สั่งเฝ้าระวัง10-16ตค.นี้
นนท์เจ้าพระยาเอ่อท่วม
‘ไลอ้อนร็อก’ ขึ้นฝั่งแล้ว

ปภ.แจ้งเตือน 57 จังหวัดรับสถานการณ์น้ำ แบ่งเป็น 4 ประเภท ทั้งน้ำหลาก ดินถล่ม อ่างเก็บน้ำล้นน้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำโขง ขณะที่น้ำชี ยังทะลัก ขอนแก่น-มหาสารคามท่วมหลายพื้นที่ ที่มหาสารคามต้องขอความช่วยเหลือขนของจากรพ.สต.หนองผือ หลังกระสอบทรายเอาไม่อยู่ ย้ายตั้งร.พ.ในวัดแทน ไลอ้อน ร็อกขึ้นฝั่งเวียดนามแล้ว ลดระดับเป็นดีเปรสชัน แต่ภาคอีสานฝนหนักขึ้นแน่ ด้านจันทบุรี-ตราดฝนถล่มน้ำท่วม เร่งระบาย ทางหลวงแจ้งเตือน 21 เส้นทางน้ำท่วมสัญจรไม่ได้

บิ๊กตู่สั่งกองทัพช่วยท่วม

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ ส่งผลให้เส้นทางการคมนาคม ทั้งทางบกและทางราง หลายเส้นทางเสียหาย ไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จึงกำชับให้กระทรวงคมนาคม เร่งแก้ไขปัญหา

โดยเร่งสำรวจเส้นทางการคมนาคม ที่ได้รับความ เสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยและแก้ไขซ่อมแซมฟื้นฟูโดยเร็วเมื่อสถานการณ์อุทกภัยมีความคลี่คลายแล้ว เพื่อให้เส้นทางการคมนาคมของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย กลับมาใช้งานได้ปกติโดยเร็ว

สำหรับเส้นทางใดที่ได้รับความเสียหาย ยังไม่สามารถใช้เดินทางสัญจรได้ นายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีระบบการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่าง ทั่วถึง โดยต้องแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วกันว่าเส้นทางในพื้นที่นั้นได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เดินทางได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน และยังถือเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์ อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน แต่ด้วยขณะนี้มีสถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้น ในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเดินทาง ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และให้สังเกตป้ายการแจ้งเตือน อย่างสม่ำเสมอ ส่วนการเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียง อุทกภัย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนการเดินทาง เดินทางด้วยความไม่ประมาท เพื่อความปลอดภัย ในการเดินทางของประชาชน

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวง กลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำชับกห.โดยทุกเหล่าทัพ ให้คงกำลังสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ในพื้นที่ต่างๆ กว่า 30 จังหวัด ต่อเนื่องกันไปจนถึงขั้นฟื้นฟู

ขณะเดียวกัน ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่านและผลกระทบ จากพายุโซนร้อน “ไลอ้อนร็อก” และ “คมปาซุ” โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย จากฝนตกสะสม ต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยให้เสริมกำลังหมุนเวียนร่วมกับจิตอาสาและเครื่องมือช่างกระจายลงพื้นที่เข้าช่วยประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อลดอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ขอให้ใช้สะพานทหารเข้าช่วยดำรงไม่ให้เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท

ท่วมตราด – น้ำจากเขื่อนคีรีธาร อ.ขลุง จ.จันทบุรี ไหลทะลักลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชนพื้นที่บ้านรื่นรมย์สามัคคี ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด หลังเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งคืน เมื่อวันที่ 10 ต.ค.

เตือน 57 จว.รับสถานการณ์น้ำ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) รับแจ้งจาก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากแผนที่ฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยาการธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 10-16 ต.ค. มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด และ

เพชรบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

2.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และ แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี และสระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และประจวบคีรีขันธ์

ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต และกระบี่

3.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

แม่น้ำมูน อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิม พระเกียรติ จังหวัดบุรีย์รัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษ๊ไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบล ราชธานี

ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

4.เฝ้าระวังแม่น้ำโขง โดยระดับน้ำมีแนวโน้ม เปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น

กอปภ.ก. จึงแจ้งให้ 57 จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัย และทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อม เผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที

21 ทางหลวงสัญจรไม่ได้

กองบังคับการตำรวจทางหลวงสรุปรายงาน สถานการณ์อุทกภัยบนทางหลวง พื้นที่จังหวัด ที่มีน้ำท่วม/ดินสไลด์ การจราจรผ่านไม่ได้ 21 แห่ง ดังนี้ จ.ขอนแก่น 1.เส้นทางหลวง 2 ท่าพระ-ขอนแก่น อำเภอเมือง-ช่วง ก.ม.ที่ 329+913 2.เส้นทางหลวง 12 ขอนแก่น-พรหมนิมิต อำเภอเมือง-ช่วง ก.ม.ที่ 565+600 (จุดกลับรถใต้สะพานข้ามลำน้ำพอง)

3.เส้นทางหลวง 2065 พล-ลำชี อำเภอแวงน้อย-ช่วง ก.ม.ที่ 33+625 4.เส้นทางหลวง 2065 พล-ลำชี อำเภอแวงน้อย-ช่วง ก.ม.ที่ 33+785 5.เส้นทางหลวง 2131 บ้านสะอาด-เหล่านางงาม อำเภอเมือง-ช่วง ก.ม.ที่ 6+200 ถึง 8+800 ด้านซ้ายทางและขวาทาง

6.เส้นทางหลวง 213 มหาสารคาม-หนองขอน อำเภอกันทรวิชัย-ช่วง ก.ม.ที่ 5+530 (อุโมงค์ทำขอนยาง)

จ.นนทบุรี 7.เส้นทางหลวง 302 สะพานพระนั่งเกล้า-ต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง ช่วง ก.ม.ที่ 16+950 (จุดกลับรถใต้สะพานคลองบางแพรกเพื่อมุ่งหน้าแคราย)

8.เส้นทางหลวง 302 สะพานพระนั่งเกล้า-ต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง ช่วง ก.ม.ที่ 17+000 (จุดกลับรถใต้สะพานคลองบางแพรก เพื่อมุ่งหน้าถนนกาญจนาภิเษก) 9.เส้นทางหลวง 307 แยกสวนสมเด็จ-สะพานนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด ช่วง ก.ม.ที่ 0+942 (จุดกลับรถใต้สะพานนนทบุรี)

จ.สระบุรี 10.เส้นทางหลวง 3034 หน้าพระลาน-บ้านครัว อำเภอบ้านหม้อ ช่วง ก.ม.ที่ 13+500 ถึง 15+800 จ.อ่างทอง 11.เส้นทางหลวง 32 นครหลวง-อ่างทอง อำเภอบางปะหัน ช่วง ก.ม.ที่ 32+607 (จุดกลับรถคลองกะท่อ)

12.เส้นทางหลวง 32 นครหลวง-อ่างทอง อำเภอบางปะหัน ช่วง ก.ม.ที่ 33+200 จุดกลับรถใต้ท่อ Box Cul. (วัดค่าย) 13.เส้นทางหลวง 32 นครหลวง-อ่างทอง อำเภอบางปะหัน ช่วง ก.ม.ที่ 39+843 (จุดกลับรถวัดดอกไม้)

14.เส้นทางหลวง 33 นาคู-ป่าโมก อำเภอป่าโมก ช่วง ก.ม.ที่ 36+000 ถึง 36+200 (จุดกลับรถใต้สะพานฝั่งป่าโมก) 15.เส้นทางหลวง 309 บางเสด็จ-แยกที่ดิน อำเภอเมืองอ่างทอง ช่วง ก.ม.ที่ 52+200 ถึง 53+000

จ.พระนครศรีอยุธยา 16.เส้นทางหลวง 347 บางกระสั้น-บางปะหัน อำเภอพระนคร ศรีอยุธยา-ช่วง ก.ม.ที่ 40+860 (จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) 17.เส้นทางหลวง 3263 อยุธยา-ไผ่กองดิน อำเภอบางบาล ช่วง ก.ม.ที่ 10+940 (จุดกลับรถใต้สะพานสีกุก)

18.เส้นทางหลวง 3263 อยุธยา-ไผ่กองดิน อำเภอบางบาล ช่วง ก.ม.ที่ 11+100 (จุดกลับรถใต้สะพานสีกุก) จ.สุพรรณบุรี 19.เส้นทางหลวง 33 สุพรรณบุรี-นาคู อำเภอเมือง ช่วง ก.ม.ที่ 9+886 (สะพานคลองทับน้ำ)

20.เส้นทางหลวง 340 สาลี-สุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า-ช่วง ก.ม.ที่ 59+674 (สะพานศาลเจ้าแม่ทับทิม) จ.นครสวรรค์ 21.เส้นทางหลวง 1 บ้านหว้า-วังไผ่ อำเภอตาคลี ช่วง ก.ม.ที่ 339+600 (จุดกลับรถใต้สะพานเดชาติวงศ์)

ทั้งนี้ ตำรวจทางหลวงขอให้ประชาชน ผู้ใช้ทางโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง มีน้ำท่วมขังในหลายเส้นทาง การเดินทาง อาจไม่ได้รับความสะดวก ควรปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากต้องการสอบถามเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการขอความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ตำรวจทางหลวง สายด่วน 1193

ขอนแก่นน้ำชีจมหลายหมู่บ้าน

ที่บ้านดอนช้าง ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น มวลน้ำของแม่น้ำชีพัดท่วมพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ต้องติดอยู่ภายในหมู่บ้านจนกลายสภาพเป็นเกาะ แม้ระดับน้ำจะลดลงบ้างตามการระบาย แต่ก็ยังคงมีระดับน้ำที่ท่วมขังสูง ไม่สามารถเดินทางออกมาได้ จนท.ต้องนำอาหารไป มอบให้กับผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถออกมาภายนอกได้

ที่บ้านคุยโพธิ์ ม.6 และบ้านปากเปือย ม.7 ต.บึงเนียม ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับลำน้ำพองและลำน้ำชี น้ำท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงที่ผ่านมาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยระดับความสูง ของน้ำในหมู่บ้านนั้นอยู่ที่ 50-80 ซ.ม. และบางจุดมีความลึกถึง 1.80 เมตร ต้องสัญจรด้วยเรือเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่าระดับน้ำ ยังจะสูงขึ้นเพิ่มเติมอย่างช้าๆ

ปภ.ขอนแก่นเร่งยกระดับความสูงของพนังกั้นน้ำขึ้นต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน เพื่อป้องกัน มวลน้ำพองที่ล่าสุดมีระดับอยู่เสมอกับแนวพนังกั้นน้ำเดิมและกำลังจะไหลเข้าสู่คลองชลประทานไปจรดกับน้ำชีหากไม่ยกระดับพนังกั้นน้ำขึ้นมากกว่านี้

ส่วนที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เฉพาะหมู่บ้าน ชีกกค้อ มีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 200 ครัวเรือน น้ำทะลักเข้าท่วมสูง บางพื้นที่สูงเกือบ 2 เมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยวจนไม่สามารถ เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ได้

จมสารคาม – สภาพน้ำชีเอ่อท่วมถนนสายอู่ทอง-โกสุมพิสัย ต.ยางท่าแจ้ง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร ประชาชน 14 หมู่บ้านใน อ.โกสุมพิสัย เดือดร้อนหนัก เมื่อวันที่ 10 ต.ค.

สารคามทะลักท่วมรพ.สต.

ที่จ.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หนองผือ ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย แจ้งขอความช่วยเหลือขอกำลังคนช่วยขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรค หนีน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะกั้นกระสอบทรายไว้ที่หน้ารพ.สต.แล้วก็ตาม

โดยระดับน้ำช่วงถนนหน้ารพ.สต.ระดับน้ำอยู่ที่ ประมาณ 80 เซนติเมตรและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยทาง ปภ.มหาสารคามนำรถยกสูง พร้อมกำลังคน เข้าช่วยขนย้ายวัสดุอุปกรณ์สำนักงานขึ้นไปไว้บนชั้น 2 ของตัวอาคารเพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วม ส่วนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้เคลื่อนย้ายไปไว้ยังวัดบ้านหนองผือ เพื่อเปิดเป็นโรงพยาบาล ชั่วคราวในการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่

ขณะที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำชีล้นตลิ่ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย 10 ตำบล 49 หมู่บ้าน อำเภอกันทรวิชัย 4 ตำบล 22 หมู่บ้าน อำเภอเมืองมหาสารคาม 4 ตำบล 16 หมู่บ้าน น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนในที่ลุ่มต่ำ และอำเภอเชียงยืน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร

โดยที่อำเภอโกสุมพิสัยมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 22,025 ไร่ อำเภอกันทรวิชัย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 6,642 ไร่ อำเภอเมืองมหาสารคาม พื้นที่การเกษตรได้รับ ผลกระทบ 777 ไร่ และอำเภอเชียงยืน ได้รับผลกระทบ 777 ไร่

บ้านเรือนราษฎรที่ถูกตัดขาดไม่สามารถใช้รถสัญจรได้ 14 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย ได้แก่ บ้านหนองขนวน หมู่ 9 บ้านดอนจำปา หมู่ 7 บ้านดอนสวรรค์ หมู่ 8 บ้านม่วงใหญ่ หมู่ 6 หมู่ 11 และบ้านดอนน้อย หมู่ 5 ในตำบลโพนงาม บ้านสำโรง หมู่ 1 บ้านปลาเดิด หมู่ 2 บ้านปลาปัด หมู่ 3 บ้านท่าศาลา หมู่ 4 บ้านหนองบัวเรียนหมู่ 8 ในตำบลยางท่าแจ้ง บ้านศรีสุข หมู่ 5 ตำบลหัวขวาง บ้านหนองผือ หมู่ 1 บ้านกอก หมู่ 2 ตำบลหนองบัว ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,868 ครัวเรือน 6,787 คน สรุปนับแต่เกิด น้ำท่วมมามีผู้เสียชีวิต 2 ราย

ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา สภ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม รับแจ้งเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต ที่บ้านปลาเดิด ต.ยางท่าแจ้ง อ.โกสุมพิสัย ทราบชื่อคือ ด.ช.รัตน์ตนพล สุวะเลิศ หรือน้องเฟิร์ส อายุ 13 ปี ที่เดินฝ่ากระแสน้ำบนถนน คอนกรีตแต่ลื่นจนถูกน้ำซัด ประกอบกับ ว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมน้ำเสียชีวิต

‘ไลอ้อนร็อก’ลดระดับ

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนพายุโซนร้อนไลอ้อนร็อก ฉบับที่ 17 ระบุว่า พายุโซนร้อน “ไลอ้อนร็อก” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว

และเมื่อเวลา 16.00 น. พายุนี้มีศูนย์กลางอยู่เมืองไฮดอง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 106.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรง

ในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนมากทางตอนบนของภาค

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรม อุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จันทบุรี-ตราดฝนถล่ม

ที่จ.จันทบุรี และจ.ตราด เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำจากเขื่อนคีรีธาร อ.ขลุง จ.จันทบุรี ระบายน้ำลงสู่คลองสะตอตอนบน ปริมาณน้ำล้นเกินความจุ ไหลลงมายังคลองสะตอตอนล่าง ทำให้ระดับน้ำในคลองสูงขึ้น โดยสถานีวัดระดับน้ำที่คลองสะตอ บ้านหนองบัว ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด มีความสูงถึงระดับ 9 เมตร เอ่อท่วมบ้านเรือนใน 4 หมู่บ้าน ในต.สะตอ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. และถึงเวลา 10.00 น. ระดับสูงถึง 150 ซม.ในระดับถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่ง 4 หมู่บ้านน้ำท่วม และมีระดับความสูงตั้งแต่ 80-150 ซ.ม. มีบ้านเรือนกว่า 20 หลัง คาเรือนถูกน้ำท่วม และอีก 5 หลังคาเรือน น้ำท่วมรอบบ้านและออกมาไม่ได้

ทั้ง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 3 บ้านรื่นรมย์สามัคคี หมู่ 4 บ้านวงษ์พัฒนา หมู่ 7 บ้านทุ่งกระบอก และหมู่ 1 บ้านตาพลาย ต.สะตอ มีบ้านเรือนกว่า 20 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม และมีระดับความสูง 80-150 ซ.ม. ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในหมู่ที่ 7 ส่วนอีก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 และหมู่ 4 ระดับน้ำลดลง แต่หากมีฝนตกลงมาอีกในช่วงบ่ายระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก

สำหรับชาวบ้านที่น้ำท่วมหลายหลังคาเรือน ต่างเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าระดับหนึ่งแล้ว โดยขนทรัพย์สินขึ้นที่สูง และอยู่ในสภาพ น้ำท่วมโดยระบุว่าน้ำท่วมมาตั้งแต่เช้ามืด เรียกร้องให้เร่งเปิดประตูน้ำเขาสมิงระบายน้ำออกแม่น้ำตราดครบทุกบาน เพื่อระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือประตูน้ำใน 3 ตำบลมีความสูงเพิ่มขึ้น

รับมือท่วม – เจ้าหน้าที่เทศบาลนครนนทบุรี ระดมกระสอบทรายกั้นเตรียมรับมือน้ำท่วม บริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเก่า อ.เมือง จ.นนทบุรี ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเอ่อท่วมหลายจุดในพื้นที่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค.

นนท์น้ำล้นท่วมถนนแล้ว

ที่จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวลงสำรวจพื้นที่ 3 ตำบล คือต.คลองพระอุดม ต.บางตะไนย์ และ ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พบว่า หลังจากเมื่อเช้าที่ผ่านมาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นซึมผ่านพื้นที่รกร้างและคลองระบายน้ำริมถนน เข้าท่วม ผิวจราจรบนถนนโดยเฉพาะในจุดกลับใต้สะพานต่าง ๆ บนถนนชัยพฤกษ์มีน้ำท่วมขังสูง และเอ่อล้นขึ้นมายังพื้นถนน ทำให้การจราจรชะลอตัวและรถติดสะสมเป็นจำนวนมาก

จากการลงพื้นที่ใต้เชิงสะพานพระรามสี่ ฝั่งขาออก มุ่งหน้าถนนราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นจุดกลับรถและติดแคมป์คนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต.คลองพระอุดม ที่ถูกน้ำเข้าท่วมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าบริเวณถนนชัยพฤกษ์และจุดกลับรถมีระดับน้ำท่วมขัง 15-20 ซ.ม. ท่วมผิวจราจรประมาณ 2 ช่องทาง ทางซ้าย ทำให้รถที่ใช้สัญจรบนถนนดังกล่าวต้องใช้ความระวังและลดความเร็วลง

ส่วนจุดที่สองบริเวณใกล้เคียงเทศบาลตำบลบางพลับ หน้าปั๊ม ปตท.ถนนชัยพฤกษ์ ฝั่งขาออก พบน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมผิวจราจร ประมาณ 20-30 ซ.ม.เช่นกัน ทำให้ช่องจราจรสองเลนทางซ้าย รถยนต์ต้องชะลอตัวและเบี่ยงเลนจึงทำให้จราจรติดขัดมีปริมาณรถสะสม จำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน