สรุป7วันตาย277
เจ็บอีกกว่า2.3พัน

สรุป 7 วันสงกรานต์ ตาย 277 ราย เจ็บ 2,357 คน อุบัติเหตุ 2,365 ครั้ง นครศรีธรรมราช-จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บสูงสุด ปทุมธานี-เสียชีวิตสูงสุด สาเหตุหลักยังคงเป็นเมาขับ-ขับเร็ว จักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด พบ 5 จังหวัดไม่มีผู้เสียชีวิต โฆษกศาลยุติธรรมสรุปยอดรวมคดีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก 12,664 คดี จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงราย ศรีสะเกษ ข้อหาที่กระทำผิดสูงสุด ขับรถขณะเมาสุรา 12,213 คน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนสถานการณ์โควิดพบลดลงกว่าเท่าตัว เหตุประชาชนส่วนใหญ่ไม่กลับภูมิลำเนาและยกเลิกการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปีเปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. วันที่เจ็ดของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 33.20 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.79

ทั้งนี้ จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,389 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 316,725 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 65,549 ราย ความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,631 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,201 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด อุบลราชธานี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด นครศรี ธรรมราช (14 คน)

นายอรรษิษฐ์กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (10-16 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,357 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (106 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ปทุมธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด นครศรี ธรรมราช (109 คน) ทั้งนี้ ศปถ.ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 พบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยจะรวบรวมข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยสรุปยอดรวมปริมาณคดีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 (ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 2564) รวบรวมข้อมูลสถิติโดยศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่ากลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง 1.จำนวนคดีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณารวม 12,664 คดี จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จรวม 12,627 คดี 2.จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงราย ศรีสะเกษ 3.ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ศาลแขวงนครราชสีมา ศาลแขวงอุบลราชธานี ศาลแขวงเชียงราย ศาลแขวงชลบุรี ศาลจังหวัดศรีสะเกษ 4.ข้อหาที่มีการ กระทำความผิดสูงสุด ได้แก่

ขับรถขณะเมาสุรา 12,213 คน ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 816 คน ขับรถขณะเสพยาเสพติด 40 คน ขับรถโดยประมาท 34 คน 5.จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษารวม 13,103 คน

กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว 1.จำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับรวม 82 คำร้อง 2.จำนวนข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ ขับรถขณะเมาสุรา 63 คน ขับรถ ขณะเสพยาเสพติด 18 คน ขับรถโดยประมาท 5 คน ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 2 คน 3.จำนวนผู้ต้องหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ 88 คน 4.ผลการตรวจสอบการจับ แบ่งเป็นชอบด้วยกฎหมาย 88 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 0 คน

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาปริมาณคดีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 พบว่ามีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง เพิ่มขึ้นจากช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ปี 2564 จำนวน 3,212 คดี และหากเปรียบเทียบกับปริมาณคดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านๆ มา ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ปีนี้มีปริมาณคดีลดลงกว่าเท่าตัว อาจสืบเนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือยกเลิกการท่องเที่ยว ประกอบกับ ศบค.ประกาศข้อกำหนดปิดสถานบริการ สถานบันเทิง 41 จังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน อย่างไรก็ตาม ข้อหาขับรถขณะเมาสุรายังคงเป็นข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอย่างต่อเนื่องในทุกเทศกาล จึงอยากฝากความห่วงใยถึงประชาชนทุกคนให้เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) บช.น.รายงานสรุปผลการปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้ ผลการฝากบ้านตามโครงการฝากบ้าน 4.0 จำนวนบ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 762 หลัง ผลการกวดขันจับกุมตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก ดังนี้ ความเร็วเกินกำหนด 548 คดี ขับย้อนศร 211 คดี ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 363 คดี ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 716 คดี ไม่มีใบขับขี่ 1,889 คดี แซงในที่คับขัน 164 คดี เมาสุรา 45 คดี ไม่สวมหมวกนิรภัย 3,762 คดี มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 509 คดี ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ 48 คดี รวมทั้งสิ้น 1,600 คดี สถิติเกิดอุบัติเหตุจราจร 19 ครั้ง บาดเจ็บ 14 ราย เสียชีวิต 8 คน เปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 44 ครั้ง บาดเจ็บ 53 ราย เสียชีวิต 10 คน อัตราการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน