เปิดแผน4สูตรวัคซีน
ฉีดคนหายป่วยโควิด
24ล.โดสถึงไทยตค.
นักเรียนได้‘ไฟเซอร์’
มหาชัยนำร่องต่างด้าว

โควิดคร่าอีก 253 สลดผู้สูงอายุเสียชีวิตวันเดียวพุ่ง 191 ราย ติดเชื้อใหม่กว่า 1.5 หมื่น กรมควบคุมโรคระบุทั่วโลกโควิดขาขึ้น สวนทางกับไทยที่เริ่มลดลง สธ.เน้นฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวคตามด้วย แอสตร้าฯ เพราะระยะห่างเข็มสองสั้นกว่า สร้างภูมิเร็วกว่า ย้ำต.ค.นี้มีวัคซีนเพิ่ม 24 ล้านโดส เร่งฉีดน.ร.-น.ศ. รองรับเปิดเรียนเทอมสอง เผยฉีดวัคซีนเกือบ 40 ล้านโดส พบเสียชีวิต 628 ราย แต่เกี่ยวกับฉีดวัคซีนจริงๆ เพียงรายเดียว จากลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ‘มหาชัย’นำร่องฉีดวัคซีนแรงงานต่างด้าว 3 กลุ่ม ‘ภูเก็ต’ปิดห้างดัง 7 วันเนื่องจากพบพนักงานติดเชื้อ

ติดเชื้อเพิ่ม 15,191-ตายเพิ่ม 253

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 15,191 ราย ติดเชื้อสะสม 1,368,144 ราย หายป่วยเพิ่ม 18,721 ราย หายป่วยสะสม 1,216,112 ราย เสียชีวิตอีก 253 ราย เสียชีวิตสะสม 14,173 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 137,859 ราย อยู่ในร.พ. 40,040 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 97,819 ราย มีอาการหนัก 4,168 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 875 ราย ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 7,188 ราย กทม.และปริมณฑล 5,917 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 1,354 ราย เรือนจำ 726 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย และกัมพูชา 4 ราย

ผู้เสียชีวิต 253 ราย มาจาก 42 จังหวัด ได้แก่ กทม. 111 ราย ซึ่งเป็นการรายงานหลังเสียชีวิตเกิน 14 วัน 67 ราย, สมุทรปราการ นครปฐม จังหวัดละ 12 ราย, พระนครศรีอยุธยา 9 ราย, ปทุมธานี ชลบุรี จังหวัดละ 8 ราย, สมุทรสงคราม 7 ราย, สมุทรสาคร ระนอง นครนายก จังหวัดละ 6 ราย, ราชบุรี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 5 ราย, ตาก ภูเก็ต ลพบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี ตราด จังหวัดละ 4 ราย, ระยอง 3 ราย, ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี สงขลา กาญจนบุรี เพชรบุรี สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย และมหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร อุบลราชธานี พิจิตร พิษณุโลก ยะลา ปัตตานี ชุมพร สระแก้ว และอ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย

สลดผู้สูงอายุดับวันเดียว 191 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชาย 135 ราย หญิง 117 ราย อายุ 18-98 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 191 ราย คิดเป็น 75% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 32 ราย คิดเป็น 13% รวม 2 กลุ่มนี้สูง 88% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 30 ราย คิดเป็น 12% และหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัว พบเสียชีวิตนอกร.พ. 1 ราย จ.นครสวรรค์ ขณะส่งกลับร.พ.สะบ้าย้อย

ภาพรวมติดเชื้อเกิน 100 ราย มี 29 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,364 ราย สะสม 319,666 ราย 2.สมุทรปราการ 1,308 ราย สะสม 92,721 ราย 3.ชลบุรี 991 ราย สะสม 72,554 ราย 4.สมุทรสาคร 643 ราย สะสม 82,390 ราย 5.ราชบุรี 629 ราย สะสม 22,795 ราย 6.สงขลา 473 ราย สะสม 22,374 ราย 7.ระยอง 441 ราย สะสม 22,654 ราย 8.ปราจีนบุรี 372 ราย สะสม 10,651 ราย 9.นราธิวาส 369 ราย สะสม 16,762 ราย และ 10.ยะลา 309 ราย สะสม 14,545 ราย

สำหรับ 19 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ สระบุรี 303 ราย, นนทบุรี 278 ราย, นครศรีธรรมราช 262 ราย, ฉะเชิงเทรา 251 ราย, ภูเก็ต 238 ราย, พระนครศรีอยุธยา 234 ราย, ปัตตานี 203 ราย, ตาก 192 ราย, นครปฐม 190 ราย, นครราชสีมา 182 ราย, สุราษฎร์ธานี 170 ราย, จันทบุรี 168 ราย, ขอนแก่น 156 ราย, ลพบุรี 144 ราย, กระบี่ 139 ราย, ปทุมธานี 134 ราย, อุดรธานี 131 ราย, ระนอง 121 ราย และกาญจนบุรี 113 ราย

ขณะที่ติดเชื้อต่ำกว่า 20 ราย มีเหลือ 14 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท 19 ราย, บึงกาฬ 18 ราย, สิงห์บุรี 17 ราย, อุทัยธานี 17 ราย, เลย 15 ราย, หนองบัวลำภู 15 ราย, ยโสธร 14 ราย, พัทลุง 14 ราย, แพร่ 8 ราย, อำนาจเจริญ 6 ราย, ลำปาง 4 ราย, น่าน 3 ราย, พะเยา 1 ราย และมุกดาหาร 1 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 10 ก.ย. ฉีดได้ 758,503 โดส สะสม 39,631,862 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 26,954,546 ราย ครบ 2 เข็ม 12,063,643 ราย และเข็มสาม 613,673 ราย

สธ.เผยโควิดไทยลด-ทั่วโลกเพิ่ม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5.59 แสนราย สะสม 224.6 ล้านราย สหรัฐมีการระบาดมากที่สุด 1.71 แสนราย อินเดีย 3.78 หมื่นราย และอังกฤษ 3.76 หมื่นราย ทั่วโลกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 9,080 ราย เสียชีวิตสะสม 4.63 ล้านราย ประเทศไทยติดเชื้อ 15,191 ราย เสียชีวิต 253 ราย

เราพยายามลดผู้เสียชีวิตให้มากที่สุดเรื่อยๆ ขณะนี้การระบาดเหมือนลดลง ระยะถัดไปต้องดำเนินมาตรการต่างๆ มากขึ้น เช่นการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention) โดยใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง, การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม การตรวจคัดกรองต่างๆ ด้วย ATK ที่อาจต้องทำมากขึ้นบ่อยขึ้น และมาตรการองค์กร ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเปิดทำกิจกรรมต่างๆ อาจต้องมีมาตรการให้การระบาดไม่กลับไปมากขึ้นเหมือนเดิม โดยต้องอาศัยความร่วมมือองค์กรหน่วยงานต่างๆ

“ต่อไปเราต้องอยู่ร่วมกับโควิดอีกนาน เพราะเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลา เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง โดยทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่บ้านเราลดลง ความร่วมมือจึงยังสำคัญมาก ทั้งการป้องกันส่วนบุคคล ฉีดวัคซีน มาตรการองค์กร เพราะการระบาดเยอะ คือสถานที่คนรวมกันจำนวนมาก บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ตลาด แคมป์คนงาน คนมีหน้าที่ดูแลตรงนี้ต้องดำเนินมาตรการองค์กร บับเบิล แอนด์ ซีล และมาตรการเฝ้าระวังการควบคุมโรคยังสำคัญ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีน โควิด-19 เมื่อวานฉีดได้ 758,503 โดส สะสม 39,631,862 โดส เป็นเข็มหนึ่ง 26,954,546 ราย เข็มสอง 12,063,643 ราย ระยะต่อไปจะมีวัคซีนมากขึ้น ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนจึงสำคัญมาก ระยะต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะรีบดำเนินการให้ประชาชนรับวัคซีนครบ 2 เข็มเร็วขึ้น เพื่อช่วยลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนตัวใดมีประสิทธิผลลดติดเชื้อ 100% บางคนจำเป็นต้องรับเข็ม 3 อย่างไรก็ตามวัคซีนไม่ใช่วิธีป้องกันโรคเพียงอันเดียว การป้องกันพื้นฐานส่วนบุคคลยังต้องเข้มงวด ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะเน้นสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า (SA) เพิ่มภูมิคุ้มกันสูงและรวดเร็ว โดยจะเร่งฉีดกลุ่มเสี่ยงป่วยหนักเสียชีวิต 608 ให้ครอบคลุม

ตค.นี้ได้วัคซีน 24 ล้านโดส

นพ.โอภาส กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนช่วงต.ค.นี้ ที่ศบค.มีมติเห็นชอบว่า แผนจัดหาวัคซีนและแผนการฉีดวัดซีนในต.ค.ที่ศบค.เห็นชอบ เราจะมีซิโนแวค 6 ล้านโดส แอส ตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวม 24 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยนำจุฬาภรณ์นำเข้ามาอีก 6 ล้านโดส ดังนั้น ต.ค.เป็นต้นไปจะมีวัคซีนค่อนข้างมาก จะเร่งฉีดประชาชน เพื่อลดป่วยหนักเสียชีวิตและการระบาดของ โควิด-19

“ส่วนแผนการฉีดที่ศบค.เห็นชอบ เป้าหมายคือฉีดประชาชนให้ได้อย่างน้อย 50% ของทุกจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีอย่างน้อย 1 อำเภอฉีดครอบคลุม 70% และมีต้นแบบ COVID Free Aria อย่างน้อย 1 พื้นที่ที่มีความครอบคลุม 80% ให้เพิ่มความครอบคลุมการฉีดกลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุด และหากในจังหวัดนั้นมีประชากรเป้าหมายอื่นสำคัญ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดสรรได้

นอกจากนี้ ช่วงต.ค.มีการฉีดเข็ม 2 มาก ให้มีการฉีดเข็ม 2 ให้มากที่สุด ขยายการฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งมีไฟเซอร์เข้ามา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน โดยจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ การฉีดกระตุ้นในคนฉีดซิโนแวค 2 เข็มช่วงมี.ค.-พ.ค. เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปวัคซีนทุกชนิดจะลดลงตามเวลา และการควบคุมการระบาด พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสามารถเปลี่ยนปรับเป้าหมายได้ตามสถานการณ์”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายการฉีด ต.ค. แบ่งเป็น 1.ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป 16.8 ล้านโดส 2.นักเรียนอายุ 12-17 ปี ทั่วประเทศ 4.8 ล้านโดส ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนจะฉีดกลุ่มไหนชั้นไหนก่อนจะร่วม ศธ.จัดการต่อไป 3.แรงงานในระบบประกันสังคม 0.8 ล้านโดส 4.หน่วยงานอื่น เช่น องค์กร รัฐ ราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส และ 5.เข็มสามสำหรับคนฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 0.5 ล้านโดส ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ฉีดนำร่อง – คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มแรกแก่แรงงานข้ามชาติ โดยนำร่องในกลุ่มสถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง และโครงการตลาดสุขใจ ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.

เปิด 4 สูตรฉีดวัคซีน

ส่วนสูตรฉีดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.สูตรปกติที่บริษัทแจ้งอย.หรือฉีดวัคซีนผู้ผลิตเดียวกัน คือไฟเซอร์ 2 เข็ม แอสตร้าฯ 2 เข็ม ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม 2.สูตรไขว้ ขณะนี้ให้ฉีด 2 แบบ คือซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า (SA) และแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ โดย SA คือสูตรหลักฉีดประชาชนทั่วไป ประสิทธิภาพประสิทธิผลเทียบเท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่จะช่วยฉีดครบได้เร็วขึ้น

3.การฉีดเข็มกระตุ้นซิโนแวค 2 เข็ม ด้วยแอสตร้าฯ เริ่มแล้วบางส่วนโดยเฉพาะ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่มีการระบาดมากขึ้น เพื่อนำไปควบคุมและเพิ่มภูมิมากขึ้น และ 4.ผู้ติดเชื้อหาย 1-3 เดือนที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือไม่ครบ 2 เข็ม จะฉีดให้ในต.ค.

เมื่อถามว่าจัดลำดับกลุ่มบูสเตอร์โดสเข็ม 3 อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นว่าคนที่ฉีดครบก่อนภูมิขึ้นก่อน และค่อยๆ ตกลงจะฉีดตามลำดับการฉีดครบของวัคซีน เช่น มี.ค. เม.ย. พ.ค. ภูมิตกลงเร็วกว่าก็จัดมาฉีดก่อน หากฉีดครบแล้วก็เป็นกลุ่มที่ฉีด มิ.ย.ต่อไป เพราะคนเพิ่งฉีดครบ 2 เข็มภูมิยังสูงอยู่ โอกาสติดเชื้อป่วยหนักรุนแรงน้อยกว่า หรือถ้าหากวัคซีนมีมากขึ้นหรือมีความพร้อมจะประกาศเชิญมาฉีดได้เร็วขึ้น

ไทยฉีดวัคซีนเกือบ 40 ล.โดส

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยวัคซีนโควิด-19 แล้วเกือบ 40 ล้านโดส คาดว่าสิ้นก.ย.นี้น่าจะฉีดได้ 45 ล้านโดส จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด 4 ตัวที่ใช้ในไทย ใช้มากที่สุดคือแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ พบว่าผลข้างเคียงคล้ายกัน คือไข้ ปวดศีรษะ เวียนหัว ถือว่า ไม่รุนแรง พัก 1-2 วัน ทานยาลดไข้แก้วิงเวียนก็ดีขึ้น

แต่ที่เราติดตามคืออาการรุนแรง โดยเฉพาะการแพ้วัคซีน ซึ่งซิโนแวคพบ 24 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส รักษาหายปกติทุกราย, แอสตร้าฯ พบ 6 ราย คิดเป็น 0.04 ต่อแสนต่อโดสหายเป็นปกติ, ซิโนฟาร์ม พบ 193 ราย คิดเป็น 4.46 ต่อแสนโดส แต่ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะการฉีดยังไม่มากพอ

ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดแอสตร้าฯ พบ 5 ราย คิดเป็น 0.03 ต่อแสนโดส ขณะที่ไฟเซอร์ที่พบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประเทศไทยพบ 1 ราย หลังฉีด 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส รักษาหายปกติ ภาพรวมถือว่าวัคซีนหลักที่เราใช้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หากพบสัญญาณไม่ปลอดภัยจะแจ้งเตือนประชาชนต่อไป

พบหลังฉีดเสียชีวิต 628

ส่วนการเสียชีวิตหลังรับวัคซีนนั้น โดยทั่วไปเมื่อฉีดวัคซีนจะมีการติดตามไป 1 เดือน หากมีอาการผิดปกติเข้าร.พ. หรือเสียชีวิตต้องพิสูจน์เกิดจากวัคซีนหรือไม่ โดยจะขอชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา จากการฉีดเกือบ 40 ล้านโดส มีรายงานเสียชีวิต 628 ราย

คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 416 ราย ส่วนใหญ่คือ 249 รายไม่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น ติดเชื้อในระบบประสาท ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อ ในกระแสเลือด มะเร็ง เลือดออกในช่องท้อง และรับประทานเห็ดพิษเสียชีวิต

ส่วนอีก 32 รายยังไม่สามารถสรุปได้ และพบเกี่ยวกับวัคซีน 1 ราย คือภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำ หลังฉีดไปเกือบ 40 ล้านมีรายเดียวเกี่ยวข้องกับวัคซีนถือว่ามีความปลอดภัย มีประโยชน์มากกว่า เมื่อเทียบกับอาการไม่พึงประสงค์ จึงให้ฉีดต่อไปในระดับประเทศ

สำหรับอาการลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) เป็นกลุ่มโรคใหม่ เกิดได้จากการฉีดแอสตร้าฯ ต่างประเทศพบมาก 0.7 ต่อแสนโดส ไทยพบไม่กี่ราย 0.03 ต่อแสนโดส น้อยกว่าต่างประเทศเกือบ 10 เท่า มีผู้ป่วยสงสัย VITT 5 ราย ยืนยันว่าเป็น VITT รายเดียว เข้าข่าย 2 ราย และสงสัย 2 ราย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเกิดได้น้อยมาก รักษาหายได้ถ้าวินิจฉัยรวดเร็ว จึงต้องเร่งรัดให้บุคลากรทราบภาวะ VITT เพื่อวินิจฉัยโรครวดเร็ว เพิ่มพัฒนาการตรวจห้องปฏิบัติการ

สำหรับประชาชน หากฉีดวัคซีนแล้วปวดหัวรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยวคล้ายอัมพฤกษ์ เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวม ปวดท้องรุนแรง หรือพบจุดเลือดออก ภายหลังรับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งว่ารับวัคซีนอะไรเพื่อวินิจฉัยต่อไป อาการเหล่านี้เกิดไม่บ่อย วัคซีนยังมีความปลอดภัยสูง

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีน mRNA นั้น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคโควิดก็ทำให้เกิดได้ ความชุกการเกิดปกติอยู่ที่ 10 รายต่อแสนราย ส่วนประเทศไทยปกติพบ 2-3 ต่อแสนคน สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 8 แสนกว่าโดส พบ 1 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส เป็นชาย มีอาการแน่นหน้าอก ไม่พบติดเชื้ออื่น ไม่รุนแรง รักษาหายปกติ ดังนั้น หากฉีดวัคซีน 4-30 วัน มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ให้แจ้งแพทย์ดูแลรักษาต่อไป

แจง‘ศิริราช’เลิกฉีดแอสตร้าฯเข็ม1

นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีร.พ.ศิริราชออกประกาศยกเลิกการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 วันที่ 10-20 ก.ย. เนื่องจากไม่เป็นไปตามนโยบายของสธ.ที่ให้ฉีดสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าฯ นั้นว่า ไม่ได้มีประเด็นอะไร เพียงแต่ร.พ.ศิริราช ขึ้นกับโควตาของกรุงเทพฯ

เมื่อมีการเปลี่ยนเป็นฉีดสูตรไขว้ซิโนแวค- แอสตร้าฯ (SA) เว้นระยะห่าง 3 สัปดาห์ เพื่อให้ภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงและเร็วกว่าการฉีด แอสตร้าฯ 2 เข็มที่ใช้เวลาห่างกันถึง 12 สัปดาห์ ทางร.พ.ศิริราชก็เปลี่ยนตาม

เมื่อถามว่าจะไม่มีการฉีดสูตรแอสตร้าฯ 2 เข็มแล้วใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า การศึกษาผลวิจัยฉีดสูตรไขว้ SA พบว่าประสิทธิภาพการสร้างภูมิต้านทานโรคสูงเทียบเท่ากับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาที่สั้นกว่า ด้วยสถานการณ์เดลตาขณะนี้ เราก็จะไม่ใช้แอสตร้าฯ 2 เข็ม เพราะต้องใช้เวลากว่า 12 สัปดาห์ จึงใช้สูตรไขว้ในการฉีดเพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานให้ประชาชน

ย้ำฉีดเด็ก 12 ปีพ่อแม่ต้องยินยอม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศบค.มีมติเห็นชอบให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปเริ่มในเดือนต.ค.นี้ว่า การฉีดวัคซีนต้องได้รับความยินยอมจาก ผู้ปกครองก่อน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.ปวส.) หรือเทียบเท่า

โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสำหรับนักเรียนระดับม.4-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. , ปวส.) หรือเทียบเท่า ระยะถัดไปจะจัดสรรวัคซีนสำหรับระดับชั้นอื่นที่เหลือ โดยให้บริการผ่านสถานศึกษาของผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปกำลังศึกษาอยู่

โดยศบค.เร่งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร สำรวจกลุ่มเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร กำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน และประสานสถานศึกษาเพื่อนำนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องชี้แจง ผู้ปกครองเพื่อขอความยินยอมในการรับวัคซีนและจัดส่งใบยินยอม และแจ้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้ารับ รวมถึงจะเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

สำหรับสถาบันการศึกษาที่นักเรียนนักศึกษามีอายุ เกิน 18 ปี สามารถให้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้โดยอนุโลม ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ จะเร่งดำเนินการฉีดให้เร็วและครอบคลุมที่สุด เพื่อรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักอนามัย กทม. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนให้บริการฉีดวัคซีน ไฟเซอร์แก่นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ทุกสังกัดในพื้นที่กทม.

โดยจะเริ่มบริการฉีดวัคซีนแก่เด็ก ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งแผนดังกล่าวครอบคลุมการจัดหน่วยสาธารณสุข เพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัว เนื่องจากการฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้กับนักเรียน ควบคู่กับมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย

“การฉีดวัคซีนแก่เด็กและเยาวชนต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ยึดความปลอดภัยของเด็ก ติดตามอาการหลังการได้รับวัคซีนด้วย จึงขอให้สถานศึกษาเร่งสร้างการรับรู้แก่เด็ก ผู้ปกครอง รวมทั้งบุคลากรในโรงเรียน ถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียน ให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับเข้าสู่การเรียนการสอนในที่ตั้งได้”

พิมายสั่งปิดหมู่บ้าน

ตามที่ทีมสอบสวนโรค คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่าเกิดคลัสเตอร์ตลาดสดพิมายเมืองใหม่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 48 ราย ซึ่งตลาดสดพิมายเมืองใหม่ดังกล่าวเป็นตลาดเช้า มีพ่อค้าแม่ค้า ลูกค้า ซื้อขายสินค้าและอาหารจำนวนมาก

โดยเริ่มจากสามีภรรยาร้านขายขนมหวานติดเชื้อโควิด-19 ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 4 ก.ย. อำเภอพิมายจึงเร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-ครอบครัว พบติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย และเร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก โดยวันที่ 8 ก.ย.พบติดเชื้อเพิ่ม 11 ราย จึงสั่งปิดตลาดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ 3 วัน พร้อมตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK กลุ่มผู้รับบริการ พ่อค้า-แม่ค้า และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 748 ราย

จากการสอบสวนโรคพบว่ามีผู้ป่วยโควิด 13 ราย อาศัยอยู่ที่บ้านคล้า หมู่ 8 ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย ส่วนใหญ่เป็นแม่ค้าขายผักจะไปรับผักจากตลาดสุรนคร อ.เมืองนครราชสีมา มาขายที่ตลาดสดพิมายเมืองใหม่ ทางศปก.อ.พิมายจึงพิจารณาปิดหมู่บ้านบ้านคล้า หมู่ 8 เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 11ก.ย. 2564เวลา06.00 น. ถึงวันที่ 25 ก.ย. เวลา 06.00 น. ล่าสุดคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 48 ราย

โคราชจับตา 2 คลัสเตอร์ใหญ่

ด้านนายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมาเปิดเผยว่า มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ 2 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์ชุมชนทุ่งสว่าง กับคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปอาหารปึงหงี่เชียง ซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้วทั้ง 2 คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์ชุมชนทุ่งสว่างมี ผู้ติดเชื้อ 56 ราย ยังเหลือกลุ่มเสี่ยงที่กักตัว 14 วันและต้องตรวจซ้ำอีกจำนวนหนึ่ง อาจมีเพิ่มเล็กน้อย

ภาพรวมถือว่าสถานการณ์นิ่ง สามารถควบคุมพื้นที่ได้แล้ว ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อออกไปข้างนอก ทำให้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มในชุมชนนี้อีก ทั้งนี้ เทศบาลนครฯ ยังได้บล็อกพื้นที่ชุมชนทุ่งสว่างและชุมชนข้างเคียงไว้ด้วยรวม 6 ชุมชน เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเพิ่มเติม ทั้งชุมชน ทุ่งสว่าง, ชุมชนทุ่งสว่าง-ศาลาลอย, ชุมชนศาลาลอยพัฒนา, ชุมชนศาลาลอย, ชุมชนท้าวสุระ ซอย 3 และชุมชนศาลเจ้าพ่อเสือ

“กลุ่มเสี่ยงที่นำมาตรวจหาเชื้อเชิงรุก ATK จะมีจำนวน 396 คน หรือ 10% จากจำนวนประชากรในชุมชนติดกันกับชุมชนทุ่งสว่างที่ขีดวงรัศมีการแพร่ระบาดเอาไว้กว่า 3,000 คน หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% จะต้องตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 3,000 คน แต่เนื่องจากผลตรวจใน 10% พบผู้ติดเชื้อแค่ 2 รายเท่านั้น ถือว่าควบคุมการแพร่ระบาดไว้ในวงจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อ เพราะยังมีกลุ่มเสี่ยงที่กักตัวอยู่

ส่วนประชาชนที่อยู่นอกวงรัศมีแพร่ระบาดที่ขีดเอาไว้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนพื้นที่เสี่ยงแพร่ระบาดได้จัดเจ้าหน้าที่ไปประจำ 24 ชั่วโมง บล็อกพื้นที่ปิดหัวซอย-ท้ายซอยเอาไว้ เพื่อควบคุมการเข้าออกชุมชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

ส่วนคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปอาหาร ปึงหงี่เชียง จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ไปตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงประชาชนที่ไปซื้อหาของฝาก แต่อยู่นอกเขตเทศบาลนครฯ ก็ประสานแจ้งไปยังรพ.สต., สสอ. และเทศบาลที่เกี่ยวข้องให้ทราบ

โดยเทศบาลนครฯ ตรวจเชิงรุกค้นหากลุ่มเสี่ยง ให้คำแนะนำโรงงานให้จำกัดพื้นที่เสี่ยง และนำกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 74 รายไปตรวจหาเชื้อ พบว่าติดเชื้อ 15 ราย นำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ภายในโรงงานดังกล่าวจะปิดพื้นที่เฉพาะแผนกที่พบการระบาดเท่านั้น ถือว่าคลัสเตอร์นี้สถานการณ์นิ่ง ไม่มีการระบาดออกไปนอกโรงงานแล้ว

โคราชวุ่น-ตลาดสุรนารีติดเชื้ออื้อ

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ตลาดสุรนารี หรือตลาดสุรนครเมืองใหม่ ซึ่งเป็นตลาดกลางค้าส่งผักและผลไม้ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ริมถนนมิตรภาพ ตรงข้ามสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ 2 นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ พร้อมบุคลากรกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมร่วมค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่เชิงรุก

ระดมตรวจหาเชื้อแบบ ATK ให้กลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,000 คน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าและผู้เกี่ยวข้อง ล่าสุดตรวจหาเชื้อประมาณ 400 คน ผล ATK ติดเชื้อกว่า 30 ราย ยังเหลือหลายร้อยคนรอผลอยู่

นายไกรสีห์เปิดเผยว่า ได้รับการประสานข้อมูลจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา แจ้งผลการสอบสวนผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มแม่ค้าขายผักและผลไม้ที่ตลาดสดพิมายเมืองใหม่มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดสุรนารีไปจำหน่าย

ต่อมาได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบแม่ค้าขายผักและผลไม้ติดเชื้อ 6 ราย ส่วนหนึ่งมีประวัติสัมผัสเชื้อจากกลุ่มรถรับจ้างขนส่งสินค้าไปที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง

จากนั้นช่วงบ่ายวันที่ 10 ก.ย.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยมี ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อแบบ ATK 452 ราย พบเชื้อทั้ง ผู้ประกอบการขายผักและผลไม้ บุคคลในครอบครัว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงานตลาดสุรนารี ทั้งที่ปรึกษากฎหมาย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพนักงานทำความสะอาดรวม 26 ราย

ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 32 ราย เนื่องจากเป็นตลาดเช้า มีกว่า 1 พันแผงค้าและผู้เกี่ยวข้องหลายพันคน กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ขับรถบรรทุกสินค้าไปส่งตลาดสดทั้ง 32 อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ผู้รับจ้างแบกหาม คนขับรถสามล้อถีบ คนเข็นรถและ ผู้ประกอบการการค้าจำนวนมากยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ จึงเร่งดำเนินการ

ภูเก็ตติดเชื้อใหม่ 238-ตายอีก 4

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต รายงานว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากในจ.ภูเก็ต 238 ราย รายละเอียดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และผู้ติดเชื้อรายใหม่จากแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย ผู้ติดเชื้อยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,109 ราย หายกลับบ้านเพิ่ม 89 ราย รักษาหายสะสมและกลับบ้านได้แล้ว 3,679 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 4 ราย เสียชีวิตสะสม 37 ราย กักตัวที่ศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน ผู้เข้าข่ายรายใหม่ตรวจเชิงรุก ATK 5 ราย ยอดคงเหลือ ผู้เข้าข่ายกักตัว 1,104 ราย

ติดเชื้อยืนยันสะสม 6,629 ราย ผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัดสะสม 10 ราย ผู้ติดเชื้อจาก ต่างประเทศสะสม 23 ราย ผู้ติดเชื้อจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม 89 ราย ผู้ติดเชื้อจากโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้าน 42 ราย

สั่งปิด‘ห้างซุปเปอร์ชีป’ 7 วัน

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต มีมติสั่งปิดห้างซุปเปอร์ชีป สาขาใหญ่ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-18 ก.ย.2564 หลังตรวจพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตตรวจเชิงรุกพนักงานของห้างจำนวน 111 คน ด้วยวิธี ATK พบ ผู้ติดเชื้อ 20 คน ในแผนกโกดังสินค้า และยังตรวจพบพนักงานแผนกขายสินค้าอีก 3 คน ซึ่งพนักงานของห้างซุปเปอร์ชีปมีทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อวานตนสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตส่งทีมงานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ มีรายงานด้วยวาจาเบื้องต้นและทางอำเภอเมืองภูเก็ต ส่งเจ้าหน้าที่และสาธารณสุขลงไปตรวจสอบแล้ว วันนี้ที่ประชุมมีมติสั่งปิดห้าง ซุปเปอร์ชีป สาขาใหญ่ เป็นเวลา 7 วัน แล้วให้สาธารณสุขจังหวัด อำเภอเมือง ผู้เกี่ยวข้องลงไปกำกับดูแลในการที่จะแก้ปัญหาให้จัดระบบในการทำงาน

ซึ่งเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 11-18 ก.ย. ส่วนที่ถามกันมาว่าทำไมปิดแค่ 7 วัน เรียนว่า เรื่องวันก่อนตลาดบ้านซ่าน เราก็ปิด 7 วัน แล้วก็ตรวจ 7 วันก็ตรวจ ก็โอเค ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็เปิดได้

สงขลาติดเชื้อนิวไฮ 473

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าฯสงขลาเปิดเผยว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ พบผู้ป่วยรายใหม่ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง 473 ราย เสียชีวิต 2 ราย ป่วยสะสม 23,496 ราย เสียชีวิตสะสม 134 ราย มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,679 คน รอผลการตรวจหาเชื้อ 1,890 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 19,700 คน

จ.สงขลา พบผู้ป่วยสูงสุดตั้งแต่โควิดระลอกใหม่มาจากการตรวจคัดเชิงรุกในพื้นที่แบบเข้มข้น ส่งผลให้ค้นหาผู้ติดเชื้อซึ่งมาจากการสัมผัสกลุ่มเสี่ยงจากโรงงาน ร้านค้า บริษัทและตลาด 5 อันดับ อ.หาดใหญ่ 74 ราย สิงหนคร 68 ราย สะบ้าย้อย 46 ราย จะนะ 32 ราย และอ.เมือง 31 ราย

โดยผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มชุมชน โดยเฉพาะในอ.สิงหนคร และมีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่หมู่ 1 ชุมชนบ้านชายหิน อ.สทิงหม้อ หลังล็อกดาวน์ 14 วัน นอกจากนั้นเป็นผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากบ้านหาดทราย ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น

วุ่นคลัสเตอร์ตลาดกองบิน 56

นายนพพร หนูเพชร นายอำเภอสะบ้าย้อยกล่าวว่า ในพื้นที่มีการติดเชื้อในหมู่บ้านของตำบลที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับจ.ยะลาและปัตตานี ซึ่งมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกันมานาน โดยมีผู้ติดเชื้อในต.ธารคีรี ต.เปียน และต.บ้านโหนด ส่วนใหญ่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีแนวโน้มทรงตัวและปรับลดลง มีเพียงพื้นที่บ้านหาดทราย ต.ธารคีรี ที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับจ.ยะลา

ซึ่งหมู่บ้านนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 90 คน มีกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ล็อกดาวน์ ห้ามเข้า-ออกหมู่บ้านมาแล้ว 5 วัน กักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง และติดตามอาการคนในหมู่บ้าน ขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อเริ่มมีแนวโน้มลดลง

สาธารณสุขอำเภอคลองหอยโข่งแจ้งว่ามีผู้ประกอบการในตลาดชุมชน กองบิน 56 (ตอนเย็น) ติดเชื้อโควิด ขอให้ผู้ประกอบการที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปรายงานตัวกับสาธารณสุขอำเภอคลองหอยโข่ง สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการกองบิน 56 ให้รายงานตัวกับร.พ.กองบิน 56 จึงสั่งปิดตลาดชุมชน กองบิน 56 (ตอนเย็น) ตั้งแต่วันที่ 10-12 ก.ย.64 เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ย.64

ชลบุรีติดเชื้ออีก 991-ตาย 9

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 991 ราย ยอดสะสม 72,556 ราย กำลังรักษาตัว 13,580 ราย หายป่วย 58,480 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 9 ราย เสียชีวิตสะสม 496 ราย พบผู้ติดเชื้อกระจาย 10 อำเภอ มากสุดที่ อ.ศรีราชา 232 ราย การติดเชื้อวันนี้ส่วนมากมาจากสถานประกอบการ 65 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง

สระแก้วป่วยเพิ่ม 244-ในคุก 143

นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันใหม่ 244 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 92 ราย ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น 5 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ต้องขังรายใหม่ 143 ราย และรับผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่นเข้ามารักษา 8 ราย รวม 252 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล การตรวจเชิงรุก ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใน LQ ในเรือนจำ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ

และยังพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มในคลัสเตอร์โรงงานเขตอุตสาหกรรม 304 ปราจีนบุรี และเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี 2 แห่ง ได้แก่บริษัท สุรพลนิชิเรฟู้ดส์ เป็นพนักงาน คนในครอบครัวพนักงานและเพื่อนบ้าน รวม 14 ราย

ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย ซึ่งเป็นรายที่ 58 ของจ.สระแก้ว เป็นชายไทย อายุ 85 ปี ขณะป่วยอยู่หมู่ 10 ต.โคกปี่ฆ้อง อ.เมือง จ.สระแก้ว ปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว ความดันโรคหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันร่วมบ้านคือลูกเขย ยังไม่เคยได้รับวัคซีน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ร.พ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

ปราจีนฯติดเชื้ออีก 372

นายโชคชัย สาครพานิช นายแพทย์ สาธารณสุขจ.ปราจีนบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 372 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 97 ราย มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จำนวน 10,655 ราย

พบคลัสเตอร์ผู้ป่วยยังพุ่งติดต่อในกลุ่มไซต์งานก่อสร้าง และในโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เขตอ.กบินทร์บุรี, อ.ศรีมหาโพธิ อย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย

ฉีดแรงงาน – คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มแรกแก่แรงงานข้ามชาติ โดยนำร่องในกลุ่มสถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง และโครงการตลาดสุขใจ ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.

‘มหาชัย’ฉีดต่างด้าว 3 กลุ่ม

ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครมีมติเห็นชอบให้ดีเดย์เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนเข็มแรกแก่แรงงานข้ามชาติ ตามโครงการ “Sakhon box” โดยนำร่อง 3 กลุ่มแรกคือ 1.แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในสถานประกอบการ ที่ได้ให้ความร่วมมือจัดทำ FAI, 2.แรงงานข้ามชาติในแคมป์คนงานก่อสร้าง และ3.แรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการตลาดสุขใจ โดยมีจุดให้บริการทั้งหมด 3 จุดคือโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร, อาคารใหม่ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน และตลาดพลาซ่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดให้บริการฉีดวัคซีนแก่แรงงานข้ามชาติวันแรก มีสถานประกอบการนำแรงงานข้ามชาติมาเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก เช่น ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย

นอกจากจะมีแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแล้ว นายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาครยังนำผู้ค้าขายและแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในตลาดของเขตเทศบาลนครสมุทรสาครที่เข้าร่วมโครงการตลาดสุขใจ มาเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า สูตรการฉีดจะเป็นแบบไขว้คือเข็มแรกซิโนแวค ส่วนเข็มที่สองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยช่วงสัปดาห์แรกนี้จะฉีดวันที่ 11 ก.ย. และ 12 ก.ย. ในทั้ง 3 กลุ่มแรก วันละประมาณ 600 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน