โพลชี้พิษไวรัส
ชาวบ้านไม่มีกิน

พลังประชารัฐมั่นใจ ‘ชวน’ บรรจุร่างแก้รธน.ของพรรคเข้าสภาเป็นเรื่องด่วนอันดับ 1-2 เดือนพ.ค. เพื่อไทยยังหวังประชาชน 5 หมื่นคนร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขทั้งฉบับ ‘ยุทธพงศ์’ อัดบ่อนระยอง-คลัสเตอร์ทองหล่อต้นตอแพร่โควิด แต่ย้ายตำรวจในพื้นที่แบบ 2 มาตรฐาน จี้ ‘บิ๊กตู่’ ออกมาตรการช่วยประชาชนด่วน ขู่ถ้านิ่งเฉย เปิดสภาสมัยหน้าเจอซักฟอกแน่ อัด 1 ปี พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านล้มเหลว ซูเปอร์โพลชี้ประชาชนอ่วมกันถ้วนหน้า

‘บิ๊กตู่’ยังไม่เคาะประชุมอาเซียน

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากการที่ประเทศบรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งจะไม่มีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จึงเป็นที่จับตาจากหลายประเทศ เนื่องจากพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เตรียมเดินทางไปร่วมประชุมด้วย และจะถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำทหารเมียนมา ภายหลังจากทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในส่วนของไทยแม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังไม่ได้ตอบรับร่วมประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษนี้ รวมถึงยังไม่มีการนัดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมสารัตถะของการประชุม แต่เบื้องต้นจะส่งตัวแทนไปร่วมประชุมด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งอาจเป็นพล.อ.ประยุทธ์ หรือนายดอน ปรมัถต์วินัย รมว.การต่างประเทศ หรือจะเป็นบุคคลใดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในไม่กี่วันนี้

พปชร.ยันร่างแก้รธน.จ่อคิวถกด่วน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค. จะบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐเป็นวาระเร่งด่วนเลยหรือไม่ว่า ตามระเบียบวาระ ต้องถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปรออยู่แล้ว ก็จะบรรจุเป็นเรื่องด่วนโดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อาจบรรจุเป็นเรื่องด่วนที่ 1 หรือเรื่องด่วนที่ 2 ต่อจากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ยังค้างอยู่ และเรื่องที่ 3 อาจจะเป็นเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคอื่นๆ เสนอเข้าไป

ด้านนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรี ธรรมราช รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ร่วมกันเสนอว่า ร่างแก้ไขที่ทั้ง 3 พรรคได้นำเสนอผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคนั้น เป็นการยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจำเป็นต้องแก้ไขหลายส่วน เช่น มาตรา 29 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 43 สิทธิชุมชน มาตรา 46 สิทธิผู้บริโภคและมาตรา 72 สิทธิในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน เพราะมาตราเหล่านั้น มีปัญหามากในการบังคับใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ดังนั้น ร่างที่จะเสนอแก้ไข จะมีการปรับปรุงหลักการ และเนื้อหาเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

3 พรรคปรับเนื้อหาเพื่อประชาชน

นายชัยชนะกล่าวว่า ส่วนที่จะแก้ไขให้มี ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น เป็นการแก้ไขให้กลับไปอยู่บน พื้นฐานที่ว่า ประชาชนเป็นคนเลือกตัวแทนในพื้นที่ และส.ส.บัญชีรายชื่อ ควรเป็นบุคคลทรงคุณวุฒิ และมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นช่องทางให้พรรค เอาไปแก้ปัญหาภายในพรรค รวมถึงปัจจุบันมีข้อวิจารณ์ ว่าส.ส.บัญชีรายชื่อบางราย ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.อย่างที่ควรจะเป็น และการเสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เนื่องจากในเมื่อมี ส.ส. 2 ประเภทก็ต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนเลือกให้ตรงกับความต้องการ ไม่ใช่บัตรใบเดียวแล้วสร้างความลำบากใจให้ประชาชน จนทำให้เจตนารมณ์ในการเลือกของประชาชนเกิดผิดเพี้ยนไปได้

ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น ตัดวรรคสอง มาตรา 88 ประเด็นว่าด้วยการเลือกนายกฯ ที่ระบุว่าพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ ออกไป เพื่อให้ทุกพรรคต้องเสนอบัญชีนายกฯ ให้ประชาชนได้พิจารณาในช่วงการแข่งขันเลือกตั้ง มาตรา 159 ว่าด้วยการพิจารณาแต่งตั้งนายกฯ จะเพิ่มเนื้อหาให้บุคคลที่เสนอชื่อให้สภาลงมติเลือกเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

ตัดมาตรา 272 ที่ให้อำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ นั้น ถือป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรค และสร้างความสง่างามให้กับผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ เพราะในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน บทบัญญัติเรื่องการให้มีบัญชีนายกฯ 3 รายชื่อ แต่เปิดช่องให้บางพรรคไม่ต้องเสนอรายชื่อ อาจทำให้ประชาชนสงสัยว่า มีการฮั้วกันระหว่างการเลือกตั้ง อีกทั้งการให้นายกฯ มาจากส.ส. ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี เป็นสากลที่ให้นายกฯ มาจากการที่ประชาชนเลือก

“ทุกประเด็นที่ทั้ง 3 พรรคได้ร่วมกันแก้ไข เพื่อประโยชน์ของประชาชน และระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งร่างแก้ไขทั้งหมด หากผ่านขั้นตอนในรัฐสภาแล้ว จะนำร่างไปให้ประชาชนลงประชามติด้วยว่า จะเห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวแทนของประชาชนได้แก้ไขหรือไม่” นายชัยชนะกล่าว

เพื่อไทยยังหวังแก้ทั้งฉบับ

เวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ต้องมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติก่อน ซึ่งเลื่อนการพิจารณามาจากการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 7-8 เม.ย. แต่กว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้พิจารณาคงต้องรอจนถึงเดือนมิ.ย. เพราะเมื่อเปิดสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 22 พ.ค. มีวันหยุดและการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2565 เข้ามาก่อน แต่เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เราจะสนับสนุนอย่างเต็มที่

พรรคเพื่อไทยยืนยันถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอดว่าต้องแก้ทั้งฉบับ โดยให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจาก ส.ส.ร.มาจากประชาชน ขณะนี้ยังมีโอกาสในการแก้ไขทั้งฉบับ หากประชาชนรวมกันได้ 5 หมื่นรายชื่อ ก็สามารถยื่นให้แก้ไขทั้งฉบับได้ แต่หากไม่ได้ ก็แก้ไขรายมาตรา

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เพราะขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ส่วนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีเสียงเกิน 100 เสียงในสภา เราสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ได้ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะรีบประชุมในส่วนของเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน เพราะเป็นสัญญาประชาคม และขอเรียกร้องรัฐบาลให้จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อัดบ่อนระยอง-ทองหล่อ2มาตรฐาน

นายยุทธพงศ์กล่าวถึงการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ วันที่ 14 เม.ย.เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง การระบาดรอบนี้ถือว่าหนักมาก ซึ่งต้นตอการระบาดมาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ แต่ถ้าดูตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่กทม. พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดพื้นที่โซนสถานบริการในกทม. มีเพียง 3 โซนคือ ย่านพัฒน์พงษ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนรัชดาฯ แสดงว่าร้านคริสตัลคลับ และเอมเมอรัลด์ ไม่มี ใบอนุญาต อีกทั้งยังเปิดเกินเวลาในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หากนำประเด็นนี้ไปเปรียบเทียบกับ การระบาดจากบ่อนที่ จ.ระยอง มีการย้าย ผบช.ภ.2. และ ผบก.ภ.จว.ระยอง โดยขาดจากตำแหน่งเดิม แต่การระบาดที่ทองหล่อนี้มีเพียงให้ พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผกก.สน.ทองหล่อ ที่ได้รับสมญานามว่าราชบุตรเขย ไปช่วยราชการที่ บก.น.5 โดยไม่ขาดจากตำแหน่งเดิม แบบนี้สองมาตรฐานหรือไม่ ทำไม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ถึงเกรงใจ ทั้งที่การระบาดรอบนี้สร้างความเดือดร้อนทั้งประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้ผบ.ตร. ตั้งกรรมการสอบเรื่องการเปิดสถานบริการนอกเขตโซนนิ่งว่า มีการเรียกรับผลประโยชน์อะไรหรือไม่ โดยให้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบนครบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมาให้ความชัดเจนเรื่องนี้ด้วย

ขู่ซักฟอกโควิดในสภา

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้ ไม่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะออกมาตำหนิเพียงอย่างเดียว แต่อยากเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยคือ วันนี้การฉีดวัคซีนโควิดของประเทศไทยถือว่าล่าช้าเป็นอย่างมาก อยู่ในอันดับ 127 ของโลก แต่ประเทศ ที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้จำนวนมาก เช่น อิสราเอล ที่ฉีดให้ประชาชนได้ถึงร้อยละ 61.78 วันนี้เขาประกาศไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีน รวมถึงเร่งนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้รักษาโควิด เนื่องจากทราบว่าขณะนี้เหลือยาอีกเพียง 4 แสนเม็ดเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายกฯ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิดรอบ 3 นี้ด้วย หากไม่ดำเนินการอะไร เมื่อเปิดสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 22 พ.ค. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วันที่ 27-28 พ.ค. ส.ส.ฝ่ายค้านจะนำเรื่องข้อบกพร่องในการบริหารสถานการณ์โควิดมาอภิปรายในสภาอย่างแน่นอน แต่ก่อนถึงตอนนั้น ต้องวัดใจรัฐบาลว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ของ ครม.วันที่ 10 พ.ค. จะมีเรื่องเรือดำน้ำจีน 2 ลำ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทอีกหรือไม่ ถ้ามีก็จะเรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลเยอะๆ

เชื่อ‘บิ๊กตู่’ลาออก-ยุบสภาจะดีขึ้น

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปล่อยให้โควิดระบาดถึง 3 ระลอก ทุกระลอกรัฐบาลการ์ดตก และมีคนของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องเสียเอง ยิ่งระบาดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งได้เห็นการบริการจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล ส่งผล กระทบทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าจะอ้างรัฐบาลต้องอยู่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบ อาจไม่จำเป็น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาการแก่งแย่งเพื่อเข้าสู่อำนาจในพรรคพลังประชารัฐ การนัดหมายชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มการเมือง ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันขับไล่รัฐบาลอย่างหนัก หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออกหรือยุบสภา สถานการณ์อาจจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำลายความเชื่อมั่นลงด้วยตัวรัฐบาลเองทุกวัน

“การบริหารจัดการโควิดที่ก่อนหน้านี้ พยายามแก้เกี้ยวว่าติดน้อย เสียชีวิตน้อย วันนี้กลายเป็นจุดอ่อน พูดไม่ได้แล้ว ลามถึงวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความขัดแย้งภายในรัฐบาล การเมืองภาคประชาชนกดดันขับไล่ รัฐบาลอาจไปก่อนฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ครบ” นายอนุสรณ์กล่าว

อัด 1 ปีพ.ร.ก. 1.9 ล้านล.ล้มเหลว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประเมิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ (พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านเพื่อเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19) ที่มีผลบังคับใช้ครบรอบ 1 ปี ดังนี้

1.เราได้เห็นโครงการที่สวยแต่รูปจูบไม่หอม มีปัญหามากมาย คิดไม่รอบด้าน เริ่มต้นจาก 1.1.“เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาทจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน พอเงินไม่พอลดเหลือ 3 เดือน ประชาชนถูกปฏิเสธสิทธิจำนวนมาก ใช้ระบบ AI ทั้งๆ ที่ระบบไม่พร้อม ฐานข้อมูลไร้ประสิทธิภาพ 1.2.“เราเที่ยวด้วยกัน” สร้างการท่องเที่ยวแบบกระจุกตัวรอบกรุงเทพฯ จังหวัดไกลๆ เจอปัญหาคนใช้สิทธิน้อยไม่เป็นตามเป้า คนรวยไม่ใช้สิทธิเพราะยุ่งยาก คนจนอยากใช้สิทธิแต่ไม่มีเงินเที่ยว มีปัญหาทั้งการทุจริตการสวมสิทธิ การฉวยโอกาสขึ้นราคา

1.3.“คนละครึ่ง” มาตรการเอาใจประชาชน แต่ผลทางเศรษฐกิจกลับน้อยนิด เพราะส่วนใหญ่มุ่งไปที่สินค้าไม่คงทน สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่เกิดเหนี่ยวนำการลงทุนของภาคเอกชน 1.4.“เราชนะ” เงื่อนไขมากมายทำให้เม็ดเงินหมุนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี ถอนเป็นเงินสดไม่ได้ ผ่อนจ่ายรายสัปดาห์ คนไม่มี สมาร์ตโฟนลงทะเบียนยุ่งยาก จำนวนเงินที่ให้ไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อน

2.เราได้เห็นภาคธุรกิจกำลังตาย กำลังจมน้ำ ภาครัฐมีห่วงยาง แต่โยนให้ไม่เป็น เพราะซอฟต์โลนที่ไร้ประสิทธิภาพ 2.1.สร้างเงื่อนไขมากมายที่ไม่จำเป็น ทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ต้องมีวงเงินสินเชื่อ อายุชำระคืนสั้น วงเงินต่ำ กำหนดเพดานดอกเบี้ย กลไกค้ำประกันสินเชื่อใช้ไม่ได้จริง มิติกลไก โยนทุกอย่างใส่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเขาไม่อยากทำ ไม่อยากเสี่ยง เพราะไม่คุ้ม การอนุมัติสินเชื่อจึงไม่ค่อยเกิด ยอดเลยไม่เดิน 2.2.ถึงแม้จะแก้เงื่อนไข รวมถึงการออก พ.ร.ก. ใหม่ “สินเชื่อฟื้นฟู” ที่มาแทนซอฟต์โลนก็ไม่ช่วยเพราะคอขวดอยู่ที่กลไกผ่านธนาคารพาณิชย์ยังไม่ถูกแก้ไข และ “พักทรัพย์พักหนี้” ที่จะจบด้วยภาวะสินทรัพย์เน่าเข้าคิวรอ แต่ธนาคารไม่ต้องการ จะเป็นอีกมาตรการที่ล้มเหลว ยอดไม่เดิน

ชี้ยิงไม่ตรงเป้า-ลงสู่ระบบน้อย

3.เราได้เห็นงบฟื้นฟูที่ทำเสมือนว่าไม่ได้อยู่ในวิกฤต เหมือนส่วนราชการได้งบประมาณเพิ่มแล้วก็ของบเพิ่มตามปกติ ที่สำคัญคือมีปัญหาล่าช้า เบิกจ่ายน้อยมาก ทั้งนี้ งบฟื้นฟูต้องคู่ขนานกับงบเยียวยา โดยงบเยียวยาสร้างกำลังซื้อ และงบฟื้นฟูสร้างการลงทุนเอกชนเพื่อมารองรับกำลังซื้อนั้น

4.เราได้เห็นงบสาธารณสุข เบิกจ่ายจริงน้อยมาก ทั้งที่อุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลน อุปทานด้านสาธารณสุขมีปัญหา การตรวจล่าช้า โรงพยาบาลเตียงเต็ม รวมถึงเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีน

5.สำหรับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) จริงอยู่ที่ในส่วนนี้บรรลุเป้าหมายของการป้องกันตลาดตราสารหนี้ไม่ให้พังลงในช่วงแรกที่มีการตื่นตระหนก ปัจจุบันไม่มียอดใช้ในกองทุนนี้ ซึ่งถามว่าดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี ที่ว่าตลาดตราสารหนี้ยังสามารถทำหน้าที่ของมันได้ แต่ถ้าพูดถึงเงินที่ลงไปในระบบ ตรงนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

6.ผ่านไปแล้ว 1 ปี พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ มียอดการเบิกจ่ายจริงหรือเม็ดเงินลงสู่ระบบเพียงน้อยมาก กองทุน BSF ยังไม่มีการขอวงเงินเข้ามา (ก.พ.64) งบสาธารณสุข งบเยียวยา งบฟื้นฟูเบิกจ่ายรวม 475,987 ล้านบาท (ข้อมูลสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือสบน.เดือนมี.ค.64) ซอฟต์โลน อนุมัติ 160,422 ล้านบาท (ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เดือนมี.ค.64) มีเม็ดเงินลงสู่ระบบราว 637,000 ล้านบาท จากยอดรวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงราว 34% เท่านั้น

ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยเห็นว่า 1 ปีเต็มกับ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ ซึ่งถือเป็นอาวุธหลักและอาวุธเดียวที่ประเทศไทยมี กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เป็น 1 ปีที่สูญหาย เต็มไปด้วยปัญหา ไม่เข้าใจบริบท ยิงไม่ตรงเป้า ผิดหลักการ ในขณะที่ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบ ประชาชนหิวโหย เอกชนต้องการสภาพคล่อง เงินที่ลงสู่ระบบจริงกลับน้อยนิด สวนทางกันกับความต้องการนั้นโดยสิ้นเชิง

ก้าวไกลคุยรู้ทันเกมโหรคมช.

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนาย วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายาโหร คมช. ฟันธงสถานการณ์การเมืองปีนี้จะไม่มีการยุบสภาว่า คำพยากรณ์คือกลเกมจิตวิทยาทางสังคม ที่เรียกว่าปรากฏการณ์สร้างคำทำนายเพื่อสร้างความจริง ลึกๆ ผู้พยากรณ์รู้ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีศักยภาพพอ ต้องปล่อยคำพยากรณ์ชี้นำมวลชน ใช้จิตวิทยาทางสังคมเพื่อสร้างเรื่องในเชิงลบด้อยค่าการคืนอำนาจให้กับประชาชน โน้มน้าวให้กลัวการยุบสภา และยอมจำนน รับสภาพให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถลุงงบประมาณ และสร้างความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์ต่อไป

เกมจิตวิทยาชี้นำนี้ สะท้อนว่ารัฐบาลยอมรับแล้วว่าตนเองบริหารราชการบกพร่อง จัดการการระบาดล้มเหลวหมดทางออกที่จะชี้แจงด้วยเหตุผล วิธีนี้เป็นเพียงการทดเวลาให้รัฐบาลเท่านั้น ตราบใดที่รัฐบาลไม่ยอมปรับทัศนคติตัวเองในการบริหารจัดการวัคซีนเสียใหม่ ไม่คิดกำหนดยุทธศาสตร์ควบคุมการระบาดให้ดีกว่านี้

ท้ายที่สุดความเดือดร้อนทุกข์ยาก ความสิ้นหวังของประชาชนก็จะเอาชนะความกลัว ทั้งคนที่เคยชอบรัฐบาลนี้ จะฉุกคิดและเลิกชอบ คนที่เคยรู้สึกเฉยๆ จะทนไม่ไหว คนที่ไม่ชอบอยู่แล้วจะยืนยันกับตัวเองได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน คิดตรง คิดต่างจะเดือดร้อนร่วมกันทั้งหมด เมื่อเวลานั้นมาถึง เวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยุติลง หวังว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง ประเทศจะยังคงอยู่ในสภาพที่พอกอบกู้ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามากอบกู้ ฟื้นฟูร่วมกัน

‘ธนาธร’เเนะ4ข้อสู้ระลอกใหม่

ด้านแฟนเพจเฟซบุ๊กของคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความหัวข้อ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แนะ 4 เปลี่ยน สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่” ว่า 1.เปลี่ยนการจัดหาวัคซีน วันนี้นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการจัดหา ไม่กระจุกตัวอยู่แค่เพียงไม่กี่เจ้า การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่นๆ เป็นเรื่องที่เห็นด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทีมเจรจา ถ้าทำได้เร็วกว่านี้จะเป็นประโยชน์กับคนไทย

2.เปลี่ยนการกระจายวัคซีน การฉีดวัคซีนวันนี้แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ฉีดได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แผนการเตรียมความพร้อมไม่มี รัฐบาลต้องกลับมาตั้งสมมติฐานใหม่ ถ้าบริหารจัดการดีๆ บุคลากรต่างๆ ต้องทำได้ดีกว่านี้ การกระจายการฉีดวัคซีนต้องทำได้ดีกว่านี้ เชื่อว่า 10 ล้านเข็มต่อเดือนสามารถทำได้ เรียกร้องให้รัฐบาลระบุเป้าหมายให้ชัด การฉีดวัคซีนต่อวัน ต่อเดือน เป็นอย่างไร

3.เปลี่ยนมาตรการเยียวยา ณ ตอนนี้ เราเข้าสู่ภาวะกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่มีมาตรการเศรษฐกิจรองรับซึ่งอันตรายมาก เราควบคุมการค้า แต่ไม่มีมาตรการออกมา ดังนั้น พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้เงินที่เหลือ 2.5 แสนล้าน ต้องนำออกมาใช้อย่างรวดเร็วใน 2 เรื่อง คือป้องกันไม่ให้ลูกจ้างตกงานเพิ่ม รัฐบาลอาจช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือน 50% แลกกับการที่นายจ้างไม่เลิกจ้าง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้ารายละ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งโดยสภาวะการคลังยังทำได้

4.เปลี่ยนทัศนคติผู้บริหารวันนี้ คนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะพาประชาชนไปรอด เพราะยังเป็นระบบเป็นเจ้าขุนมูลนาย ผู้บริหารยังมองว่าประชาชนเป็นภาระ ทั้งที่เมื่อไปดูการแพร่ระบาด การติดเชื้อนั้นมาจากอภิสิทธิ์ชน และการเลือกปฏิบัติตามแบบของระบบเจ้าขุนมูลนายทั้งสิ้น ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนไม่ใช่ภาระ การบริหารจัดการต้องเท่าเทียมกัน ข้อมูลต้องเปิดเผย และมีความจริงจัง จริงใจในการดูแลประชาชน

ซูเปอร์โพลชี้ปชช.อ่วมถ้วนหน้า

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ล้มและลุกทันที กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,506 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 12-17 เม.ย. พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 ระบุเงินในกระเป๋าช่วงโควิดรอบใหม่ ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ทุกข์หนักมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 31.2 ระบุ ไม่ค่อยพอกิน ไม่ค่อยพอใช้ ร้อยละ 25.6 ระบุพออยู่ พอกิน และร้อยละ 7.6 ระบุ เหลือกิน เหลือใช้ อยู่ได้สบาย

ที่น่าพิจารณาคือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงระบาดโควิดรอบใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 ระบุเชิดชูบุคลากรทางการแพทย์และ อสม. กระทรวงสาธารณสุข ทำงานดี เสียสละ ร้อยละ 64.6 ระบุ การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด น่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.6 ระบุ มีการทุจริตในหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐ ในจังหวัดทำโควิดแพร่เชื้อ ร้อยละ 61.8 ระบุ มีความเคร่งครัดบังคับใช้กฎหมายป้องกันโควิดในระดับจังหวัด ร้อยละ 60.7 ระบุ การบริหารจัดการปัญหาโควิดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และหน่วยอื่นๆ ทำได้ดี

ร้อยละ 60.5 ระบุ คุณภาพการให้บริการจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยรวมดี ร้อยละ 59.8 ระบุ คุณภาพการให้บริการเอาใจใส่ลูกค้าของธุรกิจต่างๆ โดยรวมดี ร้อยละ 59.8 เช่นกัน ระบุ การทำงานของผู้บังคับการตำรวจจังหวัด น่าเชื่อถือ ร้อยละ 58.7 ระบุ นักการเมืองลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน และร้อยละ 51.3 ระบุ ผลผลิตทางการเกษตรและธุรกิจด้านการเกษตรดี

ร้อยละ 60.5 ระบุ ผลกระทบ ความเสียหาย ในช่วงโควิดรอบใหม่ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 35.7 ระบุปานกลาง และร้อยละ 3.8 ระบุน้อย ถึงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.9 ระบุความเป็นไปได้ โอกาส ลุกขึ้นทำมาหากินต่อ ฟื้นตัวได้มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 34.2 ระบุปานกลาง และร้อยละ 10.9 ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด

บทพิสูจน์เข้มแข็ง-ท้าทายผู้นำ

นายนพดลกล่าวว่า ปัญหาโควิดเป็นวิกฤตของชาติ ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดรอบใหม่นี้ ประชาชนกว่า 1 ใน 3 เดือดร้อนและได้รับผลกระทบหนักโดยเฉพาะในโซนสีแดงถึงแดงเข้ม เราทุกคนในสังคมต้องช่วยเหลือกันเดินหน้าผ่านทั้งปัญหาปากท้องและการควบคุมโรคร่วมกันไปให้ได้ ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรวมพลังช่วยกันแก้ ไม่สร้างเงื่อนไขโทษกันไปมาให้เกิดความแตกแยก โกรธเกลียดกันในหมู่ประชาชน โดยรัฐบาลต้องคงความชัดเจนในนโยบายและเข้มกำกับขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคราชการถือว่าสำคัญยิ่ง ทุกหน่วยราชการต้องทำหน้าที่หนักขึ้นโดยถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ ที่ต้องดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลไกพื้นที่ระดับท้องถิ่น ต้องเข้มแข็งเป็นแกนของสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง เร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาทั้งรุกและรับ ร่วมกับเรียนรู้ปรับใช้ตัวอย่างที่ดีทั้งในและต่างประเทศ ต้องแสดงความรับผิดชอบหากปล่อยปละละเลย ขณะที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต้องเรียนรู้ปรับเปลี่ยนและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากขึ้น ลุกขึ้นมาเสนอแนะและมีส่วนร่วมเป็นพลังอย่างสร้างสรรค์

“ล้มแล้วลุกทันที เป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของประเทศและความท้าทายของผู้นำในทุกระดับทั้งนโยบายรัฐที่เข้มแข็งตรงจุดชัดเจนในมาตรการ รวมทั้งระบบราชการที่ตื่นตัวและตอบสนองทุกปัญหาทันทีอย่างทรงประสิทธิภาพ ที่สำคัญเราต้องการพลังการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างสร้างสรรค์ที่เกิดเป็นคลื่นลูกใหญ่ นำพาการเปลี่ยนแปลงร่วมแก้วิกฤตของประเทศไปด้วยกัน” นายนพดลกล่าว

‘แรมโบ้’ตะเพิดฝ่ายค้านไขก๊อกเอง

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน เพราะไม่สามารถรับมือการแก้โควิดได้ว่า สถานการณ์ ขณะนี้ไม่มีใครจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ดีเท่ากับพล.อ.ประยุทธ์แล้ว แม้จะไม่เป็นที่พอใจของพรรคฝ่ายค้าน แต่นายกฯและรัฐบาล มีความพยายามอย่างสุดความสามารถ ที่จะแก้ปัญหานี้ก้าวผ่านไปให้ได้

“ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ นายกฯยิ่งไม่ควรลาออก เพราะยังมองไม่ออกว่าใครจะเป็นผู้มาแก้ไขสถานการณ์ แต่คนที่สมควรลาออกจากส.ส. น่าจะเป็นนายสุทิน หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านมากกว่า เพราะตั้งแต่เกิดโควิด-19 ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติไปบ้าง มีแต่พูดกล่าวโจมตีรัฐบาลหวังตีกินทางการเมือง แบบนี้ถือว่าเป็นผู้แทนที่ใช้ไม่ได้ ขอให้มองมุมที่ดีของนายกฯและรัฐบาลที่ได้ทุ่มเสียเสียสละทำงานแก้ไขปัญหาอย่างหนักหน่วงให้ประเทศชาติประชาชนบ้าง” นายเสกสกล กล่าว

พลังชลเลื่อนประชุมใหญ่

นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังชล กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รอบนี้ ขยายวงกว้างไปยังทุกจังหวัด มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน เพื่อเป็นการเคารพ ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือไม่จัดประชุม ลดการเดินทาง ที่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น พรรคพลังชล ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ในวันที่ 24 เม.ย. ที่บางแสน จ.ชลบุรี ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ขอเรียกร้องไปยังภาครัฐ จัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดขยายวงออกไปจนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมากขึ้น และสร้างความมั่นใจต่อประชาชนทั้งในประเทศและต่างชาติได้อีกด้วย

วิปวุฒิฯเข้มป้องกันโควิด

นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการป้องกันเชื้อโควิดของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า มีมาตรการที่เข้มงวดมาตลอด โดยได้ทำความสะอาดฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณอาคาร ห้องประชุม และห้องประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ทุกวันทั้งเช้าและเย็น ในส่วนของการเข้า-ออก อาคารฝั่งวุฒิสภาได้มีมาตรการที่เข้มงวดมาก่อนหน้านี้เช่นกัน โดยบุคคลที่จะเข้ามายังอาคารวุฒิสภา จะต้องผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อน หากเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอาคารอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังมีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไว้ให้บริการตามจุดต่างๆ ด้วย

สำหรับการประชุมกมธ.คณะต่างๆ หากไม่มีความจำเป็นได้ขอความร่วมมือให้งดการประชุมไปก่อน แต่หากจำเป็นขอให้ลดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาถึงแนวทางและมาตรการอื่นๆ ต่อไป

ส่วนการให้ข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำงานที่บ้าน (WFH) ล่าสุดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ข้าราชการทำงานที่บ้าน สำนักงานฯจึงปรับเปลี่ยนจำนวนให้ข้าราชการทำงานที่บ้าน 70 เปอร์เซ็นต์ และมาทำงาน 30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 50:50 ขณะเดียวกัน ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปต่างจังหวัด ช่วงสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.-ปัจจุบัน ให้ทำงานที่บ้านจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งมาตรการทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน