ไทยอันดับ1 ฟื้นตัว‘โควิด’ – ทั่วโลก ติดเชื้อ พุ่ง17ล.

ชูไทยอันดับ 1 ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด ศบค.เผยพบติดเชื้อโควิดเพิ่ม 6 ราย กลับจากอียิปต์ 4 และซาอุฯ 2 อยู่ในศูนย์กักตัวของรัฐ ยอดป่วยสะสม 3,304 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ขณะที่ทั่วโลกยอดติดเชื้อพุ่งเกิน 17 ล้านแล้ว ตายกว่า 6.7 แสน

ขณะที่ 290 คนไทยบินกลับจากอียิปต์ถึงบ้านแล้ว ด้านเมียแรงงานไทยในอุซเบฯ วอนนายกฯช่วยนำสามีและเพื่อนคนงานตกค้างกลับบ้าน ส่วน นักสังคม สงเคราะห์ทางการแพทย์ร้องศาล ปกครองสั่งสธ.บรรจุเป็นขรก. ยันเป็นหนึ่งในกลุ่มงานบริการผู้ป่วยโดยตรง ดูแลผู้ป่วยโควิด ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดต้องได้รับการพิจารณา

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 6 จากตปท.

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถาน การณ์โรคโควิด-19 ประจำวันผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ไม่มีหายป่วยและไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มี ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,304 ราย หายป่วยแล้ว 3,111 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย ยังรักษาอยู่ในร.พ. 135 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่มาจากต่างประเทศ และเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (สเตต ควอรันทีน) คือ 1.มาจากอียิปต์ 4 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 21 ปี, 23 ปี และ 25 ปี จำนวน 2 ราย เดินทางถึงไทยวันที่ 17 ก.ค. เข้าพักสเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 28 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ แต่ทั้งหมดไม่มีอาการ

2.มาจากซาอุดีอาระเบีย 2 ราย เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 25 ปี และแม่บ้านหญิงไทย อายุ 50 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 25 ก.ค. เข้าพัก สเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อวันที่ 28 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อทั้งหมดไม่มีอาการ

ทั่วโลกป่วยพุ่งเกิน 17 ล้าน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มี ผู้ป่วยสะสม 17.1 ล้านราย ป่วยรายใหม่ 2.94 แสนราย เสียชีวิตรวม 6.7 แสนราย รายใหม่ 6,865 ราย โดยสหรัฐอเมริกา ป่วยอันดับ 1 รวม 4.56 ล้านราย ป่วยใหม่ 6.9 หมื่นราย บราซิล ป่วย 2.55 ล้านราย ป่วยใหม่ 7 หมื่นราย

คนไทยในอุซเบฯวอนช่วยกลับบ้าน

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านหลวง ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เพื่อพบน.ส. เพ็ญนภา เศษสวย ภรรยาของนาย ศราวุธ สีทอง อายุ 32 ปี แรงงานไทยซึ่งไปทำงานที่ประเทศ อุซเบกิสถาน ที่หมดสัญญาจ้างกับนายจ้างมาแล้ว 1 เดือน แต่ตกค้าง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เพราะทางอุซเบฯ ปิดน่านฟ้า และจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 พบ ผู้ติดเชื้อไวรัสในแคมป์คนงาน 27 คน โดยน.ส.เพ็ญนภาวิดีโอคอลคุยกับสามีที่กำลังทานข้าวอยู่ที่แคมป์คนงานร่วมกับเพื่อนคนงาน

นายศราวุธกล่าวว่า ตอนนี้แรงงานไทยทั้ง 101 คน ได้แต่รอเครื่องบินที่จะกลับบ้าน แต่ยังไม่มีไฟลต์บิน และมีผู้ที่ได้รับแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 รวม 27 คน ที่แยกไปอยู่อีกแคมป์หนึ่ง ส่วนเรื่องการเตือนแรงงานซึ่งขู่จะเผาแคมป์คนงานนั้น ความจริงไม่มีใครจะเผา มันเป็นความอัดอั้นตันใจ น้อยเนื้อต่ำใจ ที่อยู่กันแบบไม่มีความหวังอะไร จะกลับบ้านก็ไม่ได้ จะออกไปไหนก็ไม่ได้ ไม่ได้ตั้งใจที่จะเผาจริงๆ ตนจะได้กลับวันไหนก็ไม่รู้ แล้วตอนนี้สนามบินอุซเบกิสถาน ก็เลื่อนเปิดออกไปเป็นวันที่ 15 ส.ค.

นายศราวุธกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องกินอยู่ก็มีนายจ้างดูแลให้กินเช้า เที่ยง เย็น ตนกับเพื่อนคนงานอีกหลายคนก็หมดสัญญากับนายจ้างแล้ว ส่วนเรื่องที่จะกลับความจริงรอก็รอได้ แต่ตอนนี้มีโรคโควิด-19 เข้ามา ทำให้กลัวและอยากจะกลับบ้านเร็วๆ และพวกเราอยากให้นายกรัฐมนตรีมาช่วยพวกเราได้กลับบ้าน จะเป็นแบบกรณีฉุกเฉินหรือกรณีพิเศษก็ได้ เพราะตนดูข่าวเห็นนายกฯ บอกว่าจะช่วยนักศึกษาที่อียิปต์ และช่วยแรงงานไทยที่อุซเบกิสถานด้วย ตอนนี้พวกเราก็ได้แต่รอเพียงอย่างเดียว

“ผมขอฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตอนนี้คนไทยทั้งหมดต้องการจะกลับบ้านด่วน เพราะกลัวโรคโควิด-19 ซึ่ง 27 คนงานที่ว่าติดเชื้อที่แยกไปพักที่แคมป์ใหม่ได้ 3 วัน ที่มีการตรวจหาเชื้ออีกรอบ แต่เขาไม่เจอเชื้อก็ส่งกลับมาที่แคมป์เดิม ที่ทราบมาเขาจะตรวจเชื้อทุก 3 วัน/ครั้ง หากไม่เจอเชื้อก็ ส่งกลับที่เดิม”

ด้านน.ส.เพ็ญนภาเปิดเผยว่า หลังได้วิดีโอคอลคุยกับสามีแล้ว ก็เป็นห่วงกลัวว่าสามีจะติดเชื้อโควิด-19 เมื่อได้ฟังสามีพูดแล้ว ก็หายห่วง ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้เดินทางกลับ ตนทราบเหตุผลอยู่ว่าต้องรอ ยังไม่มีกำหนดว่าจะได้กลับเมื่อไหร่ ส่วนที่สามีหมดสัญญาแล้วไม่ต่อสัญญากับนายจ้างหลังทำงานได้ 1 ปี เพราะว่าไม่ได้เงินตรงตามที่คิดไว้ เลยคิดว่ากลับบ้านดีกว่า จึงไม่ต่อสัญญา ทั้งที่ยังใช้หนี้ที่เดินทางไปทำงานยังไม่หมด และขอฝากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลช่วยดำเนินการนำตัวแรงงานทั้งหมดกลับบ้านด้วย

290คนไทยกลับจากอียิปต์

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการนำคนไทยกลับจากประเทศอียิปต์ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า วันที่ 30 ก.ค. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ดำเนินภารกิจส่งคนไทยกลับถึงประเทศไทย รวม 290 คนแล้ว ทั้งนี้ ในภาพรวม สถานเอกอัครราชทูตจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับประเทศไทยจากอียิปต์แล้ว ระหว่างเดือนพ.ค. ถึงก.ค. ทั้งสิ้น 7 เที่ยว รวม 1,840 คน

“นายกฯให้ความสำคัญกับการนำคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็ว และสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งนำคนไทยกลับ ในส่วนของคนไทยในอียิปต์ที่แสดงความจำนงกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เพื่อขอเดินทางกลับ ขณะนี้มีเหลือประมาณ 670 คน ทั้งนี้ ในเดือนส.ค. จะจัดเที่ยวบินนำคนไทยกลับจากอียิปต์อีก 2 เที่ยวบิน รวม 580 คน หากยังมีคนไทยแจ้งความประสงค์เพิ่มเติมสถานเอกอัครราชทูต และกระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาจัดเที่ยวบินตามความเหมาะสมต่อไป”

นายเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลคนไทยที่ป่วยในอียิปต์ สถานเอกอัครราชทูตแจ้งเพิ่มเติมว่ากรณีพบคนไทยติดเชื้อหลังจากการตรวจ Swab Test แบบ PCR เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตจะประสานให้คนไทยดังกล่าวเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อคัดกรอง และเข้าระบบของสาธารณสุขอียิปต์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของทางการอียิปต์ โดยกระทรวงสาธารณสุขอียิปต์มอบหมายแพทย์ผู้ประสานชาวอียิปต์เพื่อประสานงานกับสถานเอกอัคร ราชทูตอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง ผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากมีอาการไม่รุนแรง จะให้ไปกักตัวที่ที่พัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเรื่องการจ่ายยา ขึ้นอยู่กับอาการ ขณะนี้ ไม่มีคนไทยรักษาตัวใน โรงพยาบาลในอียิปต์จากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ได้เปิดกลุ่มไลน์ซึ่งมีกรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรคของไทยคอยให้คำแนะนำผู้ที่ติดเชื้ออีกทางหนึ่งด้วย

10 คนไทยในอุซเบฯไร้เชื้อ

นายเชิดเกียรติยังกล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยในอุซเบกิสถาน ซึ่งมีรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานทูตไทยประจำกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุซเบกิสถานเผยแพร่ในเฟซบุ๊กว่า ได้ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานไทยดังกล่าว โดยเตรียมจัดส่งอาหารแห้งเพื่อแจกจ่ายให้แก่แรงงานไทยที่ร้องขอมาผ่านทางกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน
นอกจากนี้ จากรายงานการตรวจพบเชื้อ โควิด-19 ในแรงงานไทย 27 คนนั้น สถานทูตได้รับรายงานในเช้าวันที่ 30 ก.ค. 2563 ว่า แรงงานไทย 10 คน มีผลตรวจออกมาว่าไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนแรงงานไทยอีก 17 คนที่เหลือจะต้องเข้ารับการตรวจโรคเพิ่มเติมต่อไป

ชูไทยอันดับ 1 ฟื้นตัวจากโควิด

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สภาผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพในระดับนานาชาติ (The GCI Global Advisory Council) จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ดีที่สุดเป็นอันดับ 1 จาก 184 ประเทศทั่วโลก โดยประเมินจากดัชนี 2 ด้าน คือ ภาพรวมในมิติการฟื้นตัว และความรุนแรงของผลกระทบจากการระบาด

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า โดยดัชนีการฟื้นตัวของไทยได้คะแนนรวม 82.27 อยู่ในกลุ่ม เรตติ้ง 5 คือประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก ซึ่งประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังดูแลอยู่ต่อประชากร, ผู้ที่รักษาหายแล้วต่อผู้ติดเชื้อ, จำนวนการตรวจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ, จำนวนการตรวจต่อประชากร และคะแนนความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ส่วนดัชนีความรุนแรงของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ไทยได้คะแนนรวม 10.70 อยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 1 หมายถึงประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้ดี โดยมีร้อยละการติดเชื้อต่ำและมีผู้เสียชีวิตน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งประเมินจาก 1.จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 2.สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ต่อประชากร และคะแนนความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ที่วัดความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาด”

ร้องศาลสั่งสธ.บรรจุเป็นขรก.

วันเดียวกัน ที่ศาลปกครอง นางเยาวเรศ คำมะนาด นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย และตัวแทนชมรม นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จาก โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เข้ายื่นฟ้องปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาบรรจุพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ จากการที่บุคคลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นางเยาวเรศกล่าวว่า ปัจจุบันมีนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 590 คน จำนวนนี้ 230 คนยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการนับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งพวกเราเรียกร้องมาตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 63 ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

แต่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์กลับไม่ได้เป็นหนึ่งใน 24 สายงานอาชีพทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขบรรจุ ซึ่งพวกเรายื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุขพร้อมกับวิชาชีพอื่นที่ตกหล่น และรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม

เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งใน 35 กลุ่มงานที่อยู่ในโครงสร้างบริการผู้ป่วยโดยตรง และในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. เราเข้าไปปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนกว่า 1,600 รายอย่างเต็มที่ ร่วมกับกลุ่มวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ควรต้องได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นข้าราชการ จึงต้องมาร้องต่อศาลปกครอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน