รัฐบาลประกาศให้การ “แก้หนี้ในระบบ” และการ “แก้หนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ
โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแถลงรายละเอียดการดำเนินการไปแล้ว
มาตรการแก้หนี้ที่ออกมาจะส่งผลต่อภาพรวม “การแก้หนี้ทั้งระบบ” มากน้อยแค่ไหน
อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ม.หอการค้าไทย
มาตรการพักหนี้ที่ทำกันมาเกือบ ทุกรัฐบาลก็ทำได้เพียงแค่บรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้สินครัวเรือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานแห่งการเป็นหนี้
นอกจากนี้หากดำเนินการอย่างไม่รัดกุมและใช้มาตรการแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดจริยวิบัติ(Moral Hazard) ในระบบการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และจะสะสมความเสี่ยงของ การเกิดวิกฤติระบบสถาบันการเงินในอนาคตได้
มาตรการแก้ไขหนี้สินนั้นต้องกระจายรายได้และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม สร้างโอกาสการทำงานด้วยรายได้สูงให้ประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยความรู้และนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีราคาและมูลค่าสูงขึ้น
ส่วนหนี้กยศ. เป็นหนี้เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ฉะนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กยศ.ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อย่างเต็มที่ ทั้งลดดอกเบี้ย ปรับการผ่อนชำระรายเดือน จนถึงการลดหนี้ให้หากมีความจำเป็น
ขณะที่ในส่วนของการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบทำมาหลายรัฐบาลแล้ว มีฐานข้อมูลเก่า อยู่ นำฐานข้อมูลตรงนั้นมาวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้ทราบถึงปัญหาหนี้สินทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค
ส่วนที่มาลงทะเบียนใหม่เพิ่มเติมจากรัฐบาลชุดที่แล้วต้องวิเคราะห์โดยภาพรวมว่าปัญหาหนี้นอกระบบเกิดจากปัจจัยไหน เกิดจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า สถาบันการเงินในระบบจึงไม่ปล่อยกู้เลยต้องไปหาสินเชื่อนอกระบบ
ต้องเริ่มด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ก็มี ต้องดูแลทั้งสองฝั่ง การปราบปรามต้องดำเนินการเฉพาะที่เป็นมาเฟียเงินกู้นอกระบบที่ใช้วิธีการนอกกฎหมายทวงหนี้ หรือคิดดอกเบี้ยอย่างไม่เป็นธรรม หรือหวังยึดเอาทรัพย์สินลูกหนี้อย่างไม่ ถูกต้อง
มาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาลงได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะแก้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทิศทางดอกเบี้ย ความสามารถในการหารายได้ของลูกหนี้ด้วย
หากมีการปรับขึ้นค่าแรงค่าจ้างอย่างเหมาะสม ปัญหาหนี้สินจะเบาลงทันที หากมีนโยบายให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่านี้จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินตัว ไม่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากการก่อหนี้ครัวเรือน แต่ปัญหาอาจเกิดจากการขยายการลงทุนด้วยการก่อหนี้ของธุรกิจเอกชนมากกว่า
ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพในระดับอย่างน้อย 5-6% ในปีหน้า น่าจะทำให้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่า 90% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ได้ หากเศรษฐกิจปีถัดๆไปขยายตัวเต็มศักยภาพอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาค
ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวน การจัดการแก้ไข ซึ่งอยู่ในการตรวจสอบของประชาชนทั้งประเทศ รัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบได้มากน้อยแค่ไหน ต้องดูลงไปในรายละเอียดว่าแต่ละเรื่องที่รัฐบาลประกาศมา จะแก้ไขได้เป็นรูปธรรมหรือไม่
จากที่เห็นรัฐบาลแจกแจงรายละเอียดซึ่งมีอยู่หลายข้อต้องดูเป็นข้อๆว่าแก้ได้หรือไม่ แน่นอนว่าต้องมี เสียงติ เสียงติงบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหา ดังกล่าวให้ได้
การแก้ไขหนี้นอกระบบที่เปิดให้ลูกหนี้ทั่วประเทศลงทะเบียนนั้นถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทาง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยสั่งสมปัญหาเศรษฐกิจมานาน เนื่องจากการเมืองล้าหลังโดยเฉพาะ 9 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดก่อน
ก่อนหน้านี้ประเทศกำลังไปได้ดีมากภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย แต่ถูกโค่นล้มดื้อๆโดยรัฐบาลทหาร แล้วอยู่ยาวถึง 9 ปี ทำให้ประเทศไม่ได้พัฒนา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงหมักหมม
พูดในมุมมองนักวิชาการเห็นใจในความยากลำบากของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องตั้งใจคิดดีๆ ทำดีๆ จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้ดี ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมประเด็นในทางการเมืองด้วย ไม่ควรพูดเพียงว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน การเมืองเอาไว้ก่อน
เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองอย่างนั้น เขารู้ว่าการเมืองตอนนี้ล้าหลังและทำให้เศรษฐกิจล้าหลังไปด้วย ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียวไปไม่ได้อยู่แล้ว
ขณะที่ฝ่ายค้านคอยติดตามเฝ้าดูเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องไหนเห็นด้วยเขาก็ชม อันไหนไม่เห็นด้วยก็จะติเหมือนประชาชนทั่วไป สำคัญคือรัฐบาลต้องมองทุกอย่างเป็นกลาง ทำให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล
ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยจนถึงพลังประชาชนโดดเด่นเรื่องการทำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทยคือการถูกทหารแทรกแซง ทำให้ประเทศเสียจังหวะในการพัฒนาไปหลายครั้ง
เมื่อมาถึงยุคความเร็วของโซเชี่ยล รวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ไปเร็วมากทำให้เกิดคนรุ่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และถูกโค่นทันทีเช่นกันเพราะฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าเป็นปัญหารุนแรง กระทั่งเกิดพรรคใหม่ๆ อย่างก้าวไกล
การเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ามีทั้งคนที่ติดใจพรรคเก่า ไม่ลืมความสามารถด้านเศรษฐกิจของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และคนที่ติดใจพรรคใหม่ สนใจกับปัญหาเชิงโครงสร้างและสังคม การเสนอนโยบายของสองพรรคจึงน่าจับตา และติดตาม
โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มาตรการแก้หนี้ในระบบ ทั้งการพักหนี้เกษตรกร ปรับแผนจ่ายหนี้กยศ. หนี้ข้าราชการ หนี้ครูหักไม่เกิน 70% ของเงินเดือน ผ่อนจ่ายหนี้บัตรเครดิต 10 ปี ยกเลิกสถานะหนี้เสียเอสเอ็มอีนั้น ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่จะแก้อย่างไรคงต้องไปว่ากัน
การพักหนี้ไม่ได้แก้หนี้ได้ทั้งหมด ส่วนหนี้ กยศ.พูดกันมานานก็ยังไม่ดำเนินการให้ชัดเจน ครั้งนีที่บอกไม่เก็บดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าตรงไหนคือจุดพอดีของการแก้หนี้ เพราะบางคนไม่มีศักยภาพชำระหนี้จริงๆ เรียนจบแล้วแต่ด้วยเศรษฐกิจไม่ดีก็แก้ยาก
รู้สึกดีใจไปครึ่งหนึ่งที่เห็นรัฐบาลเอาใจใส่ แต่เรื่องหนี้เป็นเรื่องเก่าแก่ที่พูดกันมานาน มีคนระบุเคยเสนอให้พรรคไทยรักไทยดูแลเรื่องหนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้งนี้ต้องยกผลประโยชน์ให้รัฐบาลที่พยายามแก้เรื่องนี้
อย่างไรก็ตามขอให้รายงานผลให้ประชาชนได้ทราบ ไม่ใช่เปิดฉากแสดงเพียงสินค้า แต่สินค้าขายออกแค่ไหน นั่นคือการดูผลสัมฤทธิ์ของการพยายาม
ส่วนหนี้นอกระบบที่ให้ลงทะเบียน มีการตรวจจับ ปราบปรามกันบ้างแล้วนั้น เรื่องนี้สำคัญยิ่งกว่าหนี้ในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เพราะคนจะมีหนี้ในระบบได้ต้องมีศักยภาพหรือมีฐานะพอสมควร
แต่หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใครสมควรที่จะ ปราบปราม ส่วนแหล่งเงินกู้ที่ปล่อยแบบถูกกฎหมายให้คงอยู่เพื่อเป็นที่พึ่ง อีกทางกับประชาชน แต่ต้องทำอย่างถูกกฎหมายจริงๆ
สุดท้ายแล้วการจะแก้หนี้ทั้ง 2 แบบ ก็ยังมองว่าเป็นเพียงการทุเลาหนี้เท่านั้นคงไม่สามารถแก้หนี้ได้ทั้งระบบและคงแก้ไม่ได้ เพราะหนี้ของเอกชนถ้ารัฐ จะนำมาเป็นของตัวเองรัฐมีแต่แย่กับแย่ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก
แต่ถ้าเป็นการตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้พอจะทำได้ แต่จะให้ล้างหนี้เลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐก็ยังถือไพ่เหนือกว่าเรื่องหนี้นอกระบบ เจ้าหนี้ล้ำเส้นกฎหมายก็อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี
เชื่อว่าไม่สามารถแก้หนี้ได้ทั้งหมด แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงไม่มีใครบอกได้ แต่บอกเป็นเปอร์เซ็นต์ได้บ้างจะดูจากผู้มาขอความช่วยเหลือ หรือลงทะเบียน ถ้ามีผู้ลงทะเบียนมากขึ้นก็เท่ากับเปอร์เซ็นต์การช่วยเหลือมีมาก และการแก้ไขหนี้ก็จะถือว่าได้ผล
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประชาชนยังหวังพึ่งรัฐอยู่ และคนที่เป็นหนี้ก็ยังมีความหวังอยู่