เพจดังเข้ายื่นทูตให้ช่วย
หนองคายยันผุดจากโขง

ยื่นสถานทูตลาว เพจดังขอให้พิสูจน์บั้งไฟพญานาค หอบหลักฐานอ้างทหารยิงกระสุนแสง จากหลายหมู่บ้าน ฝั่งสปป.ลาว ยันไม่ได้ลบหลู่พญานาค แค่ต้องการข้อเท็จจริง ขณะชาวหนองคายบอกเห็นมานานกว่า 50 ปี ตั้งแต่ไม่มีใครสนใจจนแห่มาดู เกิดในหนองน้ำก็ยังมี ขณะสะใภ้ลาวบอก คนฝั่งสปป.ลาวก็ออกมาดู วันออกพรรษาเหมือนกัน

ยื่นลาวสอบ – แอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค นำหลักฐานรายชื่อหมู่บ้าน ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอที่บันทึกการเกิดบั้งไฟพญานาคยื่นให้สถานเอกอัครราชทูตสปป.ลาว สืบหาความจริงกรณีการเกิดบั้งไฟพญานาคเป็นการยิงกระสุนแสงจริงหรือไม่ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

วันที่ 25 ต.ค. ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายสมภพ ขำสวัสดิ์ แอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค นำหลักฐานเป็นรายชื่อหมู่บ้าน ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บันทึกการเกิดบั้งไฟพญานาค มาเป็นหลักฐานยื่นให้สถานเอกอัครราชทูต (สปป.ลาว) สืบหาความจริง กรณีการเกิดบั้งไฟพญานาคเป็นการยิงกระสุนส่องแสงจากหมู่บ้านฝั่งลาว ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนไทยมานานหลายสิบปี

โดยนายสมภพกล่าวว่า ทางเพจได้ตรวจสอบและสังเกตการณ์เรื่องนี้มานาน 10 ปี เก็บรวบรวมข้อมูลมาโดยตลอด โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ขณะนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องบั้งไฟพญานาค ก่อนที่อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังจะระบุว่ายังไม่มีใคร เคยถ่ายภาพบั้งไฟขึ้นจากน้ำได้เลย จึงพยายามหาหลักฐานจากยูทูบ หรือช่องทางต่างๆ เพื่อมา ยืนยัน แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นภาพมืดๆ และมีลูกไฟขึ้นมาแต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากไหนกันแน่

นายสมภพกล่าวต่อว่า กระทั่งถึงวันออกพรรษาในปี 2554 จึงตัดสินใจเดินทางไปดูบั้งไฟพญานาคด้วยตัวเอง โดยใช้กล้องถ่ายรูป DSLR เปิดหน้ากล้องไว้นานๆ เพื่อให้เห็นลูกไฟเป็นเส้น แต่ภาพที่ถ่ายได้กลับไม่ใช่ลูกไฟขึ้นจากน้ำ แต่ส่วนใหญ่ขึ้นมาจากฝั่งลาวทั้งนั้น โดยลักษณะคล้ายของแข็งและพุ่งขึ้นเป็นเส้นตรง จากนั้นจึงเริ่มเฝ้าติดตามมาโดยตลอด และเปลี่ยนจุดชมบั้งไฟไปหลายๆ จุด โดยหวังว่าจะเจอบั้งไฟขึ้นจากน้ำสักครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็นำโดรนมาใช้ถ่ายเพื่อหาหลักฐาน เป็นการตั้งกล้องจากฝั่งไทย พบว่าคลิปวิดีโอที่บันทึกได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็น ลูกไฟที่ปรากฏจากทางฝั่งลาวทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่การ ยิงจากริมตลิ่ง แต่ยิงลึกลงไปในน้ำ โดยส่วนตัว เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากฝีมือมนุษย์

“ที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสต่อต้านก็ไม่รู้สึกกังวลใจแต่อย่างใด เพราะมีการเชิญชวนให้พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ผมก็คือคนหนึ่งที่อยากพิสูจน์การเกิดบั้งไฟพญานาคเช่นกัน ผมก็ไม่ได้ ลบหลู่พญานาคแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของการเกิดเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคเท่านั้น” นายสมภพกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคน ล่าสุดอ้างว่ามีรายชื่อ หมู่บ้านลาว ที่ยิงลูกปืนส่องแสง โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทย เช่น หมู่บ้านโดนเหนือ เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ตรงข้ามกับ วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หรือบ้านหงษ์ทอง เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ตรงข้ามกับจ.บึงกาฬ เป็นต้น

โดยรายละเอียดที่เพจดังกล่าวเปิดเผย มีทั้งหมด 10 หมู่บ้านในเบื้องต้น พร้อมประกาศจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปยื่นต่อสถานทูต สปปล. ในวันที่ 25 ต.ค. ส่วนบรรยากาศหน้าสถานทูต สปปล. มีตำรวจ สน.วังทองหลางดูแลความเรียบร้อยจำนวนหนึ่ง ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าวันนี้สถานทูตปิด นายสมภพจึงได้ยื่นหลักฐานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อให้ส่งต่อกับเจ้าหน้าที่ สถานทูตในภายหลังต่อไป

วันเดียวกัน ที่บ้านท่าม่วง ต.รัตนวาปี อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย จุดที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นนับร้อยลูกอย่างต่อเนื่องทุกปี นางลำดวน เสนานิกร อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ท่าม่วง ชี้ให้ดูจุดที่พบบั้งไฟพญานาคบริเวณแม่น้ำโขง หน้าบ้านของตัวเอง พร้อมกล่าวว่า เคยเห็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้อายุ 50 ปีแล้วก็ยังเห็นทุกปี แม้ว่าจำนวนจะลดน้อยลงไปบ้าง

ชาวริมน้ำโขง เชื่อว่าเป็นบั้งไฟพญานาคที่เกิดจากพญานาคในแม่น้ำโขง เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนมาดู มีเพียงชาวบ้านที่ออกมาดูกันในวันออกพรรษา หลังจากนั้นก็มีคนมาดูมากขึ้น แต่เมื่อมีคนต้องการพิสูจน์และบอกว่าเป็นฝีมือการยิงปืนขึ้นฟ้า ก็อยากให้พิสูจน์จนได้ผลที่แน่ชัด จะได้ไม่กล่าวหาว่าชาวบ้านโกหกหลอกลวงกัน และให้กลายเป็นตำนานกล่าวขวัญกันไปเลย ทั้งนี้ฝั่งตรงข้ามกับบ้านท่าม่วงในฝั่งลาว จะเป็นบ้านห้วยสายพาย แขวงบอลิคำไซ ถัดไป เป็นบ้านหนองเขียด และหลังจากเลยคุ้งน้ำ ไปแล้วจะไม่มีหมู่บ้าน เป็นโขดหินริมน้ำโขง

ด้านนางกุหลาบ อินทะรักษา อายุ 65 ปี และนางพุด ทองแดง อายุ 58 ปี ชาวบ้านท่าม่วง กล่าวว่า เห็นข่าวการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคแล้ว ลูกไฟที่พบนั้นไม่ใช่บั้งไฟพญานาคที่ชาวบ้านเคยเห็น บั้งไฟพญานาคของจริงจะมีลอยขึ้นมาจากแม่น้ำโขง ไม่ใช่แค่นั้น ตามหนองน้ำหรือแม้กระทั่งปลักควายก็มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้น รู้สึกเสียใจที่ได้ยินว่าเกิดจากการยิงปืน เชื่อว่าคนที่พูดเช่นนั้นไม่เข้าใจและไม่เคยสัมผัสกับบั้งไฟพญานาคเหมือนเช่นชาวบ้านริมน้ำโขง ที่ได้สัมผัสและพบเห็นมาตั้งแต่ รุ่นปู่ย่า เหมือนเป็นการลบหลู่ด้วยเช่นกัน

นางพรม อุทัยบาน อายุ 68 ปี เคยมีสามีเป็นชาวลาวและไปใช้ชีวิตที่บ้านห้วยสายพาย แขวงบอลิคำไซ กล่าวว่า ชาวลาวเองก็ดูบั้งไฟพญานาคและเชื่อว่าเป็นบั้งไฟพญานาคเช่นกัน แต่การดูจะไม่คึกคักเหมือนฝั่งไทย บั้งไฟพญานาคจะไม่ขึ้นสูงมากนัก แต่ปืนหรือพลุ ที่ยิงขึ้นฟ้าจะมีความสูงกว่าต้นไม้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน