‘อนุทิน’สั่งปิดเกมโควิดใต้ตค.นี้
รพ.มธ.สั่งซื้อmRNA10ล้านโดส
‘บิ๊กตู่’ปลื้ม‘รัสเซล โครว์’ชูไทย
‘เฮ้ง’ชงครม.ช่วยรักษาจ้างงาน

สธ.เพิ่มสูตรฉีดไขว้ พร้อมบูสต์โดสไฟเซอร์ให้กลุ่มแอสตร้าฯ 2 เข็ม คาดเริ่มพ.ย.นี้ ‘อนุทิน’ สั่งปิดเกมโควิดใต้ภายในต.ค.นี้ ระดมส่งวัคซีน 1 ล้านโดสไปให้ เร่งฉีดครอบคลุม 70% อว.เผยฉีดนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยแล้วเกิน 1 ล้านโดส พร้อมเปิดเรียนออนไซต์ 1 พ.ย.นี้ ร.พ.สนามธรรมศาสตร์จับมือภาคเอกชนสั่งซื้อวัคซีน mRNA 10 ล้านโดส ติดเชื้อรายวัน 10,486 ตายอีก 94 ‘บิ๊กตู่’ปลื้ม ‘รัสเซล โครว์’ พระเอกดังฮอลลีวู้ดชื่นชมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ภาคีนักกม.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ.ชวนทุกอาชีพกรอกข้อมูลฟ้องคดีแบบกลุ่ม ‘บิ๊กตู่’ บริหารโควิด ล้มเหลว ทำให้หลายกิจการเจ๊ง ‘รมต.เฮ้ง’ ชงครม. รักษาการจ้างงานภาคเอสเอ็มอีฟื้นศก.รองรับเปิดประเทศ

ติดเชื้อเพิ่ม 10,486-ตาย 94

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,486 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,277 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,410 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 867 ราย มาจากเรือนจำ 167 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 42 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,762,190 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,711 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,636,461 ราย อยู่ระหว่างรักษา 107,606 ราย อาการหนัก 2,897 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 684 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 94 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 38 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 72 ราย มีโรคเรื้อรัง 16 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่จ.ปัตตานี พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดใน กทม. 10 ราย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดรวม ผู้เสียชีวิตในพื้นที่ภาคใต้รวมกันสูงถึง 36 ราย มากกว่ากทม.และปริมณฑลรวมกัน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 18,123 ราย

ตรวจเอทีเคติดเชื้อ 1.6 แสน

“อย่างไรก็ตามที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ยืนยันตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน มีการรวบรวมและเผยแพร่ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยยอดรวมการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.-15 ต.ค. มีจำนวน 2,484,903 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 161,959 ราย เฉพาะวันที่ 15 ต.ค. ตรวจ 31,781 ราย ผลเป็นบวก 2,192 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 240,383,902 ราย เสียชีวิตสะสม 4,896,169 ราย สำหรับยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 1,034,549 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 63,614,352 โดส”

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 15 ต.ค. ได้แก่กทม. 1,054 ราย ยะลา 767 ราย ปัตตานี 644 ราย สงขลา 605 ราย นราธิวาส 494 ราย นครศรีธรรมราช 488 ราย ชลบุรี 434 ราย สมุทรปราการ 379 ราย ราชบุรี 299 เชียงใหม่ 233 ราย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดติดเชื้อจังหวัดในภาคใต้มียอดสูงจากเดิม และจากข้อมูลคลัสเตอร์เล็กๆ ต่างๆ ขณะนี้เริ่มกระจายไปในครอบครัวและชุมชนเหมือนกับกทม.และปริมณฑลก่อนหน้านี้ จึงขอให้เฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ส่วนคลัสเตอร์ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ จ.เชียงใหม่ พบคลัสเตอร์ตลาด โรงงาน สถานศึกษา บ้านพักเด็กเล็ก ส่วนจ.ชลบุรีพบคลัสเตอร์แคมป์คนงานและค่ายทหาร ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ที่จ.อุบลราชธานี พบคลัสเตอร์โรงพยาบาลและร้านอาหาร ที่จ.ตรัง พบคลัสเตอร์งานเลี้ยงเกษียณ ที่จ.ขอนแก่น พบคลัสเตอร์งานศพ ที่จ.จันทบุรี พบคลัสเตอร์ล้งผลไม้ และที่จ.ลำพูน พบคลัสเตอร์แรงงานเก็บถั่วแระ

ใช้‘ไทยแลนด์พลัส’เปิดปท.

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ที่ประชุมศบค.เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ต.ค.จะมีผลวันที่ 16 ต.ค. และคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตามขอย้ำถึงแผนการเปิดประเทศโดยการเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่การเปิดประเทศแบบปลอดภัย, การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กลุ่มเปราะบาง, การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข, การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารความเสี่ยง, การสร้างกลไกบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยวางเป้าหมายไว้ 4 เป้าหมาย คือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19, สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่, ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ, เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรมให้ประชาชนกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมได้

“ในที่ประชุมศปก.ศบค.วันเดียวกันนี้ มีการพูดคุยถึงแผนรองรับการเปิดประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศเสนอ เรื่องการใช้ไทยแลนด์พลัส เป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้เอกสารสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เดิมใช้ COE จากนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาร่วมกันที่จะใช้ ไทยแลนด์พลัส ที่สามารถเดินทางได้หากมีการตรวจพบว่าได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว มีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กเป็นห่วงเรื่องการจัดเลี้ยง การรวมกลุ่ม การทำกิจกรรมตามประเพณี โดยเฉพาะกำลังจะเกิดงานทอดกฐิน เทศกาลลอยกระทง จึงขอย้ำประชาชนให้ยังคงระมัดระวังตัว ส่วนบุคคล การจัดงานจะต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และขอให้จัดโดยมาตรการสาธารณสุขจะต้องเข้มงวด”

‘บิ๊กตู่’ปลื้ม‘รัสเซล โครว์’ชูไทย

เมื่อเวลา 12.20 น. ที่จ.อุบลราชธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งล่าสุด รัสเซล โครว์ ดารานักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง เจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Gladiator ในปี 2000 เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ @russellcrowe ชื่นชมประเทศไทย และโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ระหว่างเดินทางมาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า เป็นสิ่งที่เราควรภาคภูมิใจ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้ประกอบการทั้งหมดที่ทำให้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จ ซึ่งวันนี้มีดาราระดับโลกเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ และได้ชื่นชมประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร ที่พัก บรรยากาศต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า รวมทั้งแสงอาทิตย์ที่สวยงาม เท่าที่ดูจากข่าววานนี้เขาชื่นชมมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรต้องภูมิใจไปด้วยกัน อะไรที่เรามีปัญหาก็ต้องแก้ไขให้ได้ เราต้องอยู่กันให้ได้

“ผมทราบว่าธุรกิจในเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญที่เขาอยากเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องดำเนินการกันต่อไปให้สามารถที่จะปลดล็อกเพื่อดำเนินการได้ในอนาคตอันใกล้นี้ให้เร็วที่สุด ทุกอย่างถ้าเราทำดี มันก็จะได้สิ่งที่ดีตอบแทน แต่ถ้าทำแล้วยังไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน ไม่ร่วมมือกัน มันก็จะไม่ได้อะไรกลับมาเลย ต้องฝากให้ช่วยกันร่วมมือกับรัฐบาลทุกภาคส่วน เมื่อเราอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องร่วมมือกันว่าจะใช้มาตรการเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรกับตัวเอง ดูแลคนอื่นด้วย พี่จูงน้อง เพื่อนจูงเพื่อน รัฐบาลก็พร้อมจะพาทั้งหมดเดินไปข้างหน้า”

สพฐ.ยังไม่รู้ปมร.พ.เลื่อนฉีด

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งหนังสือเรื่องขอเลื่อนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของนักเรียน ส่งถึงผู้อำนวยการ 13 โรงเรียนว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามในเชิงโครงสร้างนั้น วัคซีน ไฟเซอร์เข้าประเทศมาตามกำหนด ไม่มีการเลื่อนแต่อย่างใด ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอต่อการฉีดให้นักเรียน แต่นักเรียนอาจจะได้รับวัคซีนก่อนและหลังตามการจัดสรรของจังหวัดเท่านั้น นอกจากนี้พบว่าผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นหลายแสนคน

ฉีดอาจารย์-นศ.แล้วเกิน1ล.โดส

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อว.พร้อมให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทยอยเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ หรือเรียนในห้องเรียนปกติได้แล้ว สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน และรัฐบาลประกาศนโยบายเปิดประเทศ

“ขณะนี้ อว.ระดมฉีดวัคซีนให้กับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดมากกว่า 1 ล้านโดสแล้ว โดยเริ่มฉีดมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 กว่า 4 เดือนแล้ว โดยวันที่ 15 ต.ค.นี้ ฉีดรวมกัน 1,000,766 โดสแล้ว แบ่งเป็นฉีดในกทม.และปริมณฑล 763,519 โดส และฉีดในต่างจังหวัด 237,247 โดส ผ่านศูนย์ฉีดวัคซีนในสถาบันอุดมศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในกทม.และปริมณฑล 11 แห่ง และต่างจังหวัด 12 แห่ง”

ปลัด อว.กล่าวต่อว่า หน่วยฉีดวัคซีนของ อว.ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 482,655 คน แบ่งเป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา 113,342 คน นักศึกษา 168,930 คน และประชาชนทั่วไป 200,383 คน และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 280,864 คน แบ่งเป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา 59,654 คน นักศึกษา 104,004 คน และประชาชนทั่วไป 117,206 คน ส่วนหน่วยวัคซีนในต่างจังหวัด ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 133,847 คน แบ่งเป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา 83,685 คน นักศึกษา 50,162 คน และรับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 103,400 คน แบ่งเป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา 54,162 คน และนักศึกษา 49,238 คน ทั้งนี้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศยังได้รับวัคซีนผ่านทางช่องทางต่างๆ ด้วย

พร้อมให้เปิดเรียนออนไซต์1พย.

โดยทาง อว.ประเมินสถานการณ์แล้ว พร้อมจะให้มหาวิทยาลัยทยอยเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ตามความพร้อมของแต่ละแห่ง ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเปิดประเทศในเดือนพ.ย. ซึ่ง อว.และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ร่วมกันกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยและให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในพื้นที่ต่อไป

ร.พ.มธ.นำเข้าmRNA10ล.โดส

ด้านโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากการประกาศข้อบังคับมธ.ให้สามารถจัดหาบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ โดยล่าสุดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ประสานงานกับภาคเอกชนเตรียมติดต่อขอนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ถึง 3 ล็อตจำนวนรวมถึง 10 ล้านโดส

โดยตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงกำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ต.ค.นี้

บูสต์โดสไฟเซอร์ให้ชาวแอสตร้า

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีศบค.มีมติ วันที่ 14 ต.ค.อนุมัติวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้เพิ่มว่า ที่ผ่านมามีการอนุมัติการใช้สูตรไขว้ “ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า” จึงมีการเสนอ “แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์” ฉีดห่าง 4-12 สัปดาห์ และ “ซิโนแวค-ไฟเซอร์” ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนการฉีดกระตุ้นที่ผ่านมา มีการใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ครั้งนี้จึงเสนอซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ เป็นการเสนอเพิ่มขึ้นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งศบค.อนุมัติในหลักการ แต่การนำไปใช้ขึ้นกับสถานการณ์เนื่องจากเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา ต้องบริหารจัดการสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยสถานบริการนั้นๆ จะจัดวัคซีนให้เหมาะสมต่อไป ไม่ให้วัคซีนบางตัวเหลือหรือขาด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเห็นชอบให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มด้วย นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จะมีการฉีดกระตุ้น โดยไล่เรียงกันมา

คาดกลุ่มแรกเริ่มฉีดพย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมศบค.วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการเห็นชอบ เป้าหมายในการฉีดวัคซีนในพ.ย.จำนวน 25 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 70% ทุกจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจัดสรรให้เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ 80% วัคซีนในเด็ก 12-17 ปีได้รับเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นให้ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ห่างจาก เข็มที่ 2 ราว 6 เดือน โดยตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ซึ่งวัคซีนแอสตร้าฯ นำเข้ามาฉีดครั้งแรก ก.พ. 2564 จำนวน 1.2 แสนโดส ฉีดเข็ม 2 ช่วง มิ.ย. 2564 ดังนั้น ประมาณพ.ย.นี้ จะฉีดครบ 5-6 เดือน จึงน่าจะมีการรับเข็ม 3 ของผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ กลุ่มแรกๆ ในช่วงนี้

นอกจากนี้ศบค.ยังเผยแพร่ร่างการจัดสรรวัคซีนจำนวน 25 ล้านโดสในเดือนพ.ย.ตามกลุ่มเป้าหมายดังนี้ 1.ประชาชนใน 15 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 2 วันที่ 1-31 ธ.ค. ใช้สูตรซิโนแวค-แอสตร้าฯ หรือแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ จำนวน 5 ล้านโดส คิดเป็น 20% 2.ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 50 จังหวัด ใช้ซิโนแวค-แอสตร้าฯ หรือ แอสตร้าฯ -ไฟเซอร์ จำนวน 10 ล้านโดส คิดเป็น 40% 3.ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป พื้นที่ระบาด ใช้ไฟเซอร์ 2 เข็ม จำนวน 3 ล้านโดส คิดเป็น 12%

4.เด็กอายุ 12-17 ปีทั่วประเทศ ไฟเซอร์ 2 เข็ม 3 ล้านโดส คิดเป็น 12% 5.แรงงานในระบบประกันสังคม ใช้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ หรือซิโนแวค-แอสตร้าฯ 1.5 ล้านโดส คิดเป็น 6% 6.หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์ ใช้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ หรือซิโนแวค-แอสตร้าฯ 5 แสนโดส คิดเป็น 2% และ 7.ประชากรต่างด้าว ใช้สูตร ซิโนแวค- แอสตร้าฯ 2 ล้านโดส คิดเป็น 8%

‘อนุทิน’สั่งปิดเกมโควิดใต้เดือนนี้

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารเรียนรวม ตึก 58 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ของปัตตานี ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้ ทางศูนย์ฉีดวัคซีนม.อ.ปัตตานีเปิดให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน นักเรียน และ แรงงานต่างด้าวกว่า 5 พันราย พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

นายอนุทินกล่าวกับประชาชนว่า หลังจากที่ผ่านมา พบมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าในแต่ละวันพบผู้ติดเชื้อกว่า 2 พันราย เป็นที่น่าวิตกกังวล ทางแพทย์สาธารณสุข ผู้บริหารหารือกันและมีนโยบายที่ต้องปิดเกมวัคซีนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายในสิ้นเดือนตค.นี้ เนื่องจากการระบาดเป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด โดยการนำวัคซีนไฟเซอร์ มาควบคุมการระบาด เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนจนครบภายในสิ้นเดือนนี้ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขมอบวัคซีนจำนวน 1 ล้านเข็ม ให้กับสาธารณสุขในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในสัปดาห์นี้มา 4 แสนเข็ม และอีก 6 แสนเข็ม จะมาภายใน 2 สัปดาห์นี้ ดังนั้นประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับวัคซีนครอบคลุมกันหมด

นายอนุทิน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ใน วันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ และมาเพื่อปิดเกมวัคซีน เพราะว่าสถานการณ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนล่าง คือสงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ค่อนข้างจะรุนแรง ต้องเร่งให้ประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมายให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงต้องใช้ยาแรง เพื่อปิดเกม มั่นใจว่าจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบเป้าหมายได้ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ จะได้เปิดโรงเรียน สัญจรไปมาได้ ธุรกิจร้านอาหาร สามารถเปิดให้บริการได้ ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ ที่เกรงว่าจะนำมาใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อันนี้อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ว่าฯ

สำหรับจ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 563 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 28,785 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 341 ราย เตรียมปิดหมู่บ้านในพื้นที่ของ 11 อำเภอ 56 ตำบล รวม 106 หมู่บ้าน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่กำลังละบาดอย่างหนักในช่วงนี้

เปิด 10 จว.จับตาติดโควิดสูง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธาณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผอ.ร.พ.ทั่วประเทศ ถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และการเปิดเมืองว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับทรงตัว มีการติดเชื้อประมาณวันละ 1 หมื่นราย เสียชีวิตเกือบ 100 ราย กำชับให้ทุกจังหวัดร่วมกันควบคุมโรคให้การติดเชื้อไม่เกิน 5 พันราย และเสียชีวิตไม่เกิน 30 ราย สำหรับปัจจัยที่ทำให้โรคโควิด 19 เริ่มทรงตัว เนื่องจากบางพื้นที่มีการติดเชื้อลดลง เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.และปริมณฑล คาดว่าสัปดาห์หน้าการติดเชื้อของกทม.น่าจะลดลงจากหลักพันรายเหลือหลักร้อยราย

“ส่วนบางพื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อสูงขึ้น คือภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เสนอที่ประชุม ศบค.ให้ตั้ง ศบค.ส่วนหน้าเพื่อควบคุมสถานการณ์และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไม่ได้สูงขึ้นในทุกจังหวัด จึงจัดทำจังหวัด “Watch List” หรือต้องจับตามองที่มีการระบาดในชุมชนเพิ่มขึ้น ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน 10 จังหวัด ได้แก่สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช ตาก ราชบุรี ระยอง จันทบุรี และนครราชสีมา โดยให้วิเคราะห์สถานการณ์และจัดทำแผนควบคุมโรค เร่งตรวจคัดกรองด้วย ATK ฉีด”

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 สามารถฉีดวัคซีนได้ 1,034,549 โดส สะสม 63,614,352 โดส ฉีดเข็มที่ 1 แล้วประมาณร้อยละ 51 ของประชากร กลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-17 ปี ฉีดแล้ว 864,145 โดส จากแสดงความประสงค์ไว้ 4.07 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.2 ขณะนี้ยังไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง โดยกลุ่มเด็กชายอายุ 12-16 ปีที่ให้ ฉีดเพียงเข็มเดียวก่อนนั้น วันที่ 20 ต.ค. 2564 จะพิจารณาว่าจะฉีดเข็ม 2 หรือไม่

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ตั้งเป้าหมายว่าทุกจังหวัดต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 50 โดยมีพื้นที่เป็น COVID Free Area 1 แห่งที่ฉีดได้อย่างน้อยร้อยละ 70 และกลุ่ม 608 ฉีดให้ได้ร้อยละ 80 โดยกรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนซิโนแวคสำหรับฉีดเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1.4 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 อีก 1.4 ล้านโดส คาดว่าจะส่งถึงพื้นที่วันที่ 19 ต.ค.นี้ และทยอยส่งทุกสัปดาห์เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวรวม 17 จังหวัด รองรับการเปิดเมืองวันที่ 1 พ.ย. 2564 จัดสรรวัคซีนซิโนแวคอีก 699,908 โดส ซึ่งเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย

ศูนย์นิติฯ มธ.ชวนฟ้อง‘บิ๊กตู่’

ด้านภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวน “ผู้ประกอบกิจการ/อาชีพอื่นๆ ทุกประเภท” ที่มีความประสงค์จะฟ้องรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว ร่วมให้ข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นแก่ภาคีฯ ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบในการดำเนินคดี “แบบกลุ่ม”

โดยสามารถกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มข้างล่าง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564 เวลา 20.00 น. https://docs.google.com/…/1FAIpQLSdFOc9ny1Q…/viewform…

สืบเนื่องจากกรณีวันที่ 27 ก.ย.64 ที่ศาลแพ่ง ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร พร้อมทีมทนายจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จากกรณีรัฐบาลบริหารสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว ด้วยการต้องออกประกาศหรือคำสั่งต่างๆ จนส่งผลให้กิจการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้รับความเสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงบางแห่งถึงกับต้องปิดกิจการ โดยปราศจากการเยียวยาจากรัฐบาลที่เหมาะสม

ภายหลังจากการยื่นฟ้องของกลุ่ม ผู้ประกอบการร้านอาหาร มีผู้เสียหายที่เป็น ผู้ประกอบกิจการ/อาชีพอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลวของรัฐบาลหลายกลุ่ม หลายรูปแบบ ติดต่อภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ทางภาคีฯ จึงเปิดรับข้อมูลผ่านแบบฟอร์มข้างต้นเพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายต่างๆ และจะได้ดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อไปโดยเร็ว หากผู้เสียหายกลุ่มใดได้รวบรวมข้อมูลหรือรายชื่อผู้เสียหายเป็นกลุ่มไว้แล้วสามารถติดต่อให้ข้อมูลกับภาคีฯ ได้ผ่านทางเพจภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนนี้ หรือ ผ่านทางอีเมล์ covid19.thailandjustice @gmail.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน