เจ๊งยับ2.7แสนล.
ป่วยใหม่21,379
เสียชีวิตเพิ่ม191
กทม.วันเดียว100
รพ.สนามมธ.ล้น

โควิดดับเบิลนิวไฮอีก ติดเชื้อพุ่ง 21,379 ราย ทะลุเกิน 7 แสนแล้ว เสียชีวิตเพิ่ม 191 ราย อายุมากสุด 104 ปี กทม.ตายมากสุด 100 ราย พบ 45 จังหวัดป่วยเกินร้อย ผู้ว่าฯกาญจน์สั่งล็อกดาวน์ชุมชนมอญบ้านวังกะ เนื่องจากมีคนติดเชื้อ 101 ราย พร้อมปิดสะพานมอญ 14 วัน ชลบุรียังน่าห่วง ป่วยเกินพัน 7 วันติด บุคลากรแพทย์ติดเชื้ออีก 34 ราย พระวัดดังที่อยุธยาต้องเผาศพโควิด หลังสัปเหร่อต้องกักตัว ร.พ.สนามธรรมศาสตร์วิกฤตเตียงใกล้ล้นแล้ว รัฐบาลโวระดมฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในปีนี้ สมาคมค้าปลีกเผยพิษโควิดเจ๊งแล้ว 2.7 แสนล้าน ร้านค้ากว่า 1 แสนร้านจ่อปิดกิจการ ทำคนตกงานนับล้าน ยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ด่วน

นิวไฮอีกติดเชื้อ21,379-ตาย191

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,379 ราย ป่วยสะสม 714,684 ราย รักษาหายเพิ่ม 22,172 ราย หายป่วยสะสม 495,904 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 191 ราย เสียชีวิตสะสม 5,854 ราย ยังรักษา 212,926 ราย อยู่ในร.พ. 85,030 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 127,896 ราย อาการหนัก 4,999 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,038 ราย

มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 670,834 โดส รวมฉีดสะสม 19,632,537 โดส เป็นเข็มแรก 15,180,276 ราย เข็มสอง 4,277,071 ราย และเข็มสาม 175,190 ราย

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,379 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,885 ราย โดยสัดส่วนมาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 10,761 ราย กทม. และปริมณฑล 9,135 ราย และ 4 จังหวัดภาคใต้ 989 ราย, มาจากเรือนจำ 484 ราย และผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศมี 10 ราย ได้แก่ อิสราเอล 2 ราย อังกฤษ เยอรมนี ประเทศละ 2 ราย เมียนมา และมาเลเซีย ประเทศละ 3 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติทั้งหมด

ผู้เสียชีวิต 191 รายมาจาก 19 จังหวัด ได้แก่ กทม. 100 ราย สมุทรสาคร 9 ราย นครปฐม 8 ราย ร้อยเอ็ด 7 ราย สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี และชลบุรี จังหวัดละ 6 ราย ตาก 5 ราย นครสวรรค์ กาญจนบุรี จังหวัดละ 4 ราย พัทลุง นครราชสีมา นครนายก ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 3 ราย ยะลา หนองคาย อุบลราชธานี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 2 ราย และระนอง สุราษฎร์ธานี ชัยภูมิ นครพนม ยโสธร สุโขทัย ตราด เพชรบุรี ระยอง และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 115 ราย หญิง 76 ราย อายุ 21-104 ปี ค่ากลางอายุ 67 ปี โดยเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 64% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 23% ไม่มีโรคเรื้อรัง 13% มีการนอนใน ร.พ.นานสุดก่อนเสียชีวิต 32 วัน พบการเสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย จากฉะเชิงเทรา และอุบลราชธานี

45จังหวัดติดเชื้อเกินร้อย

สำหรับจังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 ราย พบสูงขึ้นรวมถึง 45 จังหวัด โดย 10 จังหวัดรายงานติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 4,700 ราย สะสม 174,689 ราย 2.สมุทรสาคร 1,355 ราย สะสม 38,229 ราย 3.สมุทรปราการ 1,336 ราย สะสม 45,526 ราย 4.ชลบุรี 1,325 ราย สะสม 33,431 ราย 5.นนทบุรี 716 ราย สะสม 28,367 ราย 6.ปทุมธานี 552 ราย สะสม 22,124 ราย 7.ฉะเชิงเทรา 527 ราย สะสม 13,036 ราย 8.นครปฐม 476 ราย สะสม 14,588 ราย 9.สระบุรี 417 ราย สะสม 8,824 ราย และ 10.อุบลราชธานี 358 ราย สะสม 6,956 ราย

ส่วนอีก 35 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร 114 ราย, นครสวรรค์ 325 ราย, พระนคร ศรีอยุธยา 343 ราย, พิษณุโลก 103 ราย, เพชรบูรณ์ 136 ราย, ลพบุรี 291 ราย, สมุทรสงคราม 167 ราย, สุโขทัย 111 ราย, สุพรรณบุรี 193 ราย, อ่างทอง 254 ราย, ระยอง 339 ราย, สระแก้ว 131 ราย, กาฬสินธุ์ 239 ราย, ขอนแก่น 188 ราย, ชัยภูมิ 249 ราย, นครพนม 113 ราย, นครราชสีมา 281 ราย, บุรีรัมย์ 200 ราย, มหาสารคาม 254 ราย, ยโสธร 148 ราย, ร้อยเอ็ด 216 ราย, ศรีสะเกษ 201 ราย, สกลนคร 186 ราย, สุรินทร์ 248 ราย, อุดรธานี 187 ราย, กาญจนบุรี 170 ราย, ตาก 169 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 163 ราย, เพชรบุรี 140 ราย, ราชบุรี 204 ราย, นครศรีธรรมราช 351 ราย, นราธิวาส 240 ราย, ปัตตานี 287 ราย, ยะลา 198 ราย และสงขลา 264 ราย

สำหรับคลัสเตอร์ใหม่วันนี้ ได้แก่ 1.สมุทรสาคร บริษัทผลิตเหล็กท่อ อ.เมือง 16 ราย 2.ชลบุรี โรงงานยางในรถ อ.เมือง 17 ราย 3.ระยอง บริษัทก่อสร้าง อ.ปลวกแดง 15 ราย 4.ราชบุรี บริษัทพืชสวน อ.เมือง 40 ราย และ 5.ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานสับปะรดกระป๋อง อ.สามร้อยยอด 64 ราย

กทม.ได้ไฟเซอร์ครบแล้ว

ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย ร่วมแถลงสรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือนส.ค.นี้ ใกล้เคียงกับของกระทรวงสาธารณสุข โดยตัวเลขจะสูงสุดช่วงกลางเดือนส.ค. ซึ่งกทม.พิจารณาจากปัจจัยการล็อกดาวน์ และปริมาณการฉีดวัคซีน โดยกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยติดเชื้อทรงตัวประมาณ 2,000 ราย 3,000 ราย และวันนี้ 4,000 ราย ซึ่งค่อนข้างสูง เป็นตัวเลขที่ได้จากการตรวจเชิงรุกทั้งตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค) และด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ดังนั้นช่วงเดือนนี้อาจยังพบผู้ป่วยอีกค่อนข้างมาก

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุด ศบค.มีสั่งแยกยอดให้ 25 ศูนย์ฉีดในโครงการไทยร่วมใจ โดยยอดเดือนส.ค.นี้ รวม 7.5 แสนโดส นัดหมายทยอยส่งมอบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ จนกว่าจะได้ครบตามยอด 4 สัปดาห์ ดังนี้ ครั้งที่ 1 จำนวน 175,000 โดส ครั้งที่ 2 จำนวน 175,000 โดส ครั้งที่ 3 จำนวน 175,000 โดส และครั้งที่ 4 จำนวน 225,000 โดส และอีกยอด คือ 5 แสนโดส ให้ระบบหมอพร้อม 174,000 โดส เข็มสอง 57,000 โดสและฉีดควบคุมการระบาดกลุ่มเสี่ยง 608 เข็มสองบางส่วน 269,000 โดส ทั้งนี้กทม.มีศักยภาพฉีดวัคซีนได้วันละ 7-8 หมื่นโดส แต่ได้รับการจัดสรรวัคซีนที่มีจำนวนจำกัด

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า ส่วนวัคซีนทางเลือกทั้งวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนซิโนฟาร์ม กทม.มีความพร้อมในการจัดซื้อ แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้

ปรับเกณฑ์ฉีดไฟเซอร์

ด้านนางป่านฤดีกล่าวว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่สธ.จัดสรรให้ฉีดในกลุ่มบุคลากรแพทย์และด่านหน้านั้น กทม.ได้มาครบตามยอด และร.พ.ในสังกัดทั้ง 11 แห่งทยอยรับไปแล้ว ทั้งนี้สธ.มีบันทึกว่าให้บุคลากรแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็ม และสมัครใจรับเข็มที่ 3 อย่างไรก็ตาม การบริหารวัคซีนไฟเซอร์ค่อนข้างยาก ทั้งเรื่องการเก็บที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และเป็นวัคซีนที่คนอยากได้ จึงกำชับทุกร.พ.ว่าอย่านำคนนอกกลุ่มมาฉีดเด็ดขาด เพราะมีหลักเกณฑ์มาแล้ว และทุกร.พ.ต้องนำไปบริหารจัดการ

นางป่านฤดีกล่าวว่า ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มมีความคืบหน้า ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนสั่งซื้อตามแนวทางของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เร็วๆ นี้ จะแล้วเสร็จ และตั้งเป้าฉีดให้กลุ่มเปราะบาง

นายสุขสันต์กล่าวว่า ล่าสุด กรมควบคุมโรคสธ.ส่งวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 7,660 โดส ครบและเป็นไปตามยอดที่สำรวจ เบื้องต้นเน้นกลุ่มบุคลากรที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม ในช่วงแรก แต่ล่าสุดมีการปรับเกณฑ์ใหม่ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ ทั้งนี้ร.พ.กทม.มีบุคลากรทางการแพทย์ 7,000 กว่าคน แต่ถ้ารวมส่วนอื่นด้วยประมาณ 1 หมื่นคน

ชลบุรีป่วยเกินพัน 7 วันซ้อน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ชลบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,325 ราย ทำสถิติป่วยเกิน 1 พันคน 7 วันติดต่อกัน ยอดป่วยสะสม 33,444 ราย กำลังรักษา 16,356 ราย หายป่วยสะสม 16,932 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิต 156 ราย พบผู้ติดเชื้อกระจาย 10 อำเภอ คือ อ.เมืองชลบุรี 353 ราย อ.ศรีราชา 301 ราย อ.บางละมุง 223 ราย อ.บ้านบึง 121 ราย อ.พานทอง 112 ราย อ.สัตหีบ 55 ราย อ.พนัสนิคม 67 ราย อ.บ่อทอง 15 ราย อ.เกาะจันทร์ 16 ราย และ อ.หนองใหญ่ 12 ราย พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 34 ราย

74บุคลากรแพทย์รพ.ชลฯติดเชื้อ

ด้านโรงพยาบาลชลบุรี ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบว่า ช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 74 ราย ขอให้ทุกท่านมาโรงพยาบาลเมื่อมีความจำเป็นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากรับยาเพื่อความปลอดภัย ท่านสามารถรับยาทางไปรษณีย์ โดยสแกนคิวอาร์โค้ดของทางโรงพยาบาลชลบุรี หรือโทร.0-3893-1520-1 และโปรดปฏิบัติตนเหมือนเราติดเชื้อโควิด-19 ไม่เปิดหน้ากากใส่กัน

สัปเหร่อจำเป็น – พระครูสังฆรักษ์ สายัณห์ เจ้าอาวาสวัดทางกลาง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยพระลูกวัด สวมชุดพีพีอีเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด แทนสัปเหร่อของวัดที่ต้องกักตัวเพราะติดเชื้อ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

พระต้องเผาศพโควิด

ที่วัดทางกลาง อ.บางปะหัน จ.พระนคร ศรีอยุธยา พระครูสังฆรักษ์ สายัณห์ อายุ 52 ปี เจ้าอาวาสวัดทางกลาง พร้อมพระลูกวัด สวมใส่ชุดพีพีอีเตรียมเผาศพผู้เสียชีวิตติดเชื้อ โควิด-19 ที่เสียชีวิตที่ร.พ.บางปะหันเคลื่อนย้ายมา จากนั้นพระสงฆ์พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลช่วยแบกโลงศพขึ้นเมรุเพื่อประกอบพิธีเผาศพ โดยมีเพียงลูกสาวของผู้เสียชีวิตที่อาศัยอยู่กันคนละบ้านสวมใส่ชุดพีพีอีมานั่งฟังพระสวดพระอภิธรรม

พระครูสังฆรักษ์กล่าวว่า ที่วัดใช้ศาลาการเปรียญเป็นศูนย์พักคอย ดูแลรักษาชาวบ้านใน ต.ทางกลาง และต.เสาธง และวัดยังรับเผาศพผู้ติดเชื้อโควิดมาแล้ว 5 ราย ก่อนสัปเหร่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัว พระต้องมาทำหน้าที่ในการเผาเองด้วย วัดจะรับเผาศพเพียงวันละ 1 ศพ เพราะต้องถนอมเตาเผาศพเอาไว้

สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นหญิงไทยอายุ 71 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวานและป่วยโรคปอดภายในบ้านติดเชื้อโควิดทั้งหมด 4 คนยังรักษาตัวอยู่ภายในบ้าน ผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้รักษาตัวอยู่ภายในบ้าน ต่อมาอาการหนักจึงย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลได้เพียง 3 วันก็เสียชีวิต

ส่วนจ.พระนครศรีอยุธยาติดเชื้อเพิ่ม 349 ราย ป่วยสะสม 10,911 ราย เสียชีวิต 2 ราย

กาญจน์ติดเชื้อเพิ่ม 196

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี รายงาน ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 196 ราย สะสม 5,425 ราย หายป่วย 7 ราย สะสม 1,284 ราย อยู่ระหว่างรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ 4,099 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย สะสม 42 ราย

ผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นหญิง อายุ 35 ปี ชาว ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่งตัวจากร.พ.สังขละบุรีมารับการรักษาที่ร.พ.พหลฯ หญิง อายุ 21 ปี ชาว ต.วังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โรคประจำตัวเบาหวาน และชาย อายุ 80 ปี ชาวต.หนองโสน อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

กาญจน์ล็อกชุมชนมอญบ้านวังกะ

วันเดียวกัน นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี มีคำสั่งปิดหมู่บ้านชุมชนบ้านวังกะ ฝั่งมอญ เทศบาลตำบลวังกะ หมู่ที่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 6-19 ส.ค.2564 เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวาง ประกอบกับเป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่น มีประชากรอาศัย 8,000 คน และมีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 72 คน และผลตรวจจากแอนติเจน เทสต์ คิต เป็นบวกอีก 29 คน รวม 101 คน

ห้ามเข้าออกพื้นที่หมู่บ้านชุมชนบ้านวังกะ ฝั่งมอญ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่เทศบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และหัวหน้าคุ้มบ้านเป็นผู้ปฏิบัติงานในจุดควบคุมดังกล่าวหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานควบคุมโรคติดต่ออำเภอ หรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ

นอกจากนี้ยังปิดสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) ไม่ให้สัญจรไป-มา ปิดการสัญจรทางน้ำระหว่างชุมชนบ้านวังกะกับพื้นที่อื่นๆ โดยขอรับการสนับสนุนกำลังจากชุดปฏิบัติการทางเรือ หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า พร้อมมอบหมายให้อำเภอสังขละบุรีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดกั้น จุดควบคุมการเข้าออกบริเวณสามแยกวัดวังก์วิเวการาม ส่วนการขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค การขนส่งทางการแพทย์ การขนส่งพัสดุภายในประเทศและสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยให้ขนถ่าย ณ บริเวณสามแยกวัดวังก์วิเวการาม

ระดมหมอ – ทีมแพทย์ชนบทระดมบุคลากรจากทั่วประเทศมาช่วยตรวจเชิงรุกประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด ในชุมชนและแคมป์คนงาน หมู่บ้านเอื้ออาทร ท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

แพทย์ชนบทจี้เปิดศูนย์กักชุมชน

ด้านชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเพจ ชมรมแพทย์ชนบท สะท้อนปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯว่า “คนจนเมืองกับบ้านหลังเล็กๆ เขาจะทำ home isolation ได้อย่างไร

อุปสรรคอย่างยิ่งของคนจนเมืองในชุมชน แออัด คือเขาอยู่กันอย่างหนาแน่นในชุมชน และอยู่กันบ้านหลังเล็กๆ เมื่อมีคน ติดเชื้อสัก 1 คน อีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็จะติดเชื้อทั้งบ้าน ดังนั้นเราจึงพบทั้งเด็กเล็กเด็กโตผู้สูงอายุติดเชื้อจำนวนมากแม้จะไม่ได้ออกไปไหน

ความยากของคนจนเมือง คือจะกักตัวเองที่บ้านอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อคนในครอบครัว ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้นคำตอบหนึ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยคนจนเมืองในชุมชนแออัด คือการเปิดศูนย์พักคอยหรือศูนย์กักชุมชน โดยใช้สถานที่กลาง เช่น โรงเรียน หรืออาคารของทางราชการที่มีพื้นที่ว่าง รับตัวคนติดเชื้อโควิดมานอนรวมกัน แยกเขาออกจากบ้านเพื่อจะได้ลดการแพร่ระบาดของโรคในครอบครัวเขาและในชุมชน แต่วันนี้ศูนย์พักคอยหรือศูนย์กักชุมชนในกรุงเทพฯยังมีน้อยมาก น้อยและไม่ครอบคลุมทุกแขวงทุกเขต จึงไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้เลย”

รพ.สนามธรรมศาสตร์เตียงจ่อล้น

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยเกิน 20,000 คนต่อวัน ส่งผล กระทบต่อทุกโรงพยาบาลในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช้าวันนี้จำนวนการครองเตียงของผู้ป่วยโควิดในร.พ.ธรรมศาสตร์สูงเกิน 100 เตียง จากเตียงโควิด 109 เตียงในร.พ.หลักที่เตรียมไว้ ทั้งที่เมื่อคืนมีการย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลสนามบางส่วนแล้ว และมีผู้ป่วย โควิดเสียชีวิตในโรงพยาบาลเพิ่มอีกหนึ่งคน

ผลการตรวจ swab RT -PCR ทั้งหมด 150 รายเมื่อวานนี้ ผลเป็นบวกถึง 49 ราย คิดเป็นหนึ่งในสามของผู้เข้ารับการตรวจทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดต้องทยอยรับเข้าแอดมิตที่นี่ ในจำนวนนี้ มีบุคลากรของร.พ. สามคน เป็นพยาบาล OR หนึ่ง และเจ้าหน้าที่วอร์ดรังสีอีกสองคน

ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้าร.พ.สนามสะท้อนจำนวนผู้ป่วยใหม่ของประเทศด้วย จนถึงเย็นนี้เรารับผู้ป่วยใหม่เข้าดูแลรักษาในร.พ.สนามมากถึง 50 ราย ขณะที่ส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้รวม 28 คนเท่านั้น จำนวนผู้ป่วยคืนนี้จึงใกล้จะถึงหลักสี่ร้อยแล้ว อยู่ที่ 382 คน อีกเพียงหนึ่งหรือสองวันเท่านั้น ที่ทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามอาจจะเต็มล้น จนถึงจุดที่ขยับหรือหมุนเตียงเพื่อรับผู้ป่วยใหม่อีกไม่ได้อีกเลย

สธ.กระจายชุดตรวจ ATK

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการกระจายชุดตรวจโควิดแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) ว่า ชุดตรวจ ATK ที่จะจัดสรรนั้นมี 8.5 ล้านชุด เบื้องต้นวางหลักการกระจายคือสำรองคงคลังเพื่อจัดสรรตามสถานการณ์ 1.5 ล้านชุด ส่วนที่เหลือจัดสรรตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่และจำนวนประชากร โดยขั้นต่ำจัดสรร 40,000 ชุด หากจังหวัดไหนไม่พอ จะนำส่วนที่สำรองไว้มาจัดสรรเพิ่มเติมตามความจำเป็นและเร่งด่วน หากเป็นไปตามคาดน่าจะสามารถจัดส่งชุดตรวจ ATK ทั้งหมดได้ใน 7 วัน

ด้านพญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช. กล่าวถึงรูปแบบกระจายชุดตรวจ ATK ไปยังหน่วยบริการเพื่อแจกประชาชนว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะกระจายชุดตรวจไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในจังหวัดต่างๆ และสำนักอนามัยของกทม. ตามจำนวนและหลักเกณฑ์ที่สธ.กำหนด จากนั้นสสจ.และสำนักอนามัยจะกระจายต่อไปยังหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัด เมื่อหน่วยบริการจะแจกจ่ายชุดตรวจแก่ประชาชน ต้องยืนยันตัวตนก่อนการให้บริการหรือการขอ Authen code พร้อมแนะนำการตรวจ และการแปลผลให้แก่ประชาชนก่อน ซึ่งหน่วยบริการจะได้รับการจ่ายชดเชยในอัตรา 10 บาท/ชุด ทั้งนี้รพ.สต.อาจจัดมุมให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเองแล้วให้เจ้าหน้าที่ช่วยแปลผลให้ก็ได้

“ข้อแนะนำหลังทราบผลตรวจ ATK กรณีผลตรวจเป็นบวก เราจะแนะนำให้การรักษาแบบดูแลที่บ้าน หรือดูแลที่ชุมชน ซึ่งกรณีจะเข้าดูแลที่ชุมชน แนะนำให้ RT-PCR ก่อน แต่ถ้าผลตรวจเป็นลบ ให้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัว และตรวจซ้ำตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข” พญ.กฤติยา กล่าว

เมื่อเวลา 14.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลธัญบุรี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยมีนพ.สราวุธ ธนะเสวี ผอ.รพ.ธัญบุรี นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง สสจ.ปทุมธานี พร้อมด้วย อสม.ปทุมธานี ต้อนรับ โดยนายอนุทินมอบวัคซีนซิโนแวคให้กับตัวแทนอสม.และมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้กับผอ.รพ.ธัญบุรีเพื่อนำไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์

นายอนุทินเปิดเผยว่า ช่วงนี้โดยทั่วไป การฉีดวัคซีนค่อนข้างจะเข้าเป้าที่กำหนดประมาณ 70% ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป วัคซีนที่จะได้กระจายไปยังภูมิภาค ทุกจังหวัดของประเทศ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนน้อยและทำงานหนักในช่วงนี้

จ่ายเยียวยาม.33 แล้ว2.4ล้านคน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนว่า รัฐบาลได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ในพื้นที่สีแดงเข้ม คนละ 2,500 บาท งวดแรก เมื่อวันที่ 4 ส.ค.จ่าย 1 ล้านคน เป็นเงิน 2,500 ล้านบาท งวดที่ 2 วันที่ 5 ส.ค.จ่ายเพิ่มอีก 1 ล้านคน เป็นเงิน 2,500 ล้านบาท และงวดที่ 3 วันที่ 6 ส.ค.จ่ายเพิ่มอีก 434,000 คน ยอดเงิน 1,085 ล้านบาท รวม 3 งวด จ่ายเงินไปแล้วทั้งหมด 2,434,000 คน เป็นเงิน 6,085 ล้านบาท โดยการโอนเงินทั้งหมด จ่ายผ่านบัญชีพร้อมเพย์

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนของนายจ้างจะได้รับทั้งสิ้นหัวละ 3,000 บาท สำหรับลูกจ้างที่ไม่เกิน 200 คน ก็จะให้จ่ายให้ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ซึ่งก็จะส่งไปที่บัญชีธนาคารตามที่นิติบุคคล หลังจากนั้นจะทยอยส่งให้นายจ้างและผู้ประกันตนทุกๆ วันศุกร์จนครบ ในเฟสต่อมาของอีก 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จะเริ่มจ่ายในวันที่ 9 ส.ค. หลังจากนั้นจะเป็นผู้ประกันตนที่อยู่ใน 13 จังหวัด จากนั้นจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 โดยเฟสสุดท้ายจะส่งมอบให้กับอาชีพอิสระ ตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ในพื้นที่ 29 จังหวัด นอกจากนี้กลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์สาธารณะ รถรับจ้างรถแท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์ที่อายุเกิน 65 ปี ทางกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งพิจารณาเพื่อให้ครม.พิจารณาในขั้นต่อไป

พิษล็อกดาวน์-เจ๊ง 2.7 แสนล้าน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค้าปลีกวิกฤตหนัก จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.ค.2564 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก อยู่ที่ระดับ 16.4 ต่ำสุด ในรอบ 16 เดือน คิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบถึง 70% เป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท มาจากการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนก.ค. ซึ่งลดลงทั้งการใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ในการจับจ่าย มากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุนสินค้า เพราะกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนตัวลง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา สมาคมคาดว่าภาคการค้าปลีก และบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี เพราะความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศจะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้มีกว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่าล้านคน

“ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนส.ค.ที่ปัจจุบันขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น จึงอยากขอให้รัฐบาลควรเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วที่สุด ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาเข้มข้นแบบเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ พยุงการจ้างงาน รวมทั้งเร่งสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ”

เสนอ 4 ข้อรัฐเร่งแก้ไข

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า สมาคมฯ มี 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้าง ช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน 2.ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน 3.ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ซอฟต์โลนให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน และ 4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน

รุกตรวจ – เจ้าหน้าที่เข้าตรวจคัดกรองชาวบ้าน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา หลังพบ ผู้ติดเชื้อโควิด 2 ราย และกลุ่มเสี่ยงอีก 60 ราย จนต้องสั่งปิดหมู่บ้านห้ามเข้าออกเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

คิวยาว – ประชาชนจำนวนมากต่อคิวรอฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า ตามที่ร.พ.ปัตตานีจัดเตรียมไว้สำหรับ 4,000 คน จนแน่นอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน