สกลนครเอาผิดผู้จัดงาน
5วันตาย192-เจ็บ1.8พัน
ถนนแน่นกลับคืนกรุง

เทศกาลสงกรานต์ 5 วัน ผู้เสียชีวิตเฉียด 200 เจ็บเกือบ 2 พัน โดนดำเนินคดี 7 หมื่นกว่าราย เหตุเมา-ซิ่ง รถจยย.แชมป์อุบัติเหตุสูงสุด ศปถ.กำชับจังหวัดปรับแผนตั้งจุดตรวจ หลังชาวอีสานทะลักกลับกรุง บางช่วงจอดติดยาวกว่า 2 ก.ม. ต้องเปิดช่องทางพิเศษบางช่วงเพื่อเร่งระบายรถ ชี้ถนนสายรองและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอเกิดอุบัติเหตุสูงสุด สกลนครเอาผิดจัดงานสงกรานต์ฝ่าฝืนคำสั่ง

ศปถ. สรุปอุบัติเหตุ 5 วัน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นาย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 (ศปถ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 330 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 37 ราย ผู้บาดเจ็บ 328 คน

นครศรีฯแชมป์อุบัติเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.55 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ (จยย. )ร้อยละ 85.84 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 60.61 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.18 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.27 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 26.67 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.81 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,315 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 341,495 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 71,889 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,998 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 17,599 ราย

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบ คีรีขันธ์ (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 13 คน)

นายอรรษิษฐ์กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (10 – 14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,795 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 192 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,818 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 15 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (76 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ปทุมธานี (จังหวัดละ 8 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรี ธรรมราช (82 คน)

เตือนถนนลื่นเสี่ยงอุบัติเหตุ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันที่ 13 – 14 เม.ย. พบว่าถนนสายรองและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า รถจยย.เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จึงได้ประสานพื้นที่ให้ดูแลปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ

ประกอบกับในวันนี้ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับแล้ว จึงได้ประสานให้จังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ และการอำนวยความสะดวกในการจราจรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย ทั้งบนเส้นทางสายหลัก สายรอง พร้อมจัดเตรียมจุดบริการ จุดพักรถ และการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ระยะนี้หลายพื้นที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งสภาพถนนที่เปียกลื่น และทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ ที่สำคัญอย่าลืมดูแลตนเองภายใต้มาตรการสาธารณสุข เพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

กลับกรุง – ประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ หลังหมดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์แน่นแยกถนนหัก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ส่วนรูปเล็ก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ตรวจการจราจรในจ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 15 เม.ย.

มิตรภาพแน่นแห่กลับกทม.

เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวประจำจ.นครราช สีมา รายงานสภาพการจราจรบนถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านพื้นที่จ.นครราชสีมา ขณะนี้ตามแยกสัญญาณไฟจราจรในเขตชุมชนบนถนนมิตรภาพ เริ่มมีปริมาณรถยนต์เพิ่มมากขึ้นและชะลอตัวเป็นบางช่วง โดยเฉพาะบริเวณแยกตลาดแค แยกอ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เนื่องจากประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

ขณะเดียวกันโดยภาพรวมบนถนนมิตรภาพ ขณะนี้การจราจรหนาแน่น รถเคลื่อนตัวได้ช้าอยู่อีกหลายจุด เช่น บริเวณแยก อ.สีดา แยก อ.คง โค้ง ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ และบริเวณ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง ซึ่งคาดว่าช่วงเย็นนี้จะมีรถสะสมหนาแน่นเพิ่มอีกหลายจุดในเขตพื้นที่

สาเหตุที่ทำให้ปริมาณรถเคลื่อนตัวได้ช้าและชะลอตัว เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยขับรถวิ่งแซงซ้าย ทำให้รถวิ่งเป็นสามเลน เมื่อรถวิ่งมาถึงในจุดทางเข้าออกปั๊มน้ำมัน และถึงจุดทางแยก จึงทำให้รถเกิดชะลอตัว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง จึงฝากขอความร่วมมือประชาชนทุกคนที่ใช้รถใช้ถนน ขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่

เปิดช่องทางพิเศษเร่งระบาย

บรรยากาศการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน อาทิ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ เพื่อกลับไปทำงานยังกทม.และปริมณฑล หลังจากกลับมาเที่ยวฉลองสงกรานต์ และเยี่ยมครอบครัว มีประชาชนเดินทางกลับคับคั่ง ส่งผลให้ถนนทางหลวงหมายเลข 24 โชคชัย-เดชอุดม ช่วงบริเวณ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นถนนสายหลักมุ่งหน้าสู่งกรุงเทพมหานคร และเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 348 ภาคตะวันออก มีปริมาณรถสัญจรหนาแน่นตลอดทั้งวันเคลื่อนตัวได้ช้า โดยเฉพาะบางช่วงที่เป็นทางแยก จะมีรถจอดติดยาวเหยียดกว่า 2 กิโลเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นางรอง ตำรวจทางหลวง และหน่วยกู้ภัยต้องทำงานอย่างหนักเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถที่สัญจร ทั้งได้มีการเปิดช่องทางพิเศษบริเวณสามแยกถนนหัก เพื่อเร่งระบายไม่ให้จอดติดสะสมด้วย

จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และรถเช่าเหมาคัน เพื่อบรรทุกสิ่งของสัมภาระ ข้าวสาร อาหารแห้ง กลับไปด้วย เป็นการลดภารค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด คาดว่าค่ำวันนี้จะมีรถสัญจรเดินทางกลับกรุงเทพฯ หนาแน่นตลอดทั้งวันไปจนถึงตอนกลางคืน

ชาวเหนือทำบุญวันพญาวัน

เช้าวันเดียวกัน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีพุทธศาสนิกชน ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสงกรานต์ “ปี๋ใหม่เมือง” เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แม้จะอยู่ในห้วงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงพระเณรที่มารับบิณฑบาตด้วย

ทั้งนี้ประชาชนทางภาคเหนือถือว่าวันที่ 15 เม.ย. เป็นวันมาฤกษ์ มหาชัย ที่เรียกว่าวัน “วันพญาวัน” ซึ่งจะมีพิธีถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์ หรือทางเหนือเรียกว่า “ไม้กำสะหรี” ,“ไม้กำศรี” แล้วแต่พื้นถิ่น มีความเชื่อตามคติล้านนาว่าการตานหรือถวายไม้ก้ำสะหรีจะได้อานิสงส์ ยิ่งใหญ่คือ ชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเทวาอารักษ์คอย ปกปักรักษาอุ้มชูไว้ ซึ่งคำว่าอุ้มชู ตรงกับภาษาเหนือคือ “ก้ำ” หรือค้ำนั่นเอง

นายหาญ ธรรมโม อายุ 73 ปี กล่าวว่า ทุกๆ ปีลูกหลานจะมาจากจ.นครพนม เพื่อมาดำหัว จึงอยากให้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ทางเหนือไว้บ้าง โดยสอนให้ทำไม้ก้ำสะหรี ทำขนมจ๊อกหรือขนมเทียนตามแบบฉบับ คนเหนือ อะไรที่เด็กๆ สามารถทำได้เองก็ปล่อยทำตามแต่จินตนาการ เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกสนานในการทำงานและซึมซับวิถีวัฒนธรรมนี้ไว้โดยไม่ต้องไปบังคับ เมื่อทำเสร็จก็ให้นำไปถวายวัด นำไปค้ำต้นสะหรีเอง

ไหว้พระบนบานพระธาตุดินแทน

ส่วนที่อ.นาแห้ว จ.เลย ชาวบ้านในต.แสงภา เกือบทุกคนในตำบลนี้ไม่ว่าจะเป็นบ้าน แสงภา หัวนา, ป่าก่อ, นาปอ, ห้วยน้ำผัก, และบ่อเหมืองน้อย กว่า 1,800 คน หลังสงกรานต์จะกลับบ้านมาไหว้สักการะพร้อมนำดินขนดินขึ้นไปบูชาพระธาตุ ก่อนกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล และเริ่มต้นทำงานใหม่ที่เป็นมงคลของชีวิต และสืบทอดประเพณีที่ดีงามมากว่า 200 ปี

น.ส.หทัยรัตน์ สิงห์รัก จากจ.พิษณุโลก กล่าวว่า พ่อแม่เป็นคนบ้านแสงภาจะกลับมาเยี่ยมญาติทุกปี ในช่วงสงกรานต์และก่อนกลับจะมาไหว้พระบนบานให้พระธาตุดินแทนที่บนไว้ เพื่อคุ้มครองครอบครัว ซึ่งเดินทางมาจากจ.พิษณุโลก ปู่ย่าตายายก็ทำมาเช่นนี้จนมาถึงลูกหลาน การมาทำเช่นนี้ทำให้ชีวิตดีขึ้น เนื่องจากเกิดความสบายใจในการทำบุญ และหากเกิดสิ่งที่ร้ายแรงหนักก็จะเบาลงไม่รุนแรง และหากซื้อรถใหม่ จะนำรถยนต์ รถจยย.เข้ามาในบริเวณวัดเพื่อทำขวัญเป็นสิริมงคลให้พระธาตุ ทราบว่าเป็นรถที่ใช้ในการเดินทาง จะปลอดภัยและมีโชคหลังสงกรานต์

นายวิรัตน์ กาลภูมิ กำนันต.แสงภา กล่าวว่า พระธาตุดินแทนนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นดิน พระธาตุที่นี่จึงมีลักษณะเป็นกองดินขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลักเสลาอะไรที่จะบอกว่าเป็นพระธาตุเลย ใครไม่รู้มาเห็นเข้า อาจจะนึกว่าเป็นภูเขาดินธรรมดาๆ ลูกหนึ่ง สำหรับพระธาตุแห่งนี้ มีอายุราว 200 ปี เป็นพระธาตุองค์เดียวในประเทศไทยที่เกิดจากการนำดินมา กองสูงจนเกือบเป็นเนินเขาขนาดย่อม ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุองค์นี้ เกิดจากการที่มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาหยุดพักที่หมู่บ้านแสงภา และสอนชาวบ้านว่าถ้าไม่อยากให้เกิดเภทภัยใดๆ ต้องถือปฏิบัติตน 3 ข้อ คือ ห้ามผิดศีล, ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และห้ามเล่นไสยศาสตร์ หลังจากนั้นก็ประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระธาตุให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ขึ้นโบสถ์ – ชาวหนองคายอัญเชิญ ‘หลวงพ่อพระใส’ พระคู่บ้านคู่เมืองกลับขึ้นไปประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ชัย ปิดงานสรงน้ำสงกรานต์เมื่อวันที่ 15 เม.ย.จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 18 เม.ย. เนื่องจากการระบาดของโควิด

อัญเชิญพระใสขึ้นโบสถ์

เช้าวันเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.หนองคาย นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย, พล.ต.ต.กิตติศักดิ์ จำรัสประเสริฐ ผบก.ภ.จ. หนองคาย พระราชรัตนาลงกรณ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระสงฆ์ และประชาชนชาวหนองคาย ได้ร่วมกันประกอบพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอัญเชิญจากศาลาพลับพลา กลับขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถตามเดิม หลังจากที่ได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสลงจากพระอุโบสถในเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทุกปีชาวหนองคายจะประกอบพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสลงจากพระอุโบสถ แห่รอบพระอุโบสถ และแห่รอบเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวหนองคาย รดสรงน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก่อนจะประดิษฐานที่ศาลาพลับพลาไปจนถึงวันที่ 18 เม.ย. ให้ประชาชนรดสรงน้ำอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปีนี้จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบงดแห่รอบเมือง ทำเพียงการแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ และแทนการรดน้ำสาดน้ำด้วยการ โปรยดอกไม้ และจำกัดจำนวนคนร่วมงาน โดยเฉพาะผู้ที่จะแบกหามหลวงพ่อพระใส เป็นผู้ที่คณะกรรมการของวัดคัดเลือก สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใน 3 รอบ ให้ 3 คณะ และมีมาตรการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีชาวหนองคายเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

ฝ่าฝืน – จนท.สอบปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ (รูปเล็ก) รวมกลุ่มเล่นน้ำสงกรานต์ ที่หมู่บ้านนากับแก้ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร โดยไม่ได้ขออนุญาต ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมโรคและคำสั่งจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 15 เม.ย.

สกลฯจับแห่-เมาสงกรานต์

ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสสจ.สกลนคร ศาลากลางจังหวัด นายดำรงค์ สินิชยอิ่มวิเศษ รองผวจ.สกลนคร พ.ต.อ.โชคชัย อินทะนิล รอง ผบก.ภ.จว.สกลนคร นายวีระ ฤกษ์วานิชย์กุล นายอำเภอเมืองสกลนคร นพ.ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกัน สสจ.สกลนคร ร่วมกันกล่าวถึงกรณีที่หมู่บ้านนากับแก้ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร ได้มีการขออนุญาตจัดงานบุญชำระบ้าน เมื่อวันที่ 12 เม.ย. แต่วันที่ 13 เม.ย.ได้นำรถเครื่องเสียงเข้ามาร่วมขบวนแห่โดยมีชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กว่า 100 คน แต่ละคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า มีการรวมกลุ่มจริง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จากกรมควบคุมโรค และฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดด้วย เบื้องต้นได้ดำเนินคดีกับผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างและคนขับรถ หากพบผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีโดยไม่มียกเว้น

สู้ชีวิต – ประชาชนหอบหิ้วข้าวสารอาหารแห้งจากบ้านเกิดเป็นเสบียงลดค่าครองชีพ หลังหมดเวลาวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์กลับมาทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ จนแน่นสถานีขนส่งหมอชิต (จตุจักร) กทม. เมื่อวันที่ 15 เม.ย.

บขส.เสริมรถ3พันคัน

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า เดิม บขส. คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการใน เที่ยวกลับ เฉลี่ยวันละ 90,000 คน แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่งดเดินทางและอยู่บ้าน ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารเดินทางในเที่ยวขากลับลดลง และเป็นการทยอยการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย. บขส.จัดรถโดยสาร (รถบขส., รถร่วม, รถตู้) ในเที่ยวกลับ จำนวน 2,958 เที่ยว รองรับ ผู้โดยสาร จำนวน 32,059 คน ส่วนเที่ยวไปจัดรถโดยสาร จำนวน 2,512 เที่ยว รองรับ ผู้โดยสาร จำนวน 27,749 คน

นอกจากนี้ประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถเมล์รับผู้โดยสารจากบริเวณพื้นที่ขาเข้าไปส่งยังจุดต่างๆ อาทิ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส, พระราม 2 , อนุสาวรีย์ เป็นต้น และประสานขอความร่วมมือจาก ศูนย์วิทยุแท็กซี่ จส. 100 และสวพ.91 ช่วยประชาสัมพันธ์ให้รถแท็กซี่เข้ามารับ-ส่ง ผู้โดยสาร ในช่วงเวลาเช้าของทุกวัน ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติม ได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน