‘บิ๊กปั๊ด’ย้ำมาตรฐาน
ไฮเทค-โปร่งใสทั่วปท.

‘บิ๊กปั๊ด’ ออกคำสั่งตั้งจุดตรวจทั่วประเทศ ทั้งด่านมั่นคงและวัดแอลกอฮอล์ พร้อมกำหนดมาตรการให้ปฏิบัติตามเพื่อความโปร่งใสชัดเจน ไม่เป็นที่เคลือบแคลงของประชาชน โดยเฉพาะด่านเมาขับหากใครเป่าแล้วผ่านก็แนบผลให้ผู้ขับขี่ไว้แสดงกับด่านต่อไป กทม.ตั้งจุดตรวจ 37 จุด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นป้องกันโควิด-เป่าเมาขับโดยเฉพาะ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. งานข่าวแจ้งว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ลงนามหนังสือ เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกและความผิดอื่น ที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทางเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึง รอง ผบ.ตร.(มค) และ (ปป) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงาน มค และ ปป เพื่อทราบและควบคุมการปฏิบัติ ผบช.น. ภ.1-9 ก. สยศ.ตร. และ จตร.(หน.จต.) ตามหนังสือ ตร. ที่ 1007.34/5538 ลง 13 ธ.ค.56 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด

เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจราจรให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่กระทบสิทธิกับประชาชนเกินสมควร สร้างความเชื่อมั่น และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการบังคับใช้กฎหมาย จึงกำหนดมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจ

เพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับรถหรือการใช้ทางเพิ่มเติม โดยสรุปดังนี้ 1.การกำหนดแผนการตั้งจุดตรวจให้พิจารณา การตั้งจุดตรวจแต่ละประเภท ต้องจัดทำแผนการตั้งจุดตรวจที่ชัดเจน ให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งจุดตรวจ ช่วงเวลาปฏิบัติ กำลังพล หัวหน้าจุดตรวจ และผู้ควบคุมการปฏิบัติ โดยการออกแผนการตั้งจุดตรวจทุก 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน

กำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจทุกประเภท ควรพิจารณาจากบริเวณที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือเป็นบริเวณที่มีการฝ้าฝืนกฎหมายของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก โดยจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผย เพื่อป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน จัดทำแผนการตั้งจุดตรวจแล้วเสนอไปยัง บก.น/ภ.จว/ทล/จร. เพื่อให้ ผบก.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

ให้ รอง ผบช.น. ภ.1-9 และ ก. ที่รับผิดชอบงานจราจรเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลในภาพรวม เพื่อให้การตั้งจุดตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมิให้เกิดความซ้ำซ้อน อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร กรณีมีเหตุจำเป็นต้องปรับย้ายสถานที่ตั้งจุดตรวจให้เสนอ ผบก.เพื่ออนุมัติตาม โดยให้บันทึกเหตุผลความจำเป็นไว้ในระบบให้เรียบร้อย

ก่อนการตั้งจุดตรวจให้หัวหน้าจุดตรวจแจ้งข้อมูลให้ศูนย์วิทยุระดับ สน./สภ. บก./ภ.จว. ทราบทุกครั้ง โดยให้ปรากฏยศ ชื่อ สกุล ตำแหน่งของหัวหน้าจุดตรวจ จำนวนเจ้าหน้าที่ สถานที่ตั้งจุดตรวจ ห้วงเวลาในการตั้งจุดตรวจ เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติให้แจ้งผลการปฏิบัติให้ศูนย์วิทยุข้างต้นทราบทันที และให้บันทึกผลการปฏิบัติลงในระบบแอพพลิเคชั่น TPCC (Tralic Police Checkpoint Control)

จุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายจราจรประเภทป้าย “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จุดตรวจจะต้องมีในการติดตั้งป่ายและเครื่องหมายจราจร สำหรับในเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นป้าย “หยุดตรวจ” ได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ต้องมีนายตำรวจระดับสัญญาบัตรยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นหัวหน้าจุดตรวจและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องแต่งเครื่องแบบทุกนาย ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ หากผู้ขับขี่หรือบุคคลใดก่อความวุ่นวายหรือไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่จะต้องควบคุมอารมณ์และยึดถือการปฏิบัติในกรอบของกฎหมาย

เจ้าพนักงานจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวชนิดติดตัว หรือติดหมวกนิรภัยของเจ้าพนักงานจราจร หรือกล้องชนิดอื่นที่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา เพื่อสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อมีการร้องเรียนตลอดจนเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใส

หากมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นหรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครร่วมปฏิบัติงาน ให้หัวหน้าจุดตรวจชี้แจงผู้ร่วมปฏิบัติให้เข้าใจในอำนาจหน้าที่ การแต่งกายของอาสาสมัครต่างๆ ต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกฝ่ายที่ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดและไม่แต่งกายคล้ายกับเครื่องแบบของตำรวจโดยเด็ดขาด

การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ กำหนดรูปแบบพื้นที่ปฏิบัติ ชุดปฏิบัติการ และวัสดุอุปกรณ์ในการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ เป็นสถานที่เปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน ให้มีการตรวจเบื้องต้นและการตรวจยืนยันผล สำหรับการตรวจยืนยันผล ต้องมีการบันทึกการตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวชนิดที่สามารถดูภาพได้แบบปัจจุบัน หรืออุปกรณ์บันทึกภาพเคลื่อนไหวใช้คู่กับอุปกรณ์ที่สามารถถ่ายทอดสดการตรวจวัด เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถดูการตรวจวัดได้แบบปัจจุบัน

เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องใช้เครื่องของทางราชการ และต้องมีการสอบเทียบตามกำหนดระยะเวลาของอุปกรณ์นั้น จากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ห้ามมิให้นำเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่ยังไม่ได้ผ่านการสอบเทียบ หรือเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่ของทางราชการมาใช้ในการปฏิบัติงานโดยเด็ดขาด บันทึกข้อมูลผู้ขับขี่และผลตรวจวัดแอลกอฮอล์ลงในระบบ TPCC กรณีผู้ชับชี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้พิมพ์เอกสารรายการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากระบบดังกล่าวให้ผู้ขับขี่ สำหรับใช้แสดงในจุดตรวจต่อไป แต่ในกรณีที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ กรณีการวางแผนการตั้งด่านอยู่ระหว่างการดำเนินการ เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างการเตรียมความพร้อม และดำเนินการจัดทำคำสั่ง เพื่อวิเคราะห์จุดที่เป็นตำแหน่งที่สามารถจะดำเนินการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และจุดตรวจวัดมลภาวะอันเกิดจากยานพาหนะ แต่ละกองบัญชาการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จะสามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ต่อไป

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เผยว่า สำนักอนามัยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ หารือแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ของกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ สำนักเทศกิจยังได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจรและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. จะตั้งจุดบริการประชาชนและจุดตรวจความปลอดภัย หรือความมั่นคง เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ อปพร. หน่วยแพทย์ หรืออนามัย เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างปลอดภัย ได้แก่ ถนนสายหลักที่เป็นเส้นทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งสายใต้ใหม่-สายใต้เก่า และสถานีขนส่งเอกมัย นอกจากนั้น ยังตั้งจุดตรวจความปลอดภัย หรือความมั่นคง เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่เขตต่างๆ รวม 37 จุด และจุดที่กำหนดให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ที่ภาครัฐ หรือเอกชนจัดขึ้นในพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่กวดขันให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน