campaign) แปลว่า ต้นไม้ล้านล้านต้น ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวของยูเอ็นประสบความสำเร็จในการปลูกต้นไม้ไปแล้วทั่วโลก 1.38 หมื่นล้านต้น

“เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่พื้นที่การเกษตรและชนบท แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินรกร้าง หรือบริเวณที่เสื่อมโทรม การปลูกต้นไม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ถึงสองประการในคราวเดียว ได้แก่ โลกร้อน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ”

“มันสวยงามมากครับ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ต้นไม้ทำให้ชีวิตพวกเรามีความสุขขึ้น เพิ่มคุณภาพอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำ คุณภาพอาหาร และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ สิ่งเหล่านี้ทำได้จริง และไม่ยากเลยนะ” ครอว์เธอร์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน