รพ.ย้ำได้ไม่ตรงยอด
‘หนู’โต้จัดให้ตามศบค.
สปส.ยันฉีดม.33วันนี้
รพ.อยุธยาป่วนป่วย18
‘คนละครึ่ง’ต้องลงใหม่

ดุสิตโพลสะท้อนชาวบ้านไม่เชื่อมั่นรัฐบาล เป้าฉีดวัคซีนปีนี้ 100 ล้านโดสทำไม่ได้ ร.พ.รัฐ-เอกชนแห่แจ้งเลื่อนฉีด ตั้งแต่ 14-20 มิ.ย. ทั้งศิริราชฯยันนครพิงค์เชียงใหม่ ขณะที่ 8 ร.พ.สังกัดกทม. แจงรอสธ.จัดสรร แต่ผู้มีนัดฉีดเข็ม 2 มาได้ตามเดิม หมอหญิงร.พ.นมะรักษ์ โพสต์ใครสงสัยให้ถามรมว.สธ. ก่อนโดนโทร.ให้ลบโพสต์ สธ.ยันส่ง 4 ล้านโดสกระจายให้ทั่วประเทศ ตามแผนศบค.แล้ว โยนผู้ว่าฯ คุมฉีดเอง อนุทินยัวะบางคนทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ด้านประกันสังคม แจงกลับมาฉีดต่อวันนี้ให้ผู้ประกันตน ม.33 หลัง ปรับจุดฉีดใหม่ ศบค.แถลงป่วย 2,804 ราย เสียชีวิต 18 กทม.ยังพุ่ง 924 ราย ปากน้ำ 217 ราย อยุธยาพรวดที่ 3 ติดเชื้อ 206 ราย ส่วนเรือนจำ 409 ราย ‘หมอธีระวัฒน์’ แจงหลังฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยอาจเป็นปัญหาที่วัคซีน ชี้เข็ม 3 อาจให้ปรับยี่ห้อฉีด ด้านคลังเปิด 31 ล้านคนลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 ผ่านแอพฯเป๋าตัง-www.คนละครึ่ง.com ย้ำผู้เคยได้รับเฟส 1-2 แล้วต้องลงใหม่ด้วย ไม่งั้นวืดใช้สิทธิ์

ป่วย 2,804-ตาย 18 ราย

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 176.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 3.55 แสนราย เสียชีวิตสะสม 3.81 ล้านราย เพิ่มขึ้น 9.7 พันราย ประเทศไทยขยับขึ้นอันดับ 79 ของโลก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,804 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,334 ราย มาจากเรือนจำ 409 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 61 ราย รักษาหายเพิ่ม 4,143 ราย เสียชีวิต 18 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 195,909 ราย รักษาหาย 154,414 ราย เสียชีวิตสะสม 1,449 ราย

สำหรับระลอก เม.ย.เป็นต้นมา ผู้ป่วยยืนยันสะสม 167,046 ราย หายป่วย 126,988 ราย และเสียชีวิตสะสม 1,355 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 40,046 ราย แบ่งเป็นในร.พ. 13,894 ราย และร.พ.สนาม 26,152 ราย มีอาการหนัก 1,215 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 351 ราย

ผู้เสียชีวิต 18 ราย พบว่ามาจาก กทม. 12 ราย ชลบุรี 2 ราย ปทุมธานี สงขลา สุพรรณบุรี และภูเก็ต จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเหมือนเดิม คือ มาจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ติดจากคนในครอบครัว เดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 7 ราย หญิง 11 ราย อายุต่ำสุด 47 ปี สูงสุด 86 ปี อายุกลางเฉลี่ยยังเป็นผู้สูงอายุ คือ 67.5 ปี

ส่วนผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 61 ราย มาจากแอฟริกาใต้ อังกฤษ สวีเดน และสิงคโปร์ ประเทศละ 1 ราย อินเดีย 10 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด และกัมพูชา 47 ราย โดยเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ 10 ราย เป็นคนไทยทั้งหมดอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นชาย 6 ราย และหญิง 4 ราย ที่เหลือเดินทางข้ามแดนมาอย่างถูกต้องเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาตรวจจับคนลักลอบเข้าประเทศถึง 338 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 6 ล้านโดส

ศบค.ระบุว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กทม. โดยติดเชื้อสูงสุด 924 ราย ปริมณฑล 5 จังหวัด 591 ราย ส่วน 71 จังหวัดที่เหลือรวมกัน 819 ราย ส่วนเรือนจำติดเชื้อ 409 ราย สะสม 32,357 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 924 ราย สะสม 53,185 ราย 2.สมุทรปราการ 217 ราย สะสม 10,432 ราย 3.พระนครศรีอยุธยา 206 ราย สะสม 1,841 ราย 4.สมุทรสาคร 139 ราย สะสม 4,170 ราย 5.นนทบุรี 122 ราย สะสม 8,651 ราย 6.สงขลา 89 ราย สะสม 2,001 ราย 7.ปทุมธานี 77 ราย สะสม 5,418 ราย 8.เพชรบุรี 62 ราย สะสม 7,779 ราย 9.ระนอง 42 ราย สะสม 1,014 ราย และ 10. ปัตตานี 41 ราย สะสม 494 ราย

สำหรับพื้นที่สีขาวหรือติดเชื้อเป็น 0 มีจำนวน 24 จังหวัด สีเขียวติดเชื้อ 1-10 รายมี 29 จังหวัด สีเหลือง ติดเชื้อ 11-50 ราย มี 16 จังหวัด สีส้ม ติดเชื้อ 51-100 รายมี 3 จังหวัด และ สีแดง ติดเชื้อมากกว่า 100 รายขึ้นไปมี 5 จังหวัด

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดแล้ว 6,081,242 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 4,456,786 ราย และเข็มสอง 1,624,456 ราย

สธ.ส่ง 4 ล.โดสตามแผน

จากกรณีเฟซบุ๊ก ร.พ.นมะรักษ์ โพสต์ข้อความว่า สำนักอนามัย (สนอ.) กทม. ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อฉีดให้กับ ผู้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ในรอบ วันที่ 14-20 มิ.ย. ทำให้ไม่สามารถจัดการฉีดวัคซีนที่มีการจองในช่วงดังกล่าวได้ และให้ติดต่อรมว.สธ.ถึงความไม่พร้อมของวัคซีนสำหรับผู้สุงอายุและกลุ่มเสี่ยง โดยต่อมาเปลี่ยนเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแทนนั้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรงพยาบาลที่ออกมาประกาศวัคซีนไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนฉีดวัคซีนไปก่อนนั้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) สธ. กล่าวว่า คร.กระจายวัคซีนตามคำสั่งของ ศบค. หลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจำนวนวัคซีนนั้น ส่วนที่ร.พ.ในพื้นที่ กทม. เลื่อนฉีดเพราะไม่ได้รับวัคซีน ต้องไปสอบถามข้อมูลจากสนอ. กทม. ว่าจัดสรรไปในแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง

ส่วนภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 6 ล้านโดส ทั้งจากวัคซีน ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีนสำหรับประชากรในประเทศไทย เดือน มิ.ย. คือ ฉีดอย่างน้อย 10 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้เหลืออีก 4 ล้านโดสที่เราจะกระจายวัคซีนออกไปตามแผนที่ ศบค.เห็นชอบ

ให้จว.บริหารฉีดทั่วถึง

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีคร. กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนในเดือนมิ.ย.มีประมาณ 6.5 ล้านโดส แบ่งออกเป็น 2 งวดครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ คือ งวดแรกวันที่ 7-20 มิ.ย. ประมาณ 3 ล้านโดส คือ ซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส โดยให้ กทม. 1 ล้านโดส และ 76 จังหวัดรวมกัน 1.1 ล้านโดส และงวดที่ 2 วันที่ 21 มิ.ย.-2 ก.ค. อีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส

สำหรับการจัดสรรใน 2 สัปดาห์แรก กทม. ได้ 5 แสนโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส ฉีด กทม.เป็นหลัก กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 1.5 แสนโดส ฉีด กทม.เป็นหลัก หมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น ขนส่ง ทหาร ตำรวจ และครู 1 แสนโดส และควบคุมการระบาด 5 หมื่นโดส

“สธ.จัดส่งวัคซีนให้ กทม.และจังหวัดต่างๆ ตามนโยบายและแผนของรัฐบาลและ ศบค.กำหนด ซึ่งเป็นไปตามสูตรการคำนวณและตัวเลขที่พื้นที่เสนอขึ้นมา ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนไปร.พ.หรือจุดฉีดของแต่ละจังหวัด เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการ ไม่เกี่ยวข้องกับ สธ. หรือรมว.สธ. แล้ว ทั้งนี้ ขอให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ดี และทำตามนโยบายโดยเน้นในกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมก่อนเพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง” นพ.โสภณกล่าว

ครบ 2 เข็มบางคนภูมิขึ้นน้อย

ด้านนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า เริ่มเห็น ปัญหาภูมิขึ้นน้อยถึงน้อยมากมาก…ต้องเริ่มระมัดระวัง นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ คุณชนิดา รุจิศรีสาโรช นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้ที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค ครบสองเข็มไปแล้ว สามถึงสี่สัปดาห์พบว่ามีหลายรายที่ neutralizing antibody (แอนตี้บอดี้เป็นกลาง) ไม่มี หรือที่ สูงเพียง 20-30% การวัด ตัดที่ 20% inhibition คือความสามารถในการยับยั้งไวรัสได้ต้องมากกว่า 20% จึงจะถือว่ามีภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้อาจจัดแบ่งออกได้ เป็นสามลักษณะ 1.คนที่ได้รับวัคซีนตามปกติจะมีการตอบสนองที่สูง กลาง และต่ำเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ต้องขึ้น วัคซีนเทคนิคเชื้อตาย เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดสามเข็มในวันที่ศูนย์ สามและเจ็ดถึงจะเริ่มเห็นภูมิคุ้มกันในเลือดประมาณวันที่ 10 และขึ้นในทุกคนในวันที่ 14 ดังนั้นวัคซีนชิโนแวค ฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือนจึงทำการประเมินที่สามหรือสี่สัปดาห์หลังจากเข็มที่สอง แต่ทั้งนี้ควรจะต้องมีภูมิขึ้นในระดับน่าพอใจในทุกคน

ชี้ปัญหาวัคซีน-จ่อฉีดเข็ม 3

2.แต่ในบางกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในวันเดียวกัน รับการฉีดที่เดียวกัน ปรากฏว่าไม่มีภูมิขึ้นเลย (น้อยกว่า 20%) อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนในชุดเดียวกันนั้นอาจมีปัญหา

3.มีภาวะประจำตัวที่สำคัญเช่น สูงอายุและมีเบาหวาน ที่ภูมิไม่ขึ้น ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของสถาบันแห่งหนึ่ง

4.เริ่มมีการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งๆ ที่ฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม และแอสตร้าฯ 1 เข็มแล้ว บางรายที่ติดมีการตรวจวัดภูมิคุ้มกันหลังฉีดแล้วว่าขึ้น แต่ไม่สูงมาก

ดังนั้นในกรณีที่ภูมิไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อยกว่า 68% ซึ่งเป็นตัวเลขในทางทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันการติด อาจต้องพิจารณาถึงการได้รับวัคซีนเข็มที่สามไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อเก่าหรือยี่ห้อใหม่ก็ตาม

นอกจากนั้น ในกรณีของการเกิดอาการแพ้หรือมีผลข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้ภูมิคุ้มกันยิ่งสูงขึ้น เพราะเป็นการอักเสบผ่านทางคนละระบบ

ทางการสิงคโปร์ยินยอมให้ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารอย่างรุนแรงฉีด mRNA ได้ แต่ปรากฏว่าด้วยสาเหตุอะไรอธิบายไม่ได้ คนสิงคโปร์มีปฏิกิริยาแพ้ค่อนข้างรุนแรงต่อวัคซีน ดังนั้นให้เป็นข้อปฏิบัติว่าถ้ามีอาการแพ้ดังกล่าวให้ไปฉีดวัคซีนอื่น เช่น ซิโนแวค

โพลชี้ไม่เชื่อรัฐฉีด 100 ล.โดส

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ความมั่นใจของคนไทยต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,450 คน สำรวจวันที่ 7-10 มิ.ย.2564 พบว่า การกำหนดให้การฉีดวัคซีน เป็นวาระแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการโดยเร่งด่วน ร้อยละ 66.87 โดยประชาชนไม่ค่อยมั่นใจต่อการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ร้อยละ 36.36 และคิดว่าการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคน ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ไม่น่าจะสำเร็จ ร้อยละ 57.61 มองว่าปัจจุบันปัญหาการฉีดวัคซีน คือ จำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ ไม่หลากหลายยี่ห้อ ร้อยละ 77.87 ต้องนำเข้าวัคซีนให้มากขึ้น ร้อยละ 78.74 ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง ร้อยละ 34.00 และไม่สนใจจะจองวัคซีนทางเลือก ร้อยละ 37.38

ส่วนทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2 พันล้านโดส ขณะที่ไทยฉีดได้สะสม 5.67 ล้านโดส ประมาณ 1.52 ล้านคน หรือ คิดเป็น 2.2% ของประชากรทั้งหมด ถึงแม้จะมีการประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ แต่จากผลการสำรวจกลับพบว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นการบริหารจัดการวัคซีนเท่าใดนัก และไม่คิดว่ารัฐบาลจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ด้วย ณ เวลานี้จึงควรแยกเกมการเมืองให้ออกจากชีวิตประชาชน บริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนโดยเร็ว

‘หนู’โอดบางคนทำปัญหาใหญ่

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ในเพจ Like Anutin ว่า อย่าให้คนทำงาน กลายเป็น “แพะ” เรื่องการบริหารจัดการวัคซีนนั้น ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามตัวบทกฎหมายที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการจัดหา และกระจายไปตามแผนที่ ศบค.กำหนด เมื่อวัคซีนถึงพื้นที่ ก็เป็นบทบาทของหน่วยงานในพื้นที่นั้นๆ ต้องบริหารจัดการวัคซีนตามที่แสดงเจตจำนงไป ทุกอย่างชัดเจน

ทว่ายามมีปัญหา ทั้งใน กทม.และจังหวัดอื่นๆ กลับกลายเป็น สธ.ต้องถูกวิจารณ์อย่างสาหัส ทั้งที่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนสุดความสามารถแล้ว อย่าแปลกใจ หากเราจะเห็น คน สธ.ออกมาชี้แจงรัวๆ เรื่องการเลื่อนฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นย้ำว่า ทางหน่วยงานไม่ได้มีอำนาจรับผิดชอบตรงนั้น หากเข้าไปแทรกแซงจะกลายเป็นก้าวก่าย เพราะมาจุดนี้ ดูเหมือนคนทำงาน ที่มีสภาพไม่ต่างจากแพะ ก็ทนแบกรับปัญหาของคนอื่นต่อไปไม่ไหวแล้วเช่นกัน

เรามักจะพูดเสมอว่าเรื่องโควิด เราต้องช่วยกัน แต่ในความเป็นจริง บางคนก็พยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แต่บางคนกลับพยายามจะทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้นไปอีก

บุรีรัมย์โมเดล – นายเนวิน ชิดชอบ กรรมการโรคติดต่อบุรีรัมย์ อธิบายบุรีรัมย์โมเดล แก่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่นำข้าราชการระดับสูง ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีน ที่สนามช้างอินเตอร์ เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อ 13 มิ.ย.

บุรีรัมย์ตั้งเป้าฉีด 70%

วันเดียวกัน นายอนุทิน รองนายกฯ และรมว.สธ. นำทีม นพ.เกียรติภูมิ วงษ์รจิต ปลัดสธ. และอธิบดี สธ. ตรวจเยี่ยมและ คิกออฟ การฉีดวัคซีนโควิด-19 จ.บุรีรัมย์ โดยเดินทางไปที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต อ.เมือง รับฟังการบรรยายแนวทางการบริหารวัคซีน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมมอบและส่งมอบบัตรประกันสุขภาพสำหรับบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 10,196 กรมธรรม์ และรับฟัง นโยบายควบคุมโรค และเปิดเมืองบุรีรัมย์ โดย นายธัชกร หัตถาธยากูล ผวจ.บุรีรัมย์ และนพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ จากนั้นนายอนุทิน มอบนโยบาย

2 เข็มติดสติ๊กเกอร์บัตรปชช.

นายเนวิน ชิดชอบ หนึ่งในคณะกรรมการโรคติดต่อบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงโมเดลบุรีรัมย์ คือผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะติดสติ๊กเกอร์กับบัตรประชาชน ซึ่งได้ขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ให้บริการ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ถ้าใครไม่สวมหน้ากากอนามัย จะไม่ได้รับบริการจาก ผู้ประกอบการในจ.บุรีรัมย์

ต่อมานพ.พิเชษฐ ชี้แจงว่า ตอนนี้ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 1.1 แสนโดส จากเป้าที่จะต้องฉีดให้ครบ 70 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวน 1,120,562 คน โดยมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ครบตามจำนวนดังกล่าวภายในเดือนก.ย.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดบุรัมย์ และสอดรับกับโครงการ “1 ต.ค. 2564 ทัวร์เที่ยวไทย โดยไม่กักตัว” ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจ.บุรีรัมย์ จัดอยู่ใน 1 ของ 9 จังหวัดเมืองท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

ด้านนายอนุทินกล่าวถึงการติดสติ๊กเกอร์ที่บัตรประชาชน เพื่อแสดงให้รู้ว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 โดส ซึ่งเป็นแนวคิดของจ.บุรีรัมย์ ถือเป็นเรื่องดี เพราะอาจลดความยุ่งยากลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดว่าจะจัดการอย่างไร

ร.พ.เลื่อนฉีดไม่เกี่ยวสธ.

จากนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงษ์รจิต ปลัดสธ. พร้อมด้วย นพ.โอภาส อธิบดีคร. ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงว่าปัญหาหลาย ร.พ.ออกมาประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนว่า สธ.เป็นผู้จัดหาวัคซีนมาไว้ที่องค์การเภสัชกรรม หรือคร. เมื่อได้รับวัคซีนแล้วก็จะมีวิธีการกระจายวัคซีนตามเป้าหมาย ที่ ศบค.ได้วางแผนเอาไว้ โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 4 เดือนจะให้ประชาชนไดรับวัคซีนเข็มแรกได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์ หรือครบก่อนเดือน ก.ย.64 แล้วเดือน ต.ค.ก็พอจะมีภูมิ และจะได้เปิดประเทศได้ในเวลาถัดไป ซึ่งนอกจากในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีการแบ่งเป็นรายสัปดาห์ เนื่องจากในช่วงแรกวัคซีนที่จัดหามาได้ มีข้อตกลงเพราะว่าไม่แน่ใจจะฉีดวัคซีนได้มากน้อยแค่ไหน แต่หลังจากที่ทดลองไปแล้วพบว่า ช่วง ก.พ.-พ.ค. มีศักยภาพมาก อย่างไรก็ตามวัคซีนที่จะมาในเดือน มิ.ย. ก็จะมีน้อยกว่าเดือน ก.ค.-ส.ค. และก.ย. ทางสธ.ก็มีแผนในการบริหารจัดการกระจายวัคซีนไว้แล้ว โดยรูปแบบก็จะพยายามจัดสรรนอกจากจะเป็นรายเดือนแล้ว ก็จะมีการจัดสรรเป็นรายสัปดาห์ หรือราย 2 สัปดาห์ ด้วย เพื่อให้วัคซีนที่ได้รับไปเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็ต้องบริหารจัดการให้เกิดความสอดคล้องกับจำนวนวัคซีน และผลลัพธ์ว่าประชาชนได้รับวัคซีนตามเป้าหมายเพียงใด

ส่วนก้อนที่สองจัดสรรให้กับกรุงเทพ มหานคร ส่วนที่สาม คือให้กับกองทุนประกันสังคม ส่วนที่สี่คือให้กับ 11 มหาวิทยาลัย และส่วนที่ห้าจัดสรรให้กับองค์กรภาครัฐต่างๆ ใน กทม. ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ที่ได้รับจัดสรรวัคซีนไป จะต้องดำเนินการจัดสรรแจกจ่ายให้กับเครือข่ายในองค์กรของตัวเอง และดำเนินการฉีดวัคซีนให้บุคลากร หรือประชาชนภายในระยะเวลาที่กำหนด

ด้านนพ.โอภาสกล่าวว่า ศบค.ตั้งสมมติฐานว่าในเดือน มิ.ย. จะได้รับวัคซีน 6.3 ล้านโดส โดยจะจัดสรรวัคซีน เช่น จังหวัด และ กทม. กองทุนประกันสังคม ได้ประมาณ 1 ล้านโดส 11 มหาวิทยาลัยได้ 5 แสน องค์กรภาครัฐใน กทม.ได้ 120,000 โดส และไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกประมาณ 300,000 โดส อันที่สองในส่วนของกทม. ได้รับจัดสรร 1,160,000 โดส ส่วนอีก 76 จังหวัด จะได้ 3,220,000 โดส แต่หากวัคซีนไม่ได้มาตามเป้า หรือมีการระบาดฉุกเฉินก็จะมีการลดทอนตามสัดส่วน

ร.พ.เอกชนแห่แจ้งเลื่อนฉีด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 13 มิ.ย. พบมีร.พ.เอกชนหลายแห่ง ออกมาประกาศเลื่อนคิวการฉีดวัคซีนที่มีการนัดหมายไว้ในวันที่ 14-20 มิ.ย. ออกไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาการจัดสรรวัคซีน จากสธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ร.พ.นมะรักษ์, ร.พ.รามคำแหง, ร.พ.กล้วยน้ำไท, ร.พ.วิชัยยุทธ, ร.พ.สินแพทย์, ร.พ.พญาไท, ร.พ.เกษมราษฎร์, ร.พ.เทพธารินทร์, ร.พ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, ร.พ.เปาโล เกษตร, ร.พ.พระราม 9, ร.พ.ราษฎร์บูรณะ และอื่นๆ โดยร.พ.นมะรักษ์ ระบุข้อความด้วยว่า “หากมีข้อสงสัยติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง”

ฮือฮาโพสต์หมอ‘นมะรักษ์’

ต่อมา รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้ร่วม ก่อตั้งร.พ.นมะรักษ์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กระบุว่า “อารมณ์เสีย โดนโทร.ปลุกแต่เช้า นอนไม่อิ่มจะทำให้หงุดหงิดมั้ยเนี่ยเรา จากโพสต์ของร.พ.เรื่องการเลื่อนนัดฉีดวัคซีน มีคนโทร.มาให้ติดต่อกลับด่วนและลบโพสต์ มิฉะนั้นจะ…..เดี๋ยวขอตรวจคนไข้ก่อน จะ live สด ถ้ายังไม่จบ เรื่องไม่เป็นเรื่อง เอาเวลาไปทำงานให้ประชาชนดีกว่า นอนไม่พอ ขอบตาดำไปด้วยเลยอ้ะ ลาแมร์ก็เอาไม่อยู่”

ขณะที่ ร.พ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประกาศเลื่อนคิวฉีดวัคซีนของผู้ที่จองคิวเอาไว้ในวันที่ 14-20 มิ.ย. เนื่องจากยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากสธ. ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค โดยหากโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรวัคซีนเมื่อใด จะแจ้งให้ทราบผ่านทางเอสเอ็มเอส

ใครอยากฉีดต้องซิโนแวค

ด้านร.พ.นครพิงค์ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากส่วนกลางว่า บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันในห้วงเวลา ดังกล่าวได้ ดังนั้นผู้ที่มีคิวในหมอพร้อม ระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. จะฉีดให้เฉพาะผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนซิโนแวคเท่านั้น แต่หากยืนยันประสงค์จะฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เหมือนเดิม ขอให้ติดต่อ ร.พ.นครพิงค์

ส่วนการฉีดวัคซีนต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ของร.พ.นครพิงค์ รวม 2,229 คน

ไทยฉีดอันดับ 3 อาเซียน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เริ่มนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นมานั้น ในช่วงวันที่ 7-12 มิ.ย. มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศจำนวน 1,865,190 โดส และตั้งแต่วันที่ 28 กพ.-12 มิ.ย. 2564 มีการฉีดสะสมแล้วรวมทั้งสิ้น 6,081,242 โดส แยกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,456,786 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,624,456 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมียอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีนสำหรับประชากรไทยในประเทศไทย

สปส.แจง 14 มิ.ย.ฉีดต่อ

นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณี สปส.ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ กทม. 45 ศูนย์ออกไป ว่า จากการเร่งแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องของสถานที่ รวมถึงการประสานงานกับนายจ้าง/ฝ่ายบุคคล เตรียมความพร้อมของ ผู้ประกันตนก่อนฉีด หรือการจัดลำดับคิวข้อมูลการลงทะเบียนซ้ำซ้อน สปส.ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้าให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย. พร้อมกัน 36 ศูนย์ทั่วกทม. ในส่วนของศูนย์ที่มีปัญหาเรื่องสถานที่และยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ ในสัปดาห์หน้าพร้อมกลับมาให้บริการได้ครบ 45 ศูนย์แน่นอน

ร.พ.กทม.แจ้งเลื่อนฉีด14-17

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อความชี้แจง จากกรณีที่สธ. แจ้งให้วัคซีนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผน เดือนมิ.ย. นั้น กทม.ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรรแอสตร้าฯ 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง โดย วันที่ 7-14 มิ.ย. กทม.ได้รับวัคซีนแอสต้าฯ จำนวน 350,000 โดส ซิโนแวค 150,000 โดส แบ่งการใช้วัคซีน แอสตร้าฯ เป็น ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส, เข็มที่สอง 52,600 โดส ,ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส ,ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส และสำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส

ส่วนซิโนแวค แบ่งการใช้เป็น เข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส, ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส 3.การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ ร.พ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย และ 4.กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก “วัคซีนพร้อม” ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที

ด้านสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประกาศ ร.พ.ในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ร.พ.กลาง ร.พ.ตากสิน ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ ร.พ.หลวงพ่อ ทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ ร.พ.ราชพิพัฒน์ ร.พ.สิรินธร ร.พ.คลองสามวา และร.พ.บางนากรุงเทพมหานคร แจ้งเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ผ่านการจองผ่านระบบหมอพร้อม หรือที่ร.พ. ระหว่างวันที่ 14-17 มิ.ย. เนื่องจากอยู่ระหว่างรอจัดสรรวัคซีนจากสธ. จึงขออภัยในความไม่สะดวกะ ทั้งนี้หากได้รับการจัดสรรวัคซีน ทางร.พ.จะแจ้งนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการอีกครั้ง ส่วนผู้ที่มีนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าว เข้ารับบริการฉีดได้ตามนัดหมาย

จ่อลดสถานะ 5 คุกสีแดง

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรค โควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. เวลา 16.00 น. มีผู้ต้องขัง ติดเชื้อรายใหม่ 409 ราย รักษาหายเพิ่ม 291 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 7,974 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตในวันนี้ โดยภาพรวมพบว่ามีเรือนจำ/ทัณฑสถาน ที่เป็นเรือนจำสีขาวไม่พบการแพร่ระบาดคงที่ 129 แห่ง และพบการแพร่ระบาด 12 แห่งคงเดิม ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงนับได้ว่าสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มี 5 แห่ง ที่ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มและอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อลดสถานะจากการเป็นเรือนจำสีแดง ให้เป็นเรือนจำปกติที่รับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ได้ คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำกลางเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน

รพ.อยุธยาวุ่น-ติดเชื้อ 18

ส่วนน.ส.ชนัญชิดา กาญจนลักษณ์ อายุ 36 ปี ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่จัสตุรัสจามจุรี กทม. จากนั้นก็มีอาการปวดเมื่อย แต่ยังขับรถกลับบ้านที่พระนครศรีอยุธยาได้ ต่อมาวันที่ 7 มิ.ย. มีอาการเพลีย ปวดเมื่อย มีไข้ ไม่มีแรง จึงไปหาหมอ ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.

นพ.พีระ อารีรัตน์ นพ.สสจ.พระนคร ศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางสสจ.พระนคร ศรีอยุธยา ได้ทำหน้าที่ช่วยประสานงาน การ เตรียมเอกสารและการส่งเอกสารให้กับทางครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อขอรับการเยียวยาช่วยเหลือ ซึ่งไม่ต้องรอผลการชันสูตร ช่วยเหลือทันที เนื่องจากเป็นการฉีดวัคซีนในพื้นที่กทม. ส่วนผลการชันสูตร ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 13 จะเป็นผู้ให้ข้อมูล น่าจะทราบผลในเร็วๆนี้

นพ.พีระกล่าวต่อว่า ได้รับการรายงานจาก นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผอ.โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานขับรถของร.พ. จำนวน 8 คนติดเชื้อโควิด และกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์อีก 10 คน ได้สอบสวนโรค นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัวที่ร.พ.ทันที และเร่งตรวจหาเชื้อโควิด บุคลากรทางการแพทย์ พนักงานร.พ. จำนวน 1,700 คน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-15 มิ.ย.พร้อมกับฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด โดยพนักงานขับรถรายหนึ่ง พร้อมกับภรรยา ซึ่งภรรยาทำงาน ที่ร.พ.ด้วย ติดเชื้อจากคนในครอบครัวซึ่งทำงานอยู่ในกทม. มาทราบว่าติดเชื้อเพราะเกิดอุบัติเหตุ ต้องตรวจติดโควิดก่อนรักษา

นพ.พีระกล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยใหม่พบ 22 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย ติดเชื้อมาจากกลุ่มโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ ใน อ.เสนา

กาญจน์พบอีก 4-ตาย 1

ด้านสสจ.กาญจนบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 4 ราย รวมสะสม 365 ราย หายป่วย 5 ราย สะสม 313 ราย รักษาอยู่ร.พ. 45 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ 343 อายุ 82 ปี ชาว ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. โดยมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เป็นหญิง อายุ 30 ปี ชาว ต.ปากแพรก อ.เมือง,ชาย อายุ 34 ปี หญิง อายุ 60 ปี ชาว ต.ทุ่งทอง อ.ท่าม่วง และด.ญ.อายุ 6 ปี ชาว ต.หนองบัว อ.เมือง

คลังย้ำคนละครึ่งเฟส 3 ต้องลงใหม่

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการเปิดให้ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 ในวันที่ 14 มิ.ย. เป็นวันแรก ว่าผู้ที่เคยรับสิทธิคนละครึ่ง เฟส 1 และ 2 รวมทั้ง ไม่ได้รับสิทธิ์ จะต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อยืนยันเข้าร่วมโครงการ ไม่มีการได้สิทธิ์อัตโนมัติ

สำหรับกลุ่มที่ได้สิทธิ์อยู่เดิมกว่า 15 ล้านคน ลงทะเบียนได้ที่ แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยระบบจะดึงข้อมูลเดิมมาให้ และต้องกรอกข้อมูลเพิ่ม ในส่วนของอาชีพ และ รายได้ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทะเบียนใหม่ ให้ลงทะเบียนได้ที่ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. สาเหตุที่ไม่ได้ระบุว่าให้ คนที่เคยได้สิทธิ์อยู่เดิม มากดยืนยันสิทธิ์ เพราะรอบนี้ ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิ์อัตโนมัติ จะต้องมากรอกข้อมูลเพิ่มเติมใหม่ จึงใช้คำว่า ให้มาลงทะเบียน แม้ว่าจะเป็นการลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบจำนวนผู้ได้สิทธิ์ ถึง 31 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังมั่นใจว่าครอบคลุมเพียงพอขอให้ไม่ต้องรีบแย่งกันมาลงทะเบียนวันแรก โดยทยอยลง ในวันที่สะดวกได้

‘บิ๊กตู่’จี้สอบแอบขายเหล้า

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานการลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หมั่นตรวจตราร้านอาหารทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันการกระทำความผิด และแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน