2 อดีตประธานศาลฎีกา ‘ดิเรก อิงคนินันท์-ไสลเกษ วัฒนพันธุ์’ และชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ แจ้งความกองปราบฯ เอาผิดเว็บไซต์ต่างประเทศ ข้อหาหมิ่นประมาท กล่าวหารับสินบนคดีบริษัทเครือโตโยต้า หอบหลักฐานยื่นพนักงานสอบสวน ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านเมทินี-ประธานศาลฎีกา เซ็นตั้ง 4 ผู้พิพากษาชั้นฎีกา-อุทธรณ์ เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โฆษกศาลยุติธรรมยันศาลพร้อมพิสูจน์ความจริง สร้างความเชื่อมั่นทุกทาง ขณะที่สำนักงานทนายความเอกชน ปฏิเสธไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย แม้เคยทำคดีตอนศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ แต่ก่อนถึงศาลฎีกาได้ถอนตัวไปแล้ว

แจ้งความ – นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา และนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าว กรณีเว็บไซต์พาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับสินบนภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า ที่บก.ป. เมื่อวันที่ 31 พ.ค.

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่กองบังคับการ ปราบปราม นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกพาดพิงจากการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ (www.law360.com) ซึ่งรายงานข่าวติดตามการสอบสวนเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า ว่ามีการจ่ายสินบนให้กับสำนักงานกฎหมายเเละปรากฏรายชื่อ 3 ผู้พิพากษามีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์ รองผบก.ป. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. เพื่อแจ้งความและสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดจากกรณีดังกล่าว

นายดิเรกกล่าวก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนว่า ตนไม่รู้เรื่องอะไรเลย เเต่เมื่อมีข่าวเเละได้รับความเสียหายจึงเข้ามาเเจ้งความ ส่วนนายชัยสิทธิ์ได้นำข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์กล่าวหาพร้อมเอกสารซึ่งเป็นสำเนาคำพิพากษาที่ให้โตโยต้าเเพ้คดีมายื่นเป็น หลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำด้วย

ด้านนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในส่วนของตนนั้นได้มอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบเเละดำเนินคดีการเผยเเพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว โดยยื่นเรื่องไปทางอีเมล์เเละจะส่งหนังสือตามไป เนื่องจากทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่จะต้องดูเเลผู้พิพากษาที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่เเล้ว

ส่วนพล.ต.ต.สุวัฒน์กล่าวว่า ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.สอบปากคำผู้เสียหายทั้งสองที่ถูกพาดพิงจากข่าวที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่างประเทศ LAW360.com ซึ่งมีเนื้อหาว่า มีผู้พิพากษา 3 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีภาษีของบริษัทโตโยต้าประเทศไทย โดยจ่ายสินบนให้กับสำนักงานกฎหมายและผู้พิพากษาทั้ง 3 คน โดยอดีต ผู้พิพากษาทั้ง 2 ท่านได้นำภาพ และเนื้อหาในเว็บไซต์ ลิงก์เว็บไซต์ และไอพี แอดเดรส ที่ปรากฏ มอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนเอาผิดกับเว็บไซต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้โพสต์ข่าวดังกล่าว ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ต่อมาเวลา 16.45 น. ภายหลังเสร็จสิ้นการให้ปากคำนานร่วม 3 ชั่วโมง นายดิเรกเปิดเผยว่า มอบหมายให้พนักงานสอบสวนกองปราบฯ เป็นผู้พิจารณาเรื่องการดำเนินคดีและข้อหาต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นมองว่า เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ส่วนกรณีที่ เว็บไซต์ LAW360.com กล่าวพาดพิงว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับสินบนในคดีของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยนั้น นายชัยสิทธิ์ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีจะมีคำพิพากษาทั้งสองศาล และไม่ได้เป็นผู้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดี รวมไปถึงการวิ่งเต้นต่างๆ โดยข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายมาก เพราะไม่ได้ทำผิด และรับสินบนใคร

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายในหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของนายชัยสิทธิ์ ที่นำมามอบให้กับพนักงานสอบสวนนั้น มีการระบุว่าให้ดำเนินการสืบสวนตามกฎหมายกับสำนักข่าว Law360, นายแฟรงค์ ผู้เขียนบทความ, บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัด, กรรมการผู้จัดการบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัด, บริษัทโตโยต้ามอเตอร์สหรัฐอเมริกา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากผลการสืบสวนพบว่าบุคคลใดไม่ได้กระทำความผิดก็ขอให้กันไว้เป็นพยานและยังยืนยันความบริสุทธิ์และยินดีให้ตรวจสอบการเงินและทรัพย์สินว่ามิได้รับสินบนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้เวลา 13.00 น. ที่สน.ห้วยขวาง นายทรงพล อันนานนท์ กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ได้นำเอกสารหลักฐาน เข้าแจ้งความ Frank (Frank G. Runyeon นามปากกาเต็มในเว็บ) เจ้าของบทความในเว็บไซต์ Law360.com ใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

นายทรงพลกล่าวว่า เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี กับ Frank (Frank G. Runyeon นามปากกาเต็มในเว็บไซต์) เจ้าของบทความที่ได้มีการพาดพิงสำนักงานทนายความของตนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนให้กับผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา เพื่อหวังพลิกคดีการเสียภาษี จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ซึ่งขอชี้แจ้งว่า สำนักงานทนายความของตนไม่ได้เป็นไปตามบทความที่ถูกพาดพิง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าสำนักงานกฎหมายของตนทำคดีดังกล่าวในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ในชั้นศาลฎีกา สำนักงานไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำคดี อีกทั้งได้ยื่นคำร้องถอนตัวจากการทำคดีนี้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2564 รับฎีกาในคดีดังกล่าว

นายทรงพลกล่าวต่อว่า หลังจากที่เกิดเรื่องขึ้นทางสำนักงานก็ไม่ได้ติดต่อไปยังผู้พิพากษาระดับสูงทั้ง 3 ท่าน และยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ส่วนเรื่องของการดำเนินคดีกับแฟรงค์ เจ้าของบนความ ซึ่งอาจอยู่ในต่างประเทศนั้น ตามหลักกฎหมายสามารถดำเนินการได้ในประเทศ ส่วนที่ว่านามปากกา ดังกล่าวในเว็บไซต์จะมีตัวตนจริงหรือไม่ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของสำนักงานมาก และที่สำคัญยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้หนังสือออกแถลงการณ์ พร้อมแนบใบคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ โดยระบุว่า ทางสำนักงานได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความต่อศาลภาษีอากรกลางและหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2562 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งของศาลฎีกา ขอยืนยันความบริสุทธิ์และขอใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จทั้งในและต่างประเทศมา ณ ที่นี้

ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเมื่อวันศุกร์ที่ 28 พ.ค. สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวม 10 คน โดยมีนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะ ทำงานฯ ซึ่งได้ส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ

เช่น หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น ล่าสุดวันเดียวกัน นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วย ผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ

โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่สอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้เสนอความเห็นว่า หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

“ศาลยุติธรรมจะแสวงหาทุกข้อเท็จจริงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยจะทำทุกทางพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏเร็วที่สุด หากพบว่าคนของศาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับใด แต่หากไม่เป็นความจริงก็จะเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของทุกท่านกลับคืนมา ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้ประชาชนยังคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันศาลยุติธรรมระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา หากผู้พิพากษาคนใดมีพฤติการณ์ทุจริต เกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเสมอ ซึ่งตรวจสอบได้” นายสุริยัณห์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน