ระบุศาลปค.ยังไม่ได้ชี้
ห้ามกลับไปใจแผ่นดิน

นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน ร่วมเสวนาถกปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ‘สุรพงษ์’มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยันชาวบ้านเป็นคนไทย มีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน เกิดและอยู่ ‘ใจแผ่นดิน’ ไม่ได้รุกป่า ขณะที่ ‘ดร.ปริญญา’ ชี้ศาลปกครองยังไม่ได้ชี้ขาดห้ามชาวบ้านกลับถิ่นเดิม เพียงแต่ขาดเอกสารมา รองรับ จวกเรือนจำเพชรบุรีอาศัยอำนาจใดกล้อนผมชาวบ้าน เป็นการกระทำร้ายแรงมาก ส่วน ‘พีมูฟ’ และ ‘ภาคีเซฟบางกลอย’ แสดงละครบนสกายวอล์ก ถูกล่ามโซ่ กระชากตัวไปตามพื้น กล้อนผม

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนา “ปัญหา-เสียงจากชาวบ้านบางกลอย การตีความหมาย กรณีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน” โดยนาย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมเสวนา และน.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักปกป้องสิทธิ มนุษยชน เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายสุรพงษ์กล่าวว่าขอชี้แจงข้อเท็จจริง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน 9 ประเด็น คือ 1.กล่าวอ้างว่าชาวบ้านเป็นต่างด้าว ไม่ใช่คนไทย แต่ข้อเท็จจริงในปี 2554 ที่ฟ้องร้องศาลปกครอง ในที่สุดชาวบ้านได้แสดงตัวเป็นคนไทย มีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนเป็นคนไทย 2.อ้างว่าชาวบ้านเป็นกะหร่าง ซึ่งไม่มีอยู่ในสารบบของชาติพันธุ์ไทย มีเพียงกะเหรี่ยงเท่านั้น ซึ่งคำว่ากะหร่างเป็นคำดูถูกกะเหรี่ยง 3.อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ข้อเท็จจริงคือชาวบ้านเกิดบริเวณดังกล่าว อยู่ในป่ามาโดยตลอดไม่ได้บุกรุกป่า 4.มีการอพยพของชาวบ้านในปี 2539 และ 2554 ซึ่งในปี 2554 ไม่ใช่การอพยพ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเผาบ้าน จึงต้องหนีตายลงมา

5.จัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยกฎหมายอุทยานฯ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จัดสรรให้ใครอยู่ มีเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น 6.อ้างว่าพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ จะอาศัยทำกินไม่ได้ แต่ในบางกลอยล่างก็เป็นป่าต้นน้ำเช่นเดียวกัน สภาพภูมิประเทศคล้ายกัน และอยู่ในเขตอุทยาน หากเป็นเช่นนั้นการนำชาวบ้านลงมาบางกลอยล่างก็ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน 7.เมื่อชาวบ้านกลับไป มีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกเปิดป่าใหม่ แสดงว่าขณะที่ชาวบ้านทำกินในพื้นที่เก่า รัฐยอมรับว่าพื้นที่เก่าของชาวบ้านมีการฟื้นฟูเป็นป่าใหม่แล้ว แปลว่าตามมาตรา 65 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ถ้ามีการฟื้นฟูเป็นป่าใหม่ได้ ก็ให้สิทธิชาวบ้านดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมได้

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า 8.เจ้าหน้าที่อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงคือ เจ้าหน้าที่ใช้มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล เป็นมาตรการเร่งรัดในการสำรวจพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ไม่ใช่มาตรการบังคับ จะอ้างว่าเลยระยะเวลา 240 ไม่ได้ เพราะหากไม่เสร็จตามกำหนด สามารถยื่นเวลาไปได้ และตามพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และได้อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยาน และ 9.อ้างปฏิบัติการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อ้างว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิไปอาศัยทำกินนั้น เป็นเพียงการฟ้องร้องในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเผาบ้านชาวบ้านเท่านั้น ส่วนสิทธิทำกินของชาวบ้านว่าจะกลับไปอยู่ได้หรือไม่นั้น ทางโฆษกศาลปกครองได้ออกมาระบุชัดเจนว่า ศาลยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้

จากนั้นนายพนมพร วนสิริคุณ และนายประเสริฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกจับกุมขอร่วมกล่าวด้วย โดยนายประเสริฐกล่าวว่ารัฐอ้างว่าจัดสรรพื้นที่ให้ แต่พวกเรากลับไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว ไม่มีข้าวสาร ไม่มีอะไรกิน อดข้าวบ้างก็มี จึงตัดสินใจขึ้นไป จริงๆ อยากขึ้นไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่กล้าขึ้นไป กลัวอำนาจรัฐ เหตุการณ์จับกุมชุลมุนมาก กระชากดึงผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไป เจ้าหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์กัน

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ในขณะที่ชาวบ้านถูกยึดโทรศัพท์ตั้งแต่อยู่บางกลอยบน และเมื่อนำตัวลงมาก็พามาตรวจร่างกาย เจาะเลือด ถอนเส้นผม เก็บเนื้อเยื่อที่กระพุ้งแก้ม ทุกคนโดนตรวจทั้งหมด เมื่อถูกสอบสวนก็ส่งตัวไปยังเรือนจำกลางเพชรบุรี แยกชายหญิง และที่ เรือนจำให้ทุกคนตัดผม แต่เราขอให้ 2 คน ไม่ตัดผม มีนายหน่อแอะ มีมิ และอีกคน เพราะความเชื่อว่าหากตัดผมแล้วจะไม่สบายได้ เจ้าหน้าที่ถึงยอม นอกนั้นโดนโกนผมทั้งหมด

ขณะที่ รศ.ดร.ประภาสกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเด็นหลักคือสิทธิชุมชน แต่ เจ้าหน้าที่เอาประเด็นรองมาทำลายประเด็นหลัก ความมั่นคงที่นิยามมานั้นเกี่ยวข้องกับการไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องไม่ไปทำลายหลักการใหญ่ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบธรรมในการปฏิบัติการ และอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ เนื่องจากยังมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ

ส่วนนายไพโรจน์กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ก็รับรองสิทธิชุมชนเช่นเดียวกัน ทั้งสิทธิในที่ดินและเขตแดน การมีจารีตวิถีปฏิบัติกับธรรมชาติ ไร่หมุนเวียนนอกจากจะเป็นการดูแลรักษาป่าไม้ ยังให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ รัฐต้องเคารพและดูแล อีกทั้งปัญหาของพื้นที่บางกลอย ไม่มีการสำรวจอย่างแท้จริงว่ามีชุมชนและความหลากหลายเหล่านี้ดำรงอยู่ และควรถูกคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องเป็นทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ใช่การกล่าว อ้างว่าเป็นการบุกรุก

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่าขอสรุปประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เรื่องคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่รัฐชดเชยให้ชาวบ้าน กรณีเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้ฟ้องทั้ง 6 ราย เนื่องจากทำเกินกว่าเหตุ ส่วนการขอกลับสู่ที่ดินเดิม ศาลระบุว่าผู้ฟ้องคดี ทั้ง 6 รายไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสือการได้รับอนุญาตจากทางการ ประเด็นคือศาลไม่ได้ระบุว่ากลับได้หรือไม่ แต่ขาดกระดาษจากทางการมารองรับ ซึ่งการออกเอกสารเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ก็กลับมาเป็นเรื่องของรัฐบาล

รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารัฐจะอ้างว่าศาลไม่ให้กลับ ไม่ได้ ศาลยังไม่ได้ชี้ขาด เพียงแต่ขาดเอกสาร และระบุเพิ่มเติมว่าหากมีการฟ้องในประเด็นนี้ ศาลก็ต้องนำสืบพยานหลักฐานในอีกลักษณะหนึ่ง ชัดเจนว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ กฎหมายยังเปิดอยู่ และสามารถต่อสู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะพิสูจน์สานต่อเรื่องนี้ย่อมทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องแล้ว ล่าสุดทางกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนฯ เตรียมข้อมูลจากกรมแผนที่ทหารเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ และต้องยอมรับหากชาวบ้านไม่ถูก ชาวบ้านต้องยอม หากชาวบ้านถูก เจ้าหน้าที่ต้องยอมเช่นกัน

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวอีกว่าประเด็นสำคัญอีกเรื่อง คือการที่เรือนจำกลางเพชรบุรีโกนหัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อาศัยอำนาจใด เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์หากเป็นนักโทษเด็ดขาดที่คดีสิ้นสุดแล้ว ผมด้านหน้าและด้านบนยาวได้ 5 เซนติเมตร ส่วนด้านข้างต้องเกรียน นอกจากนี้ระบุว่าคนต้องขังก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด เรือนจำจะปฏิบัติเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ และให้ไว้ผมแบบชนสามัญ ดังนั้นการที่เรือนจำไปกล้อนผมพวกเขา ได้อาศัยอำนาจใด เรื่องนี้ร้ายแรงมาก เราต้องต่อสู้ในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ชาวบางกลอย แต่หมายถึงทุกคน หากไม่ใช่นักโทษ จะปฏิบัติกับพวกเขาเป็นนักโทษไม่ได้ เรื่องนี้ต้องฟ้องให้เป็นบรรทัดฐานกับทุกคน

ส่วนนางสุนีกล่าวว่าตำนานเรื่องนี้ดูเพียงผิวๆ ไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างซ้ำซาก ตั้งแต่เรื่องยิงนายทัศกมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด แกนนำต่อต้านการผลักดันชนกลุ่มน้อย ต่อมานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ถือเป็นความเจ็บปวดของชาวบ้านที่หมดหนทาง แต่อำนาจรัฐกลับเมินเฉย ไม่สะสางปัญหา อีกทั้งกระบวนการจับกุมชาวบ้านก็ไม่ชอบธรรม จัดหาทนายที่เป็นคนของรัฐ ไม่ใช่ทนายที่ชาวบ้านต้องการ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวต่อว่ากระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ไม่ชอบธรรมอย่างร้ายแรง ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐเลือกปฏิบัติกับประชาชนทางเชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน ส่วนการที่รัฐอ้างว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่มีทั้งอาวุธปืน เฮลิคอปเตอร์ อ้างว่าไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็ละเมิดต่อกระบวนการทั้งหมดแล้ว รัฐควรยุติการดำเนินคดี เพราะเริ่มต้นจากความไม่ยุติธรรม และควรตั้งคณะทำงานที่อิสระจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

แก้ที่ดิน – ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และตัวแทนจาก กรมที่ดิน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศ รวม 13 ฉบับ ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 มี.ค.

เย็นวันเดียวกัน ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน กทม. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “อยากกลับบ้านไหม คนบางกลอยไม่มีบ้านให้กลับ” โดยนายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย และนายพชร คำชำนาญ จากภาคีเซฟบางกลอย แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พร้อมผู้ชายอีก 2 คน แสดงละครบนสกายวอล์ก จำลองเหตุการณ์จับกุมและผลักดันชาวบ้านออกจากบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน โดยล่ามโซ่ที่มือทั้ง 2 ข้าง กระชากตัวลากไปตามพื้น วนไปตามจุดต่างๆ ของสกายวอล์ก ก่อนลงบันไดมายังลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

จากนั้นกล้อนผมนายธัชพงศ์ นำน้ำและสบู่มาสระผมผู้แสดงทั้ง 2 คน เทแป้งฝุ่นลงบนศีรษะ โดยทั้งนายพชรและนายธัชพงศ์ต่างร่ำไห้ และตะโกนว่า “บ้านเราอยู่ที่ใจแผ่นดิน เราจะกลับใจแผ่นดิน” ขณะเดียวกันมีผู้ถือป้ายข้อความว่า “คุณเดินทางกลับบ้านกี่ชั่วโมง คนบางกลอยใช้เวลา 25 ปี” และ “อยากกลับบ้านไหม คนบางกลอยไม่มีบ้านให้กลับ”

ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล จุดชุมนุมของพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยก็จัดกิจกรรมเช่นกัน โดยมีทราย เจริญ ปุระ นักแสดงชื่อดังมาร่วมด้วย และอ่าน คำกล่าวถึงชาวบางกลอยว่า ชื่อแรกที่ทำให้รู้จักบางกลอย คือบิลลี่ ซึ่งในอดีตมีคนที่เรียกร้องเรื่องนี้ถูกอุ้มหายกลายเป็นศพ แต่พวกเราชาวบางกลอยไม่อยากจะอยู่ด้วยความหวาดกลัวอีกต่อไปแล้ว เราจะไปถึงใจแผ่นดิน และผู้คนไม่ควรถูกบังคับให้สูญหาย ทั้งร่างกายจิตวิญญาณในพื้นที่ ในสิ่งที่เขาเป็น รัฐไม่มีสิทธิ์มาบังคับให้ผู้คนเป็นในแบบที่รัฐต้องการโดยไม่คำนึงถึงความจริงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กำลังใจ – ‘ทราย’ อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงสาว ขึ้นปราศรัยให้กำลังใจชาวบางกลอย บริเวณจุดชุมนุมกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอย เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ ค่ำวันที่ 12 มี.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน