6วันดับ358เจ็บ3พันคน
‘เมาขับ’ทะลุ2,399คดี

ปีใหม่ 6 วันยอดตาย 358 ราย บาดเจ็บ 3,073 คน เมาแล้วขับสาเหตุหลัก ซิ่งรถจยย. อุบัติเหตุ 3,072 ครั้ง คุมประพฤติ 2,522 คดี เมาขับรถ 2,399 คดี บุรีรัมย์มากสุด 309 คดี รองลงมาชัยภูมิ 206 คดี และจันทบุรี 182 คดี ส่วนขับเสพเท่าเดิม 105 คดี ‘เชียงราย-โคราช’ แชมป์เสียชีวิตสะสมเท่ากัน 16 ราย เชียงใหม่แชมป์อุบัติเหตุ ด้าน 9 จังหวัด ตราด นครนายก นราธิวาส น่าน มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ ตายยังเป็นศูนย์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 ม.ค. ที่ศูนย์ อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดมท. ในฐานะประธานแถลงข่าว สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 325 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บ 333 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.08 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 68 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.92 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.31 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 26.77 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 33.24

ศปถ.ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,948 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,878 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 577,602 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 127,568 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 35,357 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,084 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 5 รายจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ จังหวัดละ 14 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2563- 3 ม.ค.2564 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,072 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 358 ราย และบาดเจ็บ 3,073 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด คือ ตราด นครนายก นราธิวาส น่าน มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 111 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา จังหวัดละ 16 ราย และมีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 113 คน

นายอรรษิษฐ์กล่าวต่อว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั้งจำนวนครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและเมาสุรา สำหรับในวันนี้คาดว่าประชาชนบางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เน้นกวดขันการขับรถเร็ว การเมาแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัย และการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุในเส้นทางหลักเข้าสู่กรุงเทพ มหานคร โดยตั้งกรวยริมไหล่ทาง ปิดจุดกลับรถ เปิดสัญญาณไฟเตือนบนเส้นทางเป็นระยะ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

ด้านนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. เป็นวันที่ศาลปิดทำการ จึงทำให้ปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ มีจำนวนเพียง 326 คดี เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุราทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ยอดสถิติคดีสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,522 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 2,399 คดี หรือร้อยละ 95.12 คดีขับเสพ 105 คดี หรือร้อยละ 4.16 คดีขับรถประมาท 18 คดี หรือร้อยละ 0.71

จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.บุรีรัมย์ 309 คดี 2.ชัยภูมิ 206 คดี และ 3.จันทบุรี 182 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติในวันที่ 6 ของช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี 2563 มีจำนวน 337 คดี ส่วนปี 2564 มี 326 คดี ลดลง 11 คดี

สำหรับการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไลอีเอ็ม ยังคงจำนวน 39 รายเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่มีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 30 วัน

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2564 หรือตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2563 – 4 ม.ค.2564 มีข้อมูลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 20,506 ราย เสียชีวิต 389 ราย ถือว่าลดลงจากปี 2563 ที่พบผู้บาดเจ็บ 29,155 ราย เสียชีวิต 482 ราย หรือ ลดลงร้อยละ 30 และ 19 ตามลำดับ โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 4,065 ราย หรือร้อยละ 19 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 1,051 ราย, เชียงใหม่ 814 ราย, ขอนแก่น 754 ราย, บุรีรัมย์ 631 ราย และเชียงราย 596 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 27 ราย, เชียงราย 17 ราย, บุรีรัมย์ 16 ราย, อุดรธานี และชลบุรี จังหวัดละ 14 ราย

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงสูงในช่วงวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ โดยวันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีผู้บาดเจ็บ 4,523 ราย เสียชีวิต 79 ราย ส่วนวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีผู้บาดเจ็บ 4,025 ราย เสียชีวิต 83 ราย โดยพบว่าไม่สวมหมวกนิรภัยหรือหมวก กันน็อก 2,773 ราย หรือร้อยละ 16 และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 564 ราย หรือร้อยละ 26 ส่วนการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ได้รับบาดเจ็บทุกราย พบเป็นผู้ดื่มสุรามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินมาตรฐาน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 6,111 ราย หรือร้อยละ 29 ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 1,038 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 อย่างไรก็ตาม ถือว่าลดลงจากปี 2563 ที่พบผู้ดื่มสุรารวม 8,283 ราย หรือลดลงร้อยละ 26

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน