คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เสรีแต่จับกุม – ข้อกล่าวหาที่เจ้าพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ แจ้งดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. มีมากมายถึง 10 ข้อหา

สะท้อนว่าบ้านเมืองมีกฎหมายไม่น้อย จนน่าสงสัยว่าถ้านำกฎหมายทุกฉบับมาปฏิบัติพร้อมๆ กันแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานไหวหรือไม่ และจะทำงานไปซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่ของ หน่วยงานอื่นด้วยหรือไม่

เฉพาะพ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ซึ่งใช้ควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่สาธารณะบนถนนหนทาง ก็เต็มไปด้วยข้อบังคับและบทลงโทษมากมาย ตั้งแต่ปรับหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น

น่าสงสัยอีกเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ละเมิดกฎทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน หรือไม่

โดยเฉพาะการชุมนุมแสดงออกของประชาชนที่ประท้วงรัฐบาล

สําหรับข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเรื่องที่ถกเถียงมานาน หลังจากรัฐบาลต่ออายุกฎหมายฉบับนี้ด้วยการยืนยันหลายครั้งว่า ใช้สำหรับป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เท่านั้น

แต่สุดท้ายแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ ต่อชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

มีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้วยข้อบังคับของกฎหมายนี้ชัดเจนว่า รัฐบาลมีสิทธิใช้กฎหมายสำหรับควบคุมการชุมนุม ทั้งที่แสดงออกหลายครั้งว่าการควบคุมโควิด-19 ไม่ให้ระบาดในประเทศ เป็นผลงานเอกของรัฐบาล

แล้วเหตุใดคนที่อยู่ในประเทศจึงเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนระลอกล่าสุดนี้เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนและสื่อมวลชนนานาประเทศต่างติดตามและรายงานสถานการณ์ออกไปทั่วโลก

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องปฏิบัติให้ตรงกับคำพูด ว่าไม่ปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมอย่างสันติ

หากพูดออกมาเช่นนี้แล้ว แต่อ้างกฎหมาย ยิบย่อย กฎหมายแวดล้อม เพื่อกล่าวหาดำเนินคดี กับแกนนำหรือผู้ชุมนุม ทั้งเหตุการณ์เฉพาะหน้า และย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ย่อมทำได้ แต่ชอบธรรม หรือไม่ ทุกคนมีคำตอบในใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน