สิริอายุ96ปีพรรษา76
ตั้งศพสวดที่มหาเจดีย์
วัดปากน้ำภาษีเจริญ

สิ้น ‘สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์’ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช คณะสงฆ์-พุทธ ศาสนิกชนสูญเสียพระมหาเถระรูปสำคัญ จากไปด้วยโรคชราในวัย 96 ปี พรรษา 76 ด้านคณะศิษย์วัดปากน้ำ กำหนดนำสรีรสังขารไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่อาคารพระมหาเจดีย์มหารัชมงคลวันอาทิตย์นี้ ปีติทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดพิธีการ

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. คณะสงฆ์วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ แจ้งว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม, อดีต เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ, อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง และที่ปรึกษา มหาเถรสมาคม มรณภาพด้วยอาการสงบ หลังเข้ารักษาอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จมีอาการอ่อนเพลียเพราะวัยชรา โดยคณะศิษย์นำเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต้องเดินทางเข้า-ออกไปโรงพยาบาลเป็นประจำ เพื่อให้คณะแพทย์ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดโดยตลอด

ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จต้องเข้ารับการฟอกไต และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 1 ปี 8 เดือน กระทั่งช่วงเช้ามืดวันที่ 9 ธ.ค. เวลา 05.48 น. มรณภาพด้วยอาการสงบ เหมือนนอนหลับไป ด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่ตึก 84 ปี ชั้น 6 โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่คณะสงฆ์และคณะศิษย์ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ทราบข่าว ต่างมารอสอบถามเจ้าหน้าที่วัดปากน้ำเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าสลด คณะศิษย์บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ด้วยความอาลัยต่อการจากไป

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.ร.พ. ศิริราช ได้ออกแถลงการณ์เช่นกัน ความว่า ตามที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 โดย คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลมาโดยตลอด จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 05.48 น. ได้มรณภาพอย่างสงบ ณ ตึก 84 ปี ชั้น 6 (ตะวันตก) โรงพยาบาลศิริราช

ด้านพระพรหมโมลี (สุชาติ ธัมมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติจะเคลื่อนสรีระสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จาก ร.พ.ศิริราช ใน วันที่ 12 ธ.ค. เวลา 08.00 น. มายังชั้น 2 พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำภาษีเจริญ จากนั้นจะเปิดให้คณะสงฆ์ คณะศิษย์ พุทธศาสนิกชน เข้าสรงน้ำจนถึงเวลา 16.00 น. และในเวลา 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และจะมี พิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม เวลา 17.00 น. ทุกวัน

ด้านพระราชมังคลาจารย์ (พุ่ม อคฺคธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ เปิดเผยว่า ช่วงที่เข้าเยี่ยมเจ้าประคุณสมเด็จที่ร.พ.ศิริราช เมื่อเร็วๆ นี้ พยาบาลเคยถามท่านว่า มีห่วงอะไรไหม ท่านก็บอกว่า ไม่ห่วงอะไรแล้ว พอสร้างพระพุทธธรรมกายเทพมงคลเสร็จ ก็ไม่ห่วงอะไรแล้ว ถือเป็นมรดกธรรมสุดท้ายที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์สร้างไว้ให้กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

สำหรับพระพุทธธรรมกายเทพมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เกตุดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 40 เมตร สูง 69 เมตรเทียบเท่าตึก 20 ชั้น เริ่มสร้างเมื่อปี 2560 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อจรรโลง เทิดทูน สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อบูชาพระคุณ “หลวงพ่อสด” วัดปากน้ำ แล้วเสร็จเมื่อเดือน มิ.ย.

ด้านนายสิปป์บวร แก้วงาม รักษาราชการ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับพิธีบำเพ็ญกุศลศพสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดไป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มี นามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2468 ที่บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

อายุ 14 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ มีพระครูศีลา ภิรัต วัดลาดกระบัง เป็นพระอุปัชฌาย์ และสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท

พ.ศ.2484 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัด ปากน้ำ และเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2488 มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ.2497 สำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค กลับมาช่วยงานที่ วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่ริเริ่มไว้ หลังการมรณภาพของหลวงพ่อสด ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนถึงกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ งานด้านการศึกษา งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ เป็นต้น ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2532-2562 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ.2562 เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม สมณศักดิ์ พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยเริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2556 หลังจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) สิ้นพระชนม์ จนถึงปี พ.ศ.2560 ที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการบัญญัติพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 แก้ไขมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 กำหนดให้ มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จ พระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และในปี พ.ศ.2562 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรฯ อีกทั้งอยู่ในช่วงปัจฉิมวัย อาพาธบ่อย ครั้งด้วย

ต่อมา ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 26/2562 เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งที่ปรึกษามหาเถรสมาคม จำนวน 4 รูป หนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์อยู่ด้วย

สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ เผยแผ่พระพุทธศาสนา และงานด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งยังเป็น ผู้ริเริ่มโครงการสร้างความปรองดองสมาน ฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 จนเป็นที่รู้จัก ไปทั่วประเทศ กล่าวสำหรับโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นดำริของเจ้าประคุณสมเด็จ เพื่อให้ชาวพุทธตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามศีล 5

สิ้นสมเด็จ – สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพอย่างสงบที่ร.พ.ศิริราช เมื่อเวลา 05.48 น. วันที่ 9 ธ.ค.2564 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76 มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ วันที่ 12 ธ.ค. ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน