ชดใช้กว่าแสน
จากลูกๆผู้ตาย

5 พี่น้องสูงวัย อายุ 57-79 ปีชาวชุมพร เครียดนอนร้องไห้ ถูกฟ้องศาลเรียกคืนเงินกว่า 1 แสน ให้ลูกๆ ชดใช้แทนพ่อที่สิ้นใจไปแล้ว ส่วนคุณยายทวด 99 ปีที่โดนเรียกคืน มีอาการซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก ยอมติดคุก ขอแค่มีข้าวกิน ด้านพท.เตรียมส่งส.ส.ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ หลังถูกเรียกเบี้ยคนชราคืน สวดยับภาครัฐทำร้ายจิตใจเหมือนบีบให้ลาจาก ชี้หน่วยราชการผิดเอง ผอ.สถาบันนิติวัชร์แนะทางออกแก้ระเบียบมหาดไทยปี 2552 ให้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง ย้ำมีสิทธิ์เงินบำนาญพิเศษพร้อมเงินเบี้ยยังชีพชราภาพ ลั่นอบต.ต้องหยุดดำเนินคดี ซ้ำเติมคนยากจนที่ต้องจ่ายเงินก้อนโต

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ความคืบหน้ากรณีกรมบัญชีกลางเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย หลังมีการรับเงินซ้ำซ้อนจากกรณีบุตร สามี ที่รับราชการแล้วเสียชีวิต ที่พรรคเพื่อไทย(พท.) นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคพท. กล่าวถึงปัญหาการเรียกเงินคืนเบี้ย ผู้สูงอายุกับคนชราพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็น เรื่องน่าอนาถใจในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนไปบีบให้คนกลุ่มนี้ต้องจากไปก่อนวันที่ต้องอำลาลาจาก ทั้งที่เป็นเรื่องความผิดพลาดของหน่วยงานราชการทั้งสิ้น เพราะผู้สูงอายุไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้ มีข้าราชการเพียง 2 ประเภทเท่านั้นที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญจากการเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ คือทหาร และตำรวจ เรียกว่าบำนาญตกทอด กรณีนี้คล้ายกับกรณีของพล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้านพักหลวง ถ้าเป็นอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการครูคงไม่สามารถออกระเบียบเพื่อให้อยู่บ้านพักต่อได้ เรื่องนี้กรมบัญชีกลาง และข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องออกมายอมรับ และแก้ไขระเบียบ คนแก่ไม่รู้ให้เซ็นอะไรก็เซ็นแล้วรับไปเรื่อยๆ กรณีนี้ทำร้ายจิตใจกันมาก ข้าราชการกรมบัญชีกลางไม่มีงานทำหรือ ทั้งที่คนเหล่านี้ก็เป็นคนสูญเสีย แต่นายกฯไม่สูญเสียอะไรเลย ยังได้อยู่บ้านพักใช้น้ำใช้ไฟฟรี

“พวกนี้พิเศษเพราะเป็นข้าราชการที่อยู่ในฝ่ายความมั่นคง เมื่อถึงแก่ชีวิตในหน้าที่ราชการ จะมีเงินต่างๆให้และมีบำนาญตกทอด แม้แต่วันนี้ลูกคนไหนที่พ่อแม่ เสียชีวิตในหน้าที่ราชการ สามารถเข้ารับราชการต่อได้โดยไม่ต้องสอบ ขณะที่ข้าราชการอื่นไม่มีระบบแบบนี้ เช่นเดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่บ้านพักของทาง ราชการได้ เพราะไปออกระเบียบว่า บุคคลที่เคยสร้างคุณูปการให้กองทัพ บ้านเมือง สามารถพักอาศัยในบ้านพักได้ วันนี้กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องออกมายอมรับเพราะคนที่บกพร่องคือข้าราชการ นายกฯทำร้ายจิตใจคนแก่มาก ถ้านึกถึงตัวเองว่าไม่มีงานทำ ถ้าคิดว่าประเทศไทยจะเสียค่าโง่เหมืองทองอัครา เยอะแยะ เรื่องนี้หยุมหยิมคนเหล่านี้สูญเสีย ผมจึงวิงวอนผ่านสื่อ” นายครูมานิตย์กล่าว

นายครูมานิตย์กล่าวต่อว่า วันที่ 2 ก.พ. จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมพรรคให้ส.ส.แต่ละพื้นที่ลงไปช่วยดูแล และเรียกร้องให้สภาทนายความช่วยดูแล เพราะผู้สูงอายุไม่มีจริงๆ ขอให้แก้ระเบียบหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้นึกถึงตัวเองว่าอยู่บ้านหลวงก็ฟรี ค่าน้ำก็ฟรี เงินประจำตำแหน่ง เงินต่างๆ อีกจำนวนมาก จึงอยากให้นายกฯมาใส่ใจเรื่องนี้ ขอให้นายกฯ ตั้งสติหาเวลาว่างๆ หาเวลาสงสารผู้สูงอายุบ้าง เพราะคนกลุ่มนี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม กล่าวว่า ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังเคยรับเงินหลายทาง ไม่ว่าจากตำแหน่ง นายกฯ หัวหน้าคสช. และผบ.ทบ. ขณะที่พล.อ.ประวิตรรับเงินจากการเป็นรมว.กลาโหม และรองหัวหน้าคสช. ตนเรียกร้องให้นำเงินที่รับไปหลายทางมาคืน และนำไปช่วยคนชราที่ถูกเรียกเบี้ยยังชีพคืนจะดีกว่า

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านของคุณยายทวดแสง สุขคุ้ม อายุ 99 ปี ที่ได้รับหมายศาลเรียกรับเงินคืน 96,321.73 บาท มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) มาดูแลอาการของยายทวด ซึ่งมีบาดแผลจากลูกสุนัขข่วน เนื่องจากยกขาไม่ขึ้น หลังจากที่ป้ากมลวรรณ อายุ 64 ปี ลูกสาวติดต่อไป เนื่องจากระยะนี้แม่มีอาการคล้ายซึมเศร้า นั่งเหม่อลอย นอนไม่หลับ ตื่นตี 1 ตี 2 ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ตนเองและลูกๆ หลานๆ มีความกังวลใจอย่างยิ่ง ซึ่งคงเป็นเพราะแม่มีความ เครียด เรื่องของเบี้ยคนชรา ที่ทางรัฐเรียกคืน ซึ่งหาทางออกให้ตัวเองและลูกหลานยังไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากคุณยายต้องถูกดำเนินคดีและติดคุกจริงๆ จะทำเช่นไร คุณยายตอบว่า ไม่กลัวอะไรแล้ว อีกไม่กี่วันจะอายุ 100 ปีแล้ว อยู่ไหนก็ได้ ติดคุกก็ขอให้มีข้าวกิน พร้อมหัวเราะชอบใจ

“ใครจะทำอะไรยายก็ทำไปเถอะ ไม่มีปัญญาจะไปไหนแล้ว เงินที่ว่าก็ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหนมาคืนเขา ทุกวันนี้ต้องอาศัยชายคาลูกหลานอยู่เพื่อรอวันตาย ลูกหลานเองก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากิน เพื่อความอยู่รอดกันทั้งนั้น”

ขณะที่นางอาลัย จันทร์ศรี อายุ 78 ปี บุตรสาวนายหลี จันทร์ศรี อายุ 99 ปี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2563 อยู่บ้านเลขที่ 13 ม.5 ต.นากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ตนและน้องได้รับหมายศาลส่งมาถึงบ้าน โดยมีอบต.นากระตาม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเพื่อเรียกเงินจำนวน 113,814 บาทที่จ่ายให้พ่อคืน ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของพ่อที่เสียชีวิตลง ซึ่งเป็นเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ. 2552 ที่อบต.จ่ายให้พ่อไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ลูกทั้ง 5 คนก็ยังอาศัยเบี้ยยังชีพคนชราใช้อยู่ และบางคนพี่ๆ น้องๆ ก็ยังต้องช่วยกันอยู่เช่นกัน ตามประสาที่ช่วยได้

นางอาลัย เปิดเผยต่อว่าทั้งนี้ นายหลีมีลูกทั้งหมด 5 คน ตนเป็นพี่ ส่วนคนโตนางอาลัย จันทร์ศรี อายุ 79 ปี, คนที่ 2 นางบุญลือ เผือกเนียร อายุ 76 ปี ยังมีชีวิตอยู่, คนที่ 3 ด.ต.สมชัย จันทร์ศรี อายุ 69 ปี ยังมีชีวิตอยู่, คนที่ 4 ชื่อ นางศรีนวน พู่วณิชย์ อายุ 65 ปี ยังมีชีวิตอยู่ และคนสุดท้อง นางศิวพร จ้องใหม่ อายุ 57 ปี ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับหมายศาลทุกคนตกใจมาก เพราะเอกสารที่ยื่นฟ้องหนากว่า 400 หน้า ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปคืนอบต. กังวลจนนอนไม่หลับบางคนถึงกับเครียดไม่สบายนอนร้องไห้ก็มี เพราะทุกคนยังลำบากกันอยู่

ด้านนายประทีป แสงจันทร์ นายกอบต.นากระตาม กล่าวว่า อบต.ต้องฟ้องไปตามหน้าที่ เพราะไม่อย่างนั้นอบต.จะถูกฟ้อง ม.157 ในประเด็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เห็นข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังหาทางออกเรื่องนี้อยู่ แต่จะออกทางไหนคงรอให้ทางรัฐบาลหาทางออกให้ เพราะปัญหานี้เกิดกับทุกท้องที่ของอปท.ทั่วประเทศ

วันเดียวกัน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวน การยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับทางออกปัญหาเรียกคืนเงินคนชรา กรณีที่มีข่าวเรื่องการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุจากผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายๆ จังหวัด เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษจากการที่บุคคลในครอบครัวที่รับราชการเสียชีวิตไป หรือจากการที่ตนเองทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งจนถึงขณะนี้มท.คาดว่ามีผู้สูงอายุทั่วประเทศที่จะต้องถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเงินคนชราประมาณ 15,000 คน จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่บรรดาผู้สูงอายุจำนวนมากนั้น ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการถึงข้อสังเกตและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้

1. คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเงินหลวงที่จ่ายไปโดยผู้รับไม่มีสิทธิ หากผู้รับสุจริต มีทั้งที่วินิจฉัยว่า เป็นลาภมิควรได้ ให้คืนเท่าที่เหลืออยู่ และที่วินิจฉัยว่า เป็นการติดตามเอาทรัพย์คืน ต้องคืนทั้งหมด

ประเด็นเรื่องเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายไปโดยผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับไว้โดยชอบนี้ หากในภายหน้ามีคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอีก ก็มีความน่าสนใจว่า ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางใด สำหรับนักกฎหมายแล้ว แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องลาภมิควรได้ และอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืน ซึ่งผลตามกฎหมายมีความแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

2. ให้ผู้สูงอายุที่สุจริตคืนเงิน ภาระ ความเดือดร้อนที่ตามมา สมควรหรือไม่

ผู้สูงอายุที่ยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออก เจ้าหน้าที่ได้สอบถามหรือได้อธิบายให้ผู้สูงอายุทราบเกี่ยวกับระเบียบและข้อห้ามแล้วหรือยัง โดยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกเรียกเงินคืนย้อนหลังไปร่วม 10 ปี จำนวนเงินที่จะต้องคืนย่อมเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สร้างภาระความเดือดร้อนและความทุกข์ใจแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

ส่วนหากจะไปกล่าวโทษว่า เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปจ่ายเงินซ้ำซ้อนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ ต้องไปดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ก็คงเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และคงต้องมีการตรวจสอบย้อนหลังไปเป็น 10 ปี เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องน่าจะมีจำนวนไม่น้อย บางส่วนน่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว และอาจจะทำให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไป

3. การแก้ไขระเบียบมท.ให้มีสิทธิรับเงิน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าหรือไม่

เดิมทีเดียวระเบียบมท.ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของอปท. พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดข้อห้ามว่า ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องไม่เป็นผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรืออปท. ข้อห้ามดังกล่าวมท.มากำหนดในภายหลังไว้ในข้อ 6 (4) ของระเบียบมท.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของอปท. พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิจารณาจากความสูงอายุของผู้มีสิทธิได้รับเงิน การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การจ่ายเงินบํานาญพิเศษพิจารณาจากการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวที่รับราชการ หรือการทุพพลภาพของข้าราชการจากการปฏิบัติหน้าที่ การได้รับเงินบำนาญพิเศษจึงเป็นสิทธิพิเศษเพิ่มเติมที่แยกต่างหากจากสิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินทั้ง 2 ประเภทนี้จึงไม่น่าจะซ้ำซ้อนกัน ผู้สูงอายุน่าจะควรได้รับเงินทั้ง 2 ประเภทนี้ไปพร้อมๆ กันได้

จึงมีข้อน่าพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ด้วยการแก้ไขระเบียบมท.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของอปท. พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ถึงแม้จะได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้ว และให้ระเบียบที่แก้ไขนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงผู้สูงอายุที่สุจริต ซึ่งได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควบคู่ไปกับเงินบำนาญพิเศษก่อนระเบียบใช้บังคับด้วย โดยมท. ผู้ออกระเบียบนี้ย่อมมีอำนาจแก้ไขระเบียบได้

4. ควรงดการเรียกร้องเอาเงินคืนและไม่ควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุ หากภาครัฐมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ควรจะให้อปท.ต่างๆ ทั่วประเทศงดการเรียกร้องให้ผู้สูงอายุจ่ายเงินคืนไปก่อน และภาครัฐควรรีบหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น การแก้ไขระเบียบมท.ดังกล่าว รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่ผู้สูงอายุได้รับที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐคงไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้อปท.ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ควรฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุเพื่อเรียกร้องเอาเงินคืนในระหว่างนี้ เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สูงอายุยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งมีฐานะยากจนและไม่มีความรู้ทางกฎหมาย เพราะการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนอกจากจะนำมาซึ่งความวิตกกังวล ความทุกข์ใจ ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในศาลและภาระในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ จำนวนมากตามมาอีก

ประการที่สำคัญ การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ควรเป็นไปเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ควรเป็นไปเพื่อเติมเชื้อไฟแห่งความไม่เป็นธรรม ด้วยการซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ผู้สูงอายุที่สุจริตซึ่งกำลังทุกข์ยากลำบาก

5. ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้อปท.ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการดำเนินการต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ จะขอให้ กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอความร่วมมือจากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย และพัฒนาสังคมจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งนักกฎหมายไปให้คำปรึกษาหารือกับผู้สูงอายุทุกคน โดยจะดูรายละเอียดด้วยว่า การให้ข้อมูล ทำโดยสุจริตหรือไม่ ได้รับทราบคุณสมบัติข้อนี้มาก่อนหรือไม่ และจะช่วยเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมบัญชีกลางต่อไป ขอให้คลายความกังวล ทุกอย่างมีทางออก ซึ่งทั้งรัฐบาลและกระทรวง พม.จะร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย

เบี้ยชราบาน – 5 พี่น้องชาว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ถูกฟ้องศาลให้ร่วมกันชดใช้เบี้ยคนชราแทนพ่อที่เสียชีวิตแล้วกว่า 1 แสนบาท เพราะได้บำเหน็จพิเศษจากพี่ชายคนโตที่เสียชีวิตในการสู้รบยุทธการเขาช่องช้างหลายสิบปีก่อน เมื่อวันที่ 31 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน