‘ตู่’อู้อี้-ยึดจุดยืนอาเซียน
เชื่อขัง‘ซูจี’ในเนปยีดอว์

ประธานาธิบดีสหรัฐ‘โจ ไบเดน’นำประณามเดือดการรัฐประหารในเมียนมา จี้ฟื้นคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วพร้อมเตือนว่าสหรัฐอาจหวนใช้มาตรการ แซงก์ชั่นอีกรอบ ส่วนสถานการณ์ในประเทศคาดกองทัพควบคุมได้เบ็ดเสร็จแล้ว สัญญาณมือถือ-เน็ตเริ่มกลับมาใช้อีกครั้ง ด้านพรรคเอ็นแอลดีเชื่อซู จี กับอดีตประธานาธิบดี วิน มินต์ถูกกักขังอยู่ในเมืองหลวง บิ๊กตู่อู้อี้ อ้างไทยมีจุดยืนเดียวกับอาเซียน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของประเทศ ไทยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า อาเซียน จุดยืนอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงจุดยืนของรัฐบาลไทย ต่อการรัฐประหารในเมียนมา และเหตุการณ์ความวุ่นวายหน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบทั้งการเสียประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและประชาชนที่เป็นเพื่อนบ้านด้วยกัน ขณะเดียวกันขอให้เป็นเรื่องของอาเซียนด้วย จึงไม่อยากให้เกิดการขยายความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศของเรา และย้ำว่าต้องยึดตามหลักการอาเซียน

เมื่อถามว่าจากเหตุการณ์ในประเทศ เมียนมา การลงทุนต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ จะปรับแผนการดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการชี้แจงไปแล้วที่มีปัญหาอยู่บ้างในขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีรมว.คลัง เพื่อเจรจาพูดคุยและแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนักลงทุนของเราด้วย

“เรื่องนี้ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน อย่าสร้างความขัดแย้งโดยเฉพาะสื่อก็ต้องช่วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่ามีความสนิทกับพลเอกอาวุโส มิน ออง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ได้พูดคุยบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้คุย เมื่อถามย้ำว่าจะมีการออกแถลงการณ์จุดยืนของประเทศไทยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นไปตามหลักการของอาเซียน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลคนไทยในเมียนมาว่า คนไทยในเมียนมาปลอดภัยดีอยู่แล้ว ส่วนจุดยืนของไทยและอาเซียนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทางประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อถามว่าใครจะยึดตามหลักการของอาเซียนหรือไม่ นายดอน ไม่ตอบ ก่อนเดินขึ้นห้องประชุมครม.ทันที

ด้านพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงกรณีสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ว่า เรามีความพร้อมการดูแลสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงของไทย มีความพร้อมในการดูแลตามด่านเข้าออกต่างๆ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ และแทบทุกด่าน ยังสามารถค้าขายและเดินทางข้ามไปมาได้

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เปิดเผยว่า ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบและสนธิสัญญารักษาความปลอดภัยสถานทูต กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาวพม่าและคนไทยไปทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตฝ่าฝืนพ.ร.บ.โรคติดต่อและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งปิดเส้นทางจราจร ตำรวจประกาศให้ยุติแต่ก็ไม่ยอมจึงจำเป็นต้องผลักดันให้ออกจากสถานทูตและเปิดเส้นทางจราจร

“ผู้ชุมนุมได้ขว้างวัตถุทำให้เกิดเสียงดังและมีกลุ่มควัน ตำรวจบาดเจ็บเล็กน้อย 13 นาย แก้วหูฉีกขาด 2 นาย ตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่ร.พ.ตำรวจ เบื้องต้นจับกุมผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน 2 คน และประจำบนรถเครื่องขยายเสียง 1 คน ยุยงให้ผู้ชุมนุมกระทำความผิด ส่วนผู้อื่นกำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเพื่อดำเนินคดีต่อไป” ผบช.น.กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. กล่าวถึงเหตุชุลมุนปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน ระหว่างการกระชับพื้นที่ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ถนนสาทร ว่า หลังการชุมนุมครั้งนี้ ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย คือ นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 19 ปี กับนายเกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู อายุ 20 ปี ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ควบคุมโรค และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และจับกุมนายวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ อายุ 21 ปี ในความผิดที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียง โดยผู้ต้องหา 2 คนแรก ตำรวจมีหลักฐานพบว่ามีพฤติกรรมการใช้อาวุธ การขว้างปาสิ่งของทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้มีตำรวจบาดเจ็บ 12 นาย และสาหัสอีก 2 นาย หลังจากนี้จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดผู้อื่นเพิ่มเติมอีกหลายราย ซึ่งผู้ที่ขึ้นปราศรัยชักชวนให้คนมาร่วมชุมนุม ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 วรรค 3 เช่นกัน

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซ.เจริญกรุง 63 พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา นำตัวนายปัณณพัทธ์ และนายเกียรติศักดิ์ มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วันตั้งแต่วันที่ 2-13 ก.พ. เนื่องจากยังต้องสอบพยานอีก 5 ปากและรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินการ นายวิชพรรษ ไปที่ศาลแขวงกรุงเทพใต้ โดยกล่าวหาว่ามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนระบุว่า หากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา พนักงาน สอบสวนขอค้านการประกัน เนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากให้ประกันตัวเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถาม ผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้

ต่อมาเวลา 15.20 น. ทนายได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้พิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างรอดำเนินคดี โดยตีราคาประกัน คนละ 50,000 บาท

วันเดียวกัน นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประณามการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้มีการฟื้นคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและเตือนว่าสหรัฐอาจหวนใช้มาตรการแซงก์ชั่นเมียนมาอีกรอบ

นายไบเดนกล่าวว่า ไม่ควรใช้กำลังปกครองอยู่เหนือเจตจำนงประชาชน หรือพยายามที่จะลบผลลัพธ์ของการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ สหรัฐเลิกแซงก์ชั่นเมียนมามากว่า 10 ปี เนื่องจากเมียนมามีความก้าวหน้าในกระบวนการนำประเทศสู่ประชาธิปไตย

นายไบเดนกล่าวด้วยว่า ต้องทบทวนใหม่อีกครั้งอย่างเร่งด่วน สหรัฐอเมริกาจะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่ประชาธิปไตยถูกโจมตี

ทั้งนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหารเมียนมา เป็นบุคคลที่นานาชาติคว่ำบาตร ถูกเฟซบุ๊กแบน และถูกสหรัฐแซงก์ชั่นจากปฏิบัติการทางทหารปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่สหรัฐระบุว่าเป็นการการฆ่าล้างชาติพันธุ์

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าคำเตือนของสหรัฐส่งผลกระทบต่อเมียนมามากน้อยแค่ไหน คณะผู้นำรัฐประหารน่าจะเตรียมแผนรับผลที่ตามมาอยู่แล้ว รวมถึงการแซงก์ชั่น

นายตู ซอ ลัตต์ หัวหน้าสำนักข่าวเดโมแคร ติก วอยซ์ ออฟ เบอร์มา ให้ความเห็นว่าทหารจะต้องรู้อยู่แล้วว่าไม่อาจเลี่ยงการถูกแซงก์ชั่นได้ และว่ากองทัพไม่สนใจการแซงก์ชั่นของชาติตะวันตก แต่กังวลมากกว่าว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้จะมีท่าทีต่อการรัฐประหารอย่างไร

บ้านซูจี – ทหารเมียนมานำกำลังตรึงบริเวณบ้านนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานพรรคเอ็นแอลดี ที่ชนะเลือกตั้ง ในนครย่างกุ้ง ภายหลังกองทัพทำรัฐประหาร ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกให้ปล่อยตัวนางซู จี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.

สำหรับบรรยากาศทั่วไปในเมียนมา สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ดูเหมือนทหารเข้าควบคุมประเทศไว้ได้อย่างมั่นคงแล้ว ท้องถนนในนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้ามีการรักษาความปลอดภัยไม่มาก ชี้ว่าทหารมาถึงจุดสบายใจได้ เนื่องจากไม่มีการประท้วงใหญ่ การสื่อสารเริ่มกลับมาใช้ได้อีกครั้ง หลังสัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตถูกตัดในวันเกิดเหตุ จากการสัมภาษณ์คนทั่วไปแม้อยากออกไปประท้วงแต่ก็ทำไม่ได้ เช่น คนขับแท็กซี่รายหนึ่งกล่าวว่า อยากออกไปแสดงความไม่พอใจ แต่นางออง ซาน ซู จีอยู่ในมือของพวกทหาร จึงทำอะไรมากไม่ได้ ที่ทำได้คืออยู่อย่างเงียบๆ

ด้านพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชา ธิปไตยหรือเอ็นแอลดี เรียกร้องให้ปล่อยตัว นางออง ซาน ซู จี ยังไม่มีข่าวทางการว่านางซู จีถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนนับตั้งแต่เหตุรัฐประหาร สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีเชื่อว่า นางซู จีถูกกักตัวที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวง สมาชิกรัฐสภาของพรรคเอ็นแอลดีของซู จีรายหนึ่งกล่าวว่า ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติในที่พักสำหรับสมาชิกรัฐสภา แต่เหมือนเป็นศูนย์กักกันที่เปิดโล่ง เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก

“นางซู จี และนายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมาถูกกักตัวที่บ้านพัก เรากังวลอย่างมาก เราได้รับแจ้งว่าอย่ากังวล แต่จะไม่กังวลได้อย่างไรกัน ความกังวลจะคลายลงก็ต่อเมื่อได้เห็นรูปถ่ายว่าทั้งสองท่านอยู่ที่บ้านพักจริง พรรคเอ็นแอลดีเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จีและผู้ถูกคุมขังทั้งหมดรวมถึงประธานาธิบดีวิน มินต์ ทั้งต้องการให้ทหารรับรองผลการเลือกตั้ง และว่ารัฐประหารเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ประเทศและกองทัพ” สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีกล่าว

ม็อบพม่า – ชาวเมียนมาในไทยชุมนุมยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ พร้อมกับเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ที่องค์การสหประชาชาติสำนักงานประเทศไทย ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน