หลังอานนท์จม.แฉราชทัณฑ์
ตื๊อพาไปตรวจโควิดกลางดึก
ศาลเปิดไต่สวนวันนี้-คำร้อง
แกนนำราษฎรอยู่ในอันตราย

แม่เพนกวินร่วมยื่นร้องขอประกันตัวลูกอีก ขณะที่ทนายก็ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำราษฎรทั้ง 8 คน แต่ศาลยกคำร้อง ด้านกรมคุกแจงวุ่น หลังทนายอานนท์ยื่นจดหมายร้องขอให้ศาลช่วยชีวิต ขอความ คุ้มครองกรณีไมค์-ไผ่ถูกเจ้าหน้าที่พยายามจะนำตัวออกไปกลางดึก อ้างพาไปตรวจหาเชื้อโควิด ราชทัณฑ์ร่อนแถลงการณ์ยันผู้ต้องขังทุกคนต้องตรวจหลังย้ายจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ตามมาตรการ ย้ำไม่สามารถทำร้ายร่างกายได้ ขณะที่รองอธิบดีชี้ไม่เหมือนเคสของหมอหยองแน่นอน เพราะไม่ได้อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตอนเกิดเหตุ ทนายยื่นขอประกันตัว 7 ผู้ต้องหาอีกรอบ หวั่นไม่ปลอดภัย

อานนท์แฉไมค์-ไผ่ถูกคุกคาม

วันที่ 16 มี.ค. นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำ ความผิดตามป.อาญา ม.112, ม.116 และข้อหาอื่นๆ ร่วมกับพวกอีก 17 คน เขียนจดหมายจากเรือนจำ หลังมีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ความว่า “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64

เนื้อหาของจดหมาย ระบุว่า “เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. เวลา 21.30 น. มีเจ้าหน้าที่เรือนจำ พยายามนำตัว ไผ่ และ ไมค์ ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอมเพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กลับออกไปจากห้องขัง แล้วกลับมามากกว่าเดิม พร้อมกระบองเวลา 23.45 น. 00.15 น. และ 02.30 น. โดย 2 ครั้งหลัง เจ้าหน้าที่มาพร้อม เจ้าหน้าที่อีกชุดที่สวมใส่ชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ติดป้ายชื่อ และแจ้งว่าจะพาทั้งหมดไปตรวจ โควิด พวกเราไม่ยอมเพราะผิดวิสัยที่จะนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาเที่ยงคืน

ภายใต้ข่าวลือที่ว่า จะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเราในเรือนจำ และเกรงจะเสียชีวิตในเรือนจำเหมือนคนอื่นๆ ผมไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะเกรงอันตรายได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย

จดหมายของทนายอานนท์

ทนายยื่นไต่สวน-ขอประกัน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนาย ความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอานนท์ เขียนจดหมายเล่าเหตุการณ์เกรงจะถูกทำร้ายในเรือนจำ ว่า นายอานนท์เขียนจดหมายที่ศาลอาญาวันนี้ตอนเช้า เนื่องจากมาว่าความและเป็นจำเลยคดีคนอยากเลือกตั้ง ศาลเบิกตัวมา นายอานนท์ก็เล่าข้อเท็จจริงเมื่อคืนว่า เวลาประมาณ 21.30 น. มี เจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ซึ่งเพิ่งได้รับการย้ายจากเรือนจำธนบุรีมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ 2 คนไม่ยอม เพราะเป็นเวลาวิกาล เจ้าหน้าที่ออกไปแล้วกลับมามีกระบองติดตัวมาด้วย เวลาประมาณ 23.45 น., 0.15 น. และ 2.30 น. โดยมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชุดสีน้ำเงิน ไม่ติดป้ายชื่อ มีการพาผู้ต้องขังรายอื่นออกไปหมด เหลือแต่กลุ่มราษฎร แจ้งว่าจะพาไปตรวจโควิดตอนตีสองครึ่ง ทั้งหมดไม่ยอม ยืนยันไม่ไป เจ้าหน้าที่พยายามบังคับก็ไม่ไป ในที่สุดเจ้าหน้าที่จึงยอมล่าถอยออกไป เนื่องจากในห้องมีกล้องวงจรปิด

นายกฤษฎางค์กล่าวต่อไปว่า นายอานนท์จะยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยเอาเหตุผลนี้มาประกอบ เเละขอให้ศาลไต่สวนในคำร้องขอประกันเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต เราอยู่ในความคุ้มครองตามอำนาจของศาล จึงต้องแจ้งให้ศาลทราบ นายอานนท์ก็ยื่นคำร้องแจ้งให้ศาลทราบกรณีนี้ตามจดหมาย ซึ่งทุกคนไม่ได้นอนทั้งคืน ขอให้ศาลช่วยชีวิตด้วย ตนปรึกษากับญาติพ่อแม่พี่น้องของนายอานนท์ ได้ยื่นขอศาลปล่อยชั่วคราวแล้ว และขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องของนายอานนท์ตอนบ่ายนี้ อีกทั้งทางพ่อแม่จะไปยื่นจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ดูแลกรมราชทัณฑ์, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ต่อไป

ผบ.เรือนจำยันตรวจตามปกติ

ด้านนายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับตัวนายจตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีช่วงกลางคืน ตามขั้นตอนระเบียบของเรือนจำจะต้องกักตัวในห้องกักโรคแดน 2 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เป็นเวลา 14 วัน แต่ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงซึ่งเรือนจำพิเศษธนบุรี อยู่ย่านมหาชัย บางบอน เป็นเขตพื้นที่เสี่ยงสูง ตามมาตรการจะต้องตรวจหาเชื้อและนำตัวไปกักโรคที่บริเวณชั้น 2 ของสถานพยาบาลเรือนจำ ในแดน 2 เช่นกัน ซึ่งต้องเดินออกจากห้องกักโรค ขึ้นไปยังชั้น 2 ของสถานพยาบาล เป็นขั้นตอนปกติ

นายกฤชกล่าวว่าทางเรือนจำพยายามจะแยกผู้ต้องขังกลุ่มนี้เพื่อตรวจคัดกรอง ตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ แต่มีการปฏิเสธไม่ยอมแยกไปห้องกักโรคเสี่ยงสูงบริเวณชั้น 2 สุดท้ายเรือนจำก็ยอม ไม่ย้ายก็ไม่ย้ายเพราะไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นปัญหา แต่เป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ร่วมห้อง เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือลึกลับ เจ้าหน้าที่ที่เห็นก็เป็นผู้คุมเรือนจำ

หน้าห้องตรวจสอบวงจรปิดบันทึก

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม กล่าวถึงนายอานนท์เขียนจดหมายระบุถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวนายภาณุพงศ์และนายจตุภัทร์ไปควบคุมนอกแดนในยามวิกาล จึงเกรงไม่ปลอดภัยต่อชีวิตว่า นายสมศักดิ์สั่งการให้ตนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และให้กรมราชทัณฑ์ทำรายงานรายละเอียดเรื่องราวที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทราบว่าจดหมายดังกล่าวนายอานนท์เขียนขึ้นที่ศาลระหว่างทำหน้าที่ทนายว่าความในคดีอื่น และส่งให้เพื่อนนำไปโพสต์ในเพจส่วนตัว เนื่องจากไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์

อ้างตรวจสอบวิดีโอแล้ว-ปกติ

ที่กระทรวงยุติธรรม ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตแถลงชี้แจงกรณีนายอานนท์ขอความช่วยเหลือเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต หลังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวออกนอกเเดนในยามวิกาลว่า กรมราชทัณฑ์มีคลิปวิดีโอบันทึกภาพไว้อยู่แล้ว ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตัวกับผู้ต้องขังอย่างไร ซึ่งจากที่ดูคลิป มีการปฏิบัติตัวปกติ ในภาพมีการพูดคุยว่าทำไมไม่ตรวจตอนเช้า มาตรวจอะไรตอนดึก ซึ่งผู้ต้องขังเข้ามาดึกแล้ว ต้องตรวจตามขั้นตอน เพราะในฝั่งธนบุรี เขตบางแค มีการระบาดหนัก เป็นความปรารถนาดีของ เจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจสุขภาพให้ แต่หากไม่อยากตรวจก็เป็นไปตามสิทธิ เราก็แยกห้องให้ นี่คือสภาพความเป็นจริง

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวว่าส่วนการทำร้ายร่างกาย ตนยืนยันว่าไม่มีแน่นอน แต่ตามสิทธิของผู้ต้องขัง หากมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย สามารถแจ้งดำเนินคดีได้ ซึ่งหากยังมีความไม่สบายใจ ตนอาจจะเข้าไปดูเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ถ้าคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนมายังกระทรวงยุติธรรมได้ เราจะดำเนินคดีให้ ตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ การทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญาเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว

จี้กรมคุก – นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ก้าวไกล พร้อมคณะ เดินทางไปสอบถามกรมราชทัณฑ์ หลังทนายอานนท์เขียนจดหมายระบุจนท.เรือนจำพยายามนำไผ่ ดาวดิน-ไมค์ ระยอง ออกจากห้องขังในยามวิกาล เมื่อวันที่ 16 มี.ค.

ส.ส.ก้าวไกลขอพบอธิบดีราชทัณฑ์

เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.ก้าวไกลจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและบุคคลเข้าออกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากนายอานนท์ได้โพสต์จดหมายลง เฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีที่ตัวไมค์-ไผ่ ถูกกลุ่มชายพยายามนำตัวออกไปนอกแดนในยามวิกาล ถึง 4 ครั้งว่า ตน และส.ส.พรรคก้าวไกล มีความไม่สบายใจอย่างยิ่ง จึงได้มายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดของสถานที่คุมขังในเรือนจำ เพื่อดูว่าเมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. มีความผิดปกติ และมีบุคคลภายนอกเข้าไปในเรือนจำหรือไม่ เนื่องจากจดหมายของนายอานนท์ ระบุว่าจะนำตัวแกนนำออกมาตรวจโควิดตลอดทั้งคืน

นาอมรัตน์กล่าวว่าส่วนตัวมองเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ อีกทั้งแกนนำทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ดังนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วเพื่อที่จะยื่นหนังสือให้กับตัวอธิบดีเอง

รองอธิบดีชี้คนละเคสหมอหยอง

ต่อมา นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมารับหนังสือจากนางอมรัตน์ พร้อมเผยถึงเหตุผลของการนำตัวแกนนำคณะราษฎร ทั้ง 9 คน ออกมาจากเรือนจำ ว่า เพื่อนำตัวไปตรวจโควิด เราเคยตรวจมาแล้ว เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนปกติ ซึ่งในที่คุมขังไม่ได้มีแต่แกนนำเท่านั้น แต่ยังมีบุคคลอื่นอยู่ด้วย และเราไม่พาออกไปด้านนอกแต่เราได้เชิญแพทย์ นักเทคนิค รวมถึงโรงพยาบาลมาตรวจ เมื่อตรวจครบทุกคน ทีมแพทย์ทั้งหมดได้เดินทางกลับประมาณเวลาเที่ยงคืน คนอื่นที่ตรวจเสร็จแล้วสามารถที่จะออกจากห้องได้ แต่ทางแกนนำเราไม่อนุญาตให้ออกมาจากห้อง ซึ่งเราเป็นห่วงคนที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ และแกนนำมีภาวะไม่ไว้วางใจและเราได้ขอร้องให้กลุ่มแกนนำให้ย้ายไปอีกห้อง

นพ.วีระกิตติ์ยังย้ำอีกว่า ตนอยากจะชี้แจงถึงความชอบธรรมของบุคคลอื่นที่อยู่ในเรือนจำด้วย ซึ่งมีจำนวน 3,000-4,000 คน หากแกนนำไม่ต้องการจะตรวจเราก็ไม่ได้ว่าอะไร เราไม่ต้องเกิดให้เกิดภาวะอึดอัด เราจึงต้องนำตัวบุคคลที่ตรวจแล้วเอามาจากห้อง ส่วนเรื่องป้ายชื่อและเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทุกคนเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายร่างกาย เรามีภาพและหลักฐานชัดเจน ซึ่งเป็นคนละเคสกับหมอหยอง หรือนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอนเกิดเหตุ

มวลชนร่วมผูกโบ-จี้ปล่อยตัว

จากนั้นนางอมรัตน์ได้เข้าไปเจรจากับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้านใน ใช้เวลาไม่นานจึงได้ออกมากล่าวเพิ่มเติม ว่า ขณะนี้ได้รับคำชี้แจงว่าเหตุการณ์เมื่อคืนมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปพบกับไผ่ และ ไมค์ จริง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนปกติของเจ้าหน้าที่ที่จะนำตัวทั้งคู่ไปตรวจโควิด-19 ซึ่งการเข้าไปคุมตัวนั้นเจ้าหน้าที่ได้พกกระบองติดตัวไปตามปกติอยู่แล้ว ส่วนการแต่งกายของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปไม่ติดป้ายชื่อนั้น ได้รับคำชี้แจงว่าการติดป้ายชื่อจะเป็นไปตามวาระและโอกาส ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ขอให้รมว.ยุติธรรมแถลง ส่วนจะมีการแถลงการณ์ออกมาอย่างไรนั้นขอให้ผู้ชุมนุมฟังและพินิจพิเคราะห์ดูเหตุผลอย่างละเอียดอย่าให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างมวลชนกับข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนบรรยากาศที่บริเวณด้านหน้ากรมราชทัณฑ์ ได้มีมวลชนมาร่วมกันผูกโบสีดำ และตะโกนให้ปล่อยเพื่อนเราอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

ราชทัณฑ์แถลง-ลำดับเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารชี้แจง กรณี เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอานนท์ ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือนั้น กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ถึงเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 หลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับย้ายตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำราษฎร และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำกลุ่ม Wevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจร่างกาย ก่อนนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 ราย ในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 รายคือ นายภาณุพงศ์ นายจตุภัทร์ นายปิยรัฐ นายพริษฐ์ นายอานนท์พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขัง ดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวง สาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ยืนยันยึดระเบียบ-ไม่มีการทำร้าย

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนดังกล่าว คือนายอานนท์ พร้อมพวก ได้ปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออก จากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาลโดยอ้างถึงความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องแยกกลุ่มผู้ต้องขังอีกกลุ่มที่ให้ความยินยอมในการตรวจหาเชื้อจำนวน 9 ราย ไปคุมขังที่ห้องกักกันโรคห้องอื่นแทน โดยการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 และแยกกักตัวผู้ต้องขัง เข้าใหม่ และรับย้ายทุกรายออกจากผู้ต้องขังอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ อีกทั้งการทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว

สั่งไต่สวนคำร้อง‘อานนท์’

ความคืบหน้ากรณีนายอานนท์ หนึ่งในจำเลยคดีม็อบคณะราษฎร 2563 ได้ยื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือตนเอง เสนอต่อศาลเกี่ยวกับการควบคุมตัวกลุ่มจำเลยในเรือนจำ โดยกลุ่มจำเลยอ้างเหตุที่กลัวว่าจะได้รับอันตรายนั้น

ศาลอาญาได้กำหนดวันนัดไต่สวนตามเอกสารหนังสือคำร้องดังกล่าวในวันพุธที่ 17 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยศาลให้หมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาร่วมในนัดพิจารณาดังกล่าว และให้เบิกตัวนายอานนท์ จำเลยจากเรือนจำมาศาลด้วย

แม่เพนกวินยื่นประกันลูกอีก

เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ซึ่งเดินทางมายื่นประกันตัวบุตรชายอีกครั้ง หลังกรณีมีการเผยแพร่จดหมายของนายอานนท์เนื้อหาเกรงจะถูกทำร้ายในเรือนจำ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเห็นจดหมายแล้วก็ตกใจ พยายามติดต่อทนายและคนที่รู้จักว่าเกิดอะไรขึ้น มีความเป็นห่วงว่าจะทำอะไรในยามวิกาล เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แม่ทุกคนก็นอนไม่หลับ ขอยื่นประกันตัวเนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย ขอให้ศาลพิจารณาประกันตัวให้ทุกคนได้ออกมาสู้คดีข้างนอก

นางสุรีย์รัตน์ระบุด้วยว่า ยิ่งเพนกวินประกาศจะอดอาหารด้วย แล้วยิ่งไม่ได้นอนด้วย สุขภาพก็จะยิ่งแย่ ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ดี อดอาหารธรรมดาก็เป็นห่วงอยู่แล้ว ยิ่งได้ยินทุกคนไม่ได้นอน ผลัดกันเฝ้าดูแลซึ่งกันและกัน ยิ่งกังวล ปกติถ้าเราไม่ได้นอนจะมีสภาพแบบไหน ยิ่งอดอาหารและไม่ได้นอนยิ่งอ่อนเพลีย มีปัญหากับสุขภาพ เจ็บป่วยอีก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะได้รับการประกันตัวมาข้างนอก เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้เกิดข้อครหาอะไรต่างๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดี

ส่วนการที่ราชทัณฑ์ระบุเป็นการตรวจเชื้อโควิดนั้น นางสุรีย์รัตน์กล่าวว่า น่าจะตรวจในเวลาปกติเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา การทำในยามวิกาลทำให้หลายคนตระหนกตกใจ เป็นผลเสียกับผู้ตรวจมากกว่า คนข้างนอกก็สงสัยว่าโปร่งใสหรือไม่

ยกคำร้องขอประกัน 8 แกนนำ

เมื่อเวลา 18.50 น. ศาลมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ที่นายพริษฐ์ จำเลยที่ 1,3-7 ในคดี อ.287/2564 คดีชุมนุมปักหมุดสนามหลวง โดยพิเคราะห์เเล้วมีคำสั่งในทำนองเดียวกัน สรุปว่าให้ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยดังกล่าว

สำหรับในส่วนของนายพริษฐ์ ศาลเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้วกรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 จะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับคดีที่ถูกฟ้อง หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ส่วนที่นายพริษฐ์ ได้ยื่นประกันตัว อ.286/2564 อีกสำนวน ศาลเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้วกรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 จะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับคดีที่ถูกฟ้องหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ส่วนที่กล่าวอ้างว่าจำเลยอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ไม่ใช่เหตุผลที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อีกทั้งศาลได้นัดไต่สวน เรื่องดังกล่าวไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำ อ.287/2564 เเล้ว จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนเเปลงคำสั่งเดิม

ไม่ให้ประกัน‘อานนท์-แอมมี่’

ส่วนคำร้องของนายอานนท์ จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้วกรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 จะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่สองอาจได้รับอันตราย ถึงชีวิตหากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มิใช่เหตุผลที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อีกทั้งศาลได้นัดไต่สวนเรื่องดังกล่าวในคดีนี้แล้ว จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ส่วนคำร้องที่มารดาของนายไชยอมรหรือเเอมมี่ แก้ววิบูลย์พันธุ์ จำเลยที่ 17 ในคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ด้วยนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 17 ถูกจับกุมได้ในคดีอื่นขณะหลบหนีกรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 17 จะหลบหนีหรือจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้ยกคำร้อง

ส่วนที่มารดาของนายไชยอมรยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกสำนวนหนึ่ง ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ อีกสำนวนหนึ่ง ศาลอาญาก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้วกรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลง คำสั่งเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน