ใช้กม.โรคติดต่อแทน
สลดทารก1วันกำพร้า
แม่เสียชีวิตจากโควิด
กทม.ป่วยทะลุ 3แสน
ปีหน้าซื้ออีก200ล.โดส

จ่อยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ศบค.ใหญ่นัดถกวันศุกร์นี้ เผยเตรียม นำพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับ แก้ไขมาใช้แทน หลังสถานการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตโควิดเริ่มลด ขณะที่ศบค.ก็จะโดนยุบไปด้วย รอฟังสธ.เสนอคลายล็อกเพิ่ม ขณะที่ยอดติดเชื้อรายวัน 13,988 เสียชีวิตอีก 187 ยอดตายเกิน 1.3 หมื่น กทม.ป่วยทะลุ 3 แสนแล้วหัวหินวุ่น เจอคลัสเตอร์ใหม่ นักเรียนนายสิบทบ.ติดเชื้ออื้อ เจอกลุ่มเสี่ยงนับร้อย สธ.กางแผนปีหน้าจัดหาวัคซีนกว่า 200 ล้านโดส รองรับโควิดกลายพันธุ์ ยันไทยยังไม่มีสายพันธุ์มิวระบาด แต่เฝ้าระวังใกล้ชิด เตรียมซื้อยารักษาโควิดตัวแรก “โมลนูพิราเวียร์” คาดรู้ผลทดลองเฟส 3 สิ้นก.ย.นี้ ขึ้นทะเบียนอย.อเมริกาต.ค. จากนั้นเดือนพ.ย.ขึ้นทะเบียนอย.ของไทย นำมาใช้แทนฟาวิพิราเวียร์

ป่วยใหม่13,988-ตายเกิน1.3หมื่น

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,988 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,527 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,561 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,966 ราย และมาจากเรือนจำ 444 ราย

เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1 ราย และกัมพูชา 16 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,294,522 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 17,284 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,132,858 ราย อยู่ระหว่างรักษา 148,622 ราย อยู่ในร.พ. 44,954 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 103,668 ราย อาการหนัก 4,601 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,013 ราย ตัวเลขตรงนี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ถือเป็นข่าวดี จะได้ใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิต 187 ราย มาจาก 37 จังหวัด ได้แก่กทม. 24 ราย, ชลบุรี 20 ราย, สมุทรสาคร 17 ราย, ปทุมธานี 16 ราย, พระนครศรีอยุธยา 12 ราย, นครปฐม อ่างทอง จังหวัดละ 11 ราย, สระบุรี 10 ราย, สมุทรปราการ สุพรรณบุรี จังหวัดละ 5 ราย, นนทบุรี ปัตตานี สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 4 ราย, ชัยภูมิ ตาก ระนอง ลพบุรี สมุทรสงคราม จังหวัดละ 3 ราย, เชียงราย นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย และมหาสารคาม อุบลราชธานี นครราชสีมา พิษณุโลก สตูล พัทลุง ยะลา ตรัง ราชบุรี ระยอง นครนายก ตราด และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 101 ราย หญิง 86 ราย อายุ 13-95 ปี เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 131 ราย คิดเป็น 70% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 41 ราย คิดเป็น 22% รวม 2 กลุ่มนี้สูง 92% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 14 ราย คิดเป็น 7% พบเด็กอายุ 13 ปีเสียชีวิต 1 รายมีโรคประจำตัว ที่จ.ตาก และพบเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย เป็นชายอายุ 44 ปี จ.ระยอง มีโรคประจำตัวและติดเตียง ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 13,042 ราย

กทม.ติดเชื้อพุ่งเกิน 3 แสน

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,610 ราย สะสม 301,383 ราย 2.สมุทรปราการ 868 ราย สะสม 87,084 ราย 3.สมุทรสาคร 71 ราย สะสม 79,091 ราย 4.ชลบุรี 706 ราย สะสม 67,603 ราย 5.เพชรบูรณ์ 488 ราย สะสม 7,146 ราย 6.ระยอง 464 ราย สะสม 20,441 ราย 7.นนทบุรี 300 ราย สะสม 46,000 ราย 8.พระนครศรีอยุธยา 294 ราย สะสม 22,226 ราย 9.นครราชสีมา 278 ราย สะสม 20,149 ราย และ 10.ราชบุรี 267 ราย สะสม 20,118 ราย

ติดเชื้อระดับ 200 รายขึ้นไป มีอีก 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา 263 ราย, นครปฐม 249 ราย, หนองคาย 249 ราย, ภูเก็ต 241 ราย และยะลา 229 ราย

ศบค.ชี้ผ่านจุดพีกสุดแล้ว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า กราฟมีทิศทางลงซึ่งเราผ่านช่วงหนักคือก.ค.-ส.ค.มาแล้ว โดยการติดเชื้อใหม่สถานการณ์จริงต่ำกว่าสถานการณ์ที่คาดการณ์จากการล็อกดาวน์ ส่วนการเสียชีวิตยังเกาะติดไปกับกราฟที่คาดการณ์ ซึ่งกราฟวันนี้เป็นผลจากการทำงานหนักของประชาชน และผู้ประกอบการที่ปิดร้านมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เลยเห็นผลของวันนี้

แต่วันนี้เราปรับมาตรการ เห็นบรรยากาศคนเข้าห้าง อยากซื้อของ ออกไปทำธุรกิจต่างๆ มากมาย ขอให้ดูแลตัวเองอย่างดี ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นเหมือนที่คาดการณ์ คือโดยผลการล็อกดาวน์ยังมีแรงเฉื่อยได้ถึงปลายเดือนนี้หรือต้นต.ค. จากนั้นจะพุ่งขึ้นมีผู้ป่วยมากขึ้นกว่านี้ ถ้าคุมไม่ดี อาจจะแตะ 3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนเสียชีวิตอาจไม่สูงขึ้นมาก จากการให้วัคซีน ในกลุ่มโรคเสี่ยง ขณะที่ผู้เสียชีวิตในปัจจุบันก็สอดคล้องกับเส้นกราฟที่มีการคาดการณ์กันไว้ในกรณีประชาชนให้ความร่วมมือร้อยละ 25 แต่เดือน ต.ค.ยอดอาจจะพุ่งได้เช่นกัน”

สำหรับพื้นที่กทม.วันนี้ติดเชื้อ 3,610 ราย มาจากทั้ง 50 เขต โดย 5 เขตแรกที่ติดเกินร้อยราย ได้แก่ หลักสี่ 135 ราย จอมทอง 132 ราย บางกะปิ 125 ราย บางขุนเทียน 101 ราย และบางคอแหลม 101 ราย ต้องฝากกทม.ดูแลกิจการกิจกรรมตัวเองให้ดี การเปิดเห็นภาพแออัดแน่น คนเข้าห้าง รอตั้งแต่เช้า อยู่ที่หลากหลายพื้นที่ พื้นที่กทม.เล็กอยู่แล้ว อยู่อย่างแออัดอยู่แล้ว สถานที่ต่างๆ ถึงไม่เพียงพอ เชื้อโรคชอบความแออัด อาจเพิ่มจำนวนคนติดเชื้อขึ้นมาได้ สิ่งที่ทำไม่เห็นพรุ่งนี้ จะเห็นอีกที 2 สัปดาห์ข้างหน้า มาตรการที่ออกมาปลายสัปดาห์นี้ ต้นสัปดาห์หน้าเป็นผลของการมาตรการ จึงขอว่าการ์ดอย่าตกอีกครั้ง

การคาดการณ์ของสธ. ตั้งแต่เม.ย.ไล่มา เคสไม่มาก พีกสุดช่วง 30 ก.ค.-12 ส.ค. ทุกจังหวัดเป็นสีแดงทั้งหมด เฉลี่ยสัปดาห์ 37 มากสุด 16,000 รายต่อวัน จากกราฟเราผ่านภูเขาลูกใหญ่มาแล้ว ตอนนี้ก.ย.ขอให้ช่วยกัน กดลงไปให้มากที่สุด เราต้องช่วยกันให้การติดเชื้อรายใหม่เกิดน้อยสุด การฉีดวัคซีน ภาพรวมเข็มแรก 25.23 ล้านราย คิดเป็น 50.5% ครึ่งทางแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่หญิงตั้งครรภ์ยังฉีดได้หลักเดียว ชักชวนเข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว

ฉีดวัคซีนแล้ว 35 ล้านโดส

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 325,218 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 35,912,894 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 25,234,259 ราย คิดเป็น 50% ครบ 2 เข็ม 10,074,612 ราย และเข็มสาม 604,023 ราย ถือว่าเราฉีดมาได้ครึ่งทางของเป้าหมายแล้ว แต่ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ยังต่ำอยู่ จึงขอเชิญชวนให้มาฉีด

ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อ 221,542,850 ราย เสียชีวิตสะสม 4,581,744 ราย ไทยอยู่อันดับ 29 ของโลก อย่างไรก็ตาม ดูจากอัตราผู้ติดเชื้อของประเทศต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นช่วงๆ จึงไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน เราต้องเรียนรู้ แต่ถ้าดูเฉพาะอัตราการเสียชีวิตของโลกจะอยู่ที่ 2.07% แต่ของไทยอยู่ที่ 1.02% ถือว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่คือการพยายามให้วัคซีนที่จะช่วยลดการเจ็บหนักและเสียชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตและการเจ็บหนักจะเป็นตัวชี้ขาดความรุนแรงของโรค หากตัวเลขการเสียชีวิตและการป่วยหนักมีจำนวนมาก ต้องใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลมาก ถือว่าความรุนแรงของโรคมาก

“ปลายสัปดาห์นี้วันศุกร์หรือต้นสัปดาห์หน้าอาจประชุมศบค.ชุดใหญ่ นายกฯเป็นประธาน จะมีการดูตัวเลขต่างๆ รอบ 14 วันที่ผ่านมา ฝากว่าวันนี้เรากินบุญเก่า 2 สัปดาห์ที่แล้ว ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อมีไปอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้กิจการกิจกรรมที่สื่อบอกว่าผ่อนคลาย ผมบอกว่าเป็นการปรับมาตรการ ขอให้การ์ดอย่าตก ทั้งป้องกันตนเองขั้นสุด บับเบิลแอนด์ซีล ถ้าทุกคนมีสุขอนามัยส่วนตัวดี ทำเรื่องป้องกันดูแลตนเอง จะไปดูภาพกราฟตรงนี้อีกครั้ง ไม่อยากเห็นกราฟสีเขียวที่พุ่งขึ้นมากทำให้เกิดการติดเชื้อวันละ 3 หมื่นคน เราเดินทางมาได้ดีแล้ว ทุกคนเป็นพลังของไทยในการขับเคลื่อนสู้โควิดนี้ เมื่อรู้อยู่ คู่กับเขาได้ การกำจัดไปทฤษฎีแพทย์เราไม่ได้หวัง ต้องอยู่ร่วมกับโรค เหมือนวัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโควิดก็เช่นกัน

สลดทารก 1วันกำพร้าแม่ดับโควิด

ด้านนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์เรื่องสถานการณ์เด็กกำพร้า ผลกระทบจากโควิด-19 และการเยียวยาฟื้นฟูว่า จากข้อมูลศบค. พบเด็กติดเชื้อโควิดตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.-4 ก.ย. 2564 มีจำนวน 142,870 คน แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 31,111 คน และภูมิภาค 111,759 คน ส่วนเด็กกำพร้าจากโควิด-19

ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.ถึง 4 ก.ย. มี 369 คน 5 จังหวัดที่มีเด็กกำพร้ามากที่สุดคือปัตตานี 57 คน นราธิวาส 34 คน ยะลา 26 คน พระนครศรีอยุธยา 18 คน และกาฬสินธุ์ 14 คน ตามลำดับ ขณะที่กรุงเทพฯ 7 คน โดยเป็นการกำพร้าพ่อมากที่สุด 180 คน หรือร้อยละ 48.78 รองลงมากำพร้าแม่ 151 คน หรือร้อยละ 40.92 ขณะที่กำพร้าทั้งพ่อและแม่ 3 คน และไม่มีผู้ดูแล 35 คน ช่วงอายุเด็กกำพร้า ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 6-18 ปี รองลงมาช่วงแรกเกิดถึง 3 ขวบ ขณะที่เด็กกำพร้าที่มีอายุน้อยที่สุดคืออายุ 1 วัน จากการสูญเสียแม่

นางสุภัชชากล่าวต่อว่า พม.บันทึกข้อมูลเด็กเหล่านี้ลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก หรือระบบ CPIS เพื่อให้การช่วยเหลือ ติดตามการช่วยเหลือ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันช่วยเหลือไป 9 พันกว่าราย ทั้งเด็กไทยและเด็กข้ามชาติหรือไม่มีสัญชาติ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การให้ความช่วยเหลือ เช่นให้เงินสงเคราะห์เด็กฯ ให้สิ่งของอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวเป็นการจัดทำแผนแยกรายบุคคล เช่น การจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็ก

จ่อเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวศปก.ศบค.เตรียมเสนอให้พิจารณาให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ว่า ทุกอย่างต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.มีนโยบายให้เตรียมการไว้อยู่แล้ว และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมาสังคมก็ไม่สบายใจ แม้จะอยู่ร่วมกับกฎหมายดังกล่าวโดยแทบไม่รู้สึก แต่การใช้ต้องมีวันสิ้นสุด ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อไหร่แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลและศบค.

เมื่อถามว่าสถานการณ์แพร่ระบาดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการมีอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่วันนี้อาจจะมีกฎหมายอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังปรับปรุงพัฒนา คือพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้ หากกฎหมายเสร็จสิ้นก็พร้อมที่จะมาทดแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางศบค.ก็พร้อมจะนำพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขมาใช้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน มีแนวโน้มจะไม่ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เป็นไปได้ ถ้าสถานการณ์ระบาดทรงตัวอยู่ในลักษณะนี้ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเข้าใจกันมากพอสมควร แม้จะมีบางส่วนที่ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าอยู่ระดับนี้ต่อหรือดียิ่งขึ้น ก็สามารถพิจารณาได้ แต่ที่จริงสถานการณ์ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เพียงแต่เป็นปัจจัยที่จะนำมาพิจารณา โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกฯ ในฐานะผอ.ศบค.และนโยบายของรัฐบาลพิจารณา

ศบค.ก็จะยุบไปด้วย

เมื่อถามย้ำว่าถ้าไม่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การทำงานของตัวศูนย์ศบค.จะยังอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ถ้าไม่ได้ใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ศบค.ก็ต้องหมดและจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่ว่าจบแล้วหายไปจากวงจรจากระบบ แต่อาจจะแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับ

โดยกฎหมายใหม่ที่จะรองรับ รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ และเท่าที่เห็นร่างผ่านตา น่าจะตอบโจทย์และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ และน่าจะดีกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีแต่ความเข้มข้นแต่ไม่ตอบโจทย์ทุกกรณี ส่วนกฎหมายใหม่ตอบโจทย์ได้ทุกกรณี และผ่านการเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทราบดีว่าอะไรคือปัญหา ต่างจากพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ใช้คลุมในทุกเรื่อง

พล.อ.ณัฐพลกล่าวต่อว่า เราแก้ปัญหา โควิด-19 มาเกือบจะ 2 ปีแล้ว ทราบว่าอะไรคือปัญหาและการจะออกกฎหมายในแต่ละฉบับ ต้องมาพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้รองรับและสามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนและสื่อมวลชนไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อจบศบค.แล้วจะยังรับมือสถานการณ์ได้อยู่หรือไม่ เพราะกฎหมายใหม่ สามารถรับได้แน่นอน

ทั้งนี้หากกฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ ขณะที่จะไม่ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนก.ย.นี้ต่อ ก็ต้องมาดูกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร รัฐบาลกำลังเร่งรัดอยู่ เพราะทราบดีว่ากระแสสังคม อาจจะไม่สบายใจ แม้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจะไม่กระทบอะไรมากมาย เวลานี้กฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ แต่เราต้องวางแผนเป็นแนวทางที่ต้องเตรียมเอาไว้ ไม่ใช่พอรู้ว่าจะมีกฎหมายใหม่แล้วสัปดาห์หน้าจบภารกิจเลย ก็จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรับช่วงต่อเตรียมการไม่ทัน ศปก.ศบค.จึงต้องเตรียมการไว้ให้พร้อม

เมื่อไหร่ก็ตามที่ทางรัฐบาลสั่งให้จบภารกิจก็สามารถส่งมอบงานได้เพราะเราพร้อมแล้ว ถ้าไม่พร้อมแล้วรัฐบาลสั่งให้จบภารกิจ การส่งงานจะไม่เรียบร้อย แต่ถ้าเตรียมไว้เมื่อใช้กฎหมายใหม่ใช้ได้ก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันที เพียงแต่แค่แปรสภาพศบค. ส่วนรูปแบบจะขึ้นอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทีมใหม่ว่าจะใช้รูปแบบศบค. ปัจจุบัน หรือรูปแบบอื่น

ยังไม่ทบทวนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

พล.อ.ณัฐพลให้สัมภาษณ์หลังการผ่อนคลายมาตรการแล้วประเมินว่าในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ครั้งต่อไปจะคลายล็อกได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ว่า ตอนนี้ยังต้องรอฟังกระทรวงสาธารณสุข ต้องเริ่มจากที่นั่นก่อน นโยบายของศบค.ต้องฟังจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นจึงไปหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นอย่างไร เช่นกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ และกระทรวงทางด้านสังคม มีข้อพิจารณาว่าทำแบบนี้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมอย่างไร หรือจะขอผ่อนคลายก็ต้องพูดคุยกันในที่ประชุม

เมื่อถามถึงกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด ประมาณ 900 คนมีโอกาสที่จะทบทวนโครงการดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ดูอยู่ทุกวัน โดย ศปก.ศบค.คุยกับหน่วยงานดังกล่าววันเว้นวัน ทราบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณ 900 คน แม้จะเป็นตัวเลขที่มาก และจัดเตรียมพร้อมไว้แล้ว

แต่ความเห็นจากทางสาธารณสุขยังไม่น่าหนักใจ เพราะปัจจุบันต่างๆ จากหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจไม่ใช่ปัจจัยเร่งด่วนสูงสุด แต่จะให้ความสำคัญที่ตัวเลขผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ต้องหาข้อสรุปอย่างเป็นทางการยืนยันว่าเวลาที่จะพิจารณาในแต่ละมาตรการ

ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจำนวน ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต และขีดความสามารถของเตียงที่จะใช้รองรับ ลักษณะการแพร่ระบาด เป็นวงกว้างหรือเฉพาะจุด ถ้าติดเชื้อเฉพาะจุดก็ไม่น่ากังวล แล้วเท่าที่รับฟังจากผู้ว่าฯภูเก็ตยืนยันว่า ยังมีขีดความสามารถในการดูแลและการจะบริหารสถานการณ์ในแง่ที่เลวร้ายที่สุดว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะมีขีดความสามารถรองรับอย่างไรและปัจจุบันก็ยังรองรับได้อยู่

สธ.ย้ำไม่พบสายพันธุ์มิวในไทย

ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้มี 3 สายพันธุ์ในไทย คืออัลฟา, เดลตา และเบตา โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจ 1,500 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเดลตา 1,417 ตัวอย่าง คิดเป็น 93% อัลฟา 75 ตัวอย่าง คิดเป็น 5% และเบตา 31 ตัวอย่าง คิดเป็น 2% เฉพาะในกทม.เป็นเดลตาสัดส่วน 97.6% ภูมิภาคสัดส่วนอยู่ที่ 84.8%

สถานการณ์ปัจจุบันเดลตาครองเมือง พบทุกจังหวัด ในแต่ละสัปดาห์พบมากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนสายพันธุ์เบตาจำกัดวงอยู่ภาคใต้ ที่เคยเจอใน กทม. และบึงกาฬ จบไปแล้ว ไม่พบจังหวัดอื่น โดยสัปดาห์ล่าสุดพบในเขตสุขภาพที่ 12 คือนราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย

“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันตรวจไปแล้วเกือบ 13 ล้านตัวอย่างด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งมีส่วนที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบจำนวนหนึ่ง ในช่วงที่ชุลมุนมากๆ บางแล็บอาจไม่ได้รายงานข้อมูลครบถ้วน เข้าใจว่าอาจถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว นับเป็นตัวเลขไม่น้อย ยิ่งช่วงหลังระบาดมากก็ตรวจมากขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะนี้มีเป็นร้อย เป็นหางว่าว องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้น เริ่มต้นเรียกว่า การกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (VOI) เช่น อาจแพร่หรือดื้อต่อวัคซีนได้ หรือมีความผิดปกติมากขึ้น ส่วนชั้นที่น่าห่วงและกังวล (VOC) ขณะนี้มีอยู่ 4 ตัว คือ อัลฟา, เดลตา, เบตา และแกมมา ซึ่งแกมมาเป็นสายพันธุ์บราซิลเดิมไม่พบในไทย เคยพบในสเตต ควอรันทีน แต่ควบคุมได้ ไม่มีหลุดออกไป ประเทศไทยจึงมีอัลฟา เดลตา และเบตา โดยลักษณะแตกต่างกัน

“ส่วนสายพันธุ์มิว (Mu) หรือ B.1.621 ยังถูกจัดชั้นว่าอยู่ในความสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล ทั่วโลกยังพบน้อยมาก 0.1% สหรัฐอเมริกาเจอ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบียเจอ 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง และมีที่ญี่ปุ่นเล็กน้อย ยังไม่ได้พบในอาเซียน โดยโคลัมเบียเจอเป็นที่แรกเจอประมาณ 40%

ปัจจุบันพบแล้วใน 39 ประเทศ ยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีการกลายพันธุ์ที่ E484K พบว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องอื่น ส่วนแพร่เร็วหรือไม่ ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันเมื่อเทียบกับเดลตา ติดเชื้อง่ายหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ป่วยแล้วกลับมาป่วยอีกมากน้อยแค่ไหน โดยรวมจึงยังไม่น่าวิตก แต่ติดตามต่อเนื่อง” นพ.ศุภกิจกล่าว

สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้นอะไรทั้งหมด และยังไม่ได้ถูกจัดชื่ออะไร โดยสายพันธุ์ C.1.2 นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่า มีการกลายพันธุ์ในจุดตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบตา แกมมา เช่น E484K ซึ่งพวกนี้หลบภูมิคุ้มกันหรือดื้อวัคซีน และตำแหน่ง N501Y ของอัลฟาที่แพร่เร็ว เป็นต้น

ดังนั้น การกลายพันธุ์ในหลายๆ ตำแหน่งของ C.1.2 ทำให้ต้องจับตาดู แต่ขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด ทั้งโลกพบมากในแอฟริกาใต้ คือ 117 รายคิดเป็น 85% ของที่เจอทั้งหมด แต่ไม่ได้แปลว่าแอฟริกาใต้มีมาก เพราะมีสายพันธุ์อื่นๆ ร่วมด้วย โดยแอฟริกาใต้พบ C.1.2 เพียง 3% ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา และไทยเฝ้าระวังมาตลอด ปัจจุบันยังไม่เจอในประเทศ

ปรับเป้าหมายตรวจถึง1หมื่น

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละพันกว่าราย รวมการตรวจ RT-PCR และตรวจจีโนมทั้งตัว เดิมเคยกำหนดว่ากลุ่มที่มาจากต่างประเทศ อยู่ชายแดน บุคลากรการแพทย์ คนอาการหนักมีการตรวจกลุ่มนี้มากขึ้น และกระจายพื้นที่มากๆ หรือมีคลัสเตอร์แปลกๆ ซึ่งการสุ่มตรวจแบบนั้นเป็นลักษณะหาของใหม่ที่จะหลุดเข้ามา แต่อาจไม่ได้บอกเป็นตัวแทนการติดเชื้อในไทย จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความชุกของไทย

จากอดีตตรวจกทม.มาก ต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องดักให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศได้ โดยจะมีความร่วมมือกับม.สงขลานครินทร์ (มอ.) จากนี้ถึงธ.ค. 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ละพื้นที่ไปตรวจ

อย่างวันนี้ให้ทางภูเก็ตตรวจเพิ่มขึ้น ให้รู้ว่าที่ภูเก็ตมีเดลตากี่เปอร์เซ็นต์ โดยการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว มีที่กรมวิทย์ และเครือข่าย ทั้งมอ. จุฬาฯ รามาฯ โดยกรมวิทย์ตรวจประมาณ 9 พันตัวอย่าง เครือข่ายอีก 4 พันตัวอย่าง จากนั้นจะรายงานศูนย์ข้อมูลระดับโลก (GISAID) ทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในไทยก็ได้ ดังนั้นอย่าตกใจ

“สำหรับสายพันธุ์ที่เคยแถลงก่อนหน้านี้ คือ AY ของเดลตา มี AY 12 เพิ่มเล็กน้อย แต่ GISAID บอกว่า ตัวเลขรหัสอาจไม่ถูกต้อง จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน และจะชี้แจงอีกครั้งว่า ลูกของเดลตาไปถึงไหนอย่างไร แต่วันนี้ไม่มีปัญหา การรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม” นพ.ศุภกิจกล่าว

สธ.พร้อมซื้อยารักษาโควิด

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมรองรับการระบาดในช่วงถัดไป จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ขณะนี้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดโดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล หากอาการสีเขียวดูแลผ่าน HI และ CI ซึ่งเป็นคำตอบ และกำลังประเมินคุณภาพว่าดูแลได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนสีเหลืองและแดงมีการหารือทุกภาคีเครือข่าย ทั้งร.ร.แพทย์ กทม. กรมการแพทย์ ร.พ.เอกชน ร.พ.ทหาร-ตำรวจ ว่าจะยังคงเตียงเหลืองแดงไว้ก่อนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ถ้ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องยาต่างประเทศมีการวิจัยยาหลายตัวเฟส 2 ต่อเฟส 3 อาจได้ผลสิ้นก.ย.-พ.ย.นี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่นิ่งนอนใจ พูดคุยบริษัทผู้แทนยาต่างประเทศทั้งหมด เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือยา Protease Inhibitor ของไฟเซอร์ ก็มีการพูดคุยเจรจา

หากทดลองเฟส 3 ได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง ก็จะรีบนำมาใช้ถ้ามีระบาดในระลอกถัดไป รวมถึงมีศึกษาการใช้ยาในประเทศไทยของร.ร.แพทย์ กทม. และกรมการแพทย์ที่มีการประเมินฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจร โดยผลศึกษาวิจัยจะทยอยออกใน 1-2 เดือนนี้

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เท่าที่ทราบศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) และงานวิจัยในต่างประเทศอีกฉบับไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนการวิจัยในประเทศไทย ศิริราชกำลังดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะเป็นยาตัวแรกที่จะใช้เฉพาะโรคโควิด-19 คาดว่าจะทราบผลการวิจัยระยะที่ 3 เบื้องต้นในสิ้นก.ย.นี้ หากผลสำเร็จ บริษัทวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สหรัฐอเมริกาในต.ค.นี้ ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนกับอย.ภายในพ.ย.นี้ และจะสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ หากยาตัวนี้สำเร็จจะมีการนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกัน คือการยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งจะใช้ 40 เม็ด 5 วันต่อผู้ป่วย 1 คน

นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงกรณีมีรายงานผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 4 เข็ม ยังมีการติดเชื้อนั้นว่า ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% ฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดได้ หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยง มีการพบปะ พูดคุยกับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่มีการป้องกัน ไม่ระวังตัว และยังขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับด้วย ดังนั้น หากไม่ป้องกันตัวเองก็มีโอกาสจะติดเชื้อ แต่ความสำคัญของการฉีดวัคซีน คือสามารถป้องกันการอาการหนักและเสียชีวิต

“ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนกี่เข็มก็ตาม จะฉีดไปแล้ว 10 เข็มก็ยังติดเชื้อได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดี คือนอกจากฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปที่ที่คนอยู่มาก” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ศธ.เร่งขอไฟเซอร์ฉีดน.ร.

ด้านน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสรรวัคซีนให้เด็กอายุ 12-18 ปีว่า ขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างประสานงานสธ.ในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้าประเทศในสิ้นเดือนก.ย.นี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและเห็นด้วยในหลักการที่จะจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเยาวชน เพื่อให้เด็กได้กลับมาเรียนออนไซต์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้ เพราะตนมองว่าการที่เด็กมาเรียนที่โรงเรียน เป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุด หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite ได้ เด็กจะเกิดความเครียด

“ขณะนี้รัฐบาลพยายามจะจัดสรรวัคซีนให้ถึงมือเด็กทุกคน ทั้งนี้ต้องได้รับการยืนยันจาก สธ. ก่อนว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ศธ.อย่างไร ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองทุกคนด้วย” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ปีหน้าจัดหาวัคซีนเกิน 200 ล.โดส

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภาเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนในที่ประชุมวุฒิสภาว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข มีแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปี 2565 ไว้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านโดส เพื่อรองรับต่อวิวัฒนาการของวัคซีน และการแพร่ระบาดของโรคที่มีการกลายพันธุ์ เพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนในเข็มที่ 3

ซึ่งขณะนี้เริ่มการเจรจา เพื่อเตรียมการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ที่กำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 กับบริษัทผู้ผลิตแล้ว ซึ่งเราได้เปรียบเพราะบริษัทที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย รวมถึงวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนสปุกนิก-วี

ส่วนแผนการบริหารจัดการวัคซีนในปีนี้ ไทยจะได้ 124 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนหลัก ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซึ่งเดือนก.ย.นี้ จะได้รับประมาณ 7.3 ล้านโดส ในเดือนต.ค. จะได้รับ 10 ล้านโดส เดือนพ.ย. และธ.ค. จะได้รับเดือนละ 13 ล้านโดส ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนก.ย.นี้ มีแผนจะได้รับ 2 ล้านโดส เดือนต.ค.อีก 8 ล้านโดส เดือนพ.ย.และธ.ค. อีกเดือนละ 10 ล้านโดส รวมทั้งหมดกว่า 31 ล้านโดส ดังนั้นในปีนี้วัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกจะได้ประมาณ 140 ล้านโดส จึงมั่นใจว่าในปี 64 จะมีวัคซีนเพียงพอฉีดให้กับประชาชน

‘มหาชัย’ติดโควิดอีก 711-ตาย 20

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 711 ราย จำนวนนี้อยู่ในจ.สมุทรสาคร 286 ราย เป็นคนนอกจังหวัดอีก 44 ราย ยังมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มบับเบิล แอนด์ซีลของโรงงานอุตสาหกรรมอีก 354 ราย ติดเชื้อสะสม 96,979 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 78,650 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 17,654 ราย และผู้เสียชีวิตรายวัน 20 ราย เสียชีวิตสะสม 675 ราย

ชลบุรีป่วยอีก 703-ตาย 4

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 703 ราย ติดเชื้อสะสม 67,605 ราย กำลังรักษา 13,821 ราย หายป่วยสะสม 53,350 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย เสียชีวิตสะสม 434 ราย ติดเชื้อกระจาย 9 อำเภอ มากสุดที่อ.ศรีราชา 229 ราย โดยการติดเชื้อส่วนมากมาจากสถานประกอบการ 65 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง

สำหรับจ.ชลบุรีมีประชากร 1,566,875 คน ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 821,808 คน เข็มที่ 2 ฉีด 290,424 คน เข็มที่ 3 ฉีด 25,679 คน รวม 1,137,911 โดส คิดเป็น 52.4%

ภูเก็ตติดเชื้ออีก 241

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากในภูเก็ตจำนวน 241 ราย รายละเอียดผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากต่างประเทศ และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากแซนด์บ็อกซ์ ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,536 ราย ผู้ติดเชื้อหายกลับบ้านเพิ่ม 34 ราย หายกลับบ้านสะสม 3,129 ราย ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตรายใหม่ 3 ราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย

สงขลาสั่งปิดโรงงาน

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าฯสงขลา เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 263 ราย เสียชีวิต 4 ราย ติดเชื้อในชุมชน 237 ราย ติดเชื้อในโรงงาน 26 ราย พื้นที่ที่พบมาก อ.หาดใหญ่ สะเดา และอ.จะนะ ติดเชื้อสะสม 21,795 ราย และเสียชีวิตสะสม 125 คน ขณะนี้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล 3,739 ราย พบผู้ป่วยบริษัทไทยยูเนียน อ.สิงหนคร 206 ราย จากพนักงาน 1,626 คน ขณะนี้ปิดโรงงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานง่ายขึ้น และให้ทางโรงงานมีความเข้มงวด

หัวหินวุ่นรร.นายสิบทบ.ติดอื้อ

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 100 คน มีผู้ป่วยสะสม 8,577 คน สำหรับคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้ตรวจสอบกรณีพบนักเรียนนายสิบติดเชื้อ 34 คน ภายในโรงเรียนนายสิบทหารบก ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฎ ต.หนองแก อ.หัวหิน เบื้องต้นคาดว่าติดเชื้อระหว่างการเดินทางไปฉีดวัคซีนที่ร.พ.หัวหิน เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าติดตามอาการนักเรียนทั้งหมดกว่า 400 คน มีกลุ่มเสี่ยงกว่า 100 คน โดยแยกกัก ผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการ

“ขณะนี้แจ้งให้พระภิกษุ สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดกักตัวดูอาการภายในวัดธรรมิการามวรวิหาร ข้างเรือนจำจังหวัด ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยงดรวมตัวบิณฑบาต งดปฏิบัติกิจของสงฆ์ 14 วัน ภายหลังตรวจพบพระภิกษุ 1 รูป สามเณร 18 รูป ญาติโยม 1 รายที่มาทำบุญในวัดติดเชื้อโควิด ขณะที่เรือนจำจังหวัดมีผู้คุม ผู้ต้องขังติดเชื้อสะสม 363 คน โรงงานผลไม้แปรรูป บริษัทเถกิงฯ ที่อ.สามร้อยยอด พนักงานติดเชื้อสะสม 457 คน โรงงานผลไม้กระป๋องที่อ.กุยบุรี ป่วยสะสม 278 คน”

กาญจน์ติดเชื้ออีก 182

ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ.กาญจนบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 182 ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด 178 ราย นอกพื้นที่จังหวัด 4 ราย ผู้ป่วยสะสม 13,724 ราย หายป่วย 568 ราย หายป่วยสะสม 9,177 ราย รักษาอยู่โรงพยาบาล 4,428 ราย เสียชีวิตสะสม 119 ราย

‘ร.พ.วชิระ’เปิดจองฉีดไฟเซอร์

วันเดียวกัน เฟซบุ๊ก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ประกาศเปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 สำหรับเด็ก อายุ 12-18 ปี (เกิดในปี พ.ศ.2546-2552) ที่มีโรคเรื้อรังและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย.64 กำหนดการฉีดวัคซีน วันที่ 21 ก.ย.64 เวลา 09.00-15.00 น. ที่อาคารทีปังกรรัศมีโชติ ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถลงทะเบียนผ่าน QR Code พร้อมส่งภาพถ่ายเป็นไฟล์แนบมาด้วย

ดังนี้ เอกสารระบุตัวบุคคล บัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน อย่างใดอย่างหนึ่ง เอกสารระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรอง ผู้พิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุว่า มีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด กรณีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้ส่งภาพถ่ายเด็กขณะชั่งน้ำหนัก พร้อมค่าน้ำหนักมาด้วย

ขอสงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ที่ส่งเอกสารครบถ้วนตามเงื่อนไข และเมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลทางร.พ. จะส่ง sms ไปยังเบอร์โทรศัพท์ ที่ลงทะเบียนไว้ เมื่อท่านได้รับ sms จาก # VJReService ขอให้ลงทะเบียนผ่านลิงก์ เพื่อยืนยันเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ร.พ.กำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน VAJIRA COVID LINE โทร. 0-2244-3949

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน