‘พีมูฟ’ พอใจ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ครม.เห็นชอบแก้ปัญหา 15 ข้อเรียกร้อง โฉนดชุมชน นิรโทษฯ คดีชาวบ้าน ทบทวนพ.ร.บ.อุทยานฯ แก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟฯ ผลักดันกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเล กะเหรี่ยงบางกลอย ปัญหาสัญชาติ สถานะบุคคล เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ แต่เพื่อความมั่นใจจะอยู่ต่อถึง 3 ก.พ. ติดตามการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพี-มูฟ ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม เสนอ โดยมีประเด็นข้อเรียกร้องของขปส. 15 กรณี ดังนี้ 1.เห็นชอบในหลักการยกระดับโฉนดชุมชน ให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดินตามมาตรา 40(4) พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติรับหลักการไปพิจารณา และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณายกระดับการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนรูปแบบหนึ่งของการจัดการที่ดินต่อไป

คุยพีมูฟ – นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ นำมติครม.ที่รับข้อเรียกร้อง ทั้ง 15 ข้อมาแจ้งกลุ่มพีมูฟและเซฟบางกลอย โดยก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ตั้งตู้คอนเทนเนอร์และ ส่งคฝ.สกัดผู้ชุมนุมเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

2.มอบหมายคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านคดีความกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม กับคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมาย ว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ไปศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อพิจารณาว่าคดีต่างๆ เข้าข่ายการนิรโทษกรรมตามพระราชกฤษฎีกาฯ หรือไม่ 3.มอบหมายให้ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองประธานกรรมการแก้ไขปัญหาฯ นำข้อเสนอของขปส. ไปหารือกับ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการทบทวนพ.ร.บ. เช่น ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

4.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของขปส. ดังนี้ ให้ครม.มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของรฟท.ทั่วประเทศ และให้ครม.มีมติให้รฟท.ใช้มติอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เป็นแนวทางแก้ปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ถูกรฟท. ฟ้องร้องดำเนินคดี ให้สามารถเช่าที่ดินเดิมที่อาศัยอยู่ในลักษณะสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี ในอัตราค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ให้รฟท.ไปแถลงต่อศาล เพื่อชะลอการดำเนินคดีระหว่างการดำเนินการทำสัญญาเช่าชั่วคราว กรณีสิ้นสุดแล้วให้ รฟท.จัดหาพื้นที่รองรับใกล้เคียงกับชุมชนระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่

นอกจากนี้ ให้ครม.มีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ต่อที่ประชุมครม.ในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบรายชื่อชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรฟท.เพิ่มเติม และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการตามข้อเสนอของขปส. และมอบหมายให้รฟท.ไปหารือร่วมกับขปส. เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไปตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2543

5.มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รับไปเร่งรัดผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ ฉบับของขปส.)) รวมทั้งร่างฉบับที่เกี่ยวข้องด้วย 6.มอบหมายให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อพิจารณากรณีขอให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และรับประเด็นข้อเสนอของขปส. ไปศึกษาแนวทางการดำเนินการตามโมเดลโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่

7.รับไปแก้ไขประเด็นปัญหาการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคต่อไป 8.เห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

9.มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนัก นายกฯ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ตามหน้าที่และอำนาจต่อไป 10.มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภทเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการและการรายงานผลที่ชัดเจนต่อไป และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของ ขปส. รับประเด็นข้อเสนอ ขปส. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

11.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยง พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกระดับแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงของขปส. ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าเหมาะสม ขอให้เสนอความเห็นประกอบด้วยว่าคณะกรรมการกลางที่จะพิจารณาให้แต่งตั้งขึ้นนั้น ควรมีบทบาท ภารกิจ และองค์ประกอบอย่างไร และมอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ร่วมกับของขปส. และเสนอต่อนายกฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

เผชิญหน้า – ตัวแทนกลุ่มพีมูฟและเซฟบางกลอย เผชิญหน้าตำรวจคฝ.ที่ตั้งแถวหน้าแผงตู้คอนเทนเนอร์สกัดไม่ให้ไปทำเนียบรัฐบาล ขณะเคลื่อนขบวนขอเข้าพบนายกฯเพื่อยื่นร้องเรียนปัญหาภาคประชาชน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

12.รับทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นแล้ว และขอให้แจ้งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย ทราบข้อเรียกร้องของขปส. 13.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล เร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านสถานะ และสิทธิของบุคคลตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 และตามที่กรมการปกครองได้กำหนดไว้ รวมทั้งรับประเด็น ข้อเสนอของภาคประชาชนไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย

14.เห็นชอบตามข้อเสนอของขปส. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ จำนวน 2 กรณี ได้แก่ระบบบำนาญประชาชน และเงินอุดหนุน เด็กแรกเกิด 0-6 ขวบ อีกทั้งเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

15.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการ และผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง จ.อุบลราชธานี โครงการแก้มลิงทุ่งทับใน จ.นครศรีธรรมราช โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี จ.อุตรดิตถ์ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว จ.ลำปาง และโครงการผันน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน และรายงานผลให้คณะกรรมการทราบต่อไป

เย็นวันเดียวกัน นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ออกมาพบปะกับกลุ่ม พีมูฟ โดยกล่าวกับผู้ชุมนุมว่าได้คุยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ว่าได้ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาของประเทศได้ และเต็มใจที่จะร่วมงาน พูดคุย กับแกนนำผู้ชุมนุม ในการรับข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอ และส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยประชุมร่วมกัน จนได้ข้อสรุปในข้อเรียกร้องทั้ง 15 ประเด็น

นายอนุชากล่าว 15 ข้อเรียกร้องได้ข้อยุติ มีข้อสรุปตรงกันนำเสนอต่อครม.ตามนั้น ไม่มีผิดแม้แต่ตัวอักษรเดียว ยืนยันด้วยเกียรติว่าทุกข้อที่คุยกันไม่มีการตัดทอนแม้แต่ตัวอักษรเดียว ขอให้มั่นใจว่าสิ่งที่ได้ตกลงกับตัวแทนพี่น้องประชาชน ที่ได้ร่วมกันประชุมทุกข้อ เราสรุปร่วมกันให้เป็นไปในกรอบของส่วนรวมและของประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบที่เราจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนให้ลุล่วงในอนาคตอันใกล้ และข้อเรียกร้องเหล่านี้จะได้นำไปรีบประชุม โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันพฤหัสฯ ที่ 3 ก.พ.นี้ ไม่ต้องรอ เพื่อแสดงความจริงใจต่อพี่น้องทุกคน

ขณะที่ตัวแทนพีมูฟยืนยันปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณแยกพาณิชยการต่อไป เพื่อรอเข้าประชุมร่วมแก้ปัญหาเป็นรายกรณีปัญหา ที่จะเริ่มในวันที่ 3 ก.พ. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมจะปรับรูปแบบการชุมนุมให้เหมาะสม

ต่อมากลุ่มพีมูฟแถลงว่าผลการประชุมครม. เป็นที่น่าพอใจ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่เพื่อความมั่นใจจะขอติดตามการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่นายอนุชา จะเป็นประธานประชุมในวันที่ 3 ก.พ.นี้ โดยจะปักหลักชุมนุมเพื่อรอติดตามผลการประชุมอยู่ ที่นี่ต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน