ระบาย‘บางลาง’
‘สันกาลาคีรี’บ่า

น้ำป่า ‘สันกาลาคีรี’ หลากลงเขาท่วม ‘สงขลา-ยะลา-นราฯ’ เหตุฝนตกหนักใน มาเลย์จนดิน
อุ้มน้ำไม่ไหวถล่มหลายพื้นที่ หลายจุดสะพานพัง-ถนนจมมิด ‘เขื่อนบางลาง’ ก็ล้นทะลักต้องระบายลงแม่น้ำปัตตานีให้ไหลทิ้งทะเล ทำหลายอำเภอริมตลิ่งถูกน้ำท่วมฉับพลัน อุตุฯเตือนมรสุมยังถล่มภาคใต้หนักถึงวันที่ 12 ม.ค.

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 7 ม.ค. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุฯ เรื่อง อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบนและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 8-12 มกราคม 2564) ฉบับที่ 2 ความว่า ในช่วงวันที่ 8-12 ม.ค.บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 5-8 องศาเซลเซียส โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นจะได้รับผลกระทบในวันถัดไป สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวในรายการรูปแบบเล่าเรื่องในหัวข้อ “สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้” ผ่านแอพพลิเคชั่นพอดแคสต์ไทยคู่ฟ้า ว่า มีฝนตกมากเกินปริมาณที่รับได้ต้องมีการระบายน้ำ โดยจากการรายงานของหน่วยงานในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยมีความเป็นห่วงขอให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ ให้แก้ปัญหาได้โดยเร็วที่สุด เราเคยแก้ปัญหากันมาได้อยู่แล้ว อาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้างจึงกำชับกระทรวงมหาดไทย กองทัพและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดกำลังพล อุปกรณ์ลงไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที

ส่วนสถานการณ์ในเขตเทศบาลสะบ้าย้อยเกือบทั้งพื้นที่ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลสะบ้าย้อยน้ำท่วมกว่า 1.50 เมตร สวนสาธารณะน้ำท่วมสูงขึ้นประมาณ 50 ซ.ม. ภายในเขตเทศบาลสะบ้าย้อยน้ำได้ท่วมถนน 3 เส้นหลัก ที่มีชาวบ้านสัญจรไปมาระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 50 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่อพยพชาวบ้านจากบ้านแลแบง ที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ไปอยู่พื้นที่เทศบาลตำบลท่าพระยา เทศบาลตำสะบ้าย้อย ส่วนชาวบ้านในเขตเทศบาลสะบ้าย้อยต้องเร่งอพยพออกนอกพื้นที่โดยด่วน

นายธัญญพัฒน์ สุวรรณรัตน์ อดีต นายก ทต.สะบ้าย้อย กล่าวว่า พื้นที่ อ.สะบ้าย้อยพื้นที่รองรับน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นเทือกเขากั้นแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย มีฝนตกหนักมากในประเทศมาเลเซียตอนใต้ทำให้ ต.สะบ้าย้อย เขาแดง และจะแหน มีน้ำท่วม ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร คาดว่าสถานการณ์อาจจะมีน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมสูงขึ้น ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าดูระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตอนนี้มีกระแสน้ำเชี่ยวไหลลงมาอย่างเร็ว เป็นปีหนึ่งที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก

นายราชิต สุดพุ่ม ผวจ.ปัตตานี เปิดเผยว่า รับแจ้งจากโครงการชลประทานปัตตานี เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี ตั้งแต่วันที่ 5-6 ม.ค. มีปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์หากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งได้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายบุรีและพื้นที่ต่ำ ให้เฝ้าระวังเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เพื่อรับสถานการณ์น้ำที่ล้นตลิ่งและท่วมขัง ในเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก

วันเดียวกัน เขื่อนบางลาง จ.ยะลา เปิดประตูระบายน้ำที่ล้นสปิลเวย์ปล่อยน้ำออกมา เพื่อรักษาตัวเขื่อนหลังจากฝนตกอย่างต่อเนื่องตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทำให้มวลน้ำจำนวนมากได้ไหลเพิ่มลงมา เข้าท่วมหลายพื้นที่ที่เป็นทางน้ำและราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนชาวบ้านรอบแม่น้ำปัตตานีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ระบายน้ำเพื่อไหลลงสู่ทะเล ปรากฏว่า พื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำปัตตานีและพื้นที่เสี่ยงหลายอำเภอที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ทางน้ำไหลของแม่น้ำปัตตานี ต้องประสบกับน้ำเอ่อล้นตลิ่งและน้ำเริ่มท่วมสูงขึ้น คือ อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.เมืองปัตตานี

มวลน้ำในแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นตลิ่งตั้งแต่เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เข้าท่วมในพื้นที่บ้านยือโมะ และบ้านจางา ต.ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี ทำให้บ้านเรือนประชาชนทั้งสองหมู่บ้านกว่า 300 ครัวเรือนจมอยู่ใต้น้ำระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร และมีท่าทีว่าน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากน้ำที่เอ่อล้นมีความเชี่ยวกรากคาดว่าระดับน้ำอาจจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในวันนี้ อีกทั้งฝนที่ยังตกลงมา ชาวบ้านต้องขนข้าวของหนีย้ายเอาไว้บนที่สูง บางครอบครัวต้องอพยพไปอาศัยกับญาติ ขณะที่ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงและไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้

ส่วนที่นราธิวาส จากสภาวะน้ำท่วมระลอกที่ 4 ล่าสุดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกในระยะนี้ ทำให้แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสุไหงโก-ลก และแม่น้ำบางนรา มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มขยายวงกว้างจาก 6 อำเภอเมื่อวานนี้ เป็น 9 อำเภอ

ประกอบด้วย บาเจาะ, ยี่งอ, สุไหงปาดี, เจาะไอร้อง, ระแงะ, จะแนะ, แว้ง, สุคิริน และสุไหงโก-ลก และอำเภอที่ถือว่าอยู่ในสภาวะวิกฤตมี 3 อำเภอ คือ สุคิริน แว้ง และสุไหงโก-ลก ที่ได้รับอิทธิพลจากมวลน้ำป่าที่สะสมอยู่บนเทือกเขาสันกาลาคีรีในพื้นที่ อ.สุคิริน ไหลลงมาสมทบลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก เพื่อระบายลงสู่ทะเลด้าน อ.ตากใบ

โดยสถานการณ์ใน อ.สุคิริน น้ำป่าไหลหลากและท่วมฉับพลัน 5 ตำบล 37 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,401 ครัวเรือน รวม 3,200 คน ถนนสายหลัก 5 สาย มีน้ำท่วมขังยานพาหนะขนาดใหญ่ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ คอสะพานชำรุด 3 แห่ง จากกระแสน้ำกัดเซาะ ประกอบด้วย สะพานบ้านยาเด๊ะ ม.2 ต.มาโมง, สะพานบ้านไอยามูและสะพานบ้านสายบริษัท ม. 2 ต.เกียร์

ส่วนที่ อ.แว้ง ซึ่งรองรับมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ยังคงมีน้ำท่วมขัง 6 หมู่บ้าน 4 ตำบล คือ บ้านตือมายู ม.1 ต.เอราวัณ, บ้านไม้ฝาด ม.8 ต.กายูคละ, บ้านจ๊ะเหม บ้านนูโร๊ะ และบ้านจะมาแก๊ะ ม.3 ต.แว้ง มีน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 40 ซ.ม. หนักที่สุดอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบูเก๊ะตา ม.2 ต.โล๊ะจูด โดยมีระดับน้ำท่วมที่ทรงตัวสูงโดยเฉลี่ย 60 ถึง 120 ซ.ม. นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมขังถนนสายบายพาสสุไหงโก-ลก จรด บูเก๊ะตา รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ต้องเลี่ยงไปใช้ถนนสายเก่าสุไหงโก-ลก จรด แว้ง แทนหากต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ด่านพรมแดนบูเก๊ะตา

พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก น้ำท่วมซ้ำซากบริเวณที่ราบลุ่มริมตลิ่งของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ปริมาณน้ำล้นตลิ่งเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับ 2 เมตร บ้านเรือนของประชาชน 8 ชุมชน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก คือ หัวสะพาน, ท่ากอไผ่, ท่าโรงเลื่อย, ท่าประปา, ท่าเจ๊ะกาเซ็ง, ท่าโปฮงยามู, ท่าบือเร็งใน และท่าบือเร็งนอก มีระดับน้ำท่วมขังสูงขึ้นในภาพรวมโดยเฉลี่ยจากวานนี้อยู่ในระดับ 70 ถึง 150 ซ.ม.

ล่าสุด พ.ท.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.นราธิวาส 30 สั่งการให้ ร.ท.พงศกร เทพษร รอง ผบ.ร้อย ร.15112 นำกำลังพลนั่งเรือที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้าน ตระเวนในชุมชนหัวสะพานและท่ากอไผ่ที่ต้องการอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง ที่นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกจัดเตรียมไว้ ล่าสุดมีประชาชนจากพื้นที่ 5 ชุมชน คือ ชุมชนหัวสะพาน ท่ากอไผ่ บือเร็งใน กือดาบารูและท่าโปฮงยามู จำนวน 49 ครัวเรือน รวม 170 คน อพยพไปอาศัยอยู่แล้ว

ใต้ระทม – ฝนตกหนัก 3 วัน แม่น้ำปัตตานีล้นท่วมบ้านยือโมะ และบ้านจางา ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ชาวบ้านกว่า 300 หลังคาเรือนเดือดร้อน ส่วนจ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกน้ำท่วมหนักเช่นกัน เมื่อวันที่ 7 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน