ฝ่ายค้านเอาแน่
แก้รธน.ทั้งฉบับ

เพื่อไทย-ก้าวไกลตอก กลับพปชร.อย่าก้าวก่ายพรรคการเมืองอื่น ยันแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคือทางออก ทำได้ไม่ยากถ้าวุฒิสภาร่วมมือ อัดส.ว.อย่าโบ้ยฝ่ายค้านต้นเหตุร่างพ.ร.บ.ประชามติค้างพิจารณา ชี้กฎหมายสำคัญรัฐบาลต้องรักษาองค์ประชุม พรรคร่วม ฝ่ายค้านเลื่อนสัญจรพบประชาชน 4 ภาค อ้างพ.ร.บ.ประชามติถูกสกัด กระทบไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ แถมโควิดระบาด กกต.ไฟเขียวพรรคการเมืองเลื่อนประชุมใหญ่ ‘วิโรจน์’ บี้ ‘อนุทิน’ ตอบให้เคลียร์ ปมวัคซีนซิโนแวค สกัดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษได้แค่ร้อยละ 50

พท.สวนสว.ปมกดบัตรแทน

วันที่ 11 เม.ย. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณี นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุฝ่ายค้านมีการกดบัตรแทนกันในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ออกเสียงประชามติ ว่า ฝ่ายค้านบางคนมี ประชุมกมธ. และมีประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ส.ว.หลายคนอยู่นอกห้องประชุม ซึ่งตนแปลกใจมากที่ระหว่างการโหวตกลับนั่งเฉย ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่มีบัตรเขย่งและไม่มีการกดบัตรแทนกัน เพราะฝ่ายค้านเราต้องการเห็นกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ดังนั้นจึงมาประชุมกันมากและ ไม่คิดที่จะไม่เข้าประชุม

ตอกกลับพปชร.อย่าก้าวก่าย

ส่วนกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจใช้เวลานาน ให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า เรื่องนี้เราได้ยืนยันเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเราอยากแก้ทั้งฉบับ นายไพบูลย์จะเสนออย่างไรก็เป็นสิทธิของนายไพบูลย์ แต่ไม่ควรก้าวก่ายความเห็นของพรรคอื่นๆ ครั้งที่แล้วฝ่ายค้านเราก็เสนอแก้เป็นรายมาตราไป ซึ่งก็มีปัญหา เพราะฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ไม่เห็นชอบ ดังนั้นในการยื่นแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นสิทธิที่เรากระทำได้ตามกฎหมาย เราก็ยืนยันที่จะเดินหน้าในช่องทางนี้

สะท้อนธาตุแท้ ‘พปชร.’

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. พท. รองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวข้อเสนอของพปชร.ให้ฝ่ายค้านแก้รายมาตรา เพราะการแก้ทั้งฉบับใช้เวลาเกิน 2 ปีนั้น ทำให้เห็นเป้าประสงค์ชัดเจนว่าพวกเขาไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ เดิมทีเราแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นายไพบูลย์กลับไปยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญที่นำมาพิจารณาแก้ไขก็เป็นร่างของพปชร. และพรรคร่วมรัฐบาลที่เซ็นรับรองเอง มาวันนี้กลับมายื่นแก้เป็นรายมาตราอีก พฤติกรรมแบบนี้ไม่น่าเชื่อถือ เหตุการณ์ในอดีตเป็นสิ่งพิสูจน์แล้ว ส่วนอนาคตนายไพบูลย์จะแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ จะแก้เป็นรายมาตราก็แก้ไป แต่ฝ่ายค้านเราจะยื่นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านมาตรา 256 เหมือนเดิม

ตนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ใน กมธ.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพิ่งรู้ว่ากมธ.เกือบครึ่งก็ไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ เอาแต่พูดจาดึงเวลา ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 60 คือจุดอ่อนและมีปัญหา รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราแตะต้องไม่ได้ ดังนั้นเราจะเดินหน้าแก้ต่อ ส่วนคนที่ไม่ได้อยากให้แก้ ก็เห็นชัดว่าเขาอยากให้พรรคพวกได้สืบทอดอำนาจต่อ ตัวเองก็ได้อิงแอบบารมีด้วย

ก้าวไกลย้ำดันแก้รธน.2 แบบ

นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณี พปชร. ระบุการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องใช้เวลาหลายปี และหากมีการยื่นไม่สามารถบรรจุญัตติเข้าสู่การพิจารณาได้ว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้ชี้ขาด แต่เหตุใดอยู่ๆ ฝ่ายกฎหมายถึงมีความสำคัญขึ้นมาทั้งๆ ที่เป็นแค่ฝ่ายให้คำปรึกษาธรรมดา ทั้งนี้ อำนาจการตัดสินใจเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายกฎหมายของสภาจึงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำใช้ตัดสินว่าจะร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

การแก้ไขทั้งฉบับแน่นอนต้องใช้ระยะเวลานานนับปี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลือกระหว่างการแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ทั้งฉบับ เพราะสามารถทำทั้งสองแนวทางไปพร้อมกันได้ เราจึงเสนอให้จัดตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างทั้งฉบับ เพื่อไม่ให้ยึดโยงกับการมีอยู่ของสภา หากมีการยุบสภาหรือปัญหาทางการเมือง ส.ส.ร.จะยังทำหน้าที่ต่อไปได้

ชี้แก้ทั้งฉบับคือทางออก

การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะเป็นทางออกที่แท้จริง ส่วนการแก้ไขรายมาตรา เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและชั่วคราว การจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะเป็นกระบวนการที่ประชาชนได้เลือกตัวแทนมาเป็น ส.ส.ร.เพื่อจัดทำฉบับใหม่ ซึ่งการจัดทำทั้งฉบับ และแก้ไขรายมาตราสามารถทำไปพร้อมกันได้

ส่วนที่นายไพบูลย์ระบุ ระบุคำถามประชามติ หากถามจะให้ตั้งส.ส.ร.หรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น การถามว่าจะให้ตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่เป็นการถามเชิงองค์กร ไม่ใช่ถามในเชิงบุคคลหรือคณะบุคคล จึงสามารถถามเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.ได้ เมื่อถามแล้วประชาชนก็จะเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง หากต้องการแก้มาตรา 256 ก็ต้องบอกประชาชนว่าเราจะแก้ไขอะไร เช่น หากไม่เอาเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือเสียงฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะใช้เสียงอะไรมาแทนในการโหวต เมื่อเรายื่นแก้ไขและให้มี ส.ส.ร.ก็ต้องบอกประชาชนโดยปริยายอยู่แล้วว่า โครงสร้างและคุณสมบัติของ ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร ดังนั้นคำถามประชามติถามได้หลายคำถาม

ซัดเล่ห์เหลี่ยมรบ.ยื้อแก้รธน.

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่าที่นายไพบูลย์ระบุการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับใช้เวลาหลายปีนั้น เป็นเล่ห์เหลี่ยมของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญปี 60 อยู่นานที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 มาจากการรัฐประหาร ทุกอย่างจึงเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ล่าสุดการแก้รัฐธรรมนูญก็ถูกตีความให้คลุมเครือ มาตอนนี้ พปชร.พยายามเบี่ยงเบนเสนอแก้รายมาตรา ที่เสนอมาก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรมาก เช่น บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เกิดประโยชน์เพื่อฝ่ายตน เพราะจะเหลือแค่พรรคใหญ่ คือ พปชร. กับ พท. ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับพรรคอื่นเลย และอำนาจส.ว.ก็ยังอยู่ ไม่มีการแตะต้อง หรือแม้แต่องค์กรอิสระ ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ต้องแก้ทั้งฉบับ

ส่วนที่ พปชร.ระบุแก้ทั้งฉบับสำเร็จยากนั้น แก้ไม่ยาก หาก ส.ว.ร่วมมือให้แก้มาตรา 256 และมีส.ส.ร.เลย 2 -3 เดือนก็แก้เสร็จแล้ว แต่ก็ขวางตลอด เขามีลูกเล่นเสมอ รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่อยากให้แก้จึงพยายามเบี่ยงมาเป็นรายมาตรา ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ยังสืบทอดอำนาจอยู่ อย่างไรก็ตามยังไม่เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริงจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่อาจแก้บางประเด็นได้

รบ.ต้องรักษาองค์ประชุม

ส่วนข้อกล่าวหาฝ่ายค้านเรื่องบัตรเขย่งนั้น การประชุมกฎหมายสำคัญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ฝ่ายรัฐบาลต้องทำหน้าที่รักษาองค์ประชุม รวมถึงเสียง ส.ว.ด้วย ถ้าส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ว.เข้าประชุม ก็จะไม่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมเลย ส่วนฝ่ายค้านจะอยู่ครบหรือไม่เป็นประเด็นรองลงมา ไม่มีเหตุผลที่จะมาโทษฝ่ายค้าน เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่สามารถเข้าประชุมได้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 พรรคร่วมรัฐบาลต้องควบคุมองค์ประชุมให้ได้ วันที่ 7-8 เม.ย.นั้น ส.ส.ฝ่ายค้านก็อยู่ประชุมกันเยอะ เพื่อประคับประคองการประชุมแทนฝ่ายรัฐบาล แต่มาบอกว่าฝ่ายค้านคือต้นเหตุของปัญหาเป็นการโบ้ยความรับผิดชอบ

ส.ว.เองก็ควรจะทำงานให้หนักแน่นกว่านี้ เพราะ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลบางคนต้องเข้าประชุมกมธ.คณะต่างๆ ขณะที่ ส.ว.ไม่ต้องเข้าประชุมกมธ. แต่ส.ว.กลับไม่เข้า ห้องประชุม การที่ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ค้างการพิจารณานั้น เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน

ฝ่ายค้านเลื่อนสัญจร 4 ภาค

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาธิการคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) กล่าวถึงการเดินสายฝ่ายค้านสัญจร 4 ภาคว่า เดิมวางแผนว่าเมื่อพ.ร.บ.ประชามติผ่าน จะมีกระแสถกเถียงในสังคมเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านจึงกำหนดจะเดินสาย 4 ภาค เพื่อสอบถามความเห็นและความต้องการของประชาชนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ภายใต้หัวข้อ “ฝ่ายค้านพบประชาชน 4 ภาค : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่ขนานถอดสลักรัฐธรรมนูญ ฉบับเก่า” แต่ตอนนี้มีปัจจัยเข้ามาหลายประการ ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติถูกเลื่อนการพิจารณา ทำให้ไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญขยับออกไปด้วย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องเลื่อนกิจกรรมฝ่ายค้านสัญจร 4 ภาคออกไปก่อน จากเดิมกำหนดไว้คร่าวๆ จะเริ่มเดินสายหลังสงกรานต์ ยังยืนยันจะเดินสายอยู่แต่ช่วงเวลาจะประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

กกต.ไฟเขียวงดประชุม

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงปัญหาที่หลายพรรคไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้ทันภายในเดือนเม.ย.ตามที่กฎหมายกำหนด หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา กกต.จึงจะใช้วิธีการเดียวกัน โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองจะออกหนังสือเวียนถึงพรรคการเมือง ในวันที่ 16 เม.ย.นี้ เพื่อแจงว่า หากไม่สามารถจัดการประชุมได้ ให้ทำหนังสือแจงมายังนายทะเบียนพรรคพร้อมเหตุผล ก่อนครบกำหนดที่ต้องจัดการประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด

มีรายงานว่า ล่าสุดมีหลายพรรคส่งหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคแล้ว เช่น ชาติไทยพัฒนา ก้าวไกล เพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถจัดการประชุมใหญ่ได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

ปชป.เลื่อนประชุมใหญ่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ซึ่งตามพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดในมาตรา 43 ให้หัวหน้าพรรคจัดทํารายงานการดําเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา เสนอที่ประชุมใหญ่ของพรรคอนุมัติภายในเม.ย.ของทุกปีว่า ปชป.เตรียมรายงานการ ดําเนินกิจการครบถ้วนแล้ว และจะนัดประชุมกก.บห.พรรค 19 เม.ย. เวลา 10.00 น. เพื่อกำหนดระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พร้อมกำหนดวัน เวลาสถานที่ในการประชุม และเตรียมความพร้อมเรื่องการประชุมใหญ่สามัญ เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดของโควิด-19 ห่วงว่าจะเกิดความเสี่ยงและยากลำบากในการเดินทางมาของสมาชิกพรรค เพราะในหลายจังหวัดมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวด พรรคจะรอความเห็นจาก กกต.ก่อนว่าจะมีแนวทางให้พรรคปฏิบัติอย่างไร

ทั้งนี้ เดิม ปชป.กำหนดจัดประชุมใหญ่ 25 เม.ย.นี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอีกระลอก จึงต้องเลื่อนการจัดการประชุมออกไปก่อน

ก้าวไกลเร่งหารือกกต.

ขณะที่พรรคก้าวไกลแจ้งเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น จากเดิมกำหนดประชุมวันที่ 24 เม.ย. โดยเป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมาย ที่กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองต้องจัดประชุมใหญ่ไม่ช้าไปกว่าเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม กกต. ยังไม่มีแนวทางออกที่ชัดเจนสำหรับการจัดประชุมในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง แต่ทางพรรคได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง กกต. ถึงการตัดสินใจดังกล่าว เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

ก้าวไกลบี้‘อนุทิน’ตอบปมวัคซีน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข กรณีประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าวัคซีนซิโนแวคจากจีนล็อตล่าสุด 1 ล้านโดส ถึงไทยแล้ววันนี้ และจะเร่งแจกจ่ายให้ประชาชนเร็วที่สุดนั้น ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าระลอก 3 เป็นเชื้อสายพันธุ์ บี 117 ซึ่งมีผลการวิจัยว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อสายพันธุ์นี้ได้เพียง 50% ถือว่าต่ำมาก นายอนุทินต้องหาข้อมูลและตอบประชาชนให้ได้ก่อนซิโนแวคมีประสิทธิภาพกับเชื้อสายพันธุ์อังกฤษมากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่ได้มาแล้วก็ตะบี้ตะบันฉีด

ส่วนข้อสังเกตของ พญ.ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์ แพทย์โรงพยาบาลชื่อดังย่านทองหล่อ โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เรียนรู้ สู้กับโควิด” แม้ฉีดซิโนแวคดีกว่าการไม่มีวัคซีน แต่ในฐานะแพทย์อยากเห็นรัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนประเภท mRNA เช่นของโมเดอร์นากับไฟเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงป้องกันเชื้อสายพันธุ์บี 117 เพราะมีตัวอย่างหลายประเทศที่ฉีดซิโนแวคแล้วแต่ยังเจอการระบาดซ้ำจากเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะชิลี ฉีดครอบคลุม 37% ของประชากร แต่การระบาดไม่ลดลงตรงข้ามผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อสังเกตของหมอเป็นประเด็นที่สำคัญกับชีวิต และปากท้องของพี่น้องประชาชนอย่างมาก นายอนุทิน ต้องใส่ใจ และต้องหาคำตอบให้พี่น้องประชาชนเร็วที่สุดว่าเป็นวัคซีนที่แก้ปัญหาได้จริงไหม หรือแค่วัคซีนแก้เขิน แก้ขัด หรือเป็นวัคซีนคนละครึ่ง ที่ฉีดไปแล้วครึ่งหนึ่งได้ผล อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ผล ต้องรีบตอบประชาชน ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เงียบ

ออก2พ.ร.ก.อุ้มลูกหนี้-เจ้าของธุรกิจ

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสภาพคล่องและฟื้นฟูกิจการ และลดภาระลูกหนี้ทุกกลุ่มโดยเร็ว รวมถึงไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้จากการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ และมีผลบังคับใช้แล้ว ฉบับแรกคือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร ทั้งนี้สาระของพ.ร.ก. เป็นการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ประกอบด้วย 1.อัตราดอกเบี้ยท ปรับลดจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังจะทบทวนทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับลดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี และ 3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น

ส่วนอีกฉบับคือ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 เป็นการตัดวงเงินที่เหลือจากพ.ร.ก. ฉบับพ.ศ.2563 โดยฉบับล่าสุดประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการทั้งที่เป็นลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวแต่ยังมีศักยภาพและมีหลักประกัน เป็นการลดความเสี่ยงในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินไป และช่วยให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน