โพลชี้ห่วงระบาดใหม่
กทม.ป่วยต่ำพัน6วันติด

ลุยจับใหญ่แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทยหางานทำช่วงเปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่เชียงใหม่-ตากจับพม่าครึ่งร้อยหลบหนีเข้ามารวมทั้งที่กาญจนบุรี ชาวพม่าลักลอบข้ามชายแดนเข้ามา ส่วนที่ตาพระยา สระแก้ว ชาวเขมรหลบเข้ามาทำงานในกทม.และภาคตะวันออก ไทยติดเชื้อเพิ่ม 8,452 ต่ำกว่าพันต่อเนื่อง เสียชีวิตอีก 57 กทม.ป่วยต่ำกว่าพัน 6 วันติด จันทบุรียังหนัก เจอ 132 คลัสเตอร์แคมป์คนงาน ศบค.สั่งเร่งฉีดวัคซีนสาวท้อง และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่จว.ใต้ สธ.เปิดผลสำรวจคนไทย 75% หวั่นเกิดระบาดรอบใหม่หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ศธ.แถลงวันนี้เตรียมพร้อมเปิดเรียนออนไซต์

ติดเชื้อเพิ่ม 8,452-ดับอีก 57

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,452 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,285 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,654 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 631 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 160 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย

ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,875,315 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 8,449 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,758,297 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98,096 ราย อาการหนัก 2,355 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย

เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย เป็นชาย 28 ราย หญิง 29 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 46 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย มากที่สุดกทม. 9 ราย ยอด ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 18,922 ราย

ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 245,275,490 ราย เสียชีวิต 4,978,726 ราย

กทม.ป่วยต่ำพัน 6 วันติด

สำหรับผู้ติดเชื้อมากที่สุด 10 จังหวัด กทม. 859 ราย ซึ่งติดเชื้อต่ำกว่าพัน 6 วันติดกัน สงขลา 551 ราย ปัตตานี 532 ราย ยะลา 475 ราย จันทบุรี 358 ราย นครศรีธรรมราช 345 ราย นราธิวาส 331 ราย สมุทรปราการ 306 ราย ชลบุรี 297 ราย และเชียงใหม่ 270 ราย

สัดส่วนการติดเชื้อในต่างจังหวัดลดลงแบบ ทรงๆ สัดส่วนคิดเป็น 60% 4 จังหวัดใต้ลดแบบทรงๆ สัดส่วน 23% ส่วนกทม.และปริมณฑลสัดส่วนคิดเป็น 17% สำหรับผล การตรวจ ATK วันนี้อยู่ที่ 3.62%

คลัสเตอร์ของ 10 จังหวัดสูงสุดนี้มาจากจันทบุรี คือแคมป์ก่อสร้าง 132 คลัสเตอร์ แรงงานอีก 6 คลัสเตอร์ ส่วนนครศรีธรรมราชเจอในงานศพ 5 คลัสเตอร์ เชียงใหม่ลดลงเหลืออันดับ 10 แสดงว่ามีความร่วมมือกันไม่ให้การระบาดเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการติดเชื้อประปรายในตลาด ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง และโรงงาน ยังต้องเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล จากงานศพหรือในตลาด ยังต้องกำชับมาตรการส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากตลอดเวลา นำอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 26 ต.ค. ฉีดเพิ่ม 812,009 โดส สะสม 72,049,529 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 40,717,544 ราย คิดเป็น 56.5% เข็มสอง 29,115,651 ราย คิดเป็น 40.4% และเข็มสาม 2,216,334 ราย คิดเป็น 3.1% ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-17 ปี รายงานฉีด 1.9 ล้านคน คิดเป็น 42.8%

นอกจากการระดมฉีดนักเรียน ต้องฉีดครูและบุคลากรในโรงเรียนให้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และเห็นชอบสถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่สีแดง ต้องให้ครูและบุคลากรทางการศึกษารับวัคซีนครบ 2 โดส อย่างน้อย 85% จึงเปิดเรียนแบบออนไซต์ได้ ศธ.สำรวจ พบว่ายังต้องมีบุคลากรทางการศึกษามาฉีด 131,238 คน

นอกจากนี้ ผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตั้งแต่มิ.ย.เป็นต้นมา ขอให้มาฉีดเข็มกระตุ้นได้ คนได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตั้งแต่พ.ค.มาฉีดกระตุ้นเข็มสามได้เลย เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณเพียงพอ ให้คนประสงค์รับวัคซีนติดต่อ ร.พ.ที่รับวัคซีนเข็มก่อนหน้าได้เลย

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า ส่วนความครอบคลุมการฉีดวัคซีนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจังหวัดสีฟ้า 15 จังหวัด ขอชื่นชมจังหวัดที่มีความครอบคลุมประชากรได้ตามเป้าหมายคือ เข็มที่ 1 อย่างน้อย 50% ฉีดครบตามเป้าของเดือนต.ค. คือ กทม. เชียงใหม่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด บุรีรัมย์ กระบี่ พังงา และระนอง ส่วนจังหวัดที่เข้าใกล้ 50% ได้แก่ เลย หนองคาย และอุดรธานี

ส่วนความครอบคลุมการรับวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงในพื้นที่นำร่องสีฟ้า 17 จังหวัด อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 75.3% ยังคงต้องขอให้เพิ่มจำนวนกลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศอันใกล้ ขณะที่ความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้

โดยจังหวัดที่มีความครอบคลุมเข็มที่ 1 เกิน 50% ได้แก่ สงขลาและยะลา ขณะที่นราธิวาส 43.9% และปัตตานี 45.7% ส่วนความครอบคลุมในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ค่าเฉลี่ย 4 จังหวัดในผู้สูงอายุ 59.4% ในผู้มีโรคประจำตัว 57.9% ทั้งนี้หากใครไม่สามารถมาฉีดได้ให้แจ้งผู้นำชุมชนเพื่อให้หน่วยบริการมาฉีดได้ ที่บ้าน

เร่งฉีดน.ร. – เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เด็กนักเรียน อายุ 12-18 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่รับเปิดเทอม โดยตั้งเป้าฉีดให้ได้ร้อยละ 80 ภายในเดือนนี้ ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.

ใต้เร่งฉีดสาวท้อง-กลุ่มเสี่ยง

พญ.สุมนีกล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมศปก.ศบค.รายงานความก้าวหน้า สถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีทิศทางแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มค่อยๆลดลง ทางอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวทุกวัน

โดยที่ประชุมมีการเร่งรัด สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดให้มีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องวัคซีนเป็นภาษาพื้นถิ่นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว สถานีวิทยุ แผ่นพับ โดยได้รับความช่วยเหลือและประสานงานจากผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา 2.ต้องจำกัดวงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แล้วพบว่าเป็นการระบาดในระดับครอบครัว ชุมชนโดยเฉพาะตลาด สถานประกอบกิจการ เช่น ร้านอาหาร ร้านน้ำชา

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า ที่ประชุมศบค.เป็นห่วงจากการที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นระยะ พบว่าผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการรายงานของกรมควบคุมโรคมีรายละเอียดของผู้เสียชีวิตที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และกว่า 90% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นเป้าหมายหลักในการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

“จากรายงานผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลรวมของกลุ่มเสี่ยงเป็น 100% และทั้งหมดที่เสียชีวิตคือไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ พบว่าเป็น ผู้เสียชีวิตจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะ นั่นหมายถึงการสูญเสียสองชีวิต เพราะกว่า 50% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตนั้นทารกในครรภ์ก็จะเสียชีวิตเพราะมารดา และอีก 50% ที่รอด เป็นการสูญเสียอย่างยิ่งของครอบครัว”

‘บิ๊กตู่’ถกศบค.ชุดใหญ่ศุกร์นี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 29 ต.ค.จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.ชุดใหญ่) ในเวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ซึ่งที่ประชุมจะได้รับรองรายงานการประชุมศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

สำหรับเรื่องที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณานั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อ โควิด-19 และทางสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ, ความก้าวหน้าแผนรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดโควิด-19 ของปี 2565

ศธ.แถลงพร้อมเปิดเรียน 28 ต.ค.

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ว่า ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะร่วมกันแถลงถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ที่จะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองได้รับทราบ ว่า ศธ.ทำงานภายใต้ความปลอดภัยและต้องมีมาตรการร่วมกับทางสธ.อย่างไรบ้าง โดย ศธ.จะกำชับโรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น

“โรงเรียนในสังกัดศธ.มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างกัน ดังนั้นโรงเรียนที่อยู่พื้นที่สีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง การเปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.นี้ อาจจะต้องมีมาตรการที่ เข้มข้นกว่า เช่นครูต้องได้รับวัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่น เป็นต้น ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรืออยู่ตามเกาะอาจจะสามารถเปิดเรียนได้ปกติ ขณะนี้ ศธ.รวบรวมตัวเลขไว้แล้วว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่สามารถเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ ในวันที่ 1 พ.ย.ได้เลย อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 พ.ย. เป็นการกำหนดวันเปิดเทอมเท่านั้น ส่วนโรงเรียนแต่ละแห่งจะเปิดเรียนรูปแบบไหน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ” น.ส.ตรีนุช กล่าว

จับพม่าลอบเข้าไทยฝั่งกาญจน์

ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายเน้นย้ำให้จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะชายแดนด้านจ.กาญจนบุรี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะในช่วงจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 26 ต.ค.64 ต่อเนื่องมาถึงรุ่งเช้าวันที่ 27 ต.ค. ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (ฉก.ลาดหญ้า) กกล.สุรสีห์ ตำรวจสภ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่ร้อย.ตชด.136 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอ.ไทรโยคได้รับแจ้งว่า พบกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหลบซ่อนตัวอยู่ชายป่าท้องที่หมู่ 5 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค ตรวจสอบพบแรงงานชาวเมียนมาหลบซ่อนตัวเพื่อรอนายหน้ามารับ 10 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 3 คน จึงคุมตัวมาสอบสวนที่บริเวณที่ทำการกองทุนหมู่บ้านบ้องตี้บน หมู่ 1 ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิ พบไม่เกิน 37.5 องศา

สอบถามแรงงานทั้ง 10 คนให้การว่าพวกตนเป็นชาวจ.ทวาย ประเทศเมียนมา โดยจ่ายเงินให้นายหน้าที่เป็นคนชาติเดียวกันไปแล้วคนละ 18,000 บาท เพื่อลักลอบนำพาไปทำงานในจ.สมุทรสาคร เมื่อข้ามมาถึงชายแดนฝั่งไทยแล้วจึงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเพื่อรอคนขับรถมารับอีกทอดหนึ่ง แต่ถูกจับกุมเสียก่อน เจ้าหน้าที่จึงนำตัวส่งสภ.ไทรโยคเพื่อดำเนินคดี พร้อมขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการต่อไป

มนุษยธรรม – ตำรวจจัดหาข้าวกล่องให้ 35 แรงงานเมียนมา ลักลอบข้ามแดนเข้ามาหางานทำ แต่ถูกสกัดจับได้ในสภาพหิวโซ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 27 ต.ค.

พม่าทะลักหางานทำในกทม.

เมื่อเวลา 10.00 น. ตำรวจสภ.แม่สอด จ.ตาก สนธิกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านชายแดนแม่สอด ออกลาดตระเวนพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เขตต.แม่ตาว อ.แม่สอด ตามมาตรการสกัดการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวข้ามชายแดนแบบผิดกฎหมาย

ต่อมาชุดลาดตระเวนตรวจพบความเคลื่อนไหวผิดปกติที่บ้านพักหลังหนึ่งที่มีรั้วรอบขอบชิดซึ่งสร้างใกล้กับไร่อ้อยและเป็นเส้นทางเข้าออกไปแนวชายแดนไทย-เมียนมา จึงแสดงตัวขอเข้าตรวจสอบ พบกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 35 คน เป็นชาย 24 คนและหญิง 11 คนหลบซ่อนตัวอยู่รวมกันภายในบ้านพักชั่วคราวหลังดังกล่าว โดยมีกระเป๋าเดินทางติดตัว ทั้งหมดอยู่สภาพอิดโรยและหิวโซ เจ้าหน้าที่จึงนำไปตรวจหาเชื้อ โควิดที่โรงพยาบาลสนามในเขตอ.แม่สอด ขณะนี้กำลังรอผล

สอบสวนเบื้องต้นทราบว่าทั้งหมดลักลอบข้ามแนวชายแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วข้ามมาหลบซ่อนตัวในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด โดยมีกลุ่มนายหน้าคอยช่วยเหลือ แรงงานชุดนี้มีจุดหมายปลายทางจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ ล่าสุดการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตลอดพื้นที่แนวชายแดน จ.ตาก เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในทุกอำเภอแนวชายแดนจ.ตากสามารถสกัดจับกุมตัวกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ครั้งละจำนวนมากและมีความถี่ในการตรวจจับได้มากกว่าปกติ ซึ่งน่าจับตามองในช่วงก่อนการเปิดประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนจ.ตากต้องเพิ่มความเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ

ตากจับ 92 พม่าลอบเข้าเมือง

วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอพบพระ จ.ตาก ตำรวจสภ.พบพระ เข้าตรวจสอบคัดกรองกลุ่มแรงงานต่างด้าว บริเวณหมู่บ้านป่าคาเก่า ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก พบแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 210 คน และพบกลุ่มแรงงานแฝงที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเข้ามาหลบซ่อนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ 92 คน จึงควบคุมตัวส่งตรวจหาโรคติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาบุคคลต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

เชียงใหม่จับ 52 เมียนมา

ด้านพ.อ.วีระชัย ผองแก้ว ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 4 กองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า จากการปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนตามแนวชายแดน เพื่อสกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ ของกองร้อยทหารม้าที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 4 (ร้อย.ม.3 ฉก.ม.4) เมื่อ 26 ต.ค. เวลา 2230 จัดกำลัง 1 ชุดปฏิบัติการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณเส้นทางกรมอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ บ้านนอแล ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตรวจพบกลุ่มคนเดินเท้าเข้ามาจากแนวชายแดน

ตรวจสอบพบผู้ลักลอบเข้าเมือง สัญชาติเมียนมา 52 คน เป็นชาย 19 คน หญิง 33 คน จึงควบคุมตัวไปให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.อ่างขางคัดกรองตามมาตรการป้องกันโควิด

ทะลัก – ชุดเฉพาะกิจตำรวจ ตชด.และทหาร สกัดจับชาวกัมพูชาจำนวนมากลักลอบเข้าประเทศไทยเพื่อหางานทำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลังเปิดประเทศ ที่ชายแดนตาพระยา จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 27 ต.ค.

สระแก้วจับ50ต่างด้าวหนีเข้าไทย

ด้านพล.ต.อมฤต บุญสุยา ผบ.กองกำลังบูรพา สั่งการให้ทหารประจำกองกำลังชายแดนเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบเข้าเมืองและการนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้า-ออก บริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วงการระบาดของโควิด-19

โดยเจ้าหน้าที่ทหารชุดเคลื่อนที่เร็ว ฉก.ตาพระยา กองกำลังบูรพา ร่วมกับชุดปฏิบัติการ ตชด.ที่ 12, และตำรวจสภ.ตาพระยา ได้รับรายงานว่าจะมีชาวกัมพูชาลักลอบหลบหนีเข้าเมือง มารอขึ้นรถบริเวณบ้านแก้วเพชรพลอย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ตรวจสอบพบกลุ่มชาวกัมพูชาเดินลัดเลาะลักลอบเข้ามาในเขตไทยจำนวน 30 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 15 คน จึงจับกุม สอบถามชาวกัมพูชา รับสารภาพว่าเดินทางมาจากพื้นที่ตอนในของกัมพูชา เพื่อไปหางานทำในพื้นที่กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สมุทรปราการ มีคนนำพาเป็น ชาวกัมพูชา ผ่านเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คนละ 7,000 บาท โดยจ่ายเงินมัดจำนายหน้าไปแล้วคนละ 1,000 บาท

ขณะเดียวกัน ชุดคทร.ฉก.ตาพระยา ร่วมกับตชด.12 ร้อย.ฉก.ตชด 3 ลว.ดักซุ่มเฝ้าตรวจในพื้นที่รับผิดชอบ บริเวณช่องทางธรรมชาติ จต.ต.19-จต.ต. 20 บ.เนินสมบูรณ์ ต.ตาพระตา อ.ตาพระยา พบชาวกัมพูชา 20 คน เป็นชาย 13 คนหญิง 7 คน จึงควบคุมตัวไว้ สอบสวนทราบว่า ชาวกัมพูชาดังกล่าวเดินทางมาจากประเทศกัมพูชา โดยจะไปทำงานที่ชลบุรี, ระยอง, ปราจีนบุรี และกทม. ทั้งหมดเดินเท้าผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณป่าเบญจพรรณติดกับนาข้าว บ้านเนินสมบูรณ์ ต.ตาพระยา โดยจ่ายค่าที่พักฝั่งกัมพูชาคนละ 500 จ่ายให้กับคนพาเดินชาวกัมพูชาคนละ 500 และถ้าผ่านไปได้ถึงที่หมาย จะจ่ายอีกคนละ 6,000-8,000 บาท เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิการป้องกันมาตการโควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่เกิน 37.5 องศา จึงนำทั้งหมดส่งสภ.ตาพระยาดำเนินคดี

เปิดปท.หวั่นระบาดใหม่ 75.8%

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการเปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศ ว่าอีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดวันเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด กรมอนามัยสำรวจความคิดเห็นความกังวลกับการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. พบว่าประชาชนกังวล 92.4% เรื่องที่กังวลที่สุดคือการระบาดระลอกใหม่ 75.8% การ์ดตกไม่ป้องกันตนเอง 49.7% สถานประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวไม่ทำตามมาตรการป้องกันโรค 45.1% กลัวตัวเองและครอบครัวติดเชื้อ 41% มาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ดีพอ 39.6% กังวลเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.1% จำนวนเตียงรักษาไม่พอ 31.7% และอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพวัคซีน 2.1%

กิจการใดที่กังวลเกิดคลัสเตอร์ระบาดใหม่หลังเปิดประเทศ คือสถานบันเทิง ผับบาร์ 89.2% ขนส่งสาธารณะ 43.1% สถานที่ ท่องเที่ยว 39.8% สถานศึกษา 39.2% ตลาด 37.4% ห้างสรรพสินค้า 34.1% ร้านอาหาร 28.8% โรงแรมรีสอร์ต 24% ร้านสะดวกซื้อ 17.9% ศาสนสถาน 16.4% ไม่กังวลคลัสเตอร์ใหม่ 5.5% ความกังวลคลัสเตอร์ใหม่ๆ สถานประกอบการอื่น 3.1%

มาตรการที่ประชาชนคิดว่าควรดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมั่นว่าเปิดประเทศแล้วปลอดภัย มากที่สุดคือเร่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มทุกจังหวัดครอบคลุม 70% ขึ้นไป 72.53% การคุมเข้มลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 60.58% การกำกับติดตามมาตรการป้องกันโรค 55.1% เร่งฉีดวีคซีนพื้นที่ท่องเที่ยว 52.72% สนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ทุกคนพื้นที่ท่องเที่ยว 49.41% สถานประกอบการทุกแห่งผ่านมาตรฐานรับรองด้านสาธารณสุข 43.3% ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เที่ยวได้เฉพาะพื้นที่กำหนดเท่านั้น 41.2% และมาตรการอื่นๆ 2.7%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน