ยืนยันญาติพี่น้องไม่ได้เห็นด้วย
บิ๊กตู่ตั้งเอง-กก.สอบข้อเท็จจริง
อัยการพบกมธ.-ย้ำไร้แทรกแซง

พี่น้องตระกูล‘อยู่วิทยา’ จ.ม.เปิดผนึกจี้ ‘บอส’ รีบออกมาชี้แจงแสดงความ กระจ่างต่อสังคม หลุดคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ยืนยันพี่น้องครอบครัวเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูง

ขณะที่ ‘บิ๊กตู่’ ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ ‘วิชา มหาคุณ’ เป็นประธาน มีอำนาจเสนอแนวทางนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ก้าวล่วงการสั่งคดีของอัยการและตำรวจ ส่วนอธิบดีอัยการชี้แจง กมธ.สภา ย้ำไม่มีใครแทรกแซงได้

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกฯที่ 225/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยระบุว่าตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนตำรวจ ขณะขับขี่รถจักรยาน ยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเหตุเกิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหา และผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี

ต่อมาคดีบางข้อหาขาดอายุความ ในส่วนข้อหารถขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิ์ของ ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงบุพการี บุตร และคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุปพยาน หลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนินคดีใหม่เมื่อได้พยาน หลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ

อัยการแจงกมธ. – นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง คดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ก.ค.

 

โดยคดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดีอันเป็น ขั้นตอนในกระบวนการที่ทำชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อ และสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการที่ทำ แม้การใช้ดุลพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะตรวจสอบตามกฎหมาย และระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำสั่งระบุต่อว่า แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้หากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกฯ จึงมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณี คำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ขณะที่กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม, นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผอ.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ เเละการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ประธานแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกิน 5 คน

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีดังกล่าว และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของ เจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อเสนอแนะนำอื่นใด โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกฯ ให้ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่หาก นายกฯ เห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ให้ขยายเวลาได้อีก

คำสั่งระบุอีกว่า ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกฯ ทุก 10 วัน และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น อีกทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ นอกจากนี้ คณะกรรมการอาจรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา หลุดคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าวแล้ว เนื่องจากประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ดังนั้นต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนอย่างไร โดยจะไปก้าวล่วงในส่วนของอัยการและศาลไม่ได้ รวมถึงตำรวจด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ขอให้มั่นใจ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย นิ่งนอนใจ ความยุติธรรมจะต้องเกิดในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น

ส่วนกรณีที่มีความพยายามเชื่อมโยงกรณีนายวรยุทธรอดพ้นคดี เกี่ยวข้องกับการบริจาคเงิน 300 ล้านบาท ให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโควิดนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่อง ยืนยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ จึงขอให้ความเชื่อมั่นด้วย จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ กล่าวว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อัยการ และตำรวจที่ต้องออกมาชี้แจง ซึ่งนายกฯ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ทุกอย่างทำไปตามขั้นตอน รอตำรวจและอัยการออกมาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจทำให้นายวรยุทธหลุดคดี โดยคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นประธานด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “โห ตระกูลผมไม่รู้จักกับตระกูลเขา เป็นการส่วนตัวก็ไม่เคยรู้จัก แล้วเขาก็ไม่เคยมาขอความช่วยเหลืออะไร ผมเลย” รองนายกฯ กล่าว

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผบ.ตร. และพล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) ร่วมแถลงผลการประชุมสืบหาข้อเท็จจริงคดีนายวรยุทธ โดยพล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่ามีกรอบการทำงาน 3 กรอบ คือ 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามพนักงานอัยการ และ 3.ดำเนินการพิจารณาความเห็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ในเบื้องต้น คณะกรรมการแบ่งหน้าที่การงานแต่ละส่วนให้ไปดำเนินการ โดยเฉพาะในรายละเอียดข้อเท็จจริง และบุคคลพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรก เพื่อจะนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 30 ก.ค. ก่อนจะพิจารณารายละเอียด

ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวต่อว่า ความเห็นไม่แย้งคำสั่งของอัยการในคดีถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก ส่วนการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมานั้น เป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ทางตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริง ว่าการใช้ดุพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. ในขณะนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้น หรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ส่งบันทึกข้อความ ถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการ สูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธว่า ในฐานะประธานก.อ. มีความห่วงใยสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นต่อองค์กรอัยการเป็นอย่างยิ่งและ ใคร่ขอให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขสถาน การณ์ดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้ 1.สำนักงานอัยการสูงสุดควรตรวจสอบการดำเนินคดีของสำนวนดังกล่าวในทุกขั้นตอน ทั้งอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย และหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการให้แล้วเสร็จได้โดยเร็วที่สุด

2.ระหว่างดำเนินการตามข้อ 1 ควรมีกลไกที่เหมาะสมให้การอธิบายทำความเข้าใจให้สาธารณชนทราบทุกระยะ เพื่อป้องกันการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความจริง และ 3.เมื่อได้ผลการตรวจสอบตามข้อ 1 ต้องจัดให้แถลงข่าว หรืออธิบายที่กระชับแก้ได้ตรงประเด็นต่างๆ ที่สาธารณชนตั้งข้อสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการได้อย่างถูกต้อง ตามหลักกฎหมายและหลักการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งชัดต่อสาธารณชนทันทีในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาทันทีภายใต้กรอบของกฎหมายในกรณี หากพบปัญหาหรือข้อคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนใดเกี่ยวกับการสั่งคดีดังกล่าวด้วย

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติมาชี้แจงกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ปรากฏว่านายเนตรไม่ได้เดินทางมาชี้แจง โดยมีนายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 มาชี้แจงแทน

โดยตอนหนึ่งของการประชุม นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ชี้แจงว่าสำนวนคดีมีทั้งหมด 4 แฟ้ม 5 ข้อหา แต่อัยการ 7 คนที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ไม่เคยเห็นสำนวนทั้งหมดมาก่อน เพราะไม่ได้ดูคดีนี้ตั้งแต่แรก ขณะนี้อัยการทั้ง 7 คนอยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด จึงขอเลื่อนการตอบคำถามต่างๆ เป็นสัปดาห์หน้า จะชี้แจงทุกคำถามทุกคำถามต้องมีคำตอบ และยืนยันว่าไม่มีใครแทรกแซงการทำงานได้ เราไม่ได้สอบเพื่อปกป้องคนสั่ง หรือคนผิด แต่สอบเพื่อชี้แจงต่อประชาชนให้ได้ ไม่ต้องห่วงจะปกป้องใคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยกการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมด้วย เสนอต่อที่ประชุมว่าอยากให้ กมธ. 3 คณะ คือ กมธ.กฎหมาย กมธ.ศาล องค์กรอิสระ อัยการ และกมธ.ตำรวจ มาร่วมกันพิจารณาพร้อมกันในวันพุธที่ 5 ส.ค.เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงในคราวเดียว โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

วันเดียวกัน พี่น้องตระกูลอยู่วิทยาออกจดหมายเปิดผนึกว่า พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูงที่ข่าวของบุคคลในครอบครัวได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พวกเราไม่อาจจะปฏิเสธความสัมพันธ์ของการเป็นอยู่วิทยาคนหนึ่งของคุณวรยุทธได้

อย่างไรก็ตาม พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาก็ขอเรียนให้ทุกท่านทราบด้วยความจริงใจว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ ครอบครัวคุณวรยุทธไม่ได้หารือ หรือบอกเล่าการตัดสินใจ หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับพี่น้องเลย และพวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของคุณวรยุทธที่เราติดตามจากข่าว แต่พี่น้องก็ไม่เคยออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ด้วยเพราะให้เกียรติครอบครัวของคุณวรยุทธ และคาดหวังว่าครอบครัวของคุณวรยุทธจะทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด แต่ในวันนี้กระแสทางลบที่มากระทบกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีมากจนเกินกว่าจะแบกรับเหมือนทุกครั้งได้ ทำให้เราจำเป็นต้องออกจดหมายฉบับนี้

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย และยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน พี่น้องทุกคนขอเรียกร้องให้คุณวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด และดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม

“พี่น้องทุกคนขอแสดงจุดยืนของครอบครัวอยู่วิทยา จุดยืนที่พวกเรายึดถือและปฏิบัติมาตลอด คือการเดินตามปณิธานและคำสอนของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้เป็นพ่อและเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิต ที่สอนให้พวกเรายึดมั่นในการกตัญญูต่อแผ่นดิน โดยพี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมไทย ตามวิถีและปณิธานที่คุณเฉลียวได้วางไว้ต่อไป ด้วยความเคารพ และเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสูงสุด” จดหมายระบุในตอนท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน