เริ่ม1ธค.นี้-ที่มาก่อนกักทันที
‘ฮู’ประกาศยกระดับน่ากังวล
สลด3ศพตั้งสวดวัดเดียวกัน
ญาติคาใจตายหลังจิ้มวัคซีน

‘ฮู’ ยกระดับ ‘โอไมครอน’ โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่น่ากังวล ไทยเข้ม 8 ประเทศแอฟริกาที่กำลังระบาด 1 ธ.ค.ห้ามเข้าประเทศ ใครมาก่อนหน้าต้องกักตัวทันที สธ.ระดมฉีดวัคซีนยอดแตะ 100 ล.โดสแล้ว ‘รมต.เฮ้ง’ เร่งเยียวยาธุรกิจกลางคืนตามคำสั่งนายกฯ พร้อมชงมาตรการช่วยธุรกิจบันเทิงกลางแจ้ง เช่น ลิเก แตรวง ลำตัด หมอลำ ดีเจ นักร้อง แดนเซอร์ ที่วอนเปิดก่อนปีใหม่ที่เป็นช่วงทำเงิน

‘โอไมครอน’สายพันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่ ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6,073 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 5,633 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 214 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 169 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 57 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,072,096 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) หายป่วยกลับบ้าน 6,538 ราย หายป่วยสะสม 1,973,076 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) ผู้ป่วยกำลังรักษา 79,780 ราย เสียชีวิต 32 ราย มีผู้ติดเชื้อเอทีเคอีกกว่า 4,260 ราย และอาการหนักอีก 1,385 ราย

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า จากการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก (ฮู-WHO) ตั้งชื่อว่า ‘โอไมครอน’ นักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจจะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดและรายงานตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง

เบื้องต้นประเทศในทวีปแอฟริกาไม่ได้รวมอยู่ใน 63 ประเทศ ที่ไทยอนุญาตให้ เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว และขอย้ำว่าไทยยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สธ. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รวมทั้งหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ให้จับตามองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และรายงานข้อมูลต่อผมในทันทีที่มีความ คืบหน้า หรือมีข้อเสนอแนะด้านมาตรการต่างๆ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับมาตรการ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกประเทศ จากประเทศต่างๆ ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ผมจะสั่งการให้ดำเนินการโดยทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนสูงสุด

ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ยังคงใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ลด-เลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้ว่าสถานการณ์เราจะดีขึ้นแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ขอให้ท่านรีบไปฉีดทันทีเมื่อมีโอกาส หรือหากยังฉีดไม่ครบโดส ขอให้เข้ารับการฉีดในหลายๆ จุดที่เปิดให้บริการที่สะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นจุดเดิมที่เคยฉีดมาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันตัวท่านและคนรอบข้าง

สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยและ ล้างมือบ่อยๆ ถือว่าเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกคนอย่าประมาท การ์ดไม่ตกนะครับ ส่วนผมและรัฐบาล จะทำทุกทางเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างดีที่สุดครับ

4 วัคซีนไทยคืบหน้า

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิด เผยว่า ในที่ประชุมศบค. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีติดตามความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีนในประเทศไทย ขณะนี้ทั้ง 4 วัคซีนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบในมนุษย์และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นระยะ รวมวงเงิน 4.8 พันล้านบาท

1.วัคซีน NDV-HXP-S พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) แล้ว 45.88 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้วตั้งแต่ 16 ส.ค. คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนนี้ และอยู่ระหว่างทำคำของบประมาณเพื่อรับการสนับสนุนสำหรับการทดสอบระยะที่ 3

2.วัคซีน Chula-Cov19 พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสวช. จำนวน 375 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เริ่ม ส.ค. คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนธ.ค.นี้ และสำหรับการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจากพ.ร.ก.เงินกู้กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาทแล้ว

3.วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม บริษัทสตาร์ตอัพของจุฬาฯ ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 160 ล้านบาท ในช่วงต้น ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ต.ค. ล่าสุด ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ ใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3

4.วัคซีนโควิเจน โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้แล้ว 650 ล้านบาท สอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. เพื่อศึกษาความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการทดสอบในระยะที่ 2

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเข้มงวด

สำหรับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่านายกฯ ได้รับรายงานแล้ว พร้อมสั่งหน่วยงานต่างๆ ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมวางมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด หลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐ ยุโรป นายกฯ ขอให้ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข ความมั่นคง คมนาคม ท่องเที่ยว ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด มีการกำชับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าให้ปฏิบัติตามมาตรการการคัดกรองที่ เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยด้วย

รายงานของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1-25 พ.ย. มีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยาน 5 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หัวหิน ภูเก็ต และสมุย รวม 104,065 คน เป็นผู้เดินทางในกรณี Test&Go จำนวน 81,270 คน กรณีตามโครงการแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 18,360 คน และกรณีกักตัว (Quarantine) จำนวน 4,435 คน โดยพบผู้ที่ตรวจ RT-PCR แล้วมีผลเป็นบวก 135 คน คิดเป็นอัตรา 0.13% ของผู้เดินทางจากต่างประเทศมายังประเทศไทยทางอากาศทั้งหมด แยกตามการเดินทางเข้าประเทศไทยในแต่ละกรณีพบว่า กรณี Test&Go มีอัตราการพบเชื้อต่ำที่สุด 0.08% กรณีแซนด์บ็อกซ์ พบเชื้อ 0.20% และกรณี Quarantine พบเชื้อ 0.81%

สธ.เฝ้าระวัง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ว่า แม้จะยกระดับเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล แต่ไวรัสมากับคนเรากันหมดคนที่เดินทางมาจากแอฟริกา การเข้าประเทศไทยยังต้องกักตัว 10-14 วัน คิดว่ายังไม่เป็นปัญหาอะไร ไวรัสตัวนี้ยังไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา เชื่อว่าด้วยลักษณะของการกลายพันธุ์ทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ว่าไวรัสกำลังกลายพันธุ์จนถึงใกล้สิ้นสุดแล้ว จะกลายพันธุ์กลับมาว่าเพื่อให้อยู่กับมนุษย์ได้ง่าย เพราะถ้าติดง่ายก็ตายเร็ว หรือถ้ารุนแรงด้วยตายด้วยก็เป็นไปไม่ได้ เขาก็จะไม่มีที่อยู่ ขณะนี้เราให้ความสนใจติดตาม โดยเฉพาะสายการบินที่มาจากแอฟริกายังต้องกักตัว ไม่สามารถเข้าระบบ Test&Go ที่ ไม่ต้องกักตัว ซึ่งเราประกาศแค่ 63 ประเทศ/พื้นที่มีความเสี่ยงน้อยเท่านั้น

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มีข้อมูลตั้งแต่กลาง พ.ย. ว่ามีการระบาดที่บอตสวานา ขยับมาที่แอฟริกาใต้แล้วไปหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล ทั้งนี้ ปกติไวรัสที่กลายพันธุ์จะค่อยๆ ถูกยกระดับ ในการกำกับติดตามดูเป็นระดับที่น่าสนใจ และระดับที่น่าห่วงกังวล ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกพูดคุยมีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า น่าจะชัดเจนในระดับห่วงกังวลและให้ชื่อ โอไมครอน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสนามจริงยังมีน้อย แต่ข้อกังวลคือลักษณะการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งมาก 50 กว่าตำแหน่ง โดยมี 32 ตำแหน่งอยู่ในสไปก์โปรตีนหรือโปรตีนหนามที่จะมาจับกับเซลล์มนุษย์ ฉะนั้นต้องรวบรวมข้อมูลต่อ ไม่อยากให้กังวลมาก

100 ต่างชาติมีเชื้อไร้แอฟริกา

ขณะนี้ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามีผลตรวจเจอเชื้อ 100 กว่าคน เรานำตัวอย่างเหล่านี้มาตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ว่ามี สายพันธุ์นี้หลุดเข้ามาหรือไม่ และน่ายินดีว่าที่เข้ามาระบบ Test&Go ตรวจวันเดียวปล่อยไม่มีประเทศในแอฟริกาในบัญชีรายชื่อ ถ้าจะเข้ามาต้องกักตัวและอาจยาวนานขึ้น โดยทุกรายที้ผลบวกไม่ว่าตรวจเจอวันไหนต้องเอามาตรวจรหัสพันธุกรรมว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่

“ขอว่าอย่าเพิ่งกังวล ให้รอข้อมูลก่อน เข้าใจว่า องค์การอนามัยโลกกำลังรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางประการ โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานเดลตา อัลฟา หรือไวรัสที่น่าห่วงกังวลเดิม แต่พัฒนามาจากอีกสายหนึ่งจึงมีการกลายพันธุ์ที่ว่า ซึ่งการ กลายพันธุ์เราดูว่าทำให้แพร่เร็วไหม หลบวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันไหม และทำให้โรครุนแรงไหม ติดตาม 3 เรื่องนี้ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ซึ่งข้อมูลอยู่ระดับหลักพันเท่านั้นเอง ทั่วโลกต้องช่วยกันจับตา แต่ให้ความมั่นใจว่า ระบบของเรามีขีดความสามารถพอที่จะตรวจจับ ถ้าหลุดรอดเข้ามาในประเทศ” นพ.ศุภกิจกล่าว

เข้มกักตัว 14 วัน

ที่ สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นในทางระบาดวิทยาเรื่องความสามารถในการแพร่กระจาย ความสามารถในการหลบเลี่ยงวัคซีน และความรุนแรงของโรคยัง ไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม จากการติดตาม ใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูล ไทยจึงวางมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยแบ่งเป็น เรื่องการเดินทาง 1.ในกลุ่ม 8 ประเทศที่พบเชื้อโอไมครอน เดินทางเข้าประเทศไทย คือ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว 2.ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศ ดังกล่าว

ส่วนมาตรการดำเนินการคือ 1.ใน 8 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่มีการพบสายพันธุ์นี้ระบาดในประเทศตนเอง คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศแล้วให้สั่งกักตัวจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 2.ไม่อนุญาตให้ คนที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศนี้เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. รวมถึงไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าสู่ราชอาณาจักรโดยระบบต่างๆ ตั้งแต่ 27 พ.ย.เป็นต้นไป

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในทวีปแอฟริกา แต่นอกเหนือจาก 8 ประเทศที่มีการระบาดนั้น จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ ส่วนคนที่เข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานที่พักที่ราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องตรวจแล็บ 3 ครั้ง คือวันแรก, วันที่ 5-6 และวันที่ 12-13 โดยสรุปคือไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยในระบบต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติขณะนี้ได้แจ้งไปยังกระทรวงต่างประเทศแล้ว ส่วนคนที่เข้ามาแล้วให้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้รับอนุญาตแล้วถึงวันที่ 15 ธ.ค. แต่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน

แอฟริกันเข้ามาแล้วกว่าพัน

ทั้งนี้ คนที่มาจากแอฟริกาตอนใต้โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาด มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ผ่านระบบต่างๆ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ประกอบด้วย บอตสวานา 3, นามิเบีย 16, แองโกลา 22, มาดากัสการ์ 7, เมอร์ริเซียส 27, แซมเบียร์ 5, เอสวาตินี 39, เอธิโอเปีย 45, โมซัมบิก 12, มาลาวี 2, แอฟริกาใต้ 826 และซิมบับเว 3 ทั้งนี้ตรวจไม่พบเชื้อโควิด อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ดำเนินการใกล้ชิด

“เรื่องนี้เราต้องประเมินสถานการณ์กันเป็นรายวัน เพื่อให้มีการปรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม กรณีการเดินทางมาทางอากาศนั้น ไม่น่ากังวล เพราะใน 63 ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยนั้น ไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ แต่ที่ยังน่าห่วงคือการเข้าประเทศทางบกโดยเฉพาะตะเข็บชายแดน เราจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ จับสัญญาณการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน” อธิบดี คร. กล่าว

ไร้ห่วงเข้าไทยทางบก-เรือ

เมื่อถามว่าศบค.เพิ่งอนุญาตให้เปิดการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางเรือและทางบกเพิ่มเติมดังนั้นจะต้องมีการทบทวนประเด็นนี้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า อันดับแรกประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามานั้นไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามายังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว ประกอบกับมาตรการตรวจคัดกรองเข้มข้นในผู้เดินทางต้องมีการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจ RT-PCR ทั้งลำ ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่การเปิดเข้ามาในประเทศผ่านทางบกนำร่องเพียงแห่งเดียวคือ จ.หนองคาย จึงยังไม่มีการทบทวนในส่วนนี้ แต่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้คือนอกจากการป้องกันแล้ว วัคซีนก็สำคัญ ทวีปแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะร่วมมือกันให้ประเทศไทยปลอดภัย มั่งคงยิ่งขึ้น หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าท่านไม่มีข้อห้ามในการฉีดขอให้มาฉีด ส่วนคนที่ฉีดแล้ว 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ในระดับที่ดีมากประมาณ 5-6 เดือน

ดังนั้นคนที่ฉีดครบแล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรใดๆ รอฟังประกาศสธ. ว่าจะฉีดบู๊สเตอร์โดสให้แล้วเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูง ลดอาการหนัก และเสียชีวิต วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่ง แต่มาตรการที่จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นคือป้องกันตัวเองครอบจักรวาลคือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นของสถานประกอบการต่างๆ

สายบินงดรับ 8 ปท.แอฟริกา

วันเดียวกัน รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ขณะนี้ประสานไปยังสายการบินทุกสายในไทยให้รับทราบข้อกำหนดและมาตรการรวมทั้งปฏิบัติตาม มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงการนำโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอนเข้าไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกข้อกำหนดสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้คือ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ดังต่อไปนี้

1.ถ้าผู้โดยสารเดินทางมาถึงไทย ตั้งแต่ วันที่ 28 พ.ย. (เวลา 00.01 น.) ถึงวันที่ 30 พ.ย. (เวลา 23.59 น.) ต้องเข้ากระบวนการ Quarantine 14 วัน ทันทีไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาแบบไหน

2.ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป ห้าม ผู้โดยสารจากประเทศเหล่านี้เข้าประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับอนุญาตผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว และการอนุญาตทั้งหมดจะสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป

และ 3. ปัจจุบันระบบ Thailand Pass ไม่ให้บริการขออนุญาตจากผู้ที่จะเดินทางจากประเทศเหล่านี้แล้ว

นายกฯ ห่วงธุรกิจกลางคืน

วันเดียวกันนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกฯ แสดงความเห็นใจ สถานประกอบการ สถานบันเทิง ธุรกิจกลางคืน ตามที่ที่ประชุมศบค. ยังคงมติเปิดดำเนินการตามกำหนดเดิม (16 ม.ค.2565) ไปก่อน แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะมีสัญญาณดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากกิจการสถานบันเทิงยังถือว่ามีปัจจัยความเสี่ยงหลายมิติ เช่น เป็นสถานที่ปิด ต้องเปิดแมสก์ดื่ม-กิน-พูดคุย ร่วมกันเป็นเวลานาน หากเกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อสังคมหมู่มาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายด้าน ในระหว่างนี้จึงขอให้ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เคร่งครัดในมาตรการ COVID Free Setting เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดดำเนินการ

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เผยว่า ตามที่นายกฯ มีความห่วงใยกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานบันเทิงกลางคืน มีข้อสั่งการในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้กระทรวงแรงงานดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง นักดนตรี กลุ่มคนบันเทิงกลางคืน เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดให้บริการ

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ย. กลุ่มคนบันเทิงกลางแจ้ง นำโดย นายสุวิทย์ กิตติธนานนท์ ประธานกลุ่ม ซึ่งคนทำงานเหล่านี้ ประกอบด้วย นักร้อง นักดนตรี ลิเก แตรวง ลำตัด หมอลำ ดีเจ แดนเซอร์ และอาชีพที่เกี่ยวพัน ไม่ใช่กลุ่มคนบันเทิงกลางคืนเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อน และขอให้ปลดล็อกให้แสดงดนตรีได้จากเดิมวันที่ 15 ม.ค. 2565 มาเป็น 15 ธ.ค.นี้ โดยกลุ่มนักแสดงจะปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด

เร่งชงเยียวยาคนบันเทิง

“จากการหารือรับฟังในรายละเอียด พบว่ากลุ่มดังกล่าว ต้องการให้รัฐบาลเปิดให้สามารถทำการแสดงในงานต่างๆ ในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ เพราะถือเป็นโอกาสในการทำมาหากินหลักปีละครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถทำการแสดงได้ จึงไม่มีรายได้มาเป็นเวลานาน ผมเห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน จึงได้สั่งการให้นำเข้ามาหารือในที่ประชุม ศบค.โดยเร่งด่วน เพื่อขอให้กลุ่มคนบันเทิงเหล่านี้สามารถทำการแสดงกลางแจ้ง ส่วนประเด็นการช่วยเหลือเยียวยา กระทรวงแรงงานจะประสานหารือร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป” รมว.แรงงานกล่าว

นายสุชาติยังกล่าวถึงการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง นักดนตรี กลุ่มคนบันเทิงกลางคืนตามข้อสั่งการนายกฯ ว่า เบื้องต้นจะเชิญตัวแทนสมาคม ชมรม เครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ มาประชุมหารือเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพื่อหาแนวทางให้การช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน กระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เร่งฉีด – นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ตรวจเยี่ยมการดำเนินการจัดสัปดาห์แห่งฉีดวัคซีน โควิด-19 เนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขและวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2564 โดยตั้งเป้าให้ถึง 100 ล้านโดส ในสิ้นเดือนนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.

คิกออฟสัปดาห์ฉีดวัคซีน

วันเดียวกัน ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการจัดสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีน โควิด 19 เนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขและวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-5 ธ.ค. เริ่มคิกออฟวันนี้เป็นวันแรก โดยตั้งเป้าหมายให้ถึง 100 ล้านโดส ภายในสิ้น พ.ย.นี้ พร้อมลงมือปักเข็มฉีดให้แก่ประชาชนเองจำนวน 3 ราย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โรคโควิด 19 โจมตีเราตั้งแต่ต้นปี 2563 จนขณะนี้ปลายปี 2564 สู้กันมา 2 ปี เราจะต้องอยู่กับโรคนี้แบบให้ทำร้ายเราไม่ได้ ให้เป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็วที่สุด โดยประเทศไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส หรือ 50 ล้านคน วันนี้เราฉีดสะสมได้ 92 ล้านโดส หมายความว่าทำงานได้ 92% แล้ว ช่วงสัปดาห์นี้ในโค้งสุดท้ายพยายามให้ได้มากที่สุดให้ถึง 100 ล้านโดส แปลว่าคนไทยอย่างน้อย 70% จะมีภูมิต้านทานไวรัส และไม่ใช่ว่าถึงวันที่ 5 ธ.ค.แล้วจะหยุดฉีด แต่เราจะฉีดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้หาคนมาฉีดวัคซีนยากมากขึ้น คนที่ยังไม่มาฉีดมี 3 ประเภท คือ 1.ลังเล จากการได้ข่าวไม่ชัดเจนเรื่องเสียชีวิตจากวัคซีน ซึ่งจากการติดตามผู้เสียชีวิตจากวัคซีนมีเพียงรายเดียว ถือว่าน้อยมาก ส่วนผลข้างเคียงอาจมีบ้างก็ได้รับการดูแล 2.คนที่จองวัคซีนไว้และอยากฉีดที่จองไว้ แต่รัฐบาลก็มีให้ อยากให้มาฉีดฟรี ส่วนวัคซีนที่สั่งจองไปก็อาจบริจาคคืนหลวง หรือบริจาคฉีดให้คนอื่น เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัว และ 3. คนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงยากหรือไม่มีทะเบียน หรือคนต้างด้าวลอบเข้าเมือง

เข้าคิวรอฉีด – ประชาชนจำนวนมากเข้าคิวกันตั้งแต่ช่วงเช้า รอรับบริการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ หลังกระทรวงสาธารณสุขปรับเปลี่ยนชนิดวัคซีนหลัก ให้ฉีดไฟเซอร์กับโมเดอร์นา ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.

ย้ำมีให้ทุกคน 2-3 เข็ม

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราประมาณจำนวนประชากรไว้ 75 ล้านคน จริงๆ เรามีประชากร 67 ล้านคน ประมาณการว่าชาวต่างชาติในไทย 5 ล้านกว่าคน ช่วงระบาดใหญ่กลับไป 2-3 ล้านคน เราฉีดต่างชาติไป 1.8 ล้านคน จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน หากไม่รวมเด็กอายุ 0-11 ปี ประมาณ 10 ล้านคน เหลือประมาณ 57 ล้านคน

เราฉีดคนไทยประมาณ 47-48 ล้านโดส เป็นเข็ม 1 ประมาณ 71% เข็ม 2 ประมาณ 61% ถือว่าเหลือไม่มากแล้วสำหรับคนไทย แต่คนที่มาพำนักในไทยต้องได้รับด้วย เรารณรงค์ฉีดและจะฉีดต่อเนื่อง ไม่ใช่หลังจากวันที่ 5 ธ.ค.แล้วไม่ฉีดต่อ เราจะก็ฉีดจนสิ้นปี เพราะมีมากพอไม่ใช่เพียงพอ เรามีถึง 140 ล้านโดสในมือ ไม่ต้องตกใจว่าจะไม่ได้ หรือไม่ต้องไปฉีดวิธีอื่น อย่างฉีดใต้ผิวหนังที่ใช้โดสน้อยไม่จำเป็น และเรามีวัคซีนทุกเทคโนโลยี ทั้งเชื้อตาย ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, ไวรัลเวกเตอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และ mRNA ไฟเซอร์, โมเดอร์นา ส่วนวัคซีนทางเลือกก็มีเพียงพอทุกคนในประเทศไทย อย่างน้อย 2-3 เข็ม

สำหรับปี 2565 สธ.เตรียมวัคซีนบูสต์เข็ม 3 และ 4 ไว้หมดแล้ว ตกลงเซ็นสัญญา 120 ล้านโดส แม้จะมี 60 ล้านคน แต่เราเตรียมไว้เพราะอาจบูสต์จำนวน 1-2 เข็ม จองเรียบร้อยแล้วจะทยอยมาตั้งแต่ต้นปี โดยเรายังพิจารณาให้คนที่ไม่ได้รับเข็ม 1 และ 2 หรือครบ 2 เข็มต้องเข็ม 3 ก็ฉีดให้ หรือคนที่รับเข็ม 3 ไปแล้วเมื่อถึงเวลาก็อาจต้องฉีดเข็ม 4 ใน ก.พ.-มี.ค. ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเรื่องภูมิต้านทานคงไม่เป็นปัญหา

ฟุ้งเข็ม 3 ไร้ติดเชื้อรุนแรง

“เราพบว่าภาคพื้นยุโรปเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก เกิดจากฉีดแค่ 2 เข็ม แต่ประเทศไทยนักวิชาการเราเก่งก็แนะนำฉีดเข็ม 3 ฉีดไป 3-4 ล้านโดส ทำให้ประเทศไทยยังไม่มีการติดเชื้อรุนแรง การติดเชื้อรายวันเป็นไปตามเป้าหมายที่ควบคุมไว้ ลดลง ประมาณต้น ธ.ค.น่าจะเหลือต่ำกว่า 5 พันรายต่อวัน และเสียชีวิตน่าจะประมาณ 30-40 รายต่อวัน กำลังเข้ามาสู่แนวนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ระบบสาธารณสุขไทยรองรับได้สบาย ตอนนี้เราใช้ประมาณ 33-34% มีช่องว่างเหลือประมาณร้อยละ 60 กว่า จะรองรับได้และดูแลโรคอื่นได้ด้วย” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การฉีดวัคซีนได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดี อยากให้ประชาชนช่วยกันเชิญชวนหรือตามคนที่ยังไม่ฉีดมาฉีดวัคซีนด้วย บอกว่าถ้าไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อก็อาจป่วยและแพร่สู่คนรอบข้างด้วย ฉีดเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและสังคม ขอให้ช่วยกันรับผิดชอบ เพราะไม่อยากใช้มาตรการบังคับใครออกนอกบ้านต้องฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ขอให้ปฏิบัติตัวป้องกันตนเองสูงสุดครอบจักรวาล เริ่มจากทัศนคติคนใกล้ตัวอาจมีเชื้อแพร่เชื้อได้ ต้องระมัดระวังโดยสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และอย่าอยู่ด้วยกันเวลานาน อย่างเวลารับประทานอาหารก็ถอดหน้ากาก พูดคุย ก็อาจเกิดคลัสเตอร์ก็ต้องไปควบคุมโรค

สธ.เคยคุยกันว่าจะไม่ยอมให้มีการปิดประเทศ เพราะที่ผ่านมาการระบาดใหญ่ทำประเทศเจ็บปวดบอบช้ำ ตอนนี้เรารักษาโรคแล้ว 2 ล้านคน มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งตอนระบาดหนักมีเสียชีวิตขณะยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล ซึ่งจะไม่ให้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ยอมรับว่าตอนโรคระบาดใหม่ ทุกประเทศเอาไม่ทัน แต่ตอนนี้พร้อมตั้งหลักได้ จะป้องกันไม่ให้เกิดระบาดใหญ่อีก ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ด้วยวัคซีน การป้องกันตนเอง และเมื่อไปสถานบริการต่างๆ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ ร้านสะดวกซื้อ สธ.ก็เคร่งครัดการเข้าไปใช้บริการ เน้นใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง

ปีหน้านิวนอร์มัลอยู่กับไวรัส

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า อย่างร้านอาหารที่ดื่มสุราได้ ต้องทำมาตรการ COVID Free Setting คือ สถานที่สะอาด ถูกสุขอนามัยมีการเว้นระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ มีการตรวจอุณหภูมิ พนักงานต้องฉีดวัคซีนทุกคน คนไปดื่มต้องไปแสดงผลวัคซีน หรือตรวจ ATK ไม่มีเชื้อ มีภูมิถึงปลอดถัย จึงผ่อนคลายสถานบริการให้ได้มากที่สุดแต่ป้องกันการระบาดโรคด้วย อย่างผับบาร์ คาราโอเกะ ก็อยากเปิด เห็นใจ แต่เที่ยวที่ผ่านมากิจการนี้ทำให้แพร่กระจายจำนวนมาก จึงขอเวลา ถ้าทำตามมาตรการนี้ได้ก็จะคุมการระบาดได้ ร้านก็จะติดป้ายว่าเป็น COVID Free Setting หรือ SHA Plus ก็เข้าไปใช้บริการได้ หากไม่เป็นไปตามนี้ให้แจ้งกลับมาบอกเพื่อตรวจสอบ

“ถ้าช่วยกันอย่างนี้ และเมื่อมีความเสี่ยงก็ตรวจ ATK ซึ่งทุกวันนี้ราคาไม่ถึง 40 บาทขององค์การเภสัชกรรม ปีหน้าก็นิวนอร์มัลใหม่ประเทศก็กลับคืนมา ถ้าไม่ร่วมมือติดเชื้อใหญ่ก็กลับไปอยู่ที่เดิม ซึ่งหาก ธ.ค.นี้ช่วยกันเคร่งครัด เราก็จะคริสต์มาสได้ เคานต์ดาวน์ได้ ฉลองช่วง ธ.ค.ได้แน่นอน เป็นเดือนแห่งความสุข และเข้าสู่ปีหน้าด้วยนิวนอร์มัลอยู่กับไวรัสได้ใกล้เคียงปกติที่สุด” ปลัดสธ. กล่าว

ฉีดวัคซีนดับ 3 – บรรยากาศพิธีศพที่วัดหนามแดง ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นไปด้วยความเศร้าโศก โดยครอบครัวนำผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนทั้ง 3 ศพ มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.

ดับหลังฉีด 3 ศพสวดวัดเดียวกัน

วันเดียวกัน ที่วัดหนามแดง ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตหลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไม่นานตั้งประกอบพิธีทางศาสนาพร้อมกัน

รวม 3 ศพ โดยที่ศาลาเรือนไทย บำเพ็ญกุศลนายวุฒิเดช นาโม อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พบอาการข้างเคียงคือมีไข้ หอบเหนื่อย ทานได้น้อยน้ำหนักลด ฉีดเข็มสองเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เมื่อเดินทางกลับมาที่บ้าน จู่ๆ เกิดแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ญาติส่งรักษาที่ร.พ. ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 25 พ.ย. แพทย์ลงความเห็นการเสียชีวิดด้วยโรคเบาหวานเลือดเป็นกรด และน้ำตาลในเลือดสูง

ที่ศาลา 8 บำเพ็ญกุศลนายวัชชิระ ใหม่จันทร์ อายุ 26 ปี พนักงานบริษัทเอกชน ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกวันที่ 26 ส.ค. ไม่เกิดอาการข้างเคียง ฉีดวัควีนเข็มที่สอง เมื่อวันที่ 12 พ.ย. มีไข้สูงและท้องเสีย กระทั่งวันที่ 20 พ.ย อาการหนักขึ้น แน่นหน้าอก ปลายมือเริ่มเขียวไม่มีสีเลือด มีไข้สูง ญาติส่งโรงพยาบาล ก่อนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา แพทย์ลงความเห็นว่า ระบบร่างกายล้มเหลว ติดเชื้อในกระแสเลือด

ส่วนที่ศาลา 10 ตั้งสวดบำเพ็ญกุศลนายสิทธิผล บวรกิตติไพศาล อายุ 26 ปี เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. หลังฉีดวัคซีนเข็มสองสูตรไขว้ ระหว่างซิโนแวคและโมเดอร์นากลับมาบ้านได้ไม่ถึงครึ่งวัน แพทย์สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเสียชีวิตจากสภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ญาตินำมาตั้งบำเพ็ญกุศลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ต่างตั้งข้องสงสัยว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาผลข้างเคียงหรือไม่ เนื่องจากทั้งหมดเสียชีวิตหลังรับวัคซีน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไขข้อข้องใจให้กับญาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน