สลดแม่เฒ่าอัยเยอร์เวง
ดินสไลด์ฝังร่างทั้งเป็น

สลดดินสไลด์ทับบ้านเรือนในอ.เบตง-อ.บันนังสตา ฝังร่างหญิงชราวัย 76 ปีจมโคลน ลูกชายสุดเศร้าเผยนาทีชีวิตช่วยแม่ไม่ทัน โดนตอไม้ใหญ่ทับ เจ้าหน้าที่เร่งอพยพผู้ประสบภัยไปอยู่พื้นที่ปลอดภัย ขณะฝนยังคงตกต่อเนื่อง น้ำไหลบ่าเจิ่งนองทั่วอ.ธารโต ส่วนที่จ.นราธิวาส น้ำท่วมสถานที่ราชการ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก 9 อำเภอ ปภ.เตือน 11 จว.ใต้รับมือฝนถล่ม

ฝังทั้งเป็น – ดินโคลนสไลด์ถล่มทับบ้านเลขที่ 119 ม.1 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ทำให้นางบีเดาะ ฮาบิน อายุ 76 ปี ที่นอนอยู่ถูกฝังทั้งเป็นตายสลด ซึ่งในพื้นที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.

เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. พ.ต.อ.วงศกร เหมือนเขียว ผกก.สภ.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา สั่งการให้ ร.ต.อ.บัณฑิต ประเสริฐ รอง สว.(สอบสวน)สภ.อัยเยอร์เวง ร้อยเวร 30 ด.ต.วีรยุทธ เซ่งสีแดง ผบ.หมู่(ป.) สภ.อัยเยอร์เวง ร้อยเวร 20 พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการสิงห์ดง เจ้าหน้าที่ อส.เบตง และเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างเบตงธรรมสถาน ไปตรวจสอบภายหลังรับแจ้ง เกิดเหตุดินถล่มทับบ้านของประชาชนบริเวณกลุ่มหมู่บ้าน ก.ม.23 บ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 119 ม.1 ต.อัยเยอร์เวง เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปถึงพบบ้านหลังดังกล่าวถูกดินถล่มทับ และได้คำยืนยันจากลูกชายว่ามีแม่ติดอยู่ภายในบ้าน เจ้าหน้าที่จึงเร่งค้นหา และพบผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นางบีเดาะ ฮาบิน อายุ 76 ปี เสียชีวิตภายในห้องนอนในบ้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างเบตงจึงนำร่างของผู้เสียชีวิตออกจากที่เกิดเหตุนำส่งร.พ.เบตง

นายธงชัย ฮาบิน อายุ 51 ปี บุตรชายผู้เสียชีวิตเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. กระทั่งมาถึงช่วงกลางดึกวันที่ 19 ธ.ค. ตนและแม่เข้านอนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนกระทั่งประมาณ 02.00 น.ได้ยินเสียงดังโครม ต่อมาก็มีดินโคลนไหลลงมาจากเขาทับบ้าน ซึ่งตนได้นอนคนละฝั่งกับแม่ในห้องนอน ขณะเกิดเหตุเห็นแม่ถูกดินทับอยู่ ได้พยายามเข้าไปช่วย แต่ตนก็ถูกดินโคลนทับอยู่ไม่สามารถขยับตัวได้ หลังจากที่ช่วยเหลือ ตัวเองได้ จึงเร่งขุดดินออกแต่มีตอไม้หลุมพอขนาดใหญ่ทับร่างแม่อยู่ อีกทั้งมีดินที่ไหลลงมาทับจำนวนมาก จึงไม่สามารถเข้าไปในห้องนอนที่มีดินทับร่างแม่อยู่ได้ จากนั้นประสานไปยังตำรวจสภ.อัยเยอร์เวงที่อยู่ใกล้สุด และชุดเจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือจนสามารถค้นหาร่างแม่ที่ถูกดินถล่มทับบ้านจนพบ

ล่าสุด พ.ต.อ.วงศกรเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว แต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีดินโคลนไหลมากับน้ำจำนวนมาก อีกทั้งมีตอไม้ขนาดใหญ่ไหลปนมากับดินโคลน ส่วนชาวบ้านที่ถูกดินถล่มทับบ้านเสียหาย เจ้าหน้าที่ได้จัดหาที่พักชั่วคราวและช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งอาหาร น้ำดื่มและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมแจ้งเตือนผู้สัญจรบนถนนสายยะลา-เบตง ให้ระมัดระวังอันตราย เนื่องจากฝนที่ตกหนักทำให้ดินถล่มทับเส้นทางหลายจุด อาจเกิดอุบัติเหตุได้

ด้านนายสุริยา บุญพันธ์ ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอเบตง ระบุว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งค้นหาผู้สูญหาย และช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและฝนตกหนักในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากประเมินแล้วว่าพื้นที่ไหนวิกฤตก็ให้อพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จ.ยะลา ทำให้หลายพื้นที่น้ำในแม่น้ำต่างๆเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นและเกิดน้ำท่วมขัง และส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว อย่างเช่นบ้านปุยุด ม.1 ต.ธารโต อ.ธารโต น้ำฝนที่ตกสะสมได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านแล้ว ทำให้ต้องอพยพสิ่งของขึ้นไปไว้บนที่สูง ซึ่งทางหน่วยงานในพื้นที่ได้เข้าไปตรวจสอบและช่วยเหลือเป็นการเบื้องต้นแล้ว

ส่วนที่บ้านเขาน้ำตก ม.7 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา เกิดดินสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชน แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อยทพ. 3006 ได้ประสานแจ้งให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จ.ยะลา ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักในบางแห่ง ทางจังหวัดจึงเร่งประสานทุกหน่วยในพื้นที่ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่อาจมีปริมาณสูงขึ้น และล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พร้อมขอให้ผู้ที่ประสบเหตุในทุกพื้นที่รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ต่อไป

ด้านจ.นราธิวาส จากสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก 3 วันติดต่อกัน บรรยากาศโดยทั่วไปบนท้องฟ้ายังคงมีเมฆครึ้มปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกเป็นช่วงๆ ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก 2 สาย คือ แม่น้ำบางนราที่มีปริมาณน้ำฝนได้ไหลลงมาสมทบจนสูงกว่าตลิ่ง 1.14 เมตร ส่วนแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่รองรับมวลน้ำจากพื้นที่ อ.สุคิรินและแว้ง ได้ไหลลงมาสมทบในแม่น้ำสุไหงโก-ลก จนมีปริมาณสูงกว่าตลิ่ง 1.90 เมตร จนส่งผลทำให้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่ทางการเกษตรและสถานที่ราชการ ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง 9 อำเภอ คือ อำเภอระแงะ สุไหงปาดี บาเจาะ เจาะไอร้อง แว้ง จะแนะ รือเสาะและสุไหงโก-ลก เป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 146 หมู่บ้าน 32 ตำบล 9 ชุมชน ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้ รับความเดือดร้อน 11,037 ครัวเรือน รวม 45,161 คน

ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมีสภาวะน้ำท่วมขังสูง แถมเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมตลิ่งของแม่น้ำสุไหงโก-ลก จำนวน 9 ชุมชน คือ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา ชุมชนโปฮงยามู ชุมชนบือเร็งนอก ชุมชนบือเร็งใน ชุมชนกือดาบารูและชุมชนสวนมะพร้าว ซึ่งตั้งอยู่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีปริมาณน้ำท่วมขังสูง โดยเฉลี่ย 50-150 ซ.ม. มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนและได้อพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราว โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง จำนวน 33 ครัวเรือน รวม 123 คน ซึ่งนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จัดเตรียมสถานที่ไว้ สำหรับสภาวะน้ำท่วมขังบ้านเรือนของประชาชนในครั้งนี้ คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในพื้นที่ยังคงมีฝนตกเป็นระยะ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่1 (313/2563) ลงวันที่ 19 ธ.ค. แจ้งว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไปและอ่อนกำลังก่อนเคลื่อนเข้าบริเวณอ่าวไทยในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ปริมาณฝนสะสมอาจทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยสำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย มีกำลังแรง คลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก.จึงได้ประสาน 11 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าวโดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนพร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ริมแม่น้ำลำคลอง ที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ภัยแนวทางการปฏิบัติตน และการอพยพไปยังจุดปลอดภัยผ่านทุกช่องทางรวมถึงเน้นย้ำให้ดูและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัดเพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน