สัมภาษณ์พิเศษ

ปชป.ลั่นลุยเลือกตั้ง-ชี้สเป๊กนายกฯ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พูดย้ำต่อเนื่องว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระ

แต่หลายเสียงประเมินต่างว่าสถานการณ์บ้านเมืองปี 65 จะร้อนจนถึงยุบสภา มีเลือกตั้งใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล มีมุมมองต่อสถานการณ์ปี 65

รวมถึงความพร้อมของพรรคต่อการเลือกตั้ง และคุณสมบัติผู้นำที่จะเข้ากอบกู้วิกฤตโควิด

มองการเมืองปี 65 ช่วงท้ายของรัฐบาลอย่างไร

รัฐบาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมาจากปี 2564 ทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจ การเมือง ที่จริงไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลโดยสถานการณ์อย่างนี้ก็ต้องเจอทั้ง 3 ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของคนที่จะเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงที่โควิดเข้ามา ปกติอาจมีแค่เศรษฐกิจกับการเมืองเป็นปัญหาหลัก แต่ 1-2 ปีก่อนนี้ มีเรื่องโควิดเติมเข้ามา และคิดว่าจะต่อเนื่องจนปี 2565 รัฐบาลก็ต้องแก้ ทั้งเฉพาะส่วนและองค์รวม เพราะทั้ง 3 ปัญหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

ส่วนพรรคการเมืองปี 65 ก็ต้องเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง เพราะระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป แม้จะยังไม่มีใครรู้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะเห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้น

ถือว่าปีนี้เป็นขาลงของรัฐบาลหรือไม่

รัฐบาลคงหมดเทอมปี 66 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงจะเกิดเหตุอะไรขึ้น อย่างไร คงไม่มีใครตอบล่วงหน้าได้ แต่คิดว่ารัฐบาลคงจะต้องตระหนักในปัญหานี้อยู่แล้ว

ส่วนปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม ถ้าเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภามี 2 เงื่อนไขสำคัญคือ เกิดการยุบสภา หรือรัฐบาลลาออก ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด และโดยข้อเท็จจริงเมื่อถึงเวลาหนึ่งจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรขึ้นหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ

สภาล่มตลอดช่วงปลายปี 64 ที่ผ่านมา จะบีบให้ถึงขั้นยุบสภาหรือไม่

หากรัฐบาลแพ้โหวตในสภาในกฎหมายสำคัญๆ โดยกติการัฐบาลก็ต้องลาออก หรือไม่ก็ต้องยุบสภาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่เกิด และเรื่ององค์ประชุมรัฐบาลก็ต้องรักษาองค์ประชุมไว้ให้ได้ หากเกิดเหตุที่ฝ่ายค้านพยายามให้นับองค์ประชุมบ่อยครั้ง ก็เห็นว่าวิปรัฐบาลก็พยายามทำหน้าที่

แต่ต้องแสวงหาความร่วมมือกับวิปฝ่ายค้านด้วย อย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกันในสภา ถ้าจับมือทำงานไปได้ด้วยดีก็หลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ แต่หากกระทบกระทั่งกันบ่อยมาก วิปรัฐบาลก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น

ประเด็นนายกฯ 8 ปี อาจเป็นสาเหตุพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ชิงยุบสภาก่อนครบเทอม

เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคงต้องมีผู้ยื่นขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็รู้ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เพราะวิธีนับของศาลรัฐธรรมนูญจะนับแบบไหน นับต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยุค คสช.ด้วยหรือไม่ หรือนับหนึ่งใหม่หลังการเลือกตั้ง ก็คงต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้ คำตอบ ดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญป็นหลัก

การแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมือง จะสะดุดหรือไม่

ยังมองไม่เห็นว่าจะสะดุดอะไร เพราะขณะนี้ขั้นตอนกระบวนการทุกฝ่ายเตรียมการไปตามลำดับ จะมีการเสนอร่างแก้ไขเข้าสู่ที่ประชุมสภาตามขึ้นตอน

ส่วนประเด็นบัตรเลือกตั้งที่แก้ไขต้องเป็นเบอร์เดียวกัน ซึ่งยังมีปัญหาอยู่ก็คงต้องไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องอาศัยเสียงข้างมากจะเป็นผู้ชี้ขาด

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าได้เบอร์เดียวกันทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อก็จะดี สะดวกสำหรับการรณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง และสะดวกสำหรับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่พรรคเสนอใช้เบอร์เดียวกันไม่ได้มองว่าจะได้เปรียบอะไร แต่มองว่าจะสะดวกต่อการจดจำหมายเลขที่ประชาชนจะลงคะแนนมากกว่า และจะไม่สร้างความสับสน

ประชาธิปัตย์ปรับยุทธศาสตร์รองรับการเลือกตั้ง ที่อาจเกิดขึ้นก่อนกำหนดอย่างไร

ก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มความสามารถ ในฐานะที่เป็น พรรคร่วมรัฐบาลและมีภารกิจในกระทรวงต่างๆ ถือเป็นข้อสำคัญ ซึ่งที่ ผ่านมาคิดว่าในคณะรัฐบาลเราทำหน้าที่ของเราในระดับที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนผู้แทนราษฎรก็ต้องทำหน้าที่ในสภาให้เต็มที่ ซึ่งประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทนำพรรคหนึ่งในสภา

และคิดว่ามาถึงวันนี้กระแสตอบรับที่มีต่อพรรคภาพรวมดีขึ้น เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว ตรงนี้เป็นที่ประจักษ์พอสมควร แต่ถ้าจะมีปัญหาเกิดขึ้นทุกพรรคก็มีปัญหาด้วยกันทั้งหมด ก็ต้องแก้กันไป เพราะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย

พรรคเตรียมพร้อมอย่างไรหากมีการเลือกตั้งก่อนครบวาระ

ความจริงเตรียมความพร้อมมาเป็นลำดับอยู่แล้ว ทั้งเรื่องผู้สมัคร นโยบาย ผลงาน เรื่องผู้สมัครเตรียมการมาไกลพอสมควร ในส่วนกทม. ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ผู้สมัครส.ก. ทั้ง 50 เขตก็เปิดตัวไปแล้ว และเตรียมพร้อมมาตั้งแต่ต้นไม่ได้มาเตรียมพร้อมวัน เปิดตัว ตนกับทีมงานกทม.ลงพื้นที่มาต่อเนื่องภายใต้แคมเปญ “จุรินทร์ ออนทัวร์” ในทุกภาค

ภาคใต้ ผู้สมัครเกือบครบแล้วใน 14 จังหวัด ขาดบางจังหวัดในบางเขตที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ส่วนภาคกลาง ทั้งในส่วนภาคตะวันตก ภาคตะวันออก เกือบครบแล้ว ในส่วนภาคกลางตอนกลางแหว่งอยู่บ้าง ยังไม่ได้เคาะ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะเคาะได้ครบ เพราะบางเขตยังอยากได้ผู้สมัครที่มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากกว่าคนที่มีอยู่ขณะนี้

ภาคเหนือ อดีตส.ส.และพลาดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ยังอยู่กับพรรคครบ และยังมีผู้สมัครหน้าใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายพื้นที่ หลายจังหวัด

ภาคอีสาน ครั้งนี้เราได้ผู้สมัครที่มีศักยภาพกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะมีทั้งอดีตส.ส.ที่มีศักยภาพและยังเกาะติดพื้นที่ ที่จะย้ายมาอยู่กับเราก็มีคนเก่าของเราเองก็มี ผู้สมัครหน้าใหม่ก็มีไม่น้อย เป็นภาพรวมการเตรียมการในส่วนผู้สมัคร

ส่วนเรื่องนโยบายเตรียมการในภาพรวมไว้แล้ว อาจต้องรอปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยน แปลงไปอีกระยะหนึ่ง เพราะสภาพเหตุการณ์ทั้งปัญหาโควิด เศรษฐกิจ การเมือง แปรผันได้ ตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นโยบายอาจต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างบางส่วน แต่อย่างน้อยพื้นที่ใหญ่ๆ ก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว คณะกรรมการนโยบายของพรรคเดินหน้าไปไกลแล้ว เพราะทำงานต่อเนื่องตลอด 2 ปี เกาะติดสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและเตรียมแนวทางแก้ปัญหามาตลอด

ส่วนเรื่องผลงานมั่นใจว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประชา ธิปัตย์มีผลงานไม่แพ้ใครในการทำหน้าที่ทั้งในสภาและในคณะรัฐบาล คิดว่าจะช่วยให้ประชาชนมั่นใจได้เมื่อถึงเวลาที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เราก็พิสูจน์ให้ประชาชนทั้งประเทศมองเห็นว่าประชาธิปัตย์ยุคอุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไวทำได้จริง และเน้นการทำหน้าที่ ทำให้เกิดผล สัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้จริง เป็นประโยชน์กับประชาชน

การได้นายเดชอิศม์ ขาวทอง มาเป็นรองหัวหน้าพรรคดูแลภาคใต้ ถือเป็นการปรับยุทธศาสตร์ภาคใต้หรือไม่

ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานสำคัญของพรรคที่มีความ ต่อเนื่องตลอดมา แม้บางช่วงได้ส.ส.มากบ้าง น้อยบ้าง มาลำดับสอง ลำดับสามก็มี ถึงวันนี้มีรองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ ก็เป็นไปวิถีทางประชาธิปไตยในพรรค และทุกอย่างก็เป็นไปตามมติพรรค เป็นการลงคะแนนของสมาชิกพรรค

รองหัวหน้าพรรคคนใหม่ถือเป็นผู้หนึ่งที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่และพาประชาธิปัตย์ภาคใต้ให้เติบโตขึ้นได้ และการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 1 ชุมพร เขต 6 สงขลา รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ คนใหม่ก็มั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะและรักษาที่นั่งไว้ได้

เลือกตั้งครั้งใหม่พรรคประชาธิปัตย์จะได้กี่ที่นั่ง

ไม่ขอตอบเรื่องที่นั่ง จะได้ส.ส.สักกี่คน แต่ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่และมีจุดขาย เมื่อถึงเวลานั้นก็จะรู้ว่าประชาธิปัตย์น่าจะได้ส.ส.

การจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก

ยังไม่อยากพูดเลยไปถึงว่าถ้าถึงเวลาเลือกตั้ง มีเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเราก็มีความพร้อม แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด แต่ถือว่าเตรียมความพร้อมไปไกลพอสมควรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ ทั้งเรื่องคน นโยบายและผลงาน

ดังนั้นถ้าประชาชนให้โอกาสก็พร้อมทำหน้าที่ ที่มากกว่าที่มีส.ส.อยู่ 52 เสียงใน วันนี้

หากประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล จะฝ่าด่าน 250 ส.ว. โหวตเลือกนายกฯอย่างไร

ไม่ว่า ส.ว.จะลงคะแนนเลือกนายกฯได้หรือไม่ได้ อย่างน้อยที่คนจะมาเป็นนายกฯก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาเป็นฐานก่อน ถ้าไม่มีตรงนี้ก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปได้ยาก ฉะนั้นเบื้องต้นต้องมีเสียงข้างมากในสภาก่อน

ส่วน ส.ว.250 เสียงจะมาเติมเต็มหรือไม่ก็อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กังวลเพราะต้องมีฐานจากสภา และหากรัฐธรรมนูญยังแก้ไม่ได้ ส.ว.ก็จะมีบทบาทสำคัญในการตั้งรัฐบาลเพียงแค่วันที่มีการเลือกนายกฯ เท่านั้น หลังจากนั้นแล้วรัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ได้อยู่ที่เสียงข้างมากในสภา หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่เสียงจากสภาผู้แทนฯ มากกว่าเสียงจากวุฒิสภา

ถ้ามีเลือกตั้งเกิดขึ้น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค นอกจากชื่อจุรินทร์แล้ว จะมีคนอื่นอีกหรือไม่

ไกลเกินกว่าจะตอบเดี๋ยวนี้ว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคบ้าง เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดเรื่องนี้ ส่วนคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นผู้นำหลังยุคโควิด-19 คงต้องสามารถนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนได้

ต้องเป็นผู้สามารถพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และไม่ใช่แค่เป็นประชาธิปไตยในทางการเมือง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่แก้เศรษฐกิจปากท้อง ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยท้องอิ่ม” หรือ “ประชาธิปไตยกินได้” ให้ได้ด้วย

การเคลื่อนไหวของมวลชนในปี 65 จะรุนแรงขึ้น หรือมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากหรือไม่

ตอบไม่ได้ว่าการชุมชุมในปี 65 จะรุนแรงหรือไม่ หรือจะมีมากน้อยแค่ไหน และถ้าทุกฝ่ายจับมือกันไม่ใช้ความรุนแรงปัญหาก็จะคลี่คลายไปได้ แต่สภาพปัญหาก็คงมีความต่อเนื่องมาจากปี 64 ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ดังนั้น คุณสมบัติอีกข้อของคนที่จะมาเป็นนายกฯคือ ถ้าไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับมวลชนได้ก็น่าจะดี ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาหลายอย่างบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น

“ คุณสมบัติอีกข้อของคนที่จะมาเป็น นายกฯคือ ถ้าไม่เป็น คู่ขัดแย้งกับมวลชนได้ก็น่าจะดี ซึ่งจะช่วยให้ การแก้ปัญหาหลายอย่างบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน