ราชวิทยาลัยฯลุยต่อ
วัคซีนนร.เพื่องานวิจัย
ครม.แก้กม.โรคติดต่อ
คุ้มครองแค่ผู้ปฏิบัติ
ป่วยโควิดทะลุ1.5ล้าน

อย.ย้ำยังไม่อนุมัติ ‘ซิโนฟาร์ม’ ฉีดเด็ก จี้ส่งเอกสารวิจัยผลกระทบ ‘หมอนิธิ’ ยันเดินหน้าฉีดนักเรียน เพื่อสรุปผลส่งอย.เผยนำเข้า ‘โมโนโครนอลแอนติบอดี’ ยาอีกตำรับช่วยป้องโควิดจับตัวเซลล์มนุษย์ ใช้แค่คนละโดส ราคาโดสละ 5 หมื่น ครม.ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มมาตรการป้อง ผู้ปฏิบัติรับโทษ ยันไม่มีผลอุ้มฝ่ายนโยบาย- ผู้บริหาร ภาคธุรกิจขอชะลอเปิดหัวหิน

ติดโควิดสะสมทะลุ 1.5 ล้าน

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 10,919 ราย สะสม 1,500,105 ราย หายป่วย 11,694 ราย สะสม 1,352,838 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 143 ราย เสียชีวิตสะสม 15,612 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 131,655 ราย อยู่ในร.พ. 41,908 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 89,747 ราย มีอาการหนัก 3,548 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 759 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 5,179 ราย กทม.และปริมณฑล 4,184 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 1,127 ราย เรือนจำ 422 ราย และเดินทางมาจาก ต่างประเทศมี 7 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ลาว ประเทศละ 1 ราย เมียนมา 1 ราย (เข้าช่องทางธรรมชาติ) และมาเลเซีย 4 ราย (เข้าช่องทางธรรมชาต 1 ราย)

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 20 ก.ย. ฉีดได้ 469,052 โดส สะสม 45,211,101 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 29,201,077 ราย คิดเป็น 40.5% ของประชากร ครบ 2 เข็ม 15,388,071 ราย คิดเป็น 21.4% ของประชากร และเข็มสาม 621,953 ราย

ชี้แอสตร้าฯบวกไฟเซอร์เวิร์กสุด

ด้านนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีบริษัทไบโอ จีนีเทค จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ยื่นขออนุญาตขยายกลุ่มอายุผู้ใช้วัคซีนจาก 18 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของอย. และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ร่วมกันพิจารณาเมื่อ วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติยังไม่สามารถอนุญาตขยายการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในการใช้วัคซีนยังไม่เพียงพอ และขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคในกลุ่มอายุ 3-17 ปี ซึ่งได้แจ้งบริษัทให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมแก่อย.โดยด่วน เพื่อให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาโดยเร็วต่อไป

ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อัพเดตผลการศึกษาการฉีดวัคซีนไขว้ เทียบการฉีดด้วยวัคซีนชนิดเดียวกัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Siriraj Institute of Clinical Research สรุปว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยไฟเซอร์ ได้ระดับภูมิคุ้มกันสูงสุด 2,259.9 หน่วยต่อมิลลิลิตร, ฉีดซิโนแวคแล้วตามด้วยไฟเซอร์ ได้ระดับภูมิคุ้มกันดีรองลงมาที่ 2,181.8 หน่วยต่อมิลลิลิตร การฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 1,049.7 หน่วยต่อมิลลิลิตร ทั้งนี้การวัดเป็นผล anti-RBD IgG วัดโดยเครื่อง Abbott และรายงานเป็นหน่วยมาตรฐาน BAU/mL ส่วนผลการวัดแบบ PRNT50 จะมีการรายงานต่อไป ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย แอส ตร้าฯ หรือไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ขณะที่ฉีดวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้าเป็นเข็มแรกควรตามด้วยวัคซีน ไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตามควรศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่ได้รับวัคซีนเพื่อยืนยันภูมิคุ้มกันจากการศึกษานี้

ผู้ว่าฯกทม.ลุยฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก

ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพ มหานคร (กทม.) นำคณะไปตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด แก่เด็กที่อยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง หรือกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดกว่า 1,600 ราย และมีอายุระหว่าง 12-18 ปีที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้ารับวัคซีน ไฟเซอร์ โดยแบ่งเป็นเข็มแรก 900 ราย เข็มที่สอง 700 ราย ซึ่งเริ่มฉีดมาตั้งแต่ วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีเด็กที่ลงทะเบียนคงเหลืออยู่อีกประมาณ 3,000 ราย ซึ่งคาดว่าไม่เกิน2 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะนำวัคซีน ไฟเซอร์เข้ามาฉีดให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี โดยเว้นระยะการฉีดเข็มที่ 2 เพียงแค่ 3-4 สัปดาห์เท่านั้น ไม่เพียงแต่เด็กในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะได้วัคซีนไฟเซอร์ แต่เป็นเด็กทุกคนที่จะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โดยเป็นการฉีดแบบสูตรไฟเซอร์-ไฟเซอร์ ทั้งหมดอย่างเท่าเทียม และหากสามารถฉีดวัคซีนเด็กได้ทั้งหมดจะนำเรื่องเสนอ ศบค.และอาจจะเปิดเรียนได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้”

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ก่อนที่จะเปิดเรียน กทม.ต้องการฉีดวัคซีนให้ได้ครบทั้งหมด แต่เบื้องต้นได้รับการจัดสรรวัคซีนมาน้อย จึงต้องนำมาฉีดให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน หลังจากนั้นก็จะทยอยฉีดให้ครบ สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และคนท้อง กทม.สามารถฉีดไปได้แล้วกว่า ร้อยละ 95 แต่ในส่วนของคนที่อายุ 18-59 ปี กทม.ฉีดวัคซีนไปได้ทั้งหมดเกือบ ร้อยละ 40 ซึ่งคาดหวังว่าหากมีวัคซีนมาพร้อม จะฉีดได้เกินร้อยละ 70 ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้

ฉีดเด็ก – กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนกลุ่มอายุ 12-18 ปี ที่ชั้น 6 อาคารทีปังกรรัศมีโชติ วชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.

สธ.ลุ้นโควิดแค่โรคประจำถิ่น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า คาดหลังผ่อนคลายมาตรการ 1 เดือน หากไม่มีมาตรการอื่นตัวเลขจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ผ่านมาตัวเลขผู้ป่วยใหม่ลดลงค่อนข้างช้า ก็พยายามใช้มาตรการควบคุมอย่างชุดตรวจเอทีเค ส่วนเรื่อง Covid Free Setting ก็มีความสำคัญมาก รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เพราะฉีดวัคซีนเข็ม 3 ก็ยังติดเชื้อได้ ต้องระวังการติดเชื้อทั้งคนที่ฉีดและยังไม่ฉีด โดยนโยบายของรัฐบาลไม่อยากให้ล็อกดาวน์ประเทศอยู่แล้ว พยายามหามาตรการควบคุมโรคโดยไม่ต้องล็อกดาวน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือของประชาชนทุกคนในการช่วยกันดูแล

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราได้ติดตามสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยใหม่อยู่ว่าจะลดลงถึงไหน ซึ่งคงไม่ถึงศูนย์ แต่ยังมีการติดเชื้อในรูปแบบ Endemic หรือว่า โรคประจำถิ่น เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวกับวัคซีนที่ต้องฉีดให้ครอบคลุมกับประชากร เช่น กทม. ครอบคลุมคนกว่า 90% ส่วนผู้สูงอายุครอบคลุมอีก 90% และเข็ม 2 เกือบ 40% ดังนั้น กทม.จะเป็นจังหวัดแรกๆ ในการเป็นโมเดลโรคประจำถิ่นคือ ระบาดไม่ได้ แต่ทำให้ป่วยหนักไม่ได้ ก็จะนำไปสู่การดูแลประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับภูเก็ต ดังนั้น 2 จังหวัดนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ Endemic ได้เป็นจังหวัดแรกๆ

ครม.เคาะพรก.ป้องทีมสู้โรค

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ ประชุมครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ,ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อให้แยกการจัดการ กรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โดยไม่ต้อง ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะได้เหมาะสมในการบริหารจัดการมากขึ้น

“ประเด็นที่สำคัญที่จับจ้องกันอยู่ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายบริหารหรือไม่ ก็ต้องขอย้ำว่าสาระของพ.ร.ก.ฉบับนี้ต้องการที่จะคุ้มครองดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยสาระกำหนดว่ากำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคุ้มครอง พนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีเนื้อหาสาระใดที่เป็นการกล่าวถึงการที่จะเข้าไปคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายบริหาร” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

น.ส.รัชดากล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ครม.ไม่ได้พูดถึงจะยุบศบค. และยกเลิกพ.ร.กฉุกเฉิน ส่วนร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการพิจารณาต่อพ.รก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น ทางศบค.และครม.จะพิจารณาต่อไป

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รายงาน อธิบายเหตุผลที่ต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวให้มากขึ้นในการบริหารงานด้านสาธารณสุขท่ามกลางการระบาดของโควิด ต้องเสนอต่อสภาเพื่อให้สภาเห็นชอบ แต่คงต้องเสนอเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาแล้วในเดือน พ.ย. เนื่องจากไม่อยากขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ หากพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา

หมอนิธิย้ำเด็กดีใจได้ซิโนฟาร์ม

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงโครงการทดลองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้เด็กนักเรียนนำร่องกลุ่มแรกว่า บรรยากาศที่ฉีดไปเมื่อวานนี้ก็เห็นเด็กนักเรียนมีความสุข หัวเราะสนุกสนาน เด็กอยากกลับไปเจอเพื่อน ภาพรวมเด็กมีความกระตือรือร้นที่จะมาฉีด และหลังฉีดไปแล้วก็เป็นประโยชน์ ซึ่งความเสี่ยงในการได้วัคซีนของเด็กมีความใกล้เคียงกันจนยากกว่าที่ใครจะตัดสินใจได้ง่าย แต่ผลกระทบทางสังคมกับเด็กนักเรียนมีมาก ในวงการแพทย์และการวิจัย นักวิชาการไม่สามารถคิดและคำนวณด้วยกระบวนการที่เคยชิน เลยไม่ได้ตัดสินใจว่าผลกระทบและความเสี่ยงจะมีมากน้อยแค่ไหน

ศ.นพ.นิธิกล่าวต่อไปว่า ยังไม่ขอตอบตอนนี้ว่าจะขยายจำนวนนักเรียนที่จะฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า แต่อยากให้จบโครงการรอบแรกไป เพื่อให้กลุ่มนี้เป็นตัวอย่างให้กับอย.ไปพิจารณาว่าการใช้วัคซีนในกระบวนการจริงมีข้อเสียหรือไม่ และผลประโยชน์ที่ได้คืออะไร จะได้เอาข้อมูลของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นตัวอย่างในชีวิตจริงในสังคมที่คนไทยจะต้องใช้ชีวิตต่อไป

สงสัย‘อย.’ไม่มีลูกหลาน

“กลัวอะไร และวีคซีนซิโนฟาร์มก็มีผลกระทบน้อยกว่าวัคซีนอื่นตั้งเยอะ จะไปกลัวอะไร วัคซีนอื่นน่ากลัวกว่าอีกไหม ส่วนที่มีมติออกมาไม่ให้ฉีดในเด็กที่อายุ 3 ปีขึ้นไปนั้น สงสัย อย. ไม่มีลูกมีหลานเล็กๆ อันนี้ผมเดาเอา”

ศ.นพ.นิธิย้ำอีกว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานที่นำร่องและคิดค้นตัวอย่างทำให้คนอื่นได้เห็น ส่วนใครจะเห็นเป็นอย่างอื่นแล้วจะไปทำอย่างไรต่อก็เชิญ ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็นำร่องไปหลายโครงการแล้ว บางโครงการตกร่องไปแล้วก็มี ซึ่งก็ไม่เป็นไร ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าการฉีดวัคซีนให้กับเด็กยังไม่มีผลการวิจัยรับรองนั้น เวลาที่จะชี้แจงในข้อสงสัยเรื่องไหนตนเองก็จะชี้แจงให้กับคนในระดับความรู้และกิเลสเสมอกัน คนอื่นไม่ชี้แจง และวัคซีนที่ฉีดให้กับเด็กนักเรียน ใครอยากจะมาฉีดก็มา ใครอยากจะใช้ก็ใช้ ไม่ได้บังคับใคร เพราะเป็นโครงการนำร่องทดลอง เพราะถ้าไม่ทดลองก็ไม่รู้

นำเข้ายาสกัดป่วยโควิดรุนแรง

ศ.นพ.นิธิยังกล่าวถึงความคืบหน้าการรักษาผู้ป่วยโควิด- 19 ด้วยยาโมโนโคล นอลแอนติบอดีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในไทย ว่า ในวงการแพทย์ตอนนี้วัคซีนพัฒนาไม่ได้หยุด ยาก็เช่นเดียวกัน มีการวิจัยยาเฉพาะหลายตัว เช่น ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี เป็นยาสังเคราะห์เข้าไปจับส่วนหนึ่งของเซลล์ไวรัส ไม่ให้เข้าในเซลล์มนุษย์ หากใช้ในระยะต้นที่เริ่มมีอาการจะทำให้หายเร็ว อาการไม่รุนแรง และลดการเสียชีวิตได้ จึงไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากเกินไป ล่าสุดราชวิทยาลัยฯจัดหานำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี เรียกว่า แอนติบอดีคอกเทล ซึ่งเป็นตัวแรกที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยจะให้ในผู้ป่วยระยะแรกที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ที่มีความเสี่ยงมีอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งจะลดการเข้า ร.พ. และลดการเข้า ไอซียู และยังร่วมกับ ร.พ.อีก 2-3 แห่ง ที่จะวิจัยยาแอนติไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยมองว่าจะถึงเป้าเร็วกว่าคนอื่น ประเทศเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบยานั้นด้วย

ด้านผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยโควิด พบว่ามี 5% ที่มีอาการหนักต้องเข้าไอซียู อย่างผู้ป่วย 1 หมื่นราย จะมีคนเข้าไอซียูใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า 500 ราย หากเพิ่มทุกวัน วันละกว่าหมื่นรายก็จะคูณ 14 ทบไปเรื่อยๆ จึงต้องหาวิธีลดคนไข้รายใหม่ลงให้มาก เพื่อลดจำนวนคนเข้าไอซียู เมื่อเปิดกิจการมากขึ้น คาดว่า กลาง ต.ค. อาจเห็น ผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่หวังว่ากราฟจะไม่ชันเหมือนก่อนหน้านี้ ส่วนตัวมองว่าเชื้อนี้ลักษณะคล้ายไข้หวัด มาตรากรสาธารณสุข มาตรการวัคซีน อาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอันต่อมาคือยารักษา ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัว รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม ดังนั้นจึงมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว บางตัวทำท่าว่าจะได้ผล เช่น โมโนโคลนอลฯ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์

โดสละ 5 หมื่นบาท

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กล่าวว่า ข้อมูลในปัจจุบันต่างประเทศพัฒนาการรักษาอยู่หลายตัว ที่เป็นยาป้องกันและช่วยลดความรุนแรง ส่วนยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในการศึกษา กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่นำโปรตีนที่สร้างขึ้นจับกับส่วนของไวรัส ไม่ให้เข้าเซลล์มนุษย์ ดังนั้นไวรัสจะไม่สามารถทำร้ายเซลล์ได้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัวและการใช้ต้องใช้ในระยะของการติดเชื้อ ยังไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว หรือเลย 10 วันแล้ว เนื่องจากเป็นระยะของการกระตุ้นภูมิของร่างกาย อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยทั้งรักษาและป้องกัน เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยากลุ่มนี้ก็จะคล้ายๆ กันด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นมีการนำเข้ามา 4,000 โดส กระจายให้กับร.พ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่ายานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของร.พ.เอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วนร.พ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของร.พ. หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่าย ดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้นราคา 50,000 บาท ต่อโดส 1 คน ใช้ 1 โดส

กลุ่มเสี่ยง – จนท.สาธารณสุขตรวจเชิงรุก พร้อมฉีดวัดซีนให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงในต.หาดเล็กอ.คลองใหญ่ จ.ตราด ขณะเดียวกันทางจังหวัดสั่งล็อกดาวน์ 2 หมู่บ้าน ในต.หาดเล็กเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 21 ก.ย

คลัสเตอร์โรงเรียนเลยป่วย 58

ที่จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อชี้แจงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 230 ราย เป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 11 ราย และการสัมผัสผู้ป่วย 219 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 23,923 ราย รักษาหาย 20,770 ราย ยังรักษาอยู่ 2,987 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 53 ปี ต.นากลาง อ.สูงเนิน ส่วนความคืบหน้าการเฝ้าระวังคลัสเตอร์ตลาดสุรนารีล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมกว่า 400 ราย กระจายในพื้นที่ 14 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พิมาย อ.สีคิ้ว อ.ด่านขุนทด อ.ขามทะเลสอ อ.หนองบุญมาก อ.โนนไทย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ห้วยแถลง อ.โนนสูง อ.ขามสะแกแสง อ.พระทองคำ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปักธงชัย

ที่ จ.อุบลราชธานี รายงานข่าวแจ้งว่าพบ ผู้ป่วยใหม่ 43 คน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ 28 คน และ 3 คนเป็นผู้ติดเชื้อจากโรงงานเย็บผ้าโดยตรง อีกส่วนเป็นการนำเชื้อไปแพร่สู่คนในครอบครัว ทำให้ในรอบ 1 สัปดาห์มีคนติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้าแห่งนี้แล้ว 75 คน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขเข้าทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายกว้างไปกว่านี้

ที่จ.เลยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 เป็นนักเรียนชาย 11 ราย นักเรียนหญิง 8 ราย และครูอีก 1 ราย รวมติดเพิ่มรายใหม่ 19 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 แล้ว 58 ราย ส่วนภาพรวมติดเชื้อในจังหวัดเลยพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 31 ราย ในพื้นที่ 30 ราย นอกพื้นที่ 1 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 รายเป็นเพศหญิง อายุ 46 ปี ชาวบ้านตำบลหนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย เสียชีวิตเป็นรายที่ 19

พิจิตรกินน้ำร่วมแก้วติด 12 คน

ที่จ.พิจิตร นายวิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิจิตร เปิดเผยว่า พบคลัสเตอร์รายใหม่ เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงกลับมาบ้านที่อ.โพธิ์ประทับช้าง พาครอบครัวไปกินหมูกระทะที่ อ.สามง่าม ปรากฏว่า ติดเชื้อโควิดยกครัว และมีคลัสเตอร์ต่อเนื่องอีก เป็นคลัสตอร์เดียวกันรวม 17 ราย และตรวจเชิงรุกมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 10 ราย มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ติดยกครัว รวม 27 ราย นอกจากนั้นที่อ.ตะพานหิน นั้นยังพบคลัสเตอร์รายใหม่ ซึ่งมาดำนาในเขตหมู่ที่ 5 ต.ทับหมัน อีก 12 ราย เนื่องจากใช้แก้วเดียวกันกินน้ำในกระติก ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามหาผู้เสี่ยงสูงในพื้นที่เพิ่มแล้ว

ที่จ.ภูเก็ต สสจ.ภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ 237 ราย ในจำนวนนี้ติดจากแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 9,004 ราย ติดเชื้อจากแซนด์บ็อกซ์สะสม 99 ราย และมี ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย ส่วนผู้กักตัวที่ศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน เป็นผู้เข้าข่ายรายใหม่ตรวจเชิงรุกเอทีเค 47 ราย รวมยอดคงเหลือผู้เข้าข่ายกักตัว 1,269 ราย

ธุรกิจขอชะลอเปิดหัวหิน

ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายอุดม ศรีมหา โชตะ ประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สมาคมโรงแรมไทย อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหัวหิน – ชะอำ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปปัญหาการเปิดเมืองหัวหิน หรือ ‘หัวหิน รีชาร์จ’ แจ้งให้กรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้อำนวยการ ททท. ประจวบคีรีขันธ์ นำไปพิจารณแล้ว โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในอ.หัวหิน และจ.ประจวบ คีรีขันธ์ ขอให้เลื่อนการเปิดเมืองออกไปเป็นเดือนพ.ย.หรือธ.ค.2564 จากนั้นให้ขยายพื้นที่เพิ่มจากหัวหิน ไปอำเภออื่น เพื่อเสริมสร้าง รายได้ให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวกลุ่มเอสเอ็มอี

นายอุดมกล่าวว่า การเปิดเมืองรับต่างชาติเข้ามาในวันที่ 1 ต.ค. โดยมีเงื่อนไขการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ หากมีกฎระเบียบเข้มเหมือนภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จะทำให้คนไทยที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ มีผลกระทบอย่างมาก หากเลื่อนออกไปเป็นเดือนพ.ย.หรือธ.ค. โดยเงื่อนไขแบบไม่กักตัว ต้องไม่มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจหรือมีด่านคัดกรองการเข้าออกสำหรับคนไทย ต้องไม่ตั้งด่านตรวจ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการเดินทางเข้าออกหรือเป็นเส้นทางแวะพักผ่อนก่อนเดินทางไปภาคใต้ หากเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วมีด่านคัดกรอง ด่านความมั่นคงที่หัวหิน 5 จุด จะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวจะต้องเสียเงินอย่างน้อย 450 บาทต่อคนในการไปตรวจเอทีเค แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสตามข้อกำหนด

นายอุดมกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีปัญหา จากการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน หรือ SOPซึ่งภาคเอกชนมีความพร้อม แต่ภาครัฐยังมีปัญหาติดขัดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของระบบราชการส่วนภูมิภาค ดังนั้นหาก SOP ล่าช้าจะมีผลต่อการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการเข้าใจแนวทางการปฏิบัติ ขณะที่การรับรอง ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวมาตรฐาน SHA และ SHA Plus+ ของ ททท. ยังมีการรับรองที่ผ่าน SHA Plus+ เพียง 33 แห่ง

ควบคุมพื้นที่ – เจ้าหน้าที่อสม.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระดมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน และพื้นที่รอบชุมชนในต.บ้านเกาะ หลังพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นจากคลัสเตอร์ตลาดสุรนารี ขณะนี้มีผู้ป่วยเกือบ 400 รายแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.

ชลบุรีเจอ 77 คลัสเตอร์

ที่จ.ชลบุรี สสจ.ชลบุรี รายงานว่า พบ ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 629 ราย มียอดสะสม 80,687 ราย กำลังรักษาตัวอยู่อีก 13,308 ราย หายป่วย 66,809 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตเป็น 570 ราย ยังพบผู้ติดเชื้อกระจาย 9 อำเภอ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อที่มากที่สุดที่อำเภอเมืองชลบุรี 185 ราย ขณะนี้พบคลัสเตอร์ มาจากสถานประกอบการ 77 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง ส่วนคลัสเตอร์ทหารเกณฑ์ผลัด 1/2564 อ.สัตหีบ พบอีก 9 ราย สะสม 736 ราย คลัสเตอร์กองนักเรียนจ่า นาวิกโยธิน อ.สัตหีบ 4 ราย สะสม 28 ราย นอกจากนี้ยังพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 5 ราย

ที่จ.ตราด นายขจิตเวช แก้วน้อย นายอำเภอคลองใหญ่ ออกประกาศอำเภอคลองใหญ่ สั่งล็อกดาวน์ 2 หมู่บ้าน 7 วัน คือ หมู่ที่ 1 บ้านคลองมะขาม และหมู่ที่ 5 บ้านคลองสน หลังพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น โดยห้ามเข้าออกทั้ง 2 หมู่บ้าน รวมทั้งเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 21 ก.ย. ถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 29 ก.ย. พร้อมขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลหาดเล็ก ควบคุมคนประจำ เรือและ ผู้ควบคุมเรือ ให้อยู่ในบริเวณท่าเทียบเรือ ไม่ออกนอกพื้นที่ท่าเทียบเรือ

ที่จ.สุพรรณบุรี รายงานข่าวแจ้งว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 47 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 10,776 ราย รักษาอยู่ 1,037 ราย หายแล้ว 9,551 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมเสียชีวิต 188 ราย ผู้เสียชีวิต เป็นหญิงไทย อายุ 73 ปี ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ และชายไทย อายุ 77 ปี ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค รายใหม่ 31 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายใหม่ 116 ราย การเฝ้าระวังค้นหาเชิงรุก รายใหม่ 27 ราย ผู้ป่วยวันนี้มาจากต่างจังหวัด จำนวน 8 ราย จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 39 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน