รมว.ท็อปครวญ
เกินกำลังรับมือ

รมว.ท็อปครวญเกินกำลังแล้ว น้ำรอบทิศเทลงท่าจีนสาหัสมากกว่าปี 2554 ชาวนาวิเศษชัยชาญ 2 ฝั่งถนนหวิดวางมวยวิวาทเปิดท่อระบายน้ำท่วมนาข้าวเน่า อีกฝ่ายไม่ยอมเพราะรอเก็บเกี่ยว จนท.ต้องรุดเจรจากันวุ่น ขอนแก่น-โคราชเตือน รับมือน้ำล้นตลิ่ง ‘เขื่อนอุบลรัตน์-ลำตะคอง’ เกินความจุแล้วต้องเร่งระบาย

ท่วมนนท์ – น้ำจากเจ้าพระยาเอ่อล้นไหลเข้าท่วมวัด ชุมชน และบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำถนนพิบูลสงคราม ตั้งแต่วัดปากน้ำ วัดเขมาภิรตาราม จนถึงวัดนครอินทร์ และ ศาลเจ้าแม่ทับทิม จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

ปภ.สรุปอุทกภัยทั่วปท.

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทย มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 21-24 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น กาญจนบุรี ราชบุรี และสุราษฎร์ธานี รวม 27 อำเภอ 59 ตำบล 350 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,159 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน จ.กาญจนบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ บ่อพลอย ท่าม่วง หนองปรือ และท่ามะกา รวม 17 ตำบล 145 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,679 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง

ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลัง ปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 46 อำเภอ 166 ตำบล 742 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,499 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม และสระแก้ว รวม 29 อำเภอ 117 ตำบล 566 หมู่บ้าน 15,030 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง

รับมอบเรือ – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 รับมอบเรือพายจำนวน 40 ลำ จากผู้บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อวันที่ 25 ต.ค ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

‘บิ๊กตู่’ยันเร่งแก้ปมน้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับมอบ สิ่งของบริจาคจากกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และส่งมอบแก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย โดยนายกฯ กล่าวชื่นชมและขอบคุณนายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ผู้บริหาร ระดับสูงยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และคณะ ผู้บริหาร ที่มอบสิ่งของบริจาคในครั้งนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทำให้ยังต้องประสบปัญหาสถานการณ์ อุทกภัย ประกอบกับความผันผวนของสภาพอากาศและฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้าง รัฐบาลต้องวางแผนการบริหาร จัดการน้ำของประเทศทั้งระบบครบวงจร ตั้งแต่ ตอนบน ตอนกลางและตอนล่างของประเทศ สั่งการให้มหาดไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ สทนช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำที่ยังท่วมขังสู่ทะเล

โดยเฉพาะการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนสู่ภาคตะวันออก อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สูงขึ้นเพราะ เป็นคูคลองที่มีความตื้นและเล็ก จึงต้องมีการขุดลอกควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ และมีการบริหารจัดการระบายน้ำออกอย่างเหมาะสม

‘ท็อป’ครวญเกินกำลังแล้ว

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ขณะนี้น้ำใน จ.สุพรรณบุรี และลุ่มน้ำตะวันตก หนักหนาสาหัสมากกว่าปี 2554 นอกจาก น้ำเหนือที่ปล่อยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงคือมีร่องมรสุมพัดผ่านทะเลอันดามันเข้ามาทางตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงลมตะวันตกจากเมียนมา ทำให้เกิดฝนตกในซีกตะวันตกของประเทศไทย น้ำป่าไหลหลากมาจากทิศตะวันตกลงแม่น้ำท่าจีนจำนวนมาก รวมถึงทางตะวันออกได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำน้อย ทำให้ปีนี้ สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร มีปริมาณน้ำมาก

“เราโดนทั้งด้านบน ด้านซ้ายและด้านขวา พอจะเร่งระบายลงสู่ด้านล่างก็เจอน้ำทะเลหนุน การระบายน้ำจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นห่วง รวมถึงกำชับ โดยสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเร่งระบายน้ำตอนล่างของจ.สุพรรณบุรี ลงทางแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะขณะนี้ไม่สามารถระบายน้ำทางแม่น้ำท่าจีนได้ เนื่องจากเกินกำลังแล้ว” รมว.ทส.กล่าว

เมื่อถามว่าคาดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่น้ำถึงจะลด นายวราวุธกล่าวว่า สำหรับ อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ปกติเป็นทุ่งรับน้ำ เมื่อเจอสถานการณ์น้ำเยอะกว่าทุกปี คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเป็นเดือนกว่าน้ำจะแห้งได้ แต่หากจะให้น้ำลดลงไปที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตปกติคงต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่เร่งเยียวยา ประชาชน ส่งมอบถุงยังชีพ และสนับสนุนเรือท้องแบน รวมถึงส้วมลอยน้ำ รวมทั้งขอบคุณกรมชลประทานที่ลดปริมาณการระบายน้ำจากประตูพลเทพซึ่งเป็นต้นแม่น้ำ ท่าจีนลง เป็นการหน่วงน้ำให้น้ำด้านล่างได้ระบายออกไป ทั้งนี้ ขอย้ำว่านายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งช่วยเหลือประชาชน อย่างเต็มที่

บ้านเกาะ – หมู่บ้านใน ต.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ได้รับความเดือดร้อน ถูกน้ำท่วม ล้อมรอบจนกลายเป็นเกาะ บางรายต้องออกไปอยู่ที่อื่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำพร้อมส่งความช่วยเหลือแล้ว เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

เขื่อนอุบลรัตน์ทะลักแล้ว

วันเดียวกัน นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง ปภ.ขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอ น้ำพอง สนธิกำลังร่วมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบจุด ที่พนังกั้นน้ำพองพื้นที่บ้านท่าโพธิ์ ม.4 ต.ท่ากระเสริม ที่ทรุดตัวเป็นทางยาวประมาณ 40 เมตร จากการกัดเซาะของมวลน้ำที่ถูกระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากล่าสุดปริมาณน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณกักเก็บ 2,774 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 114 ของความจุ มีน้ำไหลเข้า 72 ล้าน ลบ.ม. และระบายออก 31 ล้าน ลบ.ม. และในวันที่ 26 ต.ค. จะเป็นวันที่ระบายสูงสุด 35 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ จังหวัดขอนแก่นกำหนดไว้

นายพีระพงศ์กล่าวว่า พนังดินที่เป็นคันคูกั้นลำน้ำพองทรุดตัวเป็นทางยาวเกรงว่า พนังจะขาด น้ำจะทะลักท่วมในพื้นที่ ถ้าน้ำท่วม ประชาชนในหลายตำบลจะเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะพื้นที่การเกษตรและนาข้าวที่กำลัง ออกรวมและใกล้เก็บเกี่ยวจะถูกน้ำท่วมเสียหาย นับหมื่นไร่ เบื้องต้นทีมช่างตรวจสอบแล้ว ลงความเห็นว่าซ่อมแซมด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสตอกเป็นเสาเข็มที่พนังที่ทรุดตัว จากนั้นจะใช้รถแบ๊กโฮขุดดินเสริมถนนให้แข็งแรง

ส่วนจุดที่ชลประทานนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่อง สูบน้ำออกจากลำห้วยใหญ่ดี 9 ระบายลงไปที่ลำน้ำพอง นำบิ๊กแบ๊ก มาเสริมความแข็งแรง ส่วนจุดที่สะพานห้วยอีตื๋อ นำรถแบ๊กโฮตอกไม้ทำเสากั้นถมดินกั้นน้ำพอง ไม่ให้ไหลลงห้วยส้มกุ้ง โดยร่วมกันซ่อมแซมทั้งหมด 3 จุด เชื่อว่าจะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้พอสมควร

ลำตะคองก็เกินลิมิต

ที่อาคารระบายน้ำ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 (ชป.8) นครราชสีมา ระบายน้ำลงสู่ลำตะคองตอนล่าง อัตราวันละ 86,400 ลบ.เมตร สถานการณ์ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 331.546 ล้านลบ.เมตร หรือร้อยละ 105.42 ของพื้นที่ความจุ และสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 50 ล้านลบ.เมตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ ในการดูแลรับผิดชอบของ ชป.8 นครราชสีมา เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี 271 ล้านลบ.เมตร หรือร้อยละ 99 ของพื้นที่เก็บกัก, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย 154 ล้านลบ.เมตร หรือร้อยละ 99.77 และเขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี 146.347 ล้านลบ.เมตร หรือร้อยละ 104 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มี 18 อ่างมีปริมาณน้ำเกิน 100% และ 3 อ่างมีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 90 ส่วนอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย มีน้ำร้อยละ 65.21 อ่างเก็บน้ำบึงกระโดน อ.ประทาย ร้อยละ 23

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ประชุมร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนลำตะคองทันที อัตราวันละ 1-1.5 ล้านลบ.เมตร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดำเนินการดังนี้

1.พื้นที่ลำตะคองตอนล่าง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จักราช อ.โนนสูง อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งริมน้ำอยู่ในภาวะเฝ้าระวังระดับการแจ้งเตือนสีน้ำเงิน โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร อย่างใกล้ชิด และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

‘ชุมแสง’ยังจมเป็นเมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ยังไม่มีทีท่าจะลดลงง่ายแม้ว่า จะผ่านมาร่วมเดือนแล้วก็ตาม เนื่องจากน้ำเหนือ ยังไหลมาสมทบต่อเนื่องแม่น้ำสายหลักน้ำ ยังท่วมสูง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยายังล้นตลิ่งหลายพื้นที่ใน จ.นครสวรรค์

โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนจำนวนมากริมคลองสาขาของแม่น้ำยม ม.3 ต.บางเคียน อ.ชุมแสง ยังคงถูกน้ำเข้าท่วมขังอย่างต่อเนื่องสูงกว่า 1 เมตร การเข้าออกหมู่บ้านต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียว คาดต้องตกอยู่ในสภาพนี้อีกนานนับเดือนจนกว่าน้ำเหนือจะลดลง เพราะน้ำจากสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ยังไหลมาสมทบต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยใน จ.นครสวรรค์ คลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ 12 อำเภอ 61 ตำบล 390 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียท่วมขัง จำนวน 5 อำเภอ 8 ตำบล 13 หมู่บ้าน 315 ครัวเรือน

หนีน้ำท่วม – ชาวบ้านต.บางชะนี อ.บางบาล อยุธยา ถูกน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมสูงกว่า 4 เมตร จนถึงพื้นบ้านชั้นที่ 2 บางรายต้องออกมาอยู่ที่ศาลาพักริมถนน และใช้เรือในการสัญจรเข้าบ้าน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.

ชาวนาอ่างทองหวิดวางมวย

บริเวณถนนกลางทุ่งนา ม.7 ต.ไผ่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ชาวนา 2 ฝั่งถนนถกปัญหาเครียดเรื่องน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่นาที่กำลังใกล้เก็บเกี่ยวหลายร้อยไร่ในฝั่งซ้ายจากน้ำที่เอ่อล้นมาจากการระบายน้ำของคลองสุพรรณ 3 และคลองสุพรรณ 4 โดยมีหน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอวิเศษชัยชาญ และชลประทานเข้าแก้ไขปัญหาเจรจาทำความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายจนเป็นที่พอใจจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

นางจำเนียร ศรีสุวรรณ์ อายุ 46 ปี เล่าให้ฟัง ทั้งน้ำตาว่า ชาวนาฝั่งซ้ายเดือดร้อนมาก หากไม่ เปิดท่อระบายน้ำให้ไหลผ่านถนนไปจะทำให้นาที่น้ำท่วมสูงขึ้นจนมิดรวงข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยว จะเสียหายทั้งหมด ค่าเช่าก็ต้องเสียค่าลงทุน ก็เป็นจำนวนมาก จะทำให้ไม่เหลืออะไรเลย จึงไม่ต้องการให้ปิดท่อที่ระบายน้ำ ขอปล่อยไหล ไปยังทุ่งนาฝั่งขวาของถนนตามปกติ

ขณะที่นางจินดา จันทร์ศรี อายุ 55 ปี ชาวนาทุ่งฝั่งขวา เผยทำนา 100 ไร่ ใกล้จะได้เก็บเกี่ยว อยากให้ปิดท่อชั่วคราว เพื่อขอเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงที่กำลังออกรวงใกล้ได้ผลผลิต ที่ลงทุนไป นอกจากนั้นยังมีอีกหลายร้อยไร่ที่อยู่ฝั่งทางข้าวที่ข้าวใกล้เก็บเกี่ยว แต่อีกฝั่งไม่ยอมให้ปิดน้ำที่ไหลข้ามมา

ด้านนางหนึ่งฤทัย จินตสกุล ปลัดอาวุโส พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชลประทาน เจรจาไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจกับชาวนากันทั้ง 2 ฝ่าย โดยปล่อยน้ำจากทุ่งนาข้าวฝั่งซ้ายให้ไหลผ่านไปยังทุ่งนาข้าวฝั่งขวา แล้วใช้เครื่องสูบน้ำของทางชลประทานสูบออกจากทุ่งนาฝั่งขวาลงคลองเพื่อเป็นการลดระดับน้ำไม่ให้สูงขึ้น คาดว่าใช้เวลานานประมาณ 15 วัน เพื่อชะลอน้ำให้กับชาวนาทั้ง 2 ฝั่ง ได้เก็บเกี่ยว ผลผลิต สร้างความพอใจให้กับชาวนาทั้ง 2 ฝั่ง และแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน