‘เอลนีโญ’ กระทบแล้ว เขื่อนอุบลรัตน์ปรับการระบายน้ำ วันละ 6-8 แสน ลบ.ม. ให้มีน้ำใช้ถึงฤดูฝน ปีหน้า ชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น เตือนน้ำทำเกษตรไม่พอ ขอความร่วมมือปลูกพืชใช้น้ำน้อยตลอดทั้งปี บุรีรัมย์เร่งหาน้ำสำรอง หวั่นน้ำประปาขาดแคลน ฝนตกหนักถล่มหลายพื้นที่ สมุทรสงคราม ศาลา-เสาไฟฟ้าโค่นลงคลอง ระยอง น้ำมา กลางดึกท่วมหมู่บ้าน-ถนน สูงเป็นเมตร ตราดจับตาระดับน้ำคลองขึ้นสูง

เตือน 5 จว.ระวังดินถล่ม

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายของกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มบริเวณ อ.เมือง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง, อ.เมือง อ.ขลุง อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม จ.จันทบุรี, อ.เกาะช้าง อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง จ.ตราด, อ.เมือง กระบุรี, อ.ละอุ่น อ.สุขสำราญ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง และอ.เมือง อ.กะปง อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง ได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร ประกอบกับมีฝนตกสะสมมาหลายวันทำให้ชั้นดินภูเขาอุ้มน้ำไว้มาก อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้

ทั้งนี้ให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนประชาชนพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว

เขื่อนอุบลรัตน์ปรับระบายน้ำ

วันเดียวกันที่สำนักชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น นายสมปอง ฉ่ำกระมล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มน้ำชี ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด มี 3 เขื่อนใหญ่ที่ใช้ในการ กักเก็บน้ำ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ โดยปีนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้น

จากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ สำนักงานชลประทานที่ 6 วางแผนการใช้น้ำ 2 ปี ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคยืนยันว่ามีเพียงพอ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชใช้น้ำมาก ทำให้ขอความร่วมมือประชาชนในการลดการเพาะปลูกลง หรือปรับไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่หากน้ำมีไม่มากเตรียมประสานขอความร่วมมือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติมน้ำฝนให้เขื่อนใหญ่ทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอจนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายสมปองกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน 3 เขื่อนใหญ่กักเก็บน้ำได้ประมาณ 2,500 ล้านลบ.ม. โดยเขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 60.29 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36, เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 815 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 และเขื่อนลำปาว มีน้ำ 950.40 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ในระยะนี้จึงรอน้ำฝนที่ตกลงมาเติม ซึ่งถือว่าเขื่อนขนาดใหญ่ยังคงรองรับน้ำได้อีกมาก ส่วนการระบายน้ำในระยะนี้ได้กำหนดให้เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคประมาณวันละ 600,000-800,000 ลบ.ม. เขื่อนลำปาวยังคงระบายน้ำตามปกติ ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ระบายเพื่ออุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว ในภาคการเกษตรขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้ น้ำฝนเป็นหลัก

เตรียมรับมือเอลนีโญ

ขณะที่ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดบุรีรัมย์และการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง ณ อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะ การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ ที่กำลังเริ่มขึ้นและอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2570 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและจะทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ลดลง

นายชยันต์กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 24 และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 19 สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบันของ จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 248 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 65 จำนวน 79 ล้านลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง จาก 11 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค แต่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขต 16 ตำบล 13 อำเภอ และเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ทั้ง 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์

ห่วงน้ำประปาเมืองบุรีรัมย์

นายชยันต์กล่าวต่อว่า สทนช. ศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ (บางส่วน) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพพื้นที่และปัญหาของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก มีเป้าหมายให้เข้าถึงน้ำประปาทุกหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 45,955 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 370 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 370,000 ไร่

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงอีกด้านหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ คือแหล่งน้ำดิบที่จะนำไปผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองและใกล้เคียงรวมกว่า 35,000 ครัวเรือน จะใช้แหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 11.2 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 และอ่างฯ ห้วยตลาด มีปริมาณน้ำ 12.9 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นแหล่งน้ำหลักด้านอุปโภคบริโภคที่หล่อเลี้ยงอำเภอเมืองบุรีรัมย์

ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอแต่ต้องควรพึงระวัง เพราะเคยเกิดวิกฤตน้ำประปามาแล้วเมื่อปี 2562-2563 โดยได้ลงพื้นที่ติดตาม โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ณ บ้านอุบลสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ 1.06 ล้านลบ.ม.ต่อปี มีผู้ได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน และในอนาคตสามารถขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ได้รวมกว่า 2,000 ครัวเรือน

ฝนถล่มหนักหลายพื้นที่

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุจิตรา สีชั่ง อายุ 60 ปี ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า เรือประมงขนาดใหญ่ของตนเองพลิกคว่ำอยู่ที่บ้านแหลมฉบับเก่า ม.3 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากคืนที่ผ่านมาได้ทอดสมอไว้ที่ชายทะเล ก่อนเกิดพายุคลื่นลมแรงทำให้สมอขาดเรือลอยไปกระแทกกับโขดหิน จนใต้ท้องเรือมีรูรั่วและทำให้เรือจมลงในที่สุด ตนหวังว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาบ้าง เนื่องจากเสียหายกว่า 800,000 บาท

ขณะที่จ.สมุทรสงคราม เกิดพายุฝนลมแรง ทำให้ศาลาริมน้ำพังลง 2 หลัง ในคลองแควอ้อม ที่ม.1 ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา และยังมีเสาไฟฟ้าที่อยู่ริมคลองยังล้มลงไปในคลอง 3 ต้น หลังเกิดเหตุพระครูพิศิษฏ์ประชานาถ(ดร.หลวงพ่อแดงนันทิโย) ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์จังหวัดสมุทรสงคราม รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งรื้อถอนศาลาดังกล่าวและตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย

ด้านที่จ.ระยอง เจ้าหน้าที่กู้ภัยสยามระยอง ได้รับแจ้งเกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบนถนนสาย 3191 หน้าโครงการปิ่นทอง 6 ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง มีรถได้รับความเสียหายหลายคันมีผู้ติดอยู่ภายในรถ ส่วนที่หมู่บ้าน เกตนภา ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา ถูกน้ำท่วมกว่า 10 หลังคาเรือน ชาวบ้านไม่สามารถอพยพได้ทันเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันกว่า 10 ช.ม. จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน

จมระยอง – เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำท่วมไปอาศัยในจุดปลอดภัย หลังฝนตกหนักตลอดทั้งคืนทำให้น้ำบ่าท่วมสูงอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 21 ก.ค.

นอกจากนี้ที่จ.ตราด เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งคืนตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ถึง 21 ก.ค. ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองต่างๆ ในแต่ละอำเภอมีระดับน้ำสูงขึ้น บ้านเรือนชาวบ้านเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม และมีพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่เหนือประตูน้ำชลประทานมีน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรบางส่วนแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องเร่งสูบน้ำออกเพื่อให้ระดับน้ำลดลง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน