จับตา‘ท้องสนามหลวง’ 19ก.ย.กับสัญลักษณ์ทวงคืน – การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนและประชาชนวันที่ 19 ก.ย.นี้ เป็นกลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ส่วนชุมนุมมีชื่อว่า “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ตรงวาระครบรอบเหตุการณ์รัฐประหารร่วมสมัย เมื่อวันที่ 19 กันยาฯ 2549

สถานที่นัดชุมนุมครั้งนี้นอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนยึดพื้นที่สนามหลวงเพื่อทวงคืนให้กับประชาชน

หลังจากสนามหลวงไม่ได้เป็นสถานที่จัดการชุมนุมทางการเมืองมานาน

พลับพลาสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกลางท้องสนามหลวง พ.ศ. 2481 ออกแบบเป็นศาลาขนาดใหญ่ มีเสา 6 ต้น แทนความหมายถึง “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร / ภาพจากจดหมายเหตุแห่งชาติ

นิตยสารศิลปวัฒนธรรมย้อนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า สนามหลวงสมัยแรกมีที่โล่งเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน คือกว้างไปทางเหนือถึงหน้าวัดมหาธาตุเท่านั้น เพราะอีกครึ่งหนึ่ง (ทางเหนือ) เป็นเขตวังหน้า และไม่ได้เรียกชื่อสนามหลวง แต่เรียกทุ่งพระเมรุ เพราะใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งได้แบบมาจากสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา

ชื่อสนามหลวงแรกมีเมื่อ พ.ศ.2398 ดังมีประกาศของรัชกาล ที่ 4 เมื่อปีเถาะ สัปตศก ใจความสรุปว่า

“ประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงแลท้องสนามไชย

ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รัชกาลที่ 5 พ.ศ.2451 กรุงเทพมหานคร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ในพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เจ้าต่างกรมแลยังไม่ได้ตั้งกรม แลอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า

ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นคนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”

อนึ่งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ให้เรียกว่า “ท้องสนามไชย” ให้ข้าราชการผู้จะเขียนบาดหมายแลจะกราบบังคมทูลพระกรุณาแลราษฎรทั้งปวงเขียนชื่อเรียกชื่อทั้งสองตำบล ให้ถูกต้องตามชื่อซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมไว้นี้

ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมายประกาศนี้ หรือได้รู้แล้วแต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคยเรียกมาแต่ก่อนถ้ากรมพระตำรวจหรือกรมพระนครบาลผู้หนึ่งผู้ใดจับกุมผู้ที่เรียกพลั้งเรียกผิดนั้นมาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้นมาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับไหมผู้จับทวีคุณให้แก่ผู้ต้องจับนั้น”

ต่อมาสมัยช่วงกลางของรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2438 สโมสรบางกอกกอล์ฟ หรือ The Bangkok Golf Club เคยได้รับพระราชบรมราชานุญาตให้ใช้สนามหลวงเป็นสนามกอล์ฟ

เคยเป็นสนามกอล์ฟ มีกรีนปักธงขาว ตรงศาลยุติธรรม

คาดว่าผู้เล่นกอล์ฟสนามหลวงน่าจะเป็นสมาชิกสโมสรระดับเชื้อพระวงศ์ เจ้านายชั้นสูงและบรรดาฝรั่งต่างชาติโดยเฉพาะชาวอังกฤษที่มักเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่รัฐบาลในขณะนั้นจ้างมาพัฒนาบ้านเมือง ส่วนอีกพวกหนึ่งน่าจะเป็นพวกพ่อค้านักธุรกิจฝรั่งที่เข้ามาทำมาค้าขายในกรุงเทพฯ บางส่วนเป็นผู้ได้สัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือ กับสัมปทานการขุดแร่ในภาคใต้ ต่างเป็นคนรักกีฬาและเล่นกอล์ฟเพื่อการสังคมความนิยมจึงค่อนข้างจำกัดสำหรับคนไทย

สนามหลวงไม่เหมาะเป็นสนามกอล์ฟเพราะเป็นที่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าการใช้สนามหลวงเป็นสนามกอล์ฟดำเนินในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะทรงใช้สนามหลวงในราชพิธีต่างๆ เช่น พิธีพืชมงคล แรกนาขวัญ พิธีพิรุณศาสตร์ กับพิธีพระราชทานเพลิงเจ้านายเป็นครั้งคราว อีกทั้งเป็นสนามหรือทุ่งอยู่ใจกลางเมืองอันเป็นที่ชุมนุมพบปะของกลุ่มผู้คนทั่วไป จึงไม่เหมาะจะเป็นสนามกอล์ฟ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนเหล่านั้นได้

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

ด้าน ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ให้ความ เห็นว่า สนามหลวงในอดีตใช้ได้อยู่อย่างปกติอยู่ เพราะพื้นที่สนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ม็อบไหนก็สามารถขอใช้ได้เลยไม่มีปัญหาอะไร แต่นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ก็มีการปิดซ่อมสนามหลวงและกั้นรั้วไม่เข้า จึงทำให้มีข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น นับตั้งแต่นั้นมาการใช้สนามหลวงก็ยากลำบาก เพราะฉะนั้นม็อบครั้งนี้ที่จะขอเข้าไปใช้สนามหลวงนั้น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก มันเป็นการแสดงให้เห็นหรือเรียกร้องเพื่อที่จะขอพื้นที่สาธารณะของประชาชนกลับคืนมาอีกครั้ง เพียงแต่คำว่า “จะยึด”ดูเป็นคำรุนแรง แต่สำหรับตนคิดว่ามันเป็นการเรียกร้องสิทธิที่ควรจะมีแต่เดิมให้กลับคืนมาอีกครั้ง

จากการศึกษาของศ.ดร.ชาตรี นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 พบว่าพื้นที่สาธารณะของประชาชนถูกลิดรอนและก็หายไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการเข้าไปใช้สนามหลวงในครั้งนี้ คิดว่าภาครัฐควรผ่อนปรนให้ใช้ และสนามหลวงควรจะกลับมาเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สอยที่หลากหลายเหมือนเดิม เพราะตอนนี้พื้นที่แห้งแล้งมาก

หากมองในมุมประวัติศาสตร์ พื้นที่สนามหลวงใช้เป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็คงตั้งต้นในปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตัวเหตุการณ์สำคัญครั้งแรกเลยก็คือการจัดเมรุเผาศพของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 17 นาย ที่เสียชีวิตในคราวปราบกบฏบวรเดช นับว่าเป็น การเปลี่ยนจาก “สนามหลวง” มาสู่ “สนามราษฎร”

ภาพบรรยากาศอัญเชิญศพวีรชนขึ้นตั้งบนศาลา ในงานพระราชทานเพลิงศพวีรชน 14 ตุลา 2516 / ภาพจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุท้องสนามหลวง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517

นับตั้งแต่การจัดงานเมรุดังกล่าว สนามหลวงก็เริ่มพัฒนากลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะหลากหลายประเภท ตั้งแต่การไฮด์ปาร์กทางการเมือง ตลาดนัดสนามหลวง การปิกนิก การเล่นว่าวการเล่นกีฬา ฯลฯ ถือว่าเป็นพื้นที่สารพัดประโยชน์ และดำรงสถานะอย่างนี้เป็นมาตลอดตั้งแต่ 2475 ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึง 2553 ถึงมีการยกเลิกสถานะของการเป็นพื้นที่สาธารณะแบบนี้ไป

ข้อมูลจากหนังสือศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญอีกช่วง คราวพิธีปลงศพผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 (จัดขึ้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517) หากมองอย่างผิวเผินอาจคิดว่า คล้ายกับเมื่อครั้งจัดสร้างเมรุในพิธีปลงศพทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช ในแง่ของการสดุดีวีรกรรมของสามัญชนที่ต่อสู้จนตัวตายเพื่อแลกกับประชาธิปไตย

แต่หากพิจารณาถึงรูปแบบ? เนื้อหา? และบริบทแวดล้อมแล้วจะพบว่ามีนัยทางความหมายที่แตกต่างกัน

การสร้างเมรุสามัญชน 14 ตุลา ขึ้นกลางท้องสนามหลวงครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นภายใต้ความพยายามลดทอนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่แต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระมหา กรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในการที่มีพระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีปลงศพวีรชนประชาธิปไตยเหล่านี้กลางท้องสนามหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์? ความหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเสริมพระบารมีให้ทวีเพิ่มมากขึ้นแทน เป็นการสื่อให้เห็นว่ากษัตริย์มีความสำคัญและบทบาทยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย

ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539 กรมศิลปากร 2539

ในเชิงสัญลักษณ์ เมรุ 14 ตุลาฯ กลางท้องสนามหลวงจึงเป็นรูปธรรมทางสถาปัตยกรรมชิ้นแรกๆ ที่แสดงความคิดว่าด้วยกษัตริย์ที่กลายมาเป็นศูนย์กลางใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่า “ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

สำหรับการชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2563 ศ.ดร.ชาตรีมองว่า หากกลุ่มนักศึกษาที่นัดชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. จะขอเข้าไปใช้พื้นที่สนามหลวงอีก ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแย่งชิงความหมายของพื้นที่นี้ก็เป็นได้

“นักศึกษาบอกว่าหากคนเยอะก็จะขอเข้าไปในสนามหลวง ถือว่าเหตุผลนี้เป็นตรรกะที่มีนัยยะสำคัญทางการเมืองซ่อนอยู่ แน่นอนว่ามันอาจเป็นการขยายพื้นที่ชุมนุมเพราะคนไปร่วม อาจมีเยอะมาก และพื้นที่ในธรรมศาสตร์อาจไม่พอ แต่ในทางสัญลักษณ์ ถือว่านี่ก็คือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นการเรียกร้องพื้นที่สาธารณะที่ถูกลิดรอนไปมากขึ้นตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ให้กลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้งนั่นเอง”

ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร

“ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นนักวิชาการที่มีความละเอียดลออในการนำเสนอและให้ความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ‘ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของเขา ได้เปิดพรมแดนใหม่ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยและสร้างความรู้ได้อย่างลุ่มลึกและรอบด้าน และแน่นอน ผู้อ่านจะได้มองสิ่งก่อสร้าง อนุสาวรีย์ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นศิลปะสกุลนี้ ด้วยสายตาและความเข้าใจแบบใหม่” ประชา สุวีรานนท์ เขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้

ท่ามกลางบรรยากาศของการ “ทุบ-รื้อ-ถอน-ทำลาย” ศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้การทุบทำลายเกิดขึ้นโดยมิต้องไตร่ตรองและโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็เนื่องด้วย ความรู้-ความเข้าใจต่อศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยในช่วงทศวรรษ 2475-2490 ถูกอธิบายหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นเพียง “ศิลปะนอกขนบ” เป็นศิลปะที่อยู่ตรงกันข้ามกับ “ความเป็นไทย”

เดือนตุลาคม พ.ศ.2552 จากความพยายามของ ชาตรี ประกิตนนทการ เขาได้รวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับ ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยในทศวรรษ 2475-2490 จำนวน 6 เรื่อง มาพิมพ์รวมเล่มกันเป็นครั้งแรก ในชื่อหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร เพื่ออธิบายและนิยามรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ถูกหลงลืมและละเลยในวงการศิลปะไทยว่าเป็น “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” (และเป็นที่มาของชื่อหนังสือด้วย) อันเป็นศิลปะที่แฝงฝังไปด้วยอุดมการณ์และศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

และมิถุนายน พ.ศ.2563 อันเป็นปีครบรอบ 88 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ของ ชาตรี ประกิตนทการ กลับมาอีกครั้งเป็นหนังสือปกแข็งน่าสะสมพร้อมกับขนาดที่ใหญ่และหนาขึ้น และแน่นอนบรรจุอันแน่นด้วยบทความจากพิมพ์ครั้งแรก 6 เรื่อง และพิมพ์ครั้งใหม่ 4 เรื่อง

ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ศิลปะหรือเป็นนักอ่านทั่วไป เข้าดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.matichonbook.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน