เร่งระบายด่วน!
น้ำถล่มสวนผึ้ง
ซัดจุดกางเต็นท์

เขื่อนอุบลรัตน์ล้นแล้ว เผยความจุถึง 111 เปอร์เซ็นต์ หากไม่เร่งระบายเพิ่ม อาจส่งผลกระทบต่อคันดินพังทลายได้ สั่งเพิ่มการระบายจากเดิมวันละ 25 ล้านลบ.ม. เป็นทยอยเพิ่ม จนถึง 35 ล้านลบ.ม.เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนรับมือ พบแล้วศพยายวัย 75 ที่ถูกน้ำป่าซัดที่อ.ภูผาม่าน โคราชยังหนัก น้ำลำเชียงไกรทะลักเพิ่ม จม 1 เมตร เร่งอพยพ ผู้ป่วยติดเตียง ธรรมนัส-นฤมล รุดตรวจน้ำท่วมโคราชแทนบิ๊กป้อม ระบุติดภารกิจ ขณะที่น้ำป่าตะนาวศรีทะลักสวนผึ้ง ท่วมถึงลานกางเต็นท์ ปภ.องค์กรปกครองท้องถิ่น เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวระทึก บางไทร อยุธยา รับน้ำ ท่วมปิดทางเข้าหมู่บ้าน

ช่วยเสนา – พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ น.ส.ธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และนายจีระทัศน์ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ร่วมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหมู่ 7 ต.รางจรเข้ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 ต.ค.

ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วม

วันที่ 23 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 21-22 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น รวม 11 อำเภอ 17 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 674 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตั้งแต่วันที่ 17-19 ต.ค.ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 46 อำเภอ 166 ตำบล 742 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,499 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม และสระแก้ว รวม 30 อำเภอ 125 ตำบล 614 หมู่บ้าน 11,410 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำยังทรงตัว

ส่วนอิทธิพลพายุ “คมปาซุ” เมื่อวันที่ 15-17 ต.ค.ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 12 อำเภอ 33 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,326 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี และปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 407 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่

‘น้ำขัง-ล้นตลิ่ง’อีกอื้อ

สำหรับผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 ก.ย.-7 ต.ค.ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 226 อำเภอ 1,206 ตำบล 8,265 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 339,346 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 17 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย นครสวรรค์ 3 ราย)

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 23 อำเภอ 214 ตำบล 1,048 หมู่บ้าน 67,290 ครัวเรือน ดังนี้ มหาสารคาม น้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และอ.เมืองมหาสารคาม รวม 12 ตำบล 41 หมู่บ้าน สุพรรณบุรี น้ำท่วมขังใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง รวม 20 ตำบล 58 หมู่บ้าน สิงห์บุรี น้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และอ.พรหมบุรี รวม 10 ตำบล 46 หมู่บ้าน

อ่างทองยังมีน้ำท่วมขังใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอ่างทอง อ.ไชโย อ.ป่าโมก และอ.วิเศษชัยชาญ รวม 36 ตำบล 106 หมู่บ้าน พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมขังใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.มหาราช อ.บางปะหัน และอ.บางซ้าย รวม 115 ตำบล 681 หมู่บ้าน ปทุมธานี น้ำท่วมขังใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี และอ.สามโคก รวม 21 ตำบล 56 หมู่บ้าน

สถานการณ์อุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่งซึ่งเกิดจากฝนตกต่อเนื่อง และการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดน้ำในลำน้ำล้นตลิ่งตั้งแต่วันที่ 18-19 ต.ค.ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุทัยธานี และฉะเชิงเทรา รวม 6 อำเภอ 19 ตำบล 100 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 603 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 4 อำเภอ 15 ตำบล 73 หมู่บ้าน 585 ครัวเรือน ได้แก่ ร้อยเอ็ด พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเขาหลวง และอ.เชียงขวัญ รวม 5 ตำบล 38 หมู่บ้าน อุทัยธานี พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ลานสัก และอ.หนองฉาง รวม 10 ตำบล 35 หมู่บ้าน

‘อุบลรัตน์’ล้น-เร่งระบาย

ที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า กฟผ.รายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้มีระดับน้ำปัจจุบัน +182.66 ม.รทก. เกินระดับกักเก็บปกติ 66 ซ.ม. หรือมีปริมาณน้ำ 2,698 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 111 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่าง มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 99.82 ล้านลบ.ม. ระบายออก 25 ล้านลบ.ม. ทำให้ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักปกติ 267 ล้านลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กฟผ.และคณะทำงาน จำลองสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ในกรณีต่างๆ สรุปว่าหากมีการระบายน้ำวันละ 25 ล้านลบ.ม. จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ระดับน้ำจะเกิน +183.50 ม.รทก. ส่งผลกระทบต่อคันดินโนนสัง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู จึงควรปรับเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มขึ้น เป็นอย่างน้อย 35 ล้านลบ.ม. ต่อวัน

“เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของคันดินโนนสัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่ อ.โนนสัง และชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำด้วยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ในช่วงสัปดาห์หน้า 28-30 ต.ค.2564 ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำ จากการเฝ้าติดตามพายุที่จะเข้ามาอีกระลอก หากคงปริมาณการระบายน้ำวันละ 25 ล้านลบ.ม. จะมีความเสี่ยงที่ระดับน้ำจะไหลล้นข้ามคันดินโนนสังอย่างแน่นอน จึงมีมติในการปรับการระบายน้ำจากวันละ 25 ล้านลบ.ม. เป็น 35 ล้านลบ.ม.

โดยกำหนดแผนการระบายน้ำเริ่มตั้งแต่วันนี้ปรับขึ้นเป็น 28 ล้านลบ.ม. วันที่ 24 ต.ค.เป็น 31 ล้านลบ.ม. และวันที่ 25 ต.ค. เป็น 35 ล้านลบ.ม. และหากพบว่าพายุที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนต.ค.จะส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่ม ก็อาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำได้นำเสนอแผนการดำเนินงานมาในขณะนี้” นายสมศักดิ์กล่าว

ผวจ.ขอนแก่นกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เตรียมการรับมือกับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะเข้ามาในพื้นที่ ทั้งจากแม่น้ำชี ตามการระบายน้ำจาก จ.ชัยภูมิ และมวลน้ำหลากจากปริมาณน้ำฝนที่เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าพื้นที่ตามลำน้ำชีรอยต่อ จ.ชัยภูมิ ผ่านโคกโพธิ์ไชย มาจนถึงเขต อ.เมือง ระดับน้ำจะลดลงและพื้นที่ลุ่มน้ำพรม-เชิญ มาตามแม่น้ำพอง ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ดังนั้นการเร่งเสริมแนวคันดิน รวมไปถึงการเร่งอพยพประชาชนมาไว้ในพื้นที่ที่ปลอดภัย และการขนของขึ้นสู่ที่สูง ตามแนวแม่น้ำพองและตามแนวเส้นทางน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะทำงานร่วมทุกฝ่าย โดยเฉพาะปภ., กรมชล ประทาน และหน่วยงานท้องถิ่นในระดับพื้นที่ จะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและระดับน้ำในเขตลุ่มน้ำพรม-เชิญและแม่น้ำพองในระยะนี้อย่างใกล้ชิดและตลอดทั้ง 24 ช.ม. ขณะที่การระบายน้ำของแม่น้ำชีจากการเพิ่มการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทำให้มวลน้ำในแม่น้ำชีในเขต จ.ขอนแก่น ไหลได้อย่างคล่องตัวและลดระดับแล้วในหลายพื้นที่

เจอศพยาย 75 น้ำป่าซัด

จากกรณีน้ำป่าซัดนางสุนันท์ จันทร์มา อายุ 75 ปี หายไปจากบ้านวังใหม่ ม.6 ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ความคืบหน้า หน่วยกู้ภัยชุมแพ จีแชเกาะ และหน่วยกู้ภัยกกไทรจุดน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว นพค.21 สนภ.2 นทพ. เริ่มภารกิจในการตามหานางสุนันท์ โดยนำเรือล่องไปตามลำห้วยมุ่งหน้าเข้าอ่างเก็บน้ำสังขญวน จนกระทั่งเวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่พบร่าง นางสุนันท์นอนเสียชีวิต ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสังขญวน ลักษณะนอนคว่ำหน้าและมีต้นไม้ทับร่าง เจ้าหน้าที่จึงนำร่างขึ้นเรือ ก่อนจะนำมาไว้บนฝั่ง ก่อนจะให้ญาตินำไปประกอบพิธีตามศาสนา

เบื้องต้นทราบว่าบ้านของนางสุนันท์เป็นบ้านไม้สภาพเก่า ซึ่งอยู่ในทางน้ำป่าไหลหลากทุกครั้ง ทางหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมสร้างบ้านใหม่ในที่สาธารณประโยชน์ แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านกลับไม่เห็นด้วย จึงไม่สามารถสร้างบ้านให้กับนางสุนันท์ได้ จนกระทั่งเกิดเหตุสลด ดังกล่าว

ที่ จ.พะเยา ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำป่าจากลำน้ำร่องช้าง ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองดอกคำใต้ ทะลักเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาล โดยเฉพาะบริเวณตลาดสดระดับน้ำเริ่มเพิ่มขึ้น และเข้าท่วมขังในพื้นที่หมู่ที่ 3, 4 และหมู่ที่ 5 ต.บุญเกิด อ.ดอกคำใต้ ระดับน้ำยังคงมีท่วมขังในระดับ 20-30 เซนติเมตร ถนนสายบุญเกิด-บุญเรือง บริเวณข้างสถานีตำรวจภูธรดอกคำใต้ ต้องปิดถนนเนื่องจากถูกน้ำท่วมในระดับสูง รถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ขณะที่ยังคงมีฝนตกลงมาตลอด หน่วยงานราชการหลายแห่งต้องประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและให้เตรียมขนย้ายข้าวของไว้ในที่สูง เนื่องจากปริมาณน้ำบริเวณต้นน้ำเริ่มไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน

ทางเทศบาลเมืองดอกคำใต้ได้นำกำลังและทรายตักใส่กระสอบไว้บริการประชาชนอย่างเพียงพอเพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปกั้นน้ำที่บ้านของตนเอง และให้รายงานโดยด่วน เพื่อจะได้จัดหามาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วต่อไป

ลำเชียงไกรทะลัก-โคราชจม

ที่จ.นครราชสีมา สถานการณ์น้ำท่วมยังคงทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะปริมาณน้ำจากลำเชียงไกร ใน อ.โนนไทย ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ถนนหลักที่เชื่อมต่อระหว่างอ.โนนสูง และอ.โนนไทย บริเวณบ้านหนองอ้อ หมู่ที่ 3 ต.เมืองปราสาท ถูกน้ำไหลท่วมผิวจราจร สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาว 3 ก.ม. รถขนาดเล็กสัญจรผ่านไปมาลำบาก ขณะที่ชาวบ้านกว่า 70 หลังคาเรือนในชุมชนสวนผัก เขตเทศบาลโนนสูง ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 ม. เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยต้องเร่งอพยพคนป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่ เนื่องจากระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และมีแนวโน้มว่าจะท่วมขังนานหลายสัปดาห์

ที่ร.พ.มหาราช นครราชสีมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตร ฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และมอบสิ่งของให้กับผู้ประสบภัย

ร.อ.ธรรมนัสเปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และหัวหน้า พปชร.ตั้งใจเดินทางมาให้กำลังใจชาวโคราชแต่ติดภารกิจด่วน จึงมอบหมายให้ตนและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ลงพื้นที่มาปฏิบัติหน้าที่แทน ประเด็นสำคัญให้กำลังใจและศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ ร.พ.มหาราช ตนเดินทางมาเกือบทุกปี น้ำลำตะคองก็ทะลักมาท่วมซ้ำซาก ปัญหาคืออะไรเราจะพูดคุยกับโยธาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากบริเวณนี้ตลอดระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ข้างล่างได้สร้างมาหลายปีมีรอยร้าวรอยรั่วรอยซึมให้โยธา จ.นครราชสีมา นำเสนอแนวทางแก้ไขจากนั้นจะนำไปเรียนรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกำกับโดยตรง หน.พปชร. กำชับสั่งการให้มาดูความเรียบร้อยและเตรียมรับพายุลูกใหม่ที่จะเคลื่อนเข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ หน.พปชร.เป็นห่วงเป็นใย ตั้งใจ มาเยี่ยม ฝากความคิดถึงชาวโคราช ส่งให้ตัวแทนมาเยี่ยมแทน เราจะไม่ทิ้งพวกท่าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ในขณะคณะ ร.อ.ธรรมนัส กำลังจะเดินทางไปวัดหมื่นไวย ต.หมื่นไวย อ.เมือง ได้มีเยาวชนกลุ่ม “โคราชมูฟเม้นต์ มายืน ชูกระดาษขนาดเอสี่ พิมพ์ข้อความ “รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาคืนความ#เป็นธรรมให้ประชาชน” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รีบเข้ามาตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่พบการกระทำที่หมิ่นเหม่กฎหมายแต่อย่างใด โดย ร.อ.ธรรมนัส และส.ส.โคราช เดินลุยน้ำประมาณ 10-15 เซนติเมตร ไปแจกถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย บรรดากองเชียร์มายืนถือป้ายพร้อมส่งเสียงให้กำลังใจ จนกระทั่งเสร็จภารกิจจึงเดินทางกลับ

จมกรุงเก่า – แม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ขณะที่บริเวณเกาะเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ ระดับน้ำสูงเสมอแนวตลิ่ง ต้องเสริมกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 1 เมตร เมื่อ วันที่ 23 ต.ค.

บางไทรน้ำทะลักปิดหมู่บ้าน

ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม เจ้าหน้าที่ต้องติดตามจุดระดับน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำ ขณะที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาฝั่งตะวันตก บริเวณหน้าเจดีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งเป็นจุดที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่จุดที่ต่ำที่สุด ระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมแนวตลิ่งแล้ว เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมเสริมด้วยกระสอบทรายความสูง 1 ม. เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 1 ม.

ส่วนที่พื้นที่อ.บางไทร ที่เป็นพื้นที่รับปริมาณน้ำจากแม่น้ำพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลมารวมกัน ก่อนเข้ากทม. พบว่าระดับน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำนอกแนวคันกันน้ำ ชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดนเฉพาะที่วัดไทรโสภณ ต.บ้านเกาะ อ.บางไทร ชาวบ้านอาศัยอยู่ห่างถนนระยะทางกว่า 200 เมตร ทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องใช้รถเพื่อการเกษตรมาเป็นทำเป็นรถบริการเข้าหมู่บ้านแทนการลุยน้ำ คิดค่าบริการคนละ 10 บาท ตลอดเส้นทาง ซึ่งชาวบ้านต้องใช้บริการ เพื่อเข้าออกหมู่บ้าน

ช่วยระทึก – ทีมกู้ภัยช่วยเหลือกลุ่มนักท่องเที่ยวถูกน้ำป่าเทือกเขาตะนาวศรีไหลหลาก ท่วมจุดกางเต็นท์ริมห้วยน้ำหนัก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยใช้เชือกผูกกับต้นไม้ใหญ่แล้วฝ่ากระแสน้ำเข้าไปช่วยออกมาได้ปลอดภัย เมื่อวันที่ 23 ต.ค.

ช่วยระทึกน้ำป่าทะลักจุดกางเต็นท์

ที่จ.ราชบุรี เมื่อเวลา 01.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) ราชบุรี พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง อำเภอสวนผึ้ง เจ้าหน้าที่ส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน หลังได้รับแจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวไปกางเต็นท์ริมห้วยน้ำหนัก หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ประสานขอความช่วยเหลือมา เนื่องจากมีน้ำหลากจากเทือกเขาตะนาวศรี เข้าพื้นที่บริเวณที่กางเต็นท์ ทางสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี จึงได้ประสานทางอำเภอสวนผึ้ง และองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) ลงพื้นที่เข้าช่วยทันที

ล่าสุดทางอำเภอสวนผึ้ง ทหาร อปท. และฝ่ายปกครอง เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว ขณะเดียวกันทางอำเภอสวนผึ้ง อปท. ประกาศแจ้งเตือนประชาชน ผู้ประกอบการรีสอร์ด และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ระมัดระวังน้ำป่าไหลหลาก จากฝนตกหนักทุกแห่งอยู่ในระยะนี้ด้วยแล้ว ล่าสุดทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว ขณะที่ฝนยังตกต่อเนื่องอยู่

ที่จ.อ่างทอง จากกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน ในต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย ที่มีเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่ ล่าสุดได้ข้อสรุป ตกลงนำแบริเออร์มาวางช่องเว้นช่องเพื่อชะลอน้ำ โดยหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายมีปากเสียงเถียงกันวุ่นวาย เจ้าหน้าที่อำเภอไชโย และเจ้าหน้าที่เทศบาลไชโย เข้าเจรจาเพื่อหาข้อพิพาท ทำความเข้าใจให้กับทั้ง 2 ฝ่าย โดยได้ข้อสรุปจะนำแบริเออร์มาวางช่องเว้นช่องเพื่อชะลอน้ำให้ไหลผ่านลดน้อยลง ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ และแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ล่าสุดน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านบริเวณหน้าศาลากลางจังอ่างทอง เริ่มทรงตัว อยู่ที่ระดับ 9.29 ม. จากระดับตลิ่ง 10 ม. (จุดอันตรายอยู่ที่ 9.20 ม.) กระแสน้ำไหลผ่าน 2,555 ลบ.ม/วินาที จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมือง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอไชโย อำเภอสามโก้ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 41 ตำบล 186 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 5,543 ครัวเรือน

จมสามโคก – นางรุจศลักษณ์ ธูปกระจ่าง ตั้งวงษ์เลิศ เลขานุการนายก อบจ.ปทุมธานี มอบถุงรอดชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชุมชนวัดเจดีย์ทอง ต.คลองสามควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่ยังคงถูกน้ำท่วมสูง เมื่อวันที่ 23 ต.ค.

ปทุมฯจับตาน้ำเจ้าพระยาสูง

ที่จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี นำแท่ง แบริเออร์เรียงกั้นน้ำเอ่อล้นเจ้าพระยาข้ามถนนคันกั้นน้ำบริเวณปทุมธานีสายใน หน้าวัดบางหลวง ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เนื่องจากระดับน้ำในเจ้าพระยาสูงขึ้นมากกว่าทุกวัน ต่ำกว่าน้ำท่วมปี พ.ศ.2554 เพียง 40 ซ.ม.เท่านั้น เนื่องจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ออกมาเตือนให้จับตาพายุหมาเหล่าลูกใหม่เข้าไทย ในวันที่ 28-30 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตามผลการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมา ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางและกำลังของพายุทำให้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วได้ ทั้งนี้ ขอให้ติดตามการคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงมาก นายรามธนะ วิจิตรการ นายกเทศมนตรีตำบลบางหลวง ประสานมาว่าอยากได้แท่งแบริเออร์เพื่อที่จะมากั้นบริเวณคอสะพานคลองบางหลวงที่เป็นที่ลาดต่ำและระดับน้ำสูงขึ้นมากและกำลังจะข้ามแล้วกันเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนชั้นใน จึงสั่งการให้รีบนำแท่งแบริเออร์มาวางป้องกันโดยด่วนเนื่องจากระดับน้ำกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามคำขอ

โดยแท่งแบริเออร์นำมาจากโรงงานของเพื่อนที่จ.สมุทรปราการ ที่มอบให้ไว้ 300 แท่ง หากไม่วิกฤตจริงๆ ก็ไม่อยากเอาออกมาใช้ โดยในจุดคอสะพานข้ามคลองบางหลวงหน้าวัดบางหลวง นำแท่ง แบริเออร์ 30 แท่ง รวมถึงใช้กระสอบทรายช่วยเสริมกั้นน้ำ อีกจุดคือที่วัดโพธิ์เลื่อนที่ระดับน้ำเกือบจะข้ามคันกั้นน้ำแล้ว เราก็จะเอาแท่งแบริเออร์ไปกั้น หากจุดไหนที่น้ำจะล้นคันกั้นน้ำพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งมาได้เลย ซึ่งเราต้องประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน และจะหนักสุดช่วงวันที่ 27-30 ต.ค.นี้ ซึ่งเราได้เตรียมพร้อมรับมือมาตลอดและตนเชื่อว่าปทุมธานีจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน