งานวิจัยของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา นำเสนอผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สีเขียวกับโรคสมาธิสั้นในเด็กว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางพื้นที่สีเขียวมากกว่า จะมีความเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นน้อยกว่า

คณะนักวิจัยวิเคราะห์เด็กมากกว่า 37,000 คน ที่เกิดเมื่อปี 2543 ในนครแวนคูเวอร์ โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ พื้นที่สีเขียวรอบๆ รหัสไปรษณีย์ที่บ้าน การสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กและไนโตรเจนไดออกไซด์ ตลอดจนเสียงรบกวน

จากนั้นติดตามพัฒนาการของเด็กผ่านบันทึกในโรงพยาบาลและการพบแพทย์จนอายุ 10 ขวบ พบว่าแม้จะมีฝุ่นละอองในปริมาณมากในพื้นที่ใกล้เคียง แต่พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ ร่มเงาธรรมชาติ และต้นไม้ ช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งก่ออาการอักเสบในร่างกายและอาจส่งผลต่อลักษณะต่างๆ ของสมอง

โรคสมาธิสั้นเป็นภาวะเรื้อรังและอาจเกิดการไม่สามารถควบคุมความสนใจและอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง เป็นความผิดปกติทางพัฒนาการระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุ ซึ่งข้อสันนิษฐานระบุ 2 ประการ ได้แก่ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน