‘ชวน’หวั่นงบปี65สะดุด
กำชับสส.ต้องฉีดวัคซีน

ซูเปอร์โพลสำรวจพบเอง ระบุคนไทยมองรัฐบาลไร้เอกภาพ ทำงานล่าช้า เป็นแค่ไทยแลนด์ 1.0 ด้านเพื่อไทยจี้ ‘บิ๊กตู่’ ลาออก เปิดทางมืออาชีพเข้ามาจัดการปัญหา อย่ากลัวเสียหน้า เสียอำนาจ ฉะบริหารตามอารมณ์ หวั่นทำลายระบบสาธารณสุขไทย ‘สุดารัตน์’ ขยี้ซ้ำ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ แก้โควิดล้มเหลวมาตั้งแต่ระบาดรอบแรกแล้ว แนะตั้งงบ 1.6 พันล้าน ลุยตรวจเชิงรุก ‘ชวน’ ย้ำส.ส.ต้องฉีดวัคซีน ประชุมสภาพิจารณางบปี 65 จะได้ไม่ชะงัก ‘ยิ่งลักษณ์’ ให้กำลังใจแรงงาน ผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงโควิด ด้านแรงงานออกแถลงการณ์ เร่งผลักดัน 12 ข้อเรียกร้องให้เป็นจริง

‘ชวน’ยันสส.ต้องฉีดวัคซีน

วันที่ 1 พ.ค. ที่จ.สตูล นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้ว่า สภาจะเริ่มประชุมจริงในวันที่ 27 พ.ค. มีวาระสำคัญเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ต้องมีส.ส.เข้าประชุมด้วย ดังนั้น ส.ส.จำเป็นต้องป้องกันตัวเองด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้การประชุมสภาและการพิจารณางบประมาณรายจ่ายหยุดชะงัก จึงต้องมีการป้องกันน่าจะดีกว่า

‘ชลน่าน’ชี้เหตุคนไทยติดเชื้ออื้อ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค เพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 และผู้เสียชีวิตสูงเป็นประวัติการณ์ว่า ถ้าเทียบกับการระบาดระลอกแรก ระลอกสอง ตอนนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เดือนเดียวตัวเลขเพิ่มเกือบเป็น 3-4 เท่าตัว และอัตราแพร่เชื้อต่อวัน อยู่ในหลักพัน ถือว่าสูง แต่ต้องเปรียบเทียบในเชิงของสถิติ โดยทั้งโลกจะวัดจากอัตราการกระจายเชื้อ ซึ่งการแพร่เชื้อของไทยช่วงนี้ถือว่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 2.27 วัดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้า 1 เดือนไม่ทำอะไรเลย การแพร่เชื้อจะขึ้นเป็นหลักแสน

เมื่อถามว่าอัตราการแพร่ระบาดและอัตราผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความล่าช้าในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้มีผลโดยตรงกับการได้รับวัคซีน เพราะคุณสมบัติของวัคซีน คือป้องกันการติดเชื้อได้ ฉะนั้น การที่วัคซีนล่าช้า มีผลโดยตรงต่อตัวเลขดังกล่าว สรุปได้ว่าแม้จะมีภูมิคุ้มกัน ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ก็ยังติดเชื้อได้ แต่หากได้รับวัคซีนจะลดอัตราการป่วย และอัตราเสียชีวิตได้ ซึ่งเปรียบเทียบเห็นได้จากประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอลที่แทบจะไม่มีอัตราป่วยและอัตราผู้เสียชีวิต

ฉะ‘บิ๊กตู่’บริหารตามอารมณ์

เมื่อถามถึงการบริหารโควิดที่ล้มเหลว เพราะรัฐบาลใช้ทหารและมุมมองด้าน ความมั่นคง เข้ามายุ่งมากเกินไปหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราเสียหายด้านเศรษฐกิจไปกว่า 6 แสนล้าน เพราะเอาคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมิติทางสุขภาพมาเป็น ผู้บริหารหลัก และภาพที่ออกมา มันเป็นอย่างที่เห็น สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร ประกอบกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่น ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีจิตสำนึก

“เรื่องการตามงานและเรื่องอื่นๆ การบริหารสถานการณ์สภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ภาพจึงออกมาล้มเหลวโดยตลอด ซึ่งหน่วยสั่งการที่รวบอำนาจ ยากมากที่คนอื่นจะให้ข้อมูลต่างๆ แม้ทีมแพทย์จะเข้าไปอยู่ในทีม แต่ทีมเหล่านั้น ก็ไม่สามารถให้หรือป้อนข้อมูลให้คำโต้แย้งต่างๆ การบริหารงาน จึงออกมาในลักษณะบริหารงานตามอารมณ์ ไม่ได้ใช้ข้อมูลไม่ได้ใช้หลักการในการบริหาร ภาพจึงออกมาเป็นเช่นนี้ และมีส่วนสำคัญที่ กำลังทำให้ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลว” นพ.ชลน่านกล่าว

จี้ลาออก-เปิดทางมืออาชีพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำ ฝ่ายค้านในสภา และที่ปรึกษาหัวหน้าพท. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ความอลหม่าน สับสน วุ่นวายของวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นภาพสะท้อนถึงความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ปรากฏต่อการรับรู้ประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งในสภาวะที่ตัวเลขของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการ ติดเชื้อโควิดขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่น อึดอัดคับข้องใจของประชาชนจึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับวัคซีน เพราะวันนี้วัคซีน คือคำตอบและทางออกของวิกฤต รัฐบาลทำอะไรไปแค่ไหนเพียงใด กลับไร้คำตอบที่ชัดเจน และยิ่งสับสนเมื่อเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยจัดหาวัคซีน แต่รัฐกลับไม่เปิดทางให้ โดยไม่มีเหตุผลอธิบายให้คนในสังคมยอมรับได้

“ในสถานการณ์วิกฤตที่สุดเช่นนี้ ประเทศต้องการการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องการรัฐบาลที่แคร์และห่วงใยปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชนมากกว่าสิ่งอื่นใด ต้องการการแก้ไขปัญหาได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ ดังนั้น ต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้รัฐบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการวิกฤตโควิด เปิดใจ เปิดทางให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นมืออาชีพเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง ไม่ต้องกลัวเสียหน้า ไม่ต้องกลัวเสียอำนาจ หากคิดถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชน เป็นสำคัญจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำไม่ยากเลย ลาออกเถอะ” นายภูมิธรรมระบุ

‘หน่อย’ชง 3 ข้อสู้โควิด

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนในตอนนี้มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ขอเสนอให้แก้ไขระเบียบ ยกเลิกข้อกำหนดที่บอกว่าตรวจเจอที่โรงพยาบาลใด โรงพยาบาลนั้นต้องรับรักษา เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่ามันเกิดปัญหาตาม และควรยกเลิกระเบียบที่กำหนดให้บุคคลจะเข้ารับการรักษาได้ต้องตรวจเจอเชื้อก่อน เพราะนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนัก และ เสียชีวิตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการ กระจายงบประมาณให้โรงพยาบาลบริหารจัดการตัวเองด้วย

2.ควรเปิดศูนย์กลางคัดกรองผู้ป่วยทุกเขตในกรุงเทพฯทุกเขตทั้ง 50 เขต และทุกตำบลในต่างจังหวัด แม้ยังไม่ทราบผลตรวจ ให้มาที่ศูนย์เพื่อคัดกรองเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่ตรวจแล้วกลับไปรอที่บ้าน และ 3.รัฐบาลควรเร่งเรื่องของการตรวจเชื้อโควิดให้ได้มากที่สุด ควรตรวจเชิงรุกมากกว่านี้ ตนขอเสนอให้ตั้งงบ 1,600 ล้านบาท เพื่อปูพรมตรวจ 1 ล้านคน ในทุกพื้นที่เพราะ สปสช.ก็ตั้งงบค่าตรวจให้ 1,600 บาทต่อหัว จากนั้นให้ตรวจได้เลยทุกโรงพยาบาล ตรวจเสร็จก็นำเข้าระบบทันที แบบนี้ก็จะหมดปัญหาเรื่องการรอเตียงและ รอตรวจ ทำให้ประชาชนปลอดภัยเพราะคนติดเชื้อเข้ามาอยู่ในระบบ ไม่ปะปนอยู่ในชุมชน

นายกฯ ต้องรับผิดชอบ

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ ควบรวมอำนาจการบริหารสถานการณ์ โควิด-19 ไว้แต่เพียงผู้เดียวว่า การบริหารจัดการของรัฐบาล เป็นปัญหาตั้งแต่การระบาดในรอบแรก คือมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ในส่วนกลาง มีการตั้งศูนย์มากมาย ไม่กระจายงบและอำนาจไปสู่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งที่การบริหารในช่วงวิกฤต ต้องทำให้การสั่งการสั้นที่สุด กระชับที่สุด แต่นี่ไปตั้งศูนย์ต่างๆ ขึ้นมาเยอะแยะไปหมด สิ่งที่แปลกใจมากกว่านั้นคือ เอาฝ่ายความมั่นคงมาสู้รบกับเชื้อโรค ซึ่งในความจริง ควรให้หมอเข้ามาดำเนินการ

“เมื่อนายกฯ รวบอำนาจมาไว้คนเดียว ก็ต้องรับทั้งผิดและชอบด้วย ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะบริหารจัดการไม่ได้เลย ปัญหามันอยู่ที่ผู้นำ ประชาชนต้องการคนที่สร้างความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจ ผู้นำที่ดีต้องมีแผนงานและเลือกคนที่เหมาะสมกับงาน แบ่งหน้าที่อย่าให้ซ้ำซ้อน วิธีการสั่งการต้องสั้นที่สุด กำหนดระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นที่สุด” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

โพลชี้รัฐไร้เอกภาพแก้วิกฤต

นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องวิกฤต โควิด คนไทย เห็นอะไร จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,045 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-30 เม.ย. พบว่า ร้อยละ 77.9 ระบุภาครัฐยังไม่นำบิ๊กดาต้ามาใช้เป็นประโยชน์ และยังทำงานล่าช้าเป็นไทยแลนด์ 1.0 ไม่ใช่ 4.0 ร้อยละ 77.8 ระบุภาครัฐไม่เป็นเอกภาพในการช่วยเหลือประชาชน และ ร้อยละ 75.7 ระบุภาครัฐบริหารจัดการวัคซีนล่าช้า ไม่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 87.7 ระบุในช่วงวิกฤตโควิด เห็นฝ่ายการเมือง มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ ทะเลาะขัดแย้งบนวิกฤตความตายของประชาชน ร้อยละ 85.4 ระบุเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น หวังผลแต่การเมือง และร้อยละ 85.4 ระบุเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

อยากให้นักการเมืองทำมากกว่าพูด

ส่วนเห็นอะไรในกลุ่มเจ้าสัว ผู้ประกอบการช่วงวิกฤตโควิด พบว่า ร้อยละ 85.3 ระบุนักลงทุน ธุรกิจสีเทา ยังเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุต้นตอแพร่เชื้อ ร้อยละ 85.2 ระบุเจ้าสัว ผูกขาด ยังมุ่งกอบโกย ไร้น้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ และร้อยละ 84.7 ระบุยังคงจ่ายส่วยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจ

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นช่วงวิกฤตโควิด ร้อยละ 95.1 อยากเห็นเจ้าสัวเลิกผูกขาด มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ ร้อยละ 94.8 อยากเห็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่ทำมากกว่าพูด ร้อยละ 93.7 ทุกฝ่ายยึด เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าผลประโยชน์และการเมือง ร้อยละ 93.5 รัฐเพิ่มงบทางการแพทย์และเยียวยาประชาชน ร้อยละ 92.8 ระบุต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ ต้นเหตุแพร่ระบาดโควิด ร้อยละ 92.4 ภาครัฐร่วมมือทุกภาคส่วน นำเข้าวัคซีนอื่นๆ และคุมเข้มความปลอดภัย ร้อยละ 92.1 อยากเห็นตู้ปันสุขกลับมาทำงาน กระจายช่วยเหลือแบ่งปัน และร้อยละ 91.7 นักการเมืองเสียสละ เอาเงินเดือนช่วยเยียวยาบุคลากรการแพทย์และสังคม

ปลุกแรงงาน-ดัน12ข้อเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวคำปราศรัยในวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2564 ว่า ขอส่งมอบความรักและความปรารถนาดีมายังแรงงานไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปีนี้ต้องงดจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติอีกปีหนึ่ง รัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของพี่น้องแรงงานและประชาชนทุกคนได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ พร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยทุกคนปลอดการติดเชื้อโรคและเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรค

วันแรงงาน – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพเมื่อครั้งถ่ายร่วมกับกลุ่มสตรีผู้ใช้แรงงานในยุคที่ยังเป็นนายกฯ พร้อมให้กำลังใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้โอกาสนี้ พัฒนาศักยภาพแรงงานด้านเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า “วันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ทำให้อดคิดถึงพี่น้องแรงงานไม่ได้ วันนี้เป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมาเรียกร้องสิทธิและคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่เป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า ทำให้ดิฉันอยากเห็นการพัฒนาแรงงานของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะจากรายงานของเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่ม ระบุว่าแรงงานกว่า 75 ล้านคนทั่วโลกใน 20 อุตสาหกรรมจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีภายในปี 2020 ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีจะสร้างงานใหม่ถึง 133 ล้านอัตราภายในปี 2022”

ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์เนื่องในวันกรรมกรสากลระบุว่า เราไม่อาจคาดหวังได้ว่ารัฐบาลหรือชนชั้นปกครองจะแก้ปัญหาให้แก่กรรมกรแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ปีนี้ก็เช่นทุกปี ที่คสรท.และ สรส.จับมือกันผลักดันข้อเสนอต่อรัฐบาลทั้งสิ้น 12 ข้อ ทั้งเรื่องเร่งด่วนในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งข้อเรียกร้องเดิมที่ขยับบ้างแต่ล่าช้ามาก จำเป็นต้องยื่นและติดตามต่อไป

ทั้งข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประกันสังคม การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และฉบับที่ 183 เรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ (คัดค้านการแปรรูป) ความมั่นคงของลูกจ้างภาครัฐและเอกชนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เหมาบริการ การต่อสู้อย่างกล้าหาญของกรรมกรในอดีต

แม้เวลาเปลี่ยนไป แต่วันนี้หากสำรวจวิถีแล้วจะเห็นว่าเรายากลำบากกว่าเดิม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมกรทุกคนจำต้องผนึกกำลังร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ความต้องการของกรรมกรเป็นจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน