เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 1 สาขาสระบุรี, นายกฤติน หลิมตระกูล ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่บ้านของนายสมศักดิ์ แย้มเนียม เลขที่ 109 หมู่ 3 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน และวางแผนสำรวจประชากรของอีกัวน่า และความหนาแน่นการกระจายตัวและจับบางส่วนเท่าที่จะทำได้ไปไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าภาคกลาง จ.นครนายก

จับอีกัวน่า – จนท.กรมอุทยานฯ ลุยจับอีกัวน่า หรือกิ้งก่ายักษ์ ที่มีผู้เลี้ยงแล้วนำมาปล่อยบริเวณชุมชนเขาพระยาเดินธง อ.พนัสนิคม จ.ลพบุรี จนแพร่พันธุ์กลายเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศเมื่อวันที่ 16 พ.ย.

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจระดับอีกัวน่าจากกรณีเกิดสถาน การณ์อีกัวน่าเขียว สัตว์ต่างถิ่นมีการเผยแพร่กระจายพันธุ์จำนวนมากในพื้นที่ชุมชน เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยการเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชขอชี้แจงให้ทราบว่าอีกัวน่าเขียวเป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่ม 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ลำดับที่ 690 อีกัวน่าทุกชนิดอยู่ที่มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 โดยอีกัวน่าเขียวมักพบเชื้อซาลโมเนลล่า ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงและทางอ้อม จากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทางถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียนท้องเสียได้ ทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติเข้าพื้นที่ทำการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบว่าอีกัวน่าเขียวบริเวณดังกล่าวจะพบเชื้อซาลโมเนลล่าหรือไม่

กรมอุทยานฯ จึงขอแจ้งแนวทางสำหรับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียวดังนี้ 1.หากพบเห็นอีกัวน่าเขียวให้โทร.แจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1362 กรมอุทยานแห่งชาติจะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงไปดำเนินการดักจับเพื่อนำส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ 2.ผู้ที่ครอบครอง อีกัวน่าเขียวให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดได้แจ้งต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบ ในพื้นที่กรุงเทพฯ แจ้งที่สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดสำรวจอีกัวน่าเขียวที่ไม่มีผู้ครอบครอง ทั่วประเทศและดำเนินการดักจับเพื่อนำไปดูแลต่อไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน