เพื่อไทยจัดทัพ
ติวเข้ม55ขุนพล
ถล่มพรบ.งบ65

รัฐบาลขอประชาชนมั่นใจ เงินกู้ 5 แสนล้านใช้จ่ายโปร่งใส ตาม 3 แผนงานเคร่งครัด มติพรรคก้าวไกลไม่รับร่างไม่หวั่นคำขู่ยุบสภา เชื่อสอดคล้องความต้องการประชาชน ชี้จุดบอดร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 หั่นงบสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งบัตรคนจน บัตรทอง ประกันสังคม เพื่อไทยปล่อยคลิปโหมโรง ลั่นสภาสะเทือนแน่ ติวเข้ม 55 ส.ส.มือชำแหละ ยันไม่ให้ผ่านตั้งแต่วาระแรก ‘ธนาธร’ ซัดรัฐบาลต้นเหตุวิกฤตวัคซีน ทำสับสนจนคนไม่เชื่อมั่น แนะ 5 ทางออก นายกฯต้องเป็นผู้เจรจาจัดซื้อ พร้อมโชว์สัญญาทุกฉบับ รัฐบาลยันใช้เงินกู้โปร่งใส

วันที่ 29 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 จำนวน 5 แสนล้านบาท ว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวกำหนดแผนการใช้เงินกู้ไว้ชัดเจน ต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงาน หรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด 3 แผนงาน คือ 1.เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือ เยียวยา วงเงิน 300,000 ล้านบาท 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 170,000 ล้านบาท เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 แผนงานไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจเจตนาของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และมั่นใจเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

รัฐบาลจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตรียมงบเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท รองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกนี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เติบโตได้อย่างยั่งยืนหลังการระบาดบรรเทาหรือยุติ กรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.นี้เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสม ดำเนินมาตรการทางการคลัง เพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องกับพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2564-2565 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 58.56 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ตามที่รัฐบาลระมัด ระวังการบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลยังมีมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของไทยด้วย

แจงเบิกจ่าย 1 ล้านล้าน

ส่วนความคืบหน้าการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใสวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 287 โครงการ วงเงิน 817,223 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 680,099 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.22 ของ วงเงินที่อนุมัติ ส่งผลให้จีดีพี ในปี 2563 มีอัตราตัวเลขที่หดตัวในปริมาณที่ดีกว่าที่หลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ไว้ ส่วนวงเงินที่เหลือ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่น ที่ครม.อนุมัติหลักการแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โครงการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยกระทรวงการคลัง จะเสนอรายละเอียดของโครงการให้ครม.พิจารณาต่อไป

ก้าวไกลยันไม่ให้ผ่านพรก.กู้

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางของพรรคก้าวไกลต่อการโหวต พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท พรรคมีมติไม่รับร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ เหตุผลไม่ใช่ว่าไม่อนุญาตให้กู้เงินเพิ่ม แต่เราไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารเงินต่อ เนื่องจากครั้งที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ามีความไร้ประสิทธิภาพมาก หาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องยุบสภานั้นถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอยู่แล้ว ในยามที่ความเชื่อมั่นของรัฐบาลตกต่ำ รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจะใช้วิธีการให้หัวหน้ารัฐบาลลาออกหรือยุบสภา เพื่อกลับไปถามมติจากประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่ายังไว้วางใจให้รัฐบาลชุดเดิมบริหารงานต่อหรือไม่ หรืออยากจะมีรัฐบาลชุดใหม่ เช่น ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้วท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ก็มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ นายกฯ ของหลายๆ ประเทศก็ลาออกเพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารงานที่ผิดพลาดเรื่องโควิด-19

ถ้าต้องยุบสภาเพราะร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ผ่านก็ไม่มีปัญหา พรรคก้าวไกลพร้อมลงสนามเลือกตั้งครั้งใหม่อยู่แล้ว แต่ในทางกลับกันคิดว่าเป็นการขู่ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ขู่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่ช่วงนี้จะได้ยินข่าวรอยปริร้าว ความบาดหมางระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด เรื่องของนายกฯ กับรองนายกฯ ก็ได้ยินมาบ่อยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองก็มีคลื่นจากภายในพรรคด้วยกันเองที่เสนอให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล หากยุบสภาตอนนี้คงดูไม่จืดสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากว่าความนิยมตอนนี้ก็ตกต่ำมากเหลือเกินหลังจากที่มีความผิดพลาดในเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีนมาโดยตลอด

ชี้จุดบอดร่างพรบ.งบ 65

ส่วนการอภิปรายพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่จะมีขึ้นวันที่ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย.นั้น ว่า พรรคเตรียมตัวจะอภิปรายในแนวทางที่ต้องการจะเห็นว่างบปี 65 เป็นงบแห่งการฟื้นฟูประเทศ ดังนั้น จะฉายภาพให้เห็นว่าเราจะฟื้นฟูประเทศให้ผ่านในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านก่อนจบโควิด-19 และไปสู่การฟื้นฟูประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ต้องมีปัจจัยหรือองค์ประกอบใดบ้าง ทั้งการฟื้นฟูด้านสุขภาพ เราต้องเตรียมความพร้อมในการแพร่ระบาด รวมถึงวัคซีนเข็ม 3 และ 4 เมื่อภูมิคุ้มกันรอบแรกหมดไปก็ต้องฉีดกระตุ้น แต่ในงบประมาณไม่เห็นการเตรียมความพร้อมเหล่านี้เลย มีเพียงแค่งบโครงการใหม่ๆ โครงการจัดทำห้องแล็บสำหรับตรวจโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่ก็ด้วยงบประมาณที่ยังน้อยมาก

นอกจากนี้ อยากเห็นการฟื้นฟูด้านสวัสดิการประชาชน เพราะการผ่านวิกฤตโควิด เปิดบาดแผลสำคัญของประเทศไทย คือ ประชาชนเปราะบางและไร้ความมั่นคงในชีวิต คนที่เคยจนอยู่แล้วก็กลายเป็นจนลงไปอีก จากที่เคยมีรายได้กลางๆ อาจกลายเป็นคนจนได้ในข้ามคืน เพราะประเทศไทยไม่มีหลักประกันใดให้ประชาชน สิ่งที่เจอในงบ 65 คือ งบสวัสดิการถูกตัดอย่างถ้วนหน้า งบบัตรคนจนโดนตัด 2 หมื่นล้าน งบบัตรทองโดนตัด 1.8 พันล้าน งบประกันสังคมโดนตัด 2 หมื่นล้าน

การฟื้นฟูเอสเอ็มอี 1 ปีกว่าๆ ทั้งที่ถูกสั่งปิดหรือถูกผลกระทบของเศรษฐกิจ ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาทางตรงจากรัฐบาล แต่งบ 65 เกี่ยวกับเอสเอ็มอีก็ลดลงจาก 2.1 พันล้านบาท เหลือ 1.9 พันล้านบาท รวมถึงงบสนับสนุนสถาบันการเงินต่างๆ ที่จะช่วยเหลือสินเชื่อเอสเอ็มอีก็ถูกตัดลงเช่นเดียวกัน หากเอสเอ็มอี ยังไม่ได้รับความสำคัญการฟื้นตัวของประเทศคงจะล่าช้าลง ทั้งหมดนี้คือธีมหลักที่พรรคก้าวไกลจะอภิปราย

พท.จัดทัพ 55 สส.ชำแหละงบ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบ 65 ระหว่าง 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.ว่า ล่าสุด พรรค เตรียมส.ส.ที่จะอภิปรายไว้ 55 คน ไม่นับรวมประธานวิปฝ่ายค้านและเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้รับการจัดสรรเวลา 760 นาที โดยจะนัดประชุมวางแนวทางรายละเอียดทั้งหมดว่าใครจะอภิปรายประเด็นใด และจัดทีมแบบมียุทธศาสตร์เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวเป็นเรื่องเล่าให้สอดรับกันเป็นกลุ่มๆ ไป เช่น กลุ่มความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ กลุ่มการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ซึ่งจะเจาะไปในรายกระทรวง และกลุ่มตรวจสอบการเอื้อและแสวงหาประโยชน์ เป็นต้น หลังแบ่งเวลากับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะมาจัดคิวอภิปรายอีกครั้งในวันอภิปราย เบื้องต้นพรรคร่วมได้หารือกันว่าหากประเด็นใดคล้ายกันก็จะจัดคิวอภิปรายให้เป็นกลุ่มเดียวกัน

การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นน้องๆ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเราไม่ไว้วางใจให้ ครม.ชุดนี้บริหารงบประมาณอีกต่อไป มติของพรรคจะโหวตไม่รับหลักการในวาระ 1 เลย ไม่เหมือนปีก่อนๆ ที่จะรอฟังว่ารัฐบาลชี้แจงดีหรือไม่ดี แต่ปีนี้ดูแล้วต้นเหตุของปัญหามี 2 อย่าง คือ การจัดสรรเม็ดเงิน และผู้จัดสรรเม็ดเงินหรือผู้บริหาร ซึ่งการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องและไม่ตอบโจทย์ถือว่ามีปัญหาน้อยกว่าคนบริหารที่เป็นต้นเหตุหลัก การอภิปรายจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้บริหาร

ปล่อยคลิปกระทุ้งรบ.ล้มเหลว

วันเดียวกัน เพจของพรรคเพื่อไทย โพสต์คลิป “ประชาชนถึงรัฐบาล อภิปรายงบประมาณ 65 สภาต้องสะเทือน” ความยาว 2 นาทีครึ่ง เป็นคลิปการแสดงความเห็นจากประชาชน เน้นไปที่อาชีพหาเช้ากินค่ำ อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก พ่อค้า แม่ค้า และสอบถามความเห็นจากคนเดินถนน ถึงการจัดสรรงบประมาณแก้โควิด ช่วยเหลือประชาชน ที่ต่างมองว่ารัฐบาลล้มเหลว กู้มาก็ไม่ถึงมือประชาชน บริหารไม่เป็นจนเศรษฐกิจเงียบ บางคนเรียกร้องให้นายกฯ ออกไป จนถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลยกชุด

ปชป.ทำการบ้านอภิปรายเต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ 65 ว่า ส.ส.ของพรรคที่เสนอตัวอภิปรายวาระแรก 13 คน ได้เตรียมข้อมูล ทำการบ้านกันทุกคน นำทีมโดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีฯ นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชี รายชื่อ โดยพรรคได้เวลาในการอภิปราย 138 นาที จึงจำเป็นต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ทั้งนี้ โดยหลักการในวาระรับหลักการ ส.ส.ใช้สิทธิอภิปรายได้อย่างเต็มที่ อภิปรายถึงแหล่งที่มาและประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายเงิน ที่สำคัญความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ แม้มีหลักการการใช้จ่ายงบก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ รวมถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ของ ส.ส.ก็จะเป็นข้อมูลที่จำเป็น ด้วยสาระสำคัญต่างๆ เหล่านี้ เมื่อ ส.ส.ได้อภิปรายก็จะเป็นผลดีที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พรรคจะยึดหลักการอภิปรายที่มุ่งตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งที่ประชุมพรรคมีมติชัดเจนว่าเห็นชอบในวาระที่หนึ่งแล้ว เรื่อง งบฯ เป็นเรื่องที่สำคัญต่อพี่น้องประชาชน ส.ส.ทุกคนจะเห็นชอบ และสิ่งใดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือปรับแก้ให้ดียิ่งขึ้นก็ไปว่ากันต่อในชั้นกมธ.

ธนาธรซัดแผนวัคซีน-รบ.ทำสับสน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงข่าวผ่าน เฟซบุ๊กไลฟ์ แสดงทรรศนะต่อสถานการณ์ โควิด-19 แผนฉีดวัคซีนของรัฐบาลในปัจจุบัน และข้อเสนอเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุสถานการณ์การฉีดวัคซีนขณะนี้อาเซียนไทยรั้งท้ายถึงอันดับ 8 จาก 10 ประเทศ ฉีดได้เพียง 3.17% รัฐบาลหาวัคซีนได้เพียง 70.1 ล้านโดส จากเป้าหมาย 150 ล้านโดส ได้รับแล้วเพียง 6.1 ล้านโดส ที่เหลือจะทยอยส่งมอบเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป แม้จะนับรวมที่รัฐบาลและเอกชนกำลังเจรจาจัดหา รวมกันยังได้ไม่ถึง 150 ล้านโดสตามเป้าหมายอยู่ดี ปริมาณวัคซีนที่ฉีดได้มากที่สุดต่อวันคือ 1.6 แสนโดส ห่างไกลจากเป้าหมายวันละ 5 แสนโดส จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดได้ภายในสิ้นปี 64 หรือต้นปี 65

ปัญหาคือประชาชนสับสน ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่ใจว่าจะวางแผนอนาคตอย่างไร ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้งของรัฐบาล ที่สะท้อนภาวะผู้นำที่ล้มเหลวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เช่น การเปลี่ยนเป้าหมายและจำนวนวัคซีนถึง 4 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จาก 65 ล้านโดส ภายในปี 66 เป็น 63 ล้านโดสในสิ้นปี 64 ต่อมาเป็น 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 64 และ 150 ล้านโดสภายในปี 65 การเปลี่ยนแต่ละครั้งรัฐบาลคิดอย่างรอบคอบหรือไม่ และทำได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์พูดเองว่าต้องฉีดให้ได้วันละ 5 แสนโดสต่อวัน แต่ไม่ได้บอกเลยว่าจะทำอย่างไรให้ได้ไปถึงจุดนั้น จะจัดหาจากไหน ทันหรือไม่ จะฉีดได้หรือไม่ และจะฉีดทันเวลาหรือเปล่า นโยบายจัดหาวัคซีนโดยภาคเอกชนที่กลับไปกลับมา วันเวลาส่งมอบแอสตร้าเซนเนก้าที่ยังไม่ชัดเจนจนถึงตอนนี้ การลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอพฯ หมอพร้อมกับระบบวอล์กอิน สับสนกลับไปกลับมา 4 ครั้งในเวลาเพียง 26 วัน รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ COVAX ที่ตอนแรกไม่เข้าร่วม ตอนนี้ให้ไปเจรจาขอวัคซีนจากประเทศ COVAX facility

แนะ 5 ทางออกแก้วิกฤต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการฉีดวัคซีนได้ช้าคือ เกิดการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ง่ายและรุนแรงขึ้น ล่าสุดเกิดเชื้อสายพันธุ์ไทยเรียบร้อยแล้ว เกิดการระบาดในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ ทำให้การควบคุมโรคยิ่งทำได้ยาก ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่ม และเกิดผลกระทบตามมาจากการได้วัคซีนช้า ไม่เพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยออกจาก โควิด-19 โดยเร็วที่สุด ตนเสนอ 5 ทางออกเพื่อคลี่คลายวิกฤตวัคซีน 1.เร่งหาวัคซีนให้เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นผู้เจรจาหาวัคซีนด้วยตนเอง เช่น เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอล โทร.หาผู้บริหารไฟเซอร์ถึงกว่า 30 ครั้งเพื่อขอซื้อวัคซีน 2.วางแผนสต๊อกวัคซีนอย่างโปร่งใสด้วยระบบเดียวกันทั่วประเทศ ทุกสถานีฉีดต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานยอดวัคซีน-ยอดการฉีดแต่ละวันส่งเข้าจังหวัดและจากจังหวัดเข้าสู่ส่วนกลาง รายงานสถานะทั้งปัจจุบัน ข้อมูลในอดีต และแผนการฉีดในอนาคต

3.เปิดเผยสัญญาการส่งมอบวัคซีน การวางแผนในข้อที่ 2 จะเป็นจริงไม่ได้หากไม่รู้วันที่วัคซีนจะถูกส่งมาให้ฉีด รัฐบาลว่าต้องเปิดเผยทุกสัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้ประชาชนทราบ และนำมาใช้ในการติดตาม วางแผนการบริหารสต๊อกวัคซีน 4.เมื่อมีวัคซีนเพียงพอแล้วต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน ใช้เพียงบัตรประชาชนเพื่อเข้ารับวัคซีนที่จุดใดก็ได้ และ 5.ใช้แรงจูงใจ ไม่ใช่บทลงโทษ เพื่อให้คนไปฉีดวัคซีนมากที่สุดและเร็วที่สุด

พท.ร่วมขยี้คนไม่เชื่อมั่น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีรัฐบาลพยายามกระตุ้นให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน ขณะที่ประชาชนสับสนและขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอพฯ หมอพร้อม แต่กลับมาชะลอการลงทะเบียน พร้อมผุดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ลงทะเบียนอีกเยอะมาก ร้านสะดวกซื้อ เปิดช่องทางให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ แอพฯ บริษัทมือถือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม โรงพยาบาลรัฐ เอกชน สถาบันต่างๆ ต่างจังหวัดมีการบริหารจัดการทั้งในส่วนจังหวัด อบจ.ที่อาจเหลื่อมล้ำ แตกต่าง บางจังหวัดเปิดแพลตฟอร์มให้ลงทะเบียนเอง ขณะที่บางจังหวัดยังเงียบ

การลงทะเบียนฉีดวัคซีนที่สับสนยังมีส่วนของการจัดสรรโควตาวัคซีน ที่หากลงทะเบียนในพื้นที่หรือช่องทางที่แตกต่างกันอาจได้รับวัคซีนที่แตกต่างกันหรือไม่ ไล่กวาดลงทะเบียนทุกแอพฯ ทุกแพลตฟอร์ม ทุกช่องทาง จะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกันหรือไม่ จะมีปัญหาการบริหารจัดการ จัดหา กระจายวัคซีน การประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งศบค. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานส่วนท้องถิ่น จะเชื่อมโยงกันอย่างไร ประชาชนไม่ได้เรื่องมาก การวิตกกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความมั่นใจ ไม่ได้มีหน้าที่รำคาญประชาชน

จัดพิธีวันเฉลิมฯ‘ราชินี’3มิ.ย.

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าวันที่ 3 มิถุนายน 2564 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระชนมพรรษา 43 พรรษา โดยเชิญชวนหน่วยงานร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อให้การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

จึงแจ้งไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ดำเนินการประดับพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเครื่องราชสักการะ บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ประดับธงชาติ คู่ธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ท. ผ้าระบายสีม่วงร่วมกับผ้าระบายสีขาวตลอดเดือนมิ.ย. และประดับไฟบริเวณศาลากลางจังหวัดและถนนสายสำคัญให้สวยงาม ระยะเวลาตามความเหมาะสม และเชิญชวนบริษัท ห้างร้าน และประชาชนในจังหวัด ร่วมประดับพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้านหน้าอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ประดับธงชาติคู่ธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ท. ผ้าระบายสีม่วงร่วมกับผ้าระบายสีขาวตลอดเดือนมิ.ย. และประดับไฟบริเวณอาคารให้สวยงาม ระยะเวลาตามความเหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน