ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เปิดรับสมัครวันแรก ผู้สมัคร 5-6 คนซึ่งโพล ทุกสำนักยกให้เป็นตัวเต็งต่างมาครบ ยื่นใบสมัคร จับสลากหมายเลขเสร็จเรียบร้อย ต่างคนต่าง แยกย้ายลงพื้นที่หาเสียงทันที

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ระบุถึงจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 5,523,676 คน เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4,374,131 คน ส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก หรือ นิวโหวตเตอร์ อยู่ที่จำนวน 600,000-700,000 คน น่าสนใจว่าคนกลุ่มนี้จะเทคะแนนให้ใคร

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองเห็นตรงกันว่าผู้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ อาจได้ไม่ถึง 1 ล้านเสียง เนื่องจากจะเกิดการช่วงชิงตัดคะแนนกันเองระหว่างผู้สมัครในขั้วการเมืองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรวมของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ เปอร์เซ็นต์รวมที่สูง คือเครื่องชี้วัดบรรยากาศประชาธิปไตยที่แท้จริง

เมืองหลวงประเทศไทยมีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาเก่าหมักหมมมานาน และปัญหาใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องได้ผู้บริหารและผู้ปกครองที่มีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาจัดการแก้ไข

ทั้งต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นเครื่องมือพัฒนากรุงเทพฯ ให้ทันยุคทันสมัยต่อโลกที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

นับจากนี้มีเวลาอีกประมาณ 50 วันก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565 สำหรับชาวกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะใช้พินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. บริหารงบประมาณจากภาษีประชาชนปีละเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

ในทางการเมือง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ถูกมองเป็นแบบจำลองสนามใหญ่ระดับชาติ โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งส.ส.กทม.

เพราะถึงบางรายจะลงสมัครในนามพรรคการเมืองโดยตรง ก็ยังมีบางรายที่ลงในนามอิสระ แต่หากดูประวัติความเป็นมาจะพบถึงสายสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงพรรคการเมือง ไม่ว่าขั้วรัฐบาลหรือฝ่ายค้านปัจจุบัน

ไม่ผิดกติกา แต่ยิ่งมีความจำเป็นที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด เพราะไม่เพียงเป็นการเลือกผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ยังเป็นการส่งเสียงไปถึงผู้บริหารบ้านเมืองระดับสูงขึ้นไป ว่าประเทศไทยสมควรกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเสียที

ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งบกครึ่งน้ำเหมือนทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน