สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย

เตรียมพร้อมรับการพัฒนา EEC

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย เตรียมพร้อมรับการพัฒนา EEC – สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำตัวแทนเยาวชนจากสถานศึกษากว่า 80 แห่ง ใน 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จัดการแข่งขันหุ่นยนต์วิ่งจับเส้น และการนำเสนอโครงงานสมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright

ในกิจกรรมการเรียนรู้สมองกลฝังตัว สร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things ส่วนหนึ่งภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เมื่อเร็วๆ นี้

สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย

หุ่นยนต์ BEAM

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การแข่งขัน KidBright เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายผลการพัฒนาบุคลากร STEM สำหรับพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เนื่องจากเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ปัจจุบันมีสถานศึกษาในพื้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการขยายผลนี้แล้วกว่า 80 แห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมตอนต้นและตอนปลาย ถึงระดับอาชีวศึกษา

สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย

ทีมโครงงานสมองกลฝังตัว สมาร์ต วีลแชร์

รูปแบบการแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การประกวดโครงงาน การแข่งขันหุ่นยนต์ BEAM การแข่งขันหุ่นยนต์ KidBright และการแข่งขันหุ่นยนต์ ไต่ราว เยาวชนทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันต่างมีผลงานที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ในการ บูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน

โครงงาน สมองกลฝังตัว สมาร์ต วีลแชร์ (Smart Wheelchair) ของนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ทางทีมตั้งใจออกแบบให้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ

รวมถึง ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือ บาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน โดยติดตั้งกลไกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งควบคุมการทำงานผ่านบอร์ด KidBright เข้ากับรถเข็นให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่และระดับความเร็วได้

โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของชีพจรที่จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นโดยอัตโนมัติ เมื่อผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 40 หรือสูงกว่า 110 และเซ็นเซอร์ตรวจวัดความเอียงแจ้งเตือนกรณีรถเข็นเกิดเหตุพลิกคว่ำ และยังมีปุ่มฉุกเฉินสำหรับขอความช่วยเหลือหากผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติ

สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย

การแข่งขันที่ใช้หุ่นยนต์ BEAM

น.ส.รัชนีวรรณ แสงกล้า หนึ่งในสามสมาชิกของทีม กล่าวว่า ทางทีมมองว่าโครงงานสมาร์ต วีลแชร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของทุกคน เนื่องจากช่วยจุดประกายความคิดให้ทุกคนสนใจเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตั้งใจส่งต่อโครงงานนี้ให้รุ่นน้องพัฒนาต่อไป

สวทช.-สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อย

การแข่งขันหุ่นยนต์ไต่ราว

บอร์ดสมองกล KidBright เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยเนคเทค สวทช. เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเรื่องการเขียนโปรแกรมสำหรับเยาวชนวัยเรียน ผ่านการเรียนรู้แบบ Learn and Play โดยบอร์ดออกแบบให้มีการแสดงผลและเซ็นเซอร์ที่เข้าใจง่าย

ควบคุมการทำงานด้วยชุดคำสั่งที่ผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างชุดคำสั่งได้เองแบบ Block-structured Programming ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน