เปิดไทม์ไลน์-หน้าวัดสิงห์
สุพรรณแจ้งจับปกปิดข้อมูล
พัทยาทุ่ม80ล้านซื้อวัคซีน

คนกรุงผวา ‘วินจยย.’ ติดโควิด เผยไทม์ไลน์รับส่งผู้โดยสารย่านบางขุนเทียน ส่วนที่มหาชัยพบป่วยเพิ่มอีก 165 รายเพิ่มขึ้นจากวันก่อน ด้านผู้ว่าฯ สมุทรสาครไข้ขึ้นหมอยังไม่ถอดเครื่องช่วยหายใจ ส่วนที่ระยอง หมอเร่งสอบสวนโรคหลังพบทารกเพศหญิงวัย 5 เดือนติดเชื้อ ทั้งที่พ่อแม่และคนใกล้ชิดตรวจเชื้อแล้วผลเป็นลบ ศบค.พบไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 188 ราย ขณะที่ทั่วโลกเสียชีวิตแล้วเกิน 2 ล้าน ด้าน‘อนุทิน’ประกาศขอเป็นคนแรกฉีดวัคซีนโควิด ขณะที่‘นกน้อย อุไรพร’โอดพิษโควิด โดนเลื่อนคิวแสดงหมด ประกาศขายบ้านมาต่อชีวิตลูกวง พัทยาทุ่ม 80 ล้านซื้อวัคซีนฉีดให้ชาวบ้าน จนท.บางปลาม้า สุพรรณบุรีแจ้งจับผู้ป่วยโควิดปกปิดข้อมูลป่วยโควิด

ไทยติดโควิด 188-โลกตาย2ล้าน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย มี ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 154 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 81 ราย มาจากค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 21 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากเมียนมาเข้ามาทางอ.แม่สอด จ.ตาก 13 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 11,450 ราย หายป่วยสะสม 8,288 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3,093 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 69 ราย ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ป่วยสะสม 93,529,253 ราย เสียชีวิตสะสม 2,002,347 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ภาพรวมการระบาดในประเทศระลอกใหม่รายสัปดาห์ การระบาดในสัปดาห์แรกของเดือนม.ค. อยู่ที่ 2,674 ราย ส่วนสัปดาห์นี้ อยู่ที่ 1,397 ราย ซึ่งต้องรวมตัวเลขของวันที่ 16 ม.ค.เข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตัวเลขในปัจจุบันถือว่าลดลงเท่าตัว เป็นข่าวดี เพราะประชาชนช่วยกัน แต่ตนขอพูดว่าสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าทรงๆ ตัว ถ้าจะให้ดี ตัวเลขต้องลงมาใกล้ๆ ศูนย์ แต่ขณะนี้ยังหลักร้อย ขณะที่ปัจจุบันมีจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 60 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มี ผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย 10 จังหวัด สูงถึง 94% แต่ถ้าดูเฉพาะ 5 จังหวัดแรกประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง กทม. และสมุทรปราการ รวมตัวเลขกันแล้วคิดเป็น 85% ของการระบาดรอบใหม่ ถ้าทำตรงนี้ดีขึ้นได้ตัวเลขต่างๆ จะดีขึ้น ขอให้ทุกคนช่วยกัน

ตากติดเชื้อแล้ว 100 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์โควิด -19 ที่อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า เช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้บริหารระดับสูงหลายกระทรวง ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าฯตาก และทีมงานในพื้นที่ ขณะนี้จ.ตากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 100 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 81 ราย และติดเชื้อภายในจังหวัด 19 ราย กำลังรักษาในรพ. 67 ราย (มาจากต่างประเทศ 65 ราย และมาจากในจังหวัด 2 ราย) การเตรียมความพร้อมร.พ.นั้น จะใช้เตียงร.พ.ชุมชน 3 แห่ง รวม 108 เตียงในการดูแล ตอนนี้ใช้เตียงประมาณ 50% คือ 50 เตียง แต่ถ้าคนไข้เยอะขึ้น จะยกระดับเติมเตียงได้ถึง 300 เตียง และขั้นต่อไปเตรียม ร.พ.สนามให้ได้ 200 เตียง นอกจากนี้ ยังมีโลคัล ควอรันทีนมีถึง 244 ห้อง ตอนนี้นอนอยู่ 101 ห้อง ยังสามารถหาเพิ่มได้อีก

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯตากยังรายงานเรื่องความมั่นคงว่าพื้นที่ชายแดน จ.ตากมีระยะ 500 กว่ากิโลเมตร มีการสนธิกำลังของทหารและตำรวจในการดูแล แบ่งการทำงานเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกสุดตามแนวชายแดนจะเป็นการลาดตระเวน ชั้นในจะมีด่านตรวจของทหารและตำรวจ และมีการลาดตระเวน และชั้นในสุดดำเนินการโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำกันในระดับชุมชน 175 จุด เพื่อสอดส่องดูแลว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่หรือไม่

“สำหรับคนไทยที่อยากเดินทางกลับเข้ามา มีการเปิดช่องทางให้เดินทางกลับ นายกฯบอกว่าในเรื่องความผิดยกเอาไว้ก่อน ขณะนี้เข้ามาแล้ว 152 ราย เข้าสู่โลคัล ควอรันทีน และพบติดเชื้อ 65 ราย นายกฯอยากให้ระบบเป็นเช่นนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพื้นที่แนวชายแดนถูกตรึง มีการเข้มงวด และมีการคัดกรองเชิงรุกกว่า 2 หมื่นราย ถือเป็นจำนวนที่มาก แต่เจอติดเชื้อประปราย รวมถึงมีการค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าวประมาณ 400 คนต่อสัปดาห์ นายกฯเน้นย้ำทหาร ตำรวจ เรื่องการใช้โดรนในการลาดตระเวนเพื่อลดการใช้กำลังพล มาตรการคัดกรองสามชั้นสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนต้องให้ความร่วมมือ สอดส่องคนแปลกหน้า ถ้าชุมชนรู้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้าเดินทางเข้ามาการดำเนินคดีไว้เป็นลำดับรอง”

‘บิ๊กตู่’ติวเข้มแม่สอดสกัดโควิด

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับร.พ.แม่สอด ร่วมหารือกับนายพงศ์รัตน์ พิมลรัตน์ ผู้ว่าฯ ตาก นพ.จรัญ จันหมัตตุกร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก รับนโยบายและรายงานสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการรองรับผู้ป่วยและ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในจ.ตาก

นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม่สอดถือเป็นด่านหน้าในการทำงานหนักพอสมควร อาจเป็นจังหวัดหรืออำเภอที่เป็นหลักในการจัดทำแนวทางปฏิบัติไปใช้ในพื้นที่อื่นด้วย เพื่อให้สอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ จะไปหารือกับสาธารณสุขจังหวัดเพื่อร่วมบูรณาการให้เกิดความปลอดภัยจากโควิด ส่วนเรื่องวัคซีนรัฐบาลพยายามเร่งรัดจัดหาให้ประชาชน

ร้อง‘บิ๊กตู่’เยียวยาขายเบียร์

วันเดียวกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย นำโดยนายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เรื่องขอเสนอมาตรการการบรรเทาและเยียวยา ผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

นายอาชิระวัสส์กล่าวว่า เนื่องด้วยคำสั่งของกรุงเทพฯ ในการห้ามจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหารส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งประเทศ ทางสมาคมเข้าใจถึงความปรารถนาดีและกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 แต่ผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญมีดังนี้ 1.ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้าไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สดซึ่งเป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงและมีอายุสินค้าสั้นได้ 2.ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตมาตรา 157 ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ 3.ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์แม้แต่กฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหามีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเช่นไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

4.ปัญหามาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์หรือขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชี่ยลมีเดีย แต่ยังรวมถึงการเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้มีผู้ประกอบการร้านค้าไม่น้อยกว่า 600 ร้าน และผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน

‘อนุทิน’อาสาฉีดวัคซีนคนแรก

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตรวจเชิงรุกและพยายามตรวจให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ สิ่งที่คิดว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมได้ คือยังไม่มีกลุ่มก้อน มาจากต้นตอที่เราค้นหาไม่ได้ ตอนนี้การติดเชื้อของแต่ละกลุ่ม เราสามารถค้นหาได้ว่ามีต้นตอและต้นเหตุมาจากไหน สามารถสอบสวนโรคและค้นหาติดตามผู้ที่สัมผัสได้ครบ จึงถือว่าสถานการณ์ยังอยู่ภายใต้การควบคุมที่ดี ส่วนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามก็มีความพร้อมมาก เรื่องเวชภัณฑ์ เตียงและบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์การรักษายังมีความพร้อมมาก ขอให้มั่นใจ ประชาชนก็ต้องช่วยกันระวังการติดเชื้อ และปฏิบัติตามมาตรการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ

นายอนุทิน กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับคนไทยว่า ยืนยันว่าจะขอเป็นผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรกเหมือนที่เคยยืนยันก่อนหน้านี้ ซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในโลกนี้ มีการพิสูจน์และยืนยันแล้วว่า ต่อให้มีประสิทธิผลเพียง 50-60-70% แต่ทุกวัคซีนไม่ทำให้โรคนี้พัฒนาไปจนอาการหนัก หมายความว่าถ้าป่วยก็ไม่ป่วยหนัก และไม่พัฒนาถึงขึ้นทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าได้รับวัคซีนแล้วโรคจะทุเลาลง ต่อให้มีการติดเชื้อบ้าง และเชื่อว่าในอนาคตเขาก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาไป ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีน น่าจะมีประสิทธิผลมากขึ้น

ระยองป่วยโควิดอีก 6

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องอินทรวิชิต ศูนย์ราชการ จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าฯระยอง พร้อมด้วยนพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง ร่วมแถลงสถานการณ์ โควิด 19 ประจำวันของ จ.ระยอง

นายชาญนะกล่าวว่า วันนี้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดของจ.ระยอง มี 6 คน รวมทั้งหมด 558 คน รักษาหายแล้ว 433 ราย นับว่าลดลงมาเรื่อยๆ พื้นที่อ.เมืองยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยมากที่สุด สำหรับจุดที่น่าเป็นห่วงคือ ที่บ้านมาบเหลาชะโอน ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง ที่เริ่มจากการตรวจพบคนขับรถตู้ แล้วก็เดินทางไปในวงกว้าง หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นงานปีใหม่ในหมู่บ้าน และ พบเพื่อนฝูง จึงเป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับ ที่ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ที่พบผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่ และเดินทางไปในพื้นที่หลายแห่ง ทั้งตลาด ร้านหมอ และ เทศบาล แต่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงเข้ามาตรวจหาเชื้อ

ด้านนพ.สุนทรกล่าวว่า ผู้ป่วยทั้งหมดส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีเพียง 1 รายที่มีอาการปอดอักเสบ โดยเชื่อมโยงกับบ่อนการพนัน และโรงเบียร์ป๋าแดง จ.ชลบุรี ส่วนกรณีพบ ผู้ติดเชื้อที่หมู่บ้านมาบเหลาชะโอน ได้ส่ง เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเชิงรุกถึงในหมู่บ้าน

เร่งสอบโรคทารก5เดือนติดเชื้อ

“สำหรับกรณีเด็กหญิงวัย 5 เดือนที่ติดเชื้อโควิด แต่ไม่สามารถทราบว่าติดเชื้อโควิด19 มาจากใคร เพราะพ่อแม่และผู้ใกล้ชิดตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด ขณะนี้ยังอยู่การสอบสวนโรค แต่เบื้องต้นยังไม่พบว่าติดเชื้อโควิดมาจากที่ใด ส่วนกรณีที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ก็มีการตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสทารกทุกคนก็ไม่พบเชื้อ เบื้องต้นจะตรวจหาเชื้อกับผู้ใกล้ชิดกับทารกทุกคน เพื่อหาต้นตอแพร่เชื้อ”

นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผอ.ร.พ.ระยอง กล่าวถึงกรณีพบเด็กหญิงวัย 5 เดือนติดโควิดเมื่อสัปดาห์ก่อน เบื้องต้นได้เรียกพ่อแม่เด็กมาตรวจหาเชื้อไปแล้ว ปรากฏว่าผลเป็นลบทั้งสองคน ไม่พบเชื้อโควิด19 ขณะนี้อาการของเด็กหญิงวัย 5 เดือนเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่รุนแรง แต่ยังไม่หายจากการติดโควิด ยังอยู่ในความดูของแพทย์อย่างใกล้ชิด จากการสอบสวนโรคยังคงเป็นปริศนาว่าติดมาจากไหน ซึ่งจะขยายผลสอบสวนโรค เพื่อหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อโควิด19 ต่อไป

สำหรับพ่อแม่เด็กก็ยังแปลกใจว่าบุตรสาวไปรับเชื้อมาจากไหน ซึ่งพ่อแม่ไม่พบเชื้อ รวมถึงคนใกล้ชิดด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าเชื้อโควิดมาติดบุตรสาวได้อย่างไร

มหาชัยติดเชื้อเพิ่ม 165

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 165 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก 110 รายซึ่งเป็นต่างด้าวทั้งหมด และในโรงพยาบาล 55 ราย เป็นคนไทย 26 ราย และต่างด้าว 29 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,024 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. พบติดเชื้อเพียง 99 ราย

ผู้ว่าฯสมุทรสาครไข้ขึ้นอีก

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร หลังป่วยติดโควิด-19 ว่า เดิมเราเตรียมเอาท่อช่วยหายใจออกแล้ว แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่คาดหมาย โดยวันที่ 14 ม.ค. ผู้ว่าฯมีไข้ขึ้น ตรวจหาสาเหตุพบว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 แต่ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอายุมากมีโอกาสติดเชื้อลักษณะนี้อยู่แล้ว จึงให้ยาปฏิชีวนะและยังต้องให้เครื่องช่วยหายใจต่อ แต่ยังคงเป็นลักษณะที่ให้คนไข้เป็นผู้กระตุ้นการหายใจ

“ตอนนี้คนไข้รู้สึกตัวจนสามารถสื่อสารกันได้ เพียงแต่ยังพูดไม่ได้เพราะยังคงท่อช่วยหายใจ ท่านได้มีการสื่อสาร ได้ยินเสียงลูกแล้ว ช่วยให้มีกำลังใจ ท่านดีใจมากที่ได้ยินเสียงลูก เวลารักษาปอดติดเชื้อจะใช้หลายอย่าง ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะอย่างเดียว เพราะจะมีเสมหะคั่งในลำคอ จะต้องดูดออก ไม่อย่างนั้นจะไปอุดหลอดลมจะทำให้เชื้อเจริญเติบโต ดังนั้นจึงยังไม่เอาท่อช่วยหายใจออก เพื่อให้สามารถนำสายดูดเอาเข้าไปได้ด้วย นอกจากนี้หลังให้ยาปฏิชีวนะโดยทั่วไปคือประมาณ 48-72 ชั่วโมง จะประเมินอีกครั้ง”

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเสมอ จนกว่าคนไข้จะเดินกลับบ้าน แต่ที่ผ่านมา คนไข้ปอดอักเสบแบบนี้ เราเอาอยู่มากกว่าเอาไม่อยู่ และจากการดูแลที่ผ่านมาปอดท่านผู้ว่าฯไม่ได้ถูกทำลายจากโควิด-19 เท่าไร เพราะดูจากท่านอนหงายก็บอกอะไรเราได้พอสมควร

พัทยาทุ่ม 80 ล.ซื้อวัคซีน

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยถึงเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของเมืองพัทยา ว่า ขณะนี้ส่วนกลาง โดย นายกฯยืนยันให้หลักการที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้ จึงให้เจ้าหน้าที่สำนักการคลังเมืองพัทยาและส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเกี่ยวกับสถานะการเงินการคลังของเมืองพัทยา ประมาณการในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ต่างๆ รวมถึงรายละเอียดของโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการในปี 2564 นี้ เพื่อดูว่าเมืองพัทยาสามารถจะดำเนินการในเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้ประชาชนชาวเมืองพัทยาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่าเมืองพัทยาสามารถดำเนินการได้ตามหลักการและนโยบาย

“ถ้าดูจากทะเบียนบ้านของเมืองพัทยาตอนนี้มีประชากร 120,000 คน หากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จัดหามาในราคาโดสละประมาณ 300 บาท ประชากรหนึ่งคนต้องใช้ 2 โดส รวมวัคซีนทั้งหมด 240,000 โดส จะตกอยู่ที่คนละประมาณ 600 บาท รวมเป็นเงิน 72 ล้านบาท จากสถานะขณะนี้เชื่อว่าเมืองพัทยาน่าจะดำเนินการได้ โดยจะตั้งงบประมาณเรื่องนี้คร่าว ๆ 80 ล้านบาท”

อ่างทองทุ่ม 13 ล้านซื้อวัคซีน

ด้านน.ส.อรวรรณ สุวพันธุ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองอ่างทองเตรียมจัดงบ 13 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองอ่างทองทุกคน หากรัฐบาลไฟเขียว จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 มีอัตราผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น

“มีการจัดเตรียมงบประมาณจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง 12,229 คน ซึ่งจะใช้วัคซีน 24,458 โดส เป็นเงิน 13 ล้านบาท หากรัฐบาลไฟเขียวให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เราพร้อมจะดำเนินการทันที”

‘หมอหนู’ยันฉีดคนไทยทุกคน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรม การอำนวยการการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และ คณะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า เข้าพบเพื่อรับนโยบายในเรื่องวัคซีน พล.อ.ประยุทธ์ กำชับว่าทุกอย่างต้องเร็วและโปร่งใส มีความปลอดภัย เป็นประโยชน์กับประชาชน เน้นความปลอดภัยและจัดหาวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดและวันนี้ดำเนินการไปได้หลายขั้นตอนแล้ว วัคซีนที่อยู่ในมือขณะนี้คือสั่งจากบริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดสที่จะมาถึงไทยในเดือนมิ.ย. และก่อนถึงเดือนมิ.ย.เราพยายามเจรจากับบริษัทซิโนแวค ของประเทศจีนที่กำลังรอผลขึ้นทะเบียนในประเทศ และอยู่ระหว่างเจรจากับอีกหลายเจ้า โดยจะต้องขึ้นทะเบียนในประเทศไทยก่อน ซึ่งเวลานี้มีเพียงบริษัทเดียวคือแอสตราเซเนกา ส่วนบริษัทอื่น ถ้ามาขอจดทะเบียนในประเทศไทย ก็ยินดีพิจารณาและถ้าดูเอกสารทุกอย่างถูกต้อง เราก็อนุมัติอยู่แล้ว

“รัฐบาลไทยจะฉีดให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่มีเหลื่อมล้ำ ส่วนเรื่องท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องของผม สำหรับการวางแผนกระจายวัคซีนต้องให้ผู้มีประสบ การณ์ คณะแพทย์ ผู้มีความรู้ทางวิชาการมาช่วยดู เพื่อจะอธิบายประชาชน และจะได้มั่นใจว่าไม่มีความกดดันทางการเมืองหรืออิทธิพลทางการเมือง รัฐบาลไม่เคยคิดผลักภาระ และที่คุยวันนี้ยังคำนวณฐานตัวเลขที่ 70 ล้านคน ตามจำนวนประชากรของประเทศ ให้ฉีดครบโดสก็พอแล้ว ไม่ต้องฉีดซ้ำซ้อน ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ที่จะฉีดให้ครบทั้งหมด ทางกรมควบคุมโรคจะมีกฎเกณฑ์ของเขาเอง ”

คลอดแล้วแผนฉีดวัคซีน

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ป้องกันโควิด-19 โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุม

โดยวันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงานการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19ในประเทศไทย โดยพิจารณาครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ ด้านนโยบาย และด้านการบริหารจัดการ

นพ.โอภาสกล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ 1.ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือนก.พ. – เม.ย. 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ

ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือนพ.ค. – ธ.ค. 2564 กลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่ม.ค. 2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า เนื่องจากวัคซีน โควิด 19 ยังเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่มีข้อมูลไม่มาก ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน 6 ชุด ได้แก่ คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารประชาสัมพันธ์ คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับใน 4 สัปดาห์ หากการสอบสวนพบว่าการให้วัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง จะหยุดฉีดวัคซีนทันที และคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เมื่อถามว่านายกฯ และครม.จำเป็นต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มแรกหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นพ.โสภณกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่ควรได้ฉีดตามกลุ่มเป้าหมาย แต่จะฉีดหรือไม่อยู่ที่นายกฯตัดสินใจ

กรุงผวา-วินจยย.ติดโควิด

ด้านร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า กทม.พบผู้ติดเชื้อในกทม. ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.63 – 15 ม.ค.64 รวม 553 ราย จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อถึงวันที่ 14 ม.ค.64 (526 ราย) เป็นคนต่างจังหวัดที่แอดมิตร.พ.ในพื้นที่กทม. 130 ราย และเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่กทม. 396 ราย

‘การติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการมีประวัติเชื่อมโยงกับจ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.จันทบุรี สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ การไปสถานบันเทิง และการตรวจเชิงรุกในตลาด ส่วนไทม์ไลน์แถลงไปแล้ว 372 ราย และวันนี้มีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคเสร็จเรียบร้อยแล้วเพิ่มอีก 31 ราย

สำหรับไทม์ไลน์ที่น่าสนใจคือหนุ่มขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยขี่รับส่งผู้โดยสารที่หน้าวัดสิงห์ ก่อนตรวจพบติดเชื้อโควิด-19

โดยวันที่ 2 ธ.ค.63-3ม.ค.64 ขับรถวินมอเตอร์ไซค์ที่หน้าวัดสิงห์ 17.00 น. วันที่ 4 ม.ค. 64 รู้สึกมีไข้ ปวดตามตัว เดินทางไปพบแพทย์ที่ร.พ.

วันที่ 5-7 ม.ค. ช่วงเช้าขับวินมอเตอร์ไซค์ที่หน้าวัดสิงห์ ช่วงเย็นอยู่บ้านพักในเขตบางขุนเทียน

8 ม.ค.ตลอดทั้งวัน ทราบข่าวว่าเพื่อนในวินมอเตอร์ไซค์ติดเชื้อโควิด-19 จึงเดินทางไปร.พ.เพื่อตรวจหาเชื้อ

9 ม.ค. ทราบผลตรวจติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่ร.พ.

แจ้งจับผู้ป่วยโควิดปกปิดข้อมูล

เมื่อเวลา 15.00 น. นพ.คำรณ ครื้นน้ำใจ นพ.สาธารณสุข อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เข้าพบ พ.ต.อ.ธีระศักดิ์ เจริญศรี ผกก.สภ.บางปลาม้า เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ ผู้ป่วยโควิดรายที่ 11 ของ จ.สุพรรณบุรี จากการสอบสวนพบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวให้ข้อมูลกับเจ้าพนักงานสอบสวนโรคไม่ครบถ้วน ปิดบังข้อเท็จจริงบางส่วน ทำให้การสอบสวนโรคล่าช้า

“มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยรายที่ 11 ให้ข้อมูลการเดินทางและการสัมผัสผู้ใกล้ชิดไม่ครบถ้วน มีการปิดบังข้อมูล ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทำงานยากขึ้น ซึ่งมีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค”

‘นกน้อย อุไรพร’ประกาศขายบ้าน

เมื่อเวลา 16.00 น. ที่บ้านพักเลขที่ 555 บ้านหนองใส ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี นางอุไร ฉิมหลวง หรือนกน้อย อุไรพร ศิลปินลูกทุ่งหมอลำ เปิดแถลงว่า ขณะนี้อาการของพ่อหลอดหรือนายมัยกิจ ฉิมหลวง อายุ 68 ปี สามี ล่าสุดดีขึ้น ไม่มีภาวะติดเชื้อ และย้ายมารักษาตัวต่อที่ร.พ.อุดรธานี สำหรับบ้านที่ประกาศขายไปตัวบ้านพร้อมที่ดินมีพื้นที่ 4 ไร่กว่า ยังไม่รวมพื้นที่ทั้งหมดที่มีราว 50 ไร่ บ้านหลังนี้สร้างขึ้นประมาณปี 2538 แล้วเสร็จปี 2550 ใช้เงินสร้างตอนนั้นประมาณ 100 ล้านบาท ใครสนใจก็มาพูดคุยได้ ตอนนี้มีคนสนใจติดต่อเข้ามาเยอะมาก ทั้งนายหน้าและนายทุน แต่ยังไม่สามารถตกลงราคากันได้ ในใจคิดว่าจะขายเฉพาะบ้านพร้อมที่ดิน 4 ไร่ ประมาณ 70 ล้านบาท หากขายบ้านได้จะนำเงินไปรักษาอาการป่วยตัวสามี และจะนำเงินไปใช้หนี้ ทั้งหมด ตอนนี้มีหนี้ประมาณ 30 ล้าน ส่วนที่เหลือจะนำไปสานต่อคณะหมอลำเสียงอิสานต่อไป

“สำหรับวงเสียงอิสาน ขอยืนยันจะคงอยู่ ยังไม่มีการยุบวง จากผลกระทบโควิด-19 ทั้ง 2 รอบ ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบเป็นลูกโซ่ยาว รอบแรกยังทนผ่านมาแล้ว และดีที่มีโครงการพักชำระหนี้ช่วยเหลือ พอมาการระบาดของเชื้อโควิดรอบ 2 งานที่รับไว้ร้อยกว่าคิว ก็ยกเลิกเลื่อนไปเป็นปี 2566 คิดความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท ไม่นับความเสียหายที่โควิดรอบที่ 1 ตอนนี้ได้กำลังใจจากคนวงการเดียวกันจำนวนมาก ทุกคนทุกคณะพร้อมที่จะจัดงานคอนเสิร์ตเพื่อหารายได้ช่วยเหลือในวันที่ 19-20 ม.ค.นี้ โดยจะจัดการแสดงสด ไม่มีการขายบัตรและถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชี่ยลทุกแพลตฟอร์ม ที่บ้านเลขที่ 555 สำหรับใครที่อยากจะช่วยเหลือก็สามารถเข้ามาชมได้ที่เพจ เสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร หากชื่นชอบผลงานสามารถมอบมาลัยน้ำใจ โดยโอนเงินเข้าบัญชีได้ตามหมายเลขที่ขึ้นหน้าจอที่จะรับชม ในวันนั้นเวลา 18.00-01.00 น. ทั้งนี้มีศิลปินตอบรับมาแล้ว อาทิ ฝน ธนสุนทร ระเบียบวาทศิลป์ ประถมบันเทิงศิลป์ วีระพงษ์วงศ์ศิลป์”

ถกโควิด – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประชุมทางไกลผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมให้นโยบายไปศึกษาแนวทางเปิดบ่อนพนันถูกกฎหมาย ที่ทำเนียบ รัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน